เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง NCT DREAM - Dive Into You (고래)
  • สม บูรณ์ แบบ

    ห่างหายกันไปนานกับการเขียนวิเคราะห์เพลงเนื่องด้วยหลากหลายเหตุผล ต้องขออภัยผู้อ่านทุกท่าน อาจจะมีหลายคนที่มีโอกาสได้อ่านบทวิเคราะห์เพลงนี้ตั้งแต่ตอนที่เพลงถูกปล่อยออกมาแค่สั้น ๆ ใน Dream-verse Chapter 1 แต่หลังจากที่ได้ฟังเพลงเต็มก็ต้องยอมรับเลยว่ารู้สึกช็อกมาก มีหลายสิ่งที่ชอบและประทับใจสุด ๆ เกินคาดไปมาก จากที่คิดว่ามันดีมากแล้วยังดีได้กว่านั้นอีก เลยถือโอกาส rewrite บทความนี้ใหม่เป็นเกียรติให้แก่เพลงดี ๆ อย่างเพลงนี้



    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)


    Composed by  David Wilson, Wyatt Sanders & James Abrahart
    Arranged by dwilly
    Lyric by Ellie Suh (153 Joombas)

    E Major - 77 BPM


    • Intro เริ่มต้นมาด้วยเสียง sound effect คล้ายฉาบ หรือหลายคนอาจจะมองว่าเป็นการตีฆ้องอันใหญ่ ๆ นึกภาพเวลาต้องการประกาศอะไรสักอย่าง ส่วนเครื่องดนตรีหลักเลยมีเสียงคล้ายกับ Vibraphone ถูกใช้เป็น motive หลักของเพลงนี้ บรรเลงเป็นลักษณะของคอร์ด E Major คอร์ดหลักของเพลง ได้แก่ตัว E-G#-B หากแต่มีการใส่ b ในโน้ตตัว B ทำให้เสียงต่ำลงไปครึ่งเสียง โน้ตตัวนี้มักถูกใช้เป็นอย่างมากในดนตรีแจ๊ส (bV) ซึ่งมันเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของเพลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือในทันที จากความรู้สึกสดใสแบบ Major กลับกลายเป็นมีความหม่น ๆ แบบ Minor ทันที ก่อนที่ในเซ็ตถัดไปของ pattern นี้จะกลายเป็นโน้ตตัว A ซึ่งกลับเข้าสู่คีย์ปกติ


    ตัวอย่างเสียง Vibraphone เป็นเครื่องตระกูล Percussion ที่สามารถเหยียบ Pedal ให้เกิดเสียงค้างได้


    จะสังเกตได้ว่ารูปแบบการเดินโน้ตนั้นจะเป็น B-Bb(A#)-A เป็นการไล่เสียงแบบ *Chromatic ลง ซึ่งเป็นลูกเล่นที่ถูกใช้บ่อยมากในเพลงของ NCT Dream ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่สดใสหรือเพลงที่มีความ aggressive ต่างก็ต้องมีซ่อนอยู่ไม่มากก็น้อย และทำนองนี้ก็กลายไปเป็นกึ่ง ๆ **Ostinato หลักที่ถูกดำเนินไปแทบจะตลอดทั้งเพลง

    *Chromatic - การไล่โน้ตที่มีความห่างทีละครึ่งเสียง
    **Ostinato - แนวทำนอง หรือ เบส ที่ถูกบรรเลงซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ
    ในยุค Baroque ออสตินาโตที่เรียกว่า Figured Bass ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญมากของเพลง

    ตัวอย่างเพลง NCT Dream - Chewing Gum ทุกท่อนที่ร้องว่า Chewing Gum เป็นการไล่เสียงแบบ Chromatic ทั้งหมด

    ตัวอย่างเพลง NCT Dream - We Go Up นาทีที่ 0:04 ตั้งแต่เริ่มต้นเพลงก็มีการใช้สเกล Chromatic ในแนวร้องของแจมิน


    • นาทีที่ 0:05 เป็นเสียงโน้ต G#-A-G# แทรกออกมาที่มีลักษณะคล้ายกับถูกเล่นบนกีตาร์ โดยเล่นโน้ต G# และดันสายขึ้นลงเพื่อเปลี่ยนโน้ตแทนการเลื่อนเปลี่ยนช่องเฟรต และมีการแต่งโทนเสียงให้คล้ายกับ Vibraphone แต่ก้ยังสามารถแยกเนื้อเสียงออกจากกันได้อยู่

    • ในนาทีที่ 0:06 ครึ่งหลังของ Intro มีการแทรกเสียงทุกจังหวะที่ 1 และ 3 เป็นโน้ตตัวเดียวกันกับแนว Ostinato แต่อยู่ในช่วงเสียงที่สูงกว่า คล้ายกับเสียงของเครื่องสาย มีการใส่ Vibrato เล็กน้อยรวมถึง Reverb ที่ทำให้เกิดความก้องและหางเสียง จะว่าไปฟังแล้วแอบหลอนนิดนึง ไม่ต่างจากห้วงทะเลลึกที่ทั้งสวยงาม น่าค้นหา แต่ในขณะเดียวกันก็มีช่างน่าพิศวง

    • นอกจากนี้ในช่วงอินโทรยังมีเสียงเครื่องกระทบหรือ percussion ที่สร้างจังหวะมาตั้งแต่เริ่มเลย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างเมื่อเทียบกับเพลง kpop อื่น ๆ ที่มักจะเริ่มมาแบบลอย ๆ ยังจับจังหวะได้ค่อนข้างยาก หรือมีเพียงเสียงดนตรี harmony อื่นเท่านั้น โดยเพลงนี้มีการใช้เสียงคล้ายกับ shaker เขย่าให้เกิดฟีลลิ่งที่สบาย ๆ ไม่หนักจนเกินไป ราวกับเพลงนี้เป็นการพักผ่อนหย่อนใจ


    ตัวอย่าง เสียง shakers มีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งทรงกระบอก ทรงไข่ ต้องใช้ทักษะในการควบคุม


    • นาทีที่ 0:12 มีการใช้เบส *Glissando เป็นตัว pick up พาเข้าไปสู่ท่อน Verse แรกของเพลง ซึ่งน่าสนใจมากว่าแนวเบสของเพลงยังคงยึดโน้ตหลักจากท่อน Intro อย่าง E-B-Bb-A มาใช้ แม้จะอยู่ในช่วง range เสียงที่ต่ำมากจนแทบจะฟังออกยาก แต่ถ้าหากใช้หูฟังดี ๆ + ตั้งใจฟังจะสามารถแยกเสียงตัวโน้ตออกได้อย่างชัดเจน หรือต่อให้ไม่ทันจับสังเกตนักแต่คนฟังจะรู้สึกได้เลยว่าในนาทีที่ 1:31 ดนตรีของเพลงมีความแปร่งหูเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับกัดกับแนวร้องที่ยังคงดำเนินอยู่ในคีย์ E Major ตามปกติ เนื่องจากเสียงร้องและเสียงเบสนั้นห่างกันหลาย **Octave มากจนไม่รบกวนกัน เสียงเบสเพียงแค่สร้างบรรยากาศที่น่าพิศวงให้กับเพลงเท่านั้น

    *Glissando - เทคนิครูดสายเพื่อให้เกิดเสียงสไลด์ขึ้นลง
    **Octave - ความห่าง 1 ช่วงเสียง (8 ตัวโน้ต)


    นี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่แสดงคาแรคเตอร์ความเป็นเพลงของ NCT Dream มาก คือการที่เน้นเสียงเบสหนัก แนวร้องในช่วงเสียงสูง มีการร้องโน้ตที่ถ้าไม่เป็นโน้ตซ้ำก็จะเป็นทำนองที่ฟังง่าย (แตกต่างจาก NCT 127 ที่เน้นแนวแร็พหรือทำนองที่มีความ complicate กว่า) รวมไปถึงไม่ค่อยมีเสียง Harmony หรือเสียงประสานที่หนา (ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างนึงของ WayV) แถมเพลงของดรีมยังมีการใช้เบสที่ถูกบรรเลงเสียงโดยใช้เทคนิค Glissando สไลด์ไปมาบ่อยครั้งด้วยเช่นกัน


    ตัวอย่างเพลง NCT Dream - Ridin นาทีที่ 0:14 เสียงเบา Glissando


    • ด้วยความที่มีแนวเบสค่อนข้างหนักแล้ว ทำให้มีการใช้เสียง percussion ที่อยู่ในช่วงเสียงสูงสอดแทรกเป็นหลัก คือเสียง hi-hat (ฉาบที่เปิดปิดได้โดยการเหยียบ) และเสียงคล้าย snare (กลองแต๊ก) แทรกเป็นครั้งคราว อีกเสียงนึงที่แอบตกใจว่ามาจากไหนคือในนาทีที่ 0:21 ที่มีเสียง Conga ดังมา 1 ครั้งเท่านั้น! เอ๊ะ? มันมาได้ยังไงนะ คองก้าเป็นกลองที่ฟังแล้วมักจะทำให้เรานึกถึงบรรยากาศริมชายหาด


    ตัวอย่างเสียง Conga เครื่องดนตรีละติน


    • ก่อนเข้าช่วงที่ 2 ของ Verse มีการดรอปเสียงดนตรีลงไปก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่ดนตรีมีความหนามากขึ้น แนว Ostinato ตอนช่วง Intro กลับมาอีกครั้งแต่ถูกปรับแต่งใส่ reverb ให้มีความก้องสะท้อนมากขึ้น และการเพิ่มเสียง echo ในนาทีที่ 0:28 กับทำนองหลักโดยใช้เสียงสังเคราะห์ synthesizer ซึ่งมีการปรับให้เสียงแตกเล็กน้อยด้วย จะสังเกตได้ว่าดนตรีหนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเพื่อที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในท่อนถัดไป

    • เข้าสู่ท่อน Pre-Chorus ที่เสียง Percussion ถูกถอดออกไปหมดเลย กลายเป็นท่อนที่เต็มไปด้วยเสียง Harmony เสียงประสานจาก Background Vocals แม้เสียงประสานจะหนาแค่ไหนแต่กลับให้ความรู้สึกล่องลอย จากการที่แนวเบสหนัก ๆ ตลอดช่วงที่ผ่านมาก็หายไปหมด กลายเป็นว่าเสียงประสานเหล่านี้มีลักษณะจะว่าคล้ายกับปุยเมฆที่ล่องลอยบนฟ้า หรือเกลียวคลื่นสีฟ้าสดใสก็ได้ ..SM ไม่เคยทำให้ผิดหวังเลย ท่อนนี้ของ NCT Dream มักเป็นท่อนที่มีความไพเราะและเต็มไปด้วยสีสัน เรียกได้ว่าเต็มไปด้วยเวทมนตร์เลยแหละ

    • ท่อน Pre-Chorus นี้มีแนว *Chord Progression I-II-IV ที่สวยงามน่าทึ่งมาก ๆ ซึ่งมาควบคู่ไปกับแนว Ostinato ที่ยังคงดำเนินอยู่ตลอดในช่วง Pre-Chorus หากแต่เสียงของเครื่องดนตรีกลับมาเป็นเสียง Vibraphone เหมือนกับตอนต้นเพลง ขอบอกเลยว่าผู้แต่งเก่งและฉลาดในการเลือกใช้คอร์ดเป็นอย่างยิ่ง มีการใช้คอร์ดที่ทำให้เราสับสนว่าเกิดการสลับเปลี่ยนคีย์ modulate ในเวลาอันสั้นหรือไม่อย่างไร แนวทางการดำเนินคอร์ดกลับค่อย ๆ มีการไต่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ทีละนิดตามสเต็ป ตามทำนองร้องที่ค่อย ๆ เริ่มจากต่ำไปสูง มีการเลือกใช้คอร์ดที่สร้างให้เกิดความอัศจรรย์ราวกับใช้เวทมนตร์อีกครั้งนึง แต่แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเวทมนตร์มันก็ยังซ่อนเอาไว้ด้วยความน่าพิศวง ความ mysterious ที่ทำให้เรารู้สึกสงสัยใครรู่ อยากจะหาคำตอบ โดยเฉพาะคอร์ดในนาทีที่ 0:46 ซึ่งคือคอร์ด F# Major มันมีความวิเศษมาก ๆ เลย

    • แนวทำนองในท่อนนี้ถูกเขียนไว้สวยงามมาก แม้จะเป็นทำนองที่ร้องจังหวะปกตินิ่ง ๆ ไม่ได้มีความแปลกประหลาดอะไร แต่ตั้งแต่นาทีที่ 0:37 ที่ค่อย ๆ ไล่ขึ้นสูงไปเรื่อย ๆ ทีละเซ็ต แล้วมีการไล่กลับด้วยความละเอียดของส่วนโน้ตที่มากขึ้น (เร็วขึ้น) ในนาที่ที่ 0:42 ในลักษณะคล้ายกับการไล่ Broken third (มีการกระโดดของโน้ตไปมา ไม่ได้ไล่แบบเรียงตามปกติ) ก่อนที่จะกลับมาไต่ระดับขึ้นใน rhythm เดิมอีกรอบเพื่อส่งไปยังท่อน Chorus




    • จังหวะสุดท้ายของ Pre-Chorus ที่จะส่งเข้าสู่ท่อน Chorus นั้นมีการเน้นโน้ตตัว D ย้ำซ้ำ ๆ เพื่อส่งเข้าไปหาโน้ตตัว E ซึ่งเป็นตัวหลักของเพลง ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกมาก เพราะในความเป็นจริงโน้ตตัวที่ควรถูกใช้เล่นคือ D# ซึ่งอยู่ใน scale ของเพลงนี้ และมีความห่างครึ่งเสียงตามหลักที่ถูกต้อง แต่พอเป็นโน้ตตัว D มันทำให้ผู้ฟังเกิดอาการหลงทางไปชั่วขณะ จากที่ก่อนหน้านี้ก็งงมาแล้ว ตอนนี้ยิ่งหลงหนักเลยว่าทิศทางของเพลงกำลังจะไปทางไหน เรากำลังจะเปลี่ยนคีย์ไปสู่อะไรใหม่ ๆ งั้นหรอ แต่เปล่าเลย เรา drift หักศอกกลับมาสู่คีย์หลักของเพลงอีกครั้งนึง อ้าว โดนหลอก! มันคือคอร์ด bVII ที่มักใช้เวลาจะเปลี่ยนคีย์ (แต่เพลงนี้ดันไม่เปลี่ยน) ยิ่งบวกเสียง Kick drum ไปด้วยมันเลยให้อารมณ์ความรู้สึกที่บีบคั้นและตื่นเต้นแบบแปลก ๆ

    • ท่อน Chorus ที่คนน่าจะคาดหวังว่าจะได้ฟังทำนองที่มีความหนักแน่น แต่เปล่าเลย กลับกลายเป็นทำนองที่เต็มไปด้วย Chromatic อีกแล้ว ซึ่งนั่นทำให้คนฟังยิ่งเกิดความสงสัยวนไปวนมาอยู่ในใจ ตัวผู้เขียนเองถึงกับร้องฮะซ้ำ ๆ ว่าจะเอาแบบนี้จริงหรอ ก็ต้องยอมรับว่ามันมีความเท่ห์ และ neo ไม่ซ้ำแบบใครจริง ๆ ...แนวร้อง ยูฮูฮู้ฮู นี้มีความโดดเด่นออกมามากเนื่องจากไม่มีแนวประสานหรือโน้ตอื่น ๆ ที่มาแทรก ดนตรีก็หนักอยู่ในช่วง range เสียงต่ำ ทำให้คนฟังสามารถโฟกัสไปที่ทำนองหลักและติดหูสร้างเป็น earworm หลอนกันไปได้ทันทีในการฟังครั้งแรก แม้ในความเป็นจริงแนวทำนองนี้ไม่ได้มีความ simple เลยสักนิด แต่การที่ร้องสลับไปมานี้เองก็ให้ความรู้สึกไม่ต่างไปจากคลื่นที่ซัดกลับไปกลับมาเลย

    • แนวเบสจากช่วง Verse กลับมาอีกครั้ง โดยที่คอร์ดในช่วงคอรัสซึ่งเป็นเสียงของกีตาร์ไฟฟ้าก็ดำเนินตามแนวดนตรีของเบสไปเลย ทำให้เกิดคอร์ด diminished ที่เป็นคอร์ดกัดอย่างเช่นในนาทีที่ 0:52 นอกจากนี้การใช้กีตาร์ไฟฟ้าเองก็ค่อนข้างเป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับ NCT Dream เนื่องจากเครื่องดนตรีหลักโดยปกติมักจะใช้เสียงสังเคราะห์ มีความ Electronic สูง หรือไม่ก็ใช้กีตาร์โปร่งไปเลยที่มีความซอฟต์ แต่พอเป็นกีตาร์ไฟฟ้าและเบสลักษณะเป็นวงแบนด์แบบนี้ก็ให้ความรู้สึกที่หนักแน่นและโตขึ้นมาก

    • ช่วงท่ายของท่อนฮุคนั้นดนตรีถูกดรอปหายไปหมด เหลือเพียงเสียงร้องกับความเงียบ นั่นทำให้การเข้าสู่ Verse 2 เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นตกใจ แม้ดนตรีจะไม่ได้แตกต่างจากตอนต้นเพลงเลยแต่กลับไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่ามันจำเจ นอกจากนี้เนื้อเสียงและวิธีการออกเสียงการร้องก็ทำให้ความรู้สึกของเพลงเปลี่ยนไปเช่นกัน

    • นาทีที่ 1:16 ครึ่งหลังของ Verse 2 มีการเปลี่ยนตัวโน้ต 3 ตัวแรกของทุกประโยคจากตัว G#-A-G# ไปเป็น G#-A-B ทั้งหมด 2 รอบด้วยกัน ไม่น่าเชื่อว่าการเปลี่ยนโน้ตเพียงตัวเดียวนี้ก็สามารถทำให้เรารู้สึกว่าเพลงเปลี่ยนทิศทางไปจากเดิมแล้ว ยิ่งมาเจอโน้ตสามตัวสุดท้ายที่ไล่สูงขึ้นเพื่อส่งไปหาพรีคอรัส คล้ายกับคนที่กำลังจะจมน้ำแต่สามารถว่ายผุดกลับขึ้นมาสูดอากาศข้างบนได้อีกครั้ง.. อยากแนะนำให้ลองหาหูฟังดี ๆ หรือลำโพง Stereo ฟัง เพราะท่อนนี้จะสามารถได้ยินเสียง percussion สลับซ้ายขวาไปมา เรียกได้ว่าเป็นลูกเล่นที่สนุกสนาน น่ารักมาก



    • โอ้พระเจ้าาาาาาา Pre-Chorus รอบที่สองนาทีที่ 1:28 นี้ทำให้ผู้เขียนถึงกับร้องฮะดังลั่นมาก เนื่องจากว่าเหมือนกับมีการเปลี่ยนคีย์สูงขึ้นไปจากเดิม 1 เสียง จากคอร์ดแรกที่เคยเป็น E Major กลับกลายเป็น F# Major แทน แน่นอนว่าแนวร้องเองก็ไหลขึ้นสูงตามไปด้วยอ้าวเห้ย จะเปลี่ยนคีย์กันง่าย ๆ แบบนี้โดยไม่มีการเตรียมตัวบอกกล่าวกันก่อนเลยหรอ?

    • แต่ปรากฎพอคอร์ดถัดมานาทีที่ 1:30 กลับยังคงเป็นคอร์ดเดิม ไม่ได้ไต่ระดับขึ้นแต่แค่ย่ำอยู่กับที่ ส่วนคอร์ดถัดมากลับกลายเป็นคอร์ด G# Minor??? ต่อด้วย A Major เหมือนกับ Pre-Chorus รอบแรก แล้วก้วนกลับมาคอร์ดหลัก E Major เห้ย นี่มันอะไรกัน!!! II-iii-IV-I เรียงคอร์ดแบบนี้ก็ได้หรอถามจริง? นี่คือเค้าจะแหกทุกทฤษฎีเลยสินะ ยิ่งพอนาทีที่ 1:35 มันวนกลับมาที่คอร์ด F# Major อีกรอบ

    • โอ้โห ยอมรับตรง ๆ เลยว่างงมากค่ะว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนที่ได้ฟังครั้งแรกนีมีทึ้งหัวเลย ฟังอีกหลายครั้งถัดมาก็ยังคงหาคำตอบไม่ได้ว่าตามหลักทฤษฎีแล้วมันเป็นยังไง แต่บอกได้เลยว่ามันคือปรากฏการณ์อย่างนึง เสียงที่ออกมาแม้จะแปลกแต่กลับไม่ขัดหู กลายเป็นว่าสร้างความ magical ให้กับเพลง ดนตรีมีความน่าสนใจ มีสีสันที่แปลกใหม่และแตกต่างจากที่คนคุ้นเคย ไม่สามารถคาดเดาได้เลยแม้แต่นิดเดียวว่าเพลงกำลังดำเนินไปในทิศทางไหน ก่อนที่ช่วงท้ายจะกลับมาย้ำคอร์ด D เพื่อส่งเข้าสู่ท่อนฮุค ผู้เขียนถึงกับถอนหายใจโล่งอก ราวกับว่าเราหลุดเข้าไปในโลกแห่งความฝันและในที่สุดก็ถูกฉุดกระชากกลับมายังโลกแห่งความเป็นจริง

    • Pick up เข้าสู่ท่อนฮุคที่สองมีการเพิ่มโน้ตไลน์ประสานเข้ามา รวมไปถึงแนวแอดลิบ ทำให้รู้สึกได้ว่าท่อนนี้มีอะไรมากกว่ารอบก่อนโดยที่ไม่ต้องมีการปรัับเปลี่ยนตัวดนตรีเลย ซึ่งก็น่าแปลก โดยปกติมักจะมีการเพิ่มแนวแอดลิบในลักษณะนี้ในท่อนฮุคสุดท้ายของเพลง แต่นี่แค่รอบที่สองเอง หมายความว่าในรอบถัดไปมันจะยิ่งต้องมีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาอีกอย่างงั้นหรอ?

    • แต่การจบท่อนฮุคครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป ไม่จบในรอบเดียว หากแต่มีการขยายท่อนให้ยาวออกไป มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มแนวทำนองที่มีความชัดเจน มีเนื้อเรื่อง และเสียงประสาน Background Vocals ที่ค่อนข้างหนาทำให้เกิดสีสันใหม่ ๆ เติมเต็มเพลงที่เคยมีช่องว่างตรงช่วงกลาง ส่วน Percussion ของท่อนคอรัสในช่วงนี้ก็ไม่ได้มีอะไรที่แปลกพิศดาร หากแต่เป็นการใช้กลองชุด มีเสียง Kick drum คลอไปกับแนวเบส และไม่ได้ใช้เสียงเครื่องกระทบที่มีช่วงเสียงสูงเลยไม่ทำให้ไปรบกวนแนวร้อง.. ลักษณะท่อน Chorus ที่เริ่มมาแบบน้อย ๆ มินิมอล แล้วค่อยมาเพิ่มสีสันกับความหนักแน่นตอนหลังอย่างงี้ก็ทำให้นึกถึงอีกหลายเพลง เช่น Hot Sauce ของดรีมเอง หรือแม้แต่ Kick Back ของ WayV จนเหมือนกับว่ามันเป็นเทรนด์ในช่วงนี้

    ตัวอย่างเพลง WayV - Kick Back นาทีที่ 1:08 ช่วงแรกของ Chorus แตกต่างจากช่วงครึ่งหลังในนาทีที่ 1:19 ซึ่งมีทำนองที่สวยงาม และหลากหลายกว่าอย่างเห็นได้ชัด


    • โมเมนต์ I will dive into you ที่ดนตรีทุกอย่างดรอปหายไป เหลือไว้เพียงเสียงร้องนั้นก็น่าประทับใจมาก เหมือนจะว่างเปล่า แต่กลับแสดงออกถึงการตะโกนกรีดร้องออกมาด้วยความมั่นใจว่าฉันนั้นพร้อมที่จะดำดิ่งลงไปหาคุณ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความเงียบสามารถสร้างอิมแพ็คที่รุนแรงให้กับผู้ฟังได้เสมอ

    • หลังจากท่อนนี้แน่นอนว่าก็ต้องเข้าสู่ท่อน Bridge อันเลื่องชื่อของ SM Entertainment เชื่อว่าผู้ฟังหลายคนน่าจะคาดหวังกับแนวร้องที่มีการโชว์ความ lyrical ช่วงเสียงสูง เทคนิคยาก ๆ และดนตรีที่ไพเราะ ไม่หนักมาก ก่อนจะค่อย ๆ บิ๊วขึ้นเพื่อส่งเสริมแนวร้อง แต่!! เพลงนี้กลับแตกต่างออกไป

    • กลายเป็นท่อน Bridge ที่แทบจะให้ฟีลเหมือนกับท่อน Verse เสียงเบสที่มีการใส่ distortion แต่มากขึ้น เพิ่ม volume ให้ดังขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แนวทำนองของ Vibraphone กลับมาอีกครั้งแบบที่เสียงไม่ได้คนชัดมาก ถูกปรัับแต่งเสียงให้มีความก้อง ในขณะที่กลอง Percussion ถูกลด Volume ลง นั่นทำให้ vibe ของดนตรีในช่วงนี้เปลี่ยนไป แม้จำนวนเครื่องดนตรีจะน้อยชิ้นแต่กลับรู้สึกได้ถึงความแน่นของฐานจากเบส และเสียงร้องที่อยู่ในช่วงเสียงที่แม้จะต่ำแต่ก็ไม่โดนเบสกลบ (เพราะเบสลงไปต่ำมากจริง ๆ) นอกจากนี้ไลน์เบสเองก็มีการใส่ลูกเล่นเพิ่มเติมในระหว่างที่เปลี่ยนโน้ตอีกด้วย แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็น *Countermelody ควบคู่ไปกับแนวร้องเลยก็ว่าได้ เสียงต่ำ ๆ ในท่อนนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังวนเวียนอยู่ในห้วงทะเลที่ลึกและมืดมน รวมไปถึงอารมณ์ที่เหนื่อยล้า

    *Countermelody - ทำนองรอง

    • 2:20 เป็นครั้งแรกของเพลงนี้เลยที่แนวร้องมีลักษณะออกไปทางแร็พ เพราะถ้าหากสังเกต เพลงนี้แนวร้องมีโน้ตทำนองที่ชัดเจนมาโดยตลอด เป็นอีกจุดนึงที่น่าสนใจมาก เนื่องจาก majority ของวง NCT Dream นั้นมี rapper ถึง 4 คน แต่ในเพลงนี้กลับนำเสนออีกมุมมอง อีกความสามารถที่คนอาจจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ยินนักในช่วง Bridge นี้ที่ทั้ง 4 คนซึ่งมีช่วงเสียงค่อนข้างต่ำได้โชว์ความสามารถด้านการร้องให้ได้ฟังกัน น่าสนใจและน่าประทับใจจริง ๆ

    • นาทีที่ 2:22 เบสเปลี่ยนไปเป็นโน้ตตัว C ที่ต่ำมากจนแทบจะแยกเสียงไม่ออก แต่สามารถไปได้ยินชัดในประโยคที่ร้องว่า 네가 날 숨 쉬게 한단 걸 yea yea ตรงคำว่า 한 โน้ตตัว C เด่นออกมาชัดมาก กลายเป็นเสียงกัดและแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมาของทั้งเพลงอย่างชัดเจน หลังจากนั้นเสียงเบสกับกลองจะหายไปหมด เหลือไว้แค่เสียง Vibraphone กับแนวร้องที่มีความถี่ละเอียดขึ้น ในคีย์เสียง Major อีกครั้ง ราวกับชีวิตที่มืดหม่น ความเศร้ากำลังค่อย ๆ ถูกชำระล้างออกไป ความสุขเข้ามาแทนที่ ดนตรีดำเนินมาแบบที่ทำให้คนฟังรู้สึกได้ว่ามันเหมือนกับมีคำถามและความไม่แน่ใจอยู่ตลอด ก่อนที่ห้องสุดท้ายจะมีการย้ำประโยคที่ว่า I will dive into you ด้วยเสียงดนตรี percussion และร้องประสานแบบเต็มสตรีม เพื่อเป็นการยืนยันถึงเจตนารมย์กับคำตอบของตัวเองว่านี่แหละคือสิ่งที่ฉันต้องการ คำตอบนั้นคือคุณ


    I will dive
    I will dive
    I will dive into you



    • ท่อนฮุคสุดท้ายก็คือจัดเต็มจริง ๆ จากรอบสองที่ว่าเยอะแล้วรอบนี้แม้ดนตรีจะเหมือนเดิมแต่เพราะท่อน Bridge ที่ถูกกดลงให้ต่ำและมีสไตล์ที่ laid back มาก ทำให้ท่อน Chorus นี้ยังคงรู้สึกได้ถึงความมัน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแอดลิบให้ยิ่งใหญ่ โดดเด่นมากขึ้น ไลน์ร้องที่ยาวและโชว์ไล่สเกลลงอย่างสวยงามสลับกันกับแนวดนตรีที่ไต่สเต็ปขึ้น มีแนวประสานเสียงที่ทำให้เกิดสีสันใหม่ ๆ แม้ว่าจะไม่ได้มีการโชว์เสียงที่สูงทรงพลังมากตามสไตล์ของ SM (มีไปถึง C#5 นาทีที่ 2:38 แค่สั้น ๆ แป๊บเดียว) แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นการผสมผสานที่กำลังดีกับดนตรีที่อยู่ในช่วงเสียงต่ำเป็นส่วนใหญ่ เติมเต็ม range เสียงที่พอเหมาะกับหูของคนฟังได้เป็นอย่างดี

    • ผู้เขียนถึงกับตกใจในนาที 2:32 จนต้องย้อนกลับไปฟังหลายรอบว่าเกิดปัญหากับสัญญาณอินเตอร์เน็ตของตัวเองจนทำให้เพลงกระตุกหรืออย่างไร แต่ไม่ใช่เลย มีการ stop เสียงช่วงเสี้ยววินาทีนั้น ทำให้เกิดการสะดุด ราวกับว่าไม่ต้องการให้ผู้ฟังได้พุ่งจมดิ่งลงไปยังก้นบึ้งของมหาสมุทรในทีเดียว ใจเย็นก่อน เรายังมีอะไรให้คุณได้ตื่นเต้นอีกเยอะ ก็ถือเป็นการเบรคอารมณ์ที่แปลกแต่ได้ผลอย่างชะงัด

    • ครึ่งหลังของ Chorus ที่ถูกเพิ่มขึ้นมายังคงหนักแน่น และสมบูรณ์แบบด้วยเครื่องดนตรี เสียงประสาน Harmony ต่าง ๆ และ Background Vocals ก่อนที่จะจบปิดท้ายด้วยการลงเสียงกลองใหญ่ปัง 1 ที และเหลือเพียงเสียงร้องตะโกนกู่ก้องว่า I will dive into you ฉันจะดำดิ่งลงไปหาคุณอย่างแน่นอน

    • Outro ของเพลงนั้นน่าสนใจมาก แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกับตอนต้นในแง่ของตัว Ostinato แต่กลับมีเสียงเบสลากที่เปลี่ยนจากโน้ตตัว Bb ไปใช้โน้ตตัว F# แทน เห้ยยยย อยู่ดี ๆ ก็กลับมาใช้โน้ตในคีย์ปกติ ไม่ได้ใช้ตัว bV เหมือนกับตลอดเพลงที่ผ่านมา หรือว่านี้คือการจบแบบ happy ending ไร้ซึ่งความรู้สึกเคลือบแคลงใจแล้ว หลังจากตัวนั้นเบสไล่กลับลงไปที่ดน้ตตัว A ที่ไม่เหมือนเดิมเนื่องจากเสียงลงไปต่ำกว่าเดิมอีก 1 Octave กลายเป้็นโน้ตตัว A1 จนหูของมนุษย์ที่ไม่คุ้นเคยกับเสียงต่ำแทบจะจับเสียงไม่ได้แล้ว (A1 = 55Hz)

    • นาทีที่ 3:03 เสียงเบสหายไป กลับไปเหลือแค่เสียง Ostinato กับแนวร้องซึ่งเป็นทำนองจาก Pre-Chorus..??? อ้าว งงไปหมดแล้ว ไหงกลายเป็นเอาทำนองนี้มาใส่ในตอนท้ายได้ เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับเลยว่าแปลกใหม่ แทบไม่เคยเห็นใครทำมาก่อน เนื่องจากทำนองในท่อน Pre-Chorus ไม่ใช่ทำนองหลักของเพลง หากแต่เพลงนี้ท่อน Pre-Chorus ดัน base on ตัว Ostinato ของเพลงพอดี นั่นเลยทำให้เพลงนี้มีความพิเศษไม่เหมือนใคร

    • ก่อนที่จะจบท้ายเพลงอย่างสวยงาม I will dive into you แม้จะไร้ซึ่งเสียงดนตรี แม้จะเป็นการร้องที่ไม่หนักแน่นเท่าก่อนหน้า หากแต่เป็นสุ้มเสียงที่หวานและเต็มไปด้วยอารมณ์แห่งความรัก...



    - จบเพลง -




    โครงสร้างของเพลง Dive into you

    INTRO                          0:00-0:12

    VERSE 1                       0:12-0:37

    PRE-CHORUS              0:38-0:50

    CHORUS                      0:50-1:03

    VERSE 2                       1:03-1:27

    PRE-CHORUS              1:28-1:41

    CHORUS                      1:41-2:06

    BRIDGE                        2:06-2:31

    CHORUS                      2:31-2:56

    OUTRO                        2:56-3:10



    บทสรุป

    ค่อนข้างมั่นใจมากว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ถูกใจใครหลายคน เนื่องจากดนตรีที่มีความฟังง่าย สบาย มีการใช้เครื่องดนตรีที่คุ้นเคยหูคนทั่วไป อยู่ในคีย์ที่สดใส แต่ในขณะเดียวกันก็แอบซ่อนเอาซึ่งความหม่นความดาร์ค ทำให้เพลงน่าสนใจและไม่เพลนเกินไป มีจังหวะบีตหนักเบาที่มาตรฐาน อีกความน่าสนใจคือในหลายจุดของเพลงมีการใช้คอร์ดที่แปลกและไม่สามารถคาดเดาได้เป็นการสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่วิเศษให้กับผู้ฟัง ต้องยอมรับและขอซูฮกคนแต่งจริง ๆ

    เพลงนี้แอบทำให้นึกถึงเพลง Déjà Vu ที่มีการปรับเสียงโน้ตบางโน้ตให้ต่ำลงครึ่งเสียงจนทำให้เกิด sound ที่แปลกใหม่ให้กับเพลง (ในทางทฤษฎีดนตรีคือการใช้ Mode) ดนตรีมีความน่ารัก สดใส มีความสุข แต่กลับซ่อนไปด้วยกลิ่นอายอะไรบางอย่างที่มันน่าค้นหา เพลง Dive into you เองก็เช่นกัน การใช้ Chromatic ในเพลงนี้สร้างอารมณ์สีสันที่น่าติดตามมาก

    เพลงนี้มีการใช้องค์ประกอบหลายอย่างที่นำเสนอความเป็น NCT Dream อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นเพลงที่โชว์เสียงความสามารถเนื้อเสียงของนักร้องทุกคนอย่างที่ไม่มีอะไรมาปิดกั้น ไม่มีการใช้ autotune ที่มากเกินไปจนทำลายเสียงธรรมชาติ ไม่มีดนตรีหรือ Background Vocals ที่หนาเกินไปจนกลบทำนองร้องหลัก แต่กลับไม่ได้รู้สึกว่าเพลงขาดตกบกพร่อง ทุกอย่างสมบูรณ์แบบกำลังดี

    เคยวิเคราะห์แนวเพลงของ NCT Dream ไว้ว่ามีลักษณะ รูปแบบประมาณไหน อะไรที่ทำให้เพลงของน้องดรีมมีความเป็นน้องดรีม
    ลองไปอ่านกันได้ค่ะ มี 2 บทความ Part I และ Part II ​

    สรุปแบบสั้น ๆ เป็นเพลงที่ไม่เยอะไป ไม่น้อยไป ทุกอย่างกำลังดี
    และยังมีโมเมนต์ให้ได้ร้องว้าวเสมอ


    เพราะ NCT Dream มีเอกลักษณ์ลายเซ็นของตัวเองที่ชัดเจน
    ไม่แปลกใจเลยที่ใคร ๆ ก็หลงรักเพลงของน้อง



      อ่านจบแล้วอย่าลืมกดฟัง เพลง Dive into you อีกรอบด้วยนะ!



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
nat_hathai (@nat_hathai)
เราตั้งใจอ่านมากเลยค่ะ อ่านแล้วเคลิ้มตามจริงๆ ชอบอ่านวิเคราะห์เพลงมันเหมือนมีคนมาexpressครสที่เราอธิบายไม่ถูกออกมา คุณทำได้ดีมากเลยค่ะ? ?
ryeomook (@ryeomook)
@nat_hathai ขอบคุณมากเลยนะคะ ดีใจที่รู้สึกแบบนั้น อยากให้คนเข้าใจแล้วก็อินกับเพลงมากขึ้นเลยตั้งใจเขียนแยกองค์ประกอบกับอธิบายเพิ่มเติมเท่าที่จะพอทำได้ค่ะ :)
skeletonflowerw (@skeletonflowerw)
ขอบคุณอีกครั้งนะคะ เราตั้งใจอ่านและกดฟังเพลงตามซ้ำๆ เลย เราต้องเปลี่ยนหูฟังสำหรับฟังนี้เลย ขอบคุณที่มาช่วยอธิบายให้เห็นความเจ๋งของเพลงนี้นะคะ/ ??
ryeomook (@ryeomook)
@skeletonflowerw ขอบคุณเช่นกันค่าาา :)
mondayoctober (@mondayoctober)
เราชอบเพลงนี้มากเลยค่ะ อธิบายไม่ถูก แต่รู้ว่าฟังแล้วมู้ดแอนด์โทนมันแปลกและแตกต่างจากเพลงก่อนๆ หน้านี้ รู้สึกถึงความหม่นแต่ไม่หมอง คือมันยังดรีมอยู่แต่เป็นดรีมที่โตขึ้น (อธิบายตามฟีลลิ่ง ไม่มีทฤษฎีใดๆ แหะๆ) พออ่านบทความแม้ว่าจะไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แต่ก็พอจะเข้าใจได้บ้างว่าทำไมถึงทำให้รู้สึกแบบนี้ เราชอบมากทุกครั้งที่ได้ยินพวกเสียงกีตาร์จริงๆ ในเพลงของ NCT มันดูแมนๆ ดิบๆ ดี 555 รู้สึกเซอร์ไพรส์ในหลายๆ ช่วงว่า เอ๊ะ ทำนองนี้เหรอ แปลกอ่ะ แต่ดีเฉย แค่ครึ่งเพลงยังชอบขนาดนี้ เต็มเพลงต้องว้าวกว่านี้แน่ๆ เลยค่ะ
ryeomook (@ryeomook)
@mondayoctober ดรีมที่โตขึ้นน่าจะเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนและตรงมากเลยค่ะ แงงงง สงสัยไม่ได้เขียนนานเลยอาจจะย่อยคำได้ไม่ดีพอ ไว้วิเคราะห์ครั้งหน้าจะพยายามใช้ศัพท์ที่ง่าย เพิ่มคำอธิบายให้เจ้าใจง่ายขึ้นนะคะ :)