เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สมคบคิด(เอาเอง)I-love-thee
Praying Theory สวดอิติปิโสเท่าอายุ+๑ แล้วจะดีจริงเหรอ
  • *คำเตือน :ข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาในการลบหลู่ศาสนาหรือความเชื่อแต่อย่างใด และไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือให้เหตุผลตามหลักวิชาการได้


    อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
    วิชชาจะรณะสัมปันโนสุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร
    ปุริสะทัมมะสาระถิสัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ


    นี่คงเป็นบทสวดมนต์ภาษาบาลีขนาดสั้นที่ใครหลายคนรู้จักและคุ้นเคย การที่จะสวดให้เกิดผลดีได้นั้นมีคำแนะนำที่รู้กันดีว่าต้องสวดด้วยจำนวนรอบเท่ากับอายุของผู้สวดและบวกเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งรอบ

    จากหนังสือสวดมนต์เล่มหนึ่งที่ผู้เขียนมีนั้นระบุว่า การสวดบทอิติปิโสเท่าอายุ+๑ หลวงพ่อจรัญ ฐิตะธัมโม วัดอัมพวัน ท่านกล่าวว่าช่วยให้สมาธิจิตดีขึ้น ถ้าคนไหนเคราะห์ร้ายหรือดวงไม่ดี ให้สวดพระพุทธคุณสร้างพระเข้าตัวคือ นำธรรมะเข้าตัว สามารถปัดเป่าเคราะห์ภัยร้ายๆให้ห่างหายไปได้

    เนื่องด้วยตัวผู้เขียนเองมีโรควิตกกังวลบวกกับ OCD (Obsessive-Compulsive Disorder) เป็นทุนเดิมบางครั้งการหวังพึ่งยาตามใบสั่งแพทย์เพียงอย่างเดียวก็ไม่เป็นผลให้อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้ จึงพยายามลองหาวิธีเพื่อจะจัดการกับอาการเหล่านี้ หลายๆแหล่งข้อมูลแนะนำการนั่งสมาธิแต่อาการของโรคที่เป็นนั้นทำให้การนั่งสมาธิเป็นวิธีที่ยากที่จะเริ่ม การสวดมนต์จึงเป็นอีกทางเลือกที่ลองใช้

  • และบทสวดอิติปิโสก็เป็นบทสวดหนึ่งที่เหมาะกับสถานการณ์นี้ เพราะสวดได้ไม่ยาก สั้นและสวดแบบวนซ้ำไปมา จากการลองสวดมาเป็นเวลานานก็ทำให้สังเกตเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งพบเหตุผลที่ว่า ทำไมการสวดมนต์จึงทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตจะดีขึ้นในแบบฉบับของเราเองดังนี้

    1. เหตุผลที่ต้องสวดเท่าอายุบวกหนึ่ง อาจเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่เริ่มรู้สึกว่าชีวิตพบเจอกับปัญหาใหญ่มักอยู่ในช่วงอายุ 17 ปีขึ้นไปซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการสวดนั้นน่าจะมากพอที่ทำให้เริ่มเกิดสมาธิ และมีสติรู้เท่าทันตัวเองได้ คนอายุมากย่อมใช้ชีวิตมามากและเจอปัญหามามากกว่าคนอายุน้อยๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าคนอายุมากย่อมต้องสวดจำนวนรอบมากตามไปด้วย ทำให้ได้ใช้เวลาในการตั้งสติมากคนหนุ่มสาว

    2.การสวดมนต์ทำให้มีสมาธิเพราะเราถูกบังคับให้จดจ่อกับอะไรบางอย่าง การนั่งสมาธิอาจเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่สมาธิไม่ดีเป็นทุนเดิม เพราะการนั่งสมาธิไม่ได้มีอะไรที่มายึดเหนี่ยวจิตใจเราแบบเป็นรูปธรรมชัดเจน มีเพียงการกำหนดลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกและหน้าท้องที่ยุบและพองตามจังหวะการหายใจ แต่การสวดมนต์นั้นบังคับให้เราต้องเปล่งเสียงตามบทสวดรวมทั้งต้องอ่านออกเสียงให้ถูกต้องประสาทสัมผัสถูกใช้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งการขยับปากเปล่งเสียงหูฟังว่าออกเสียงถูกหรือไม่ แบ่งช่วงวรรคตอนให้เหมาะสมกับการหายใจ เราจึงถูกดึงให้จดจ่ออยู่กับการเปล่งเสียงสวด และลืมความฟุ้งซ่านไปชั่วขณะ

    3. ผลทางใจที่เชื่อการสวดมนต์เหมือนการได้รับพร ในบางครั้งเราก็รู้สึกอับจนหนทาง และไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร การสวดมนต์จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยปลอบปะโลมใจเราได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นหลังจากที่เราได้สวดมนต์ ผลพลอยได้จากข้อที่ 1 และ 2 คือทำให้เกิดสมาธิ คนที่รู้สึกว่าตนมีเคราะห์นั้นมักมีอาการวิตกกังวลเกินเหตุจนขาดสติ ทำให้ไม่เห็นทางออกของปัญหาจึงรู้สึกท้อแท้ และสิ้นหวัง แต่เมื่อสวดมนต์จนหายฟุ้งซ่านแล้ว ก็จะเริ่มมีสมาธิและสติ ทำให้เจอทางออกและรู้สึกว่าเคราะห์กรรมที่เกิดถูกทำให้บรรเทาลงแล้ว

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in