เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
กินฝอยทอง นั่งมองเรือSirada Pichayapaiboon
เรื่องราวสาวชาวประมง
  • เข็มทิศ เรือ และการสำรวจ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับโปรตุเกสมานานแสนนานแล้ว

    ที่ไหนมีเรือ ย่อมต้องมีการจับปลา และการทำประมงจะว่าไปก็เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศของเค้าเหมือนกับว่าเป็นมีชาวประมงเหล่านี้คือ "แม่บ้าน" ที่ทำให้ลูกบ้านทั้งหลาย ได้อิ่มท้อง มีพลังทำงานกัน 

    Nazaré หรือที่อ่านว่า นา-ซา-เร่ ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่เติบโตจากเมืองเล็กริมชายฝั่งทะเลแอตแลนติกกลายมาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางในดินแดนฝอยทอง ที่นักท่องเที่ยวนิยมที่จะมาในช่วงหน้าร้อน

    เพราะอะไรน่ะเหรอ....ก็เพราะว่าที่นี่ มีหาดทรายกว้างขวางทอดยาวตลอดชายฝั่งทะเล จรดกับหน้าผาสูงใหญ่ ทำให้ชายหาดแห่งนี้มีสภาพเป็นอ่าวขนาดเล็ก ที่โอบรับลมทะเลให้โหมแรงยิ่งขึ้นซึ่งคลื่่นลมแบบนี้ เหมาะมากสำหรับ การเล่นเซิร์ฟ

    และด้วยเหตุผลเหล่านี้เมืองประมงเล็กขนาดเล็กแห่งนี้ จึงกลายสภาพมาเป็นเมืองท่องเที่ยวไปโดยปริยาย 

    เมืองนี้ถ้าจะอธิบายง่ายๆว่าอยู่ตรงไหนนั้น เอาง่ายๆก็คือ อยู่ระหว่าง Porto กับ Lisbon ริมฝั่งทะเลแอตแลนติก สามารถมาถึงได้ไม่ยากจาก Lisbon 


    เราเลือกที่จะมาเมืองนี้ด้วยเหตุผลง่ายๆที่ว่า อืม มันเป็นทางผ่านที่จะกลับมายังเมืองที่เราอยู่ และชื่อของมันก็คุ้นๆดีเหมือนกันนะ เหมือนว่าเราจะเคยเห็นจากในโปสการ์ด เพียงแต่ว่าในโปสการ์ดนั้นไม่ได้เป็นรูปของชายทะเล แต่เป็นรูปของผู้หญิง! ที่ทำให้เราสะดุดตา จนทำให้เราอยากมา ด้วยความคาดหวังที่ว่า จะได้เจอผู้หญิงที่ใส่ชุดแบบนี้อยู่เต็มไปหมด

    เราเดินไปตามถนนที่ทำจากกรวดก้อนเล็กใหญ่ขาวสลับดำเป็นลาย ยาวไปตลอดแนวชายหาด ถนนที่ว่านี้เป็นถนนเส้นหลักของเมืองก็ว่าได้ มีนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ และ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสเปน ที่เดินเล่นกัน  ทำให้การเดินเล่นริมชายหาดของเรามีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง เพราะอากาศค่อนข้างครึ้มฟ้าครึ้มฝน บ้างก็มีฝนตกปรอยๆและ ลมที่พัดแรง ทำให้บรรยากาศของเมืองไม่คึกคักเท่าที่ควร เล่นเอาหน้าชาไปเหมือนกัน



    ขณะที่เราเดินทอดสายตาไปยังท้องทะเลที่คลื่นลมยังคงโหม เข้าหาฝั่งไม่หยุด เราก็เดินมาถึง พื้นที่ตากปลา และคุณยายหลายคนที่รับหน้าที่ขายปลาและของทะเลตากแห้งริมหาด ที่ยังแสดงถึงวิถีีชีวิตของเมืองที่ยังคงความเป็น "หมู่บ้านชาวประมง" อยู่



    ซึ่งสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากไปกว่า นาซาเร่ กับ ภาพลักษณ์ของการเป็น “เมืองชายหาด” ก็คือการแต่งการของผู้คนที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผู้หญิง" ที่ดูเผินๆแล้วการแต่งตัวของผู้หญิงที่นี่ หรือ จริงๆแล้วคือ ต้องเสริมว่า ผู้หญิงมีอายุ ที่ยังคงแต่งกายตามแบบดั้งเดิมของเมืองอยู่ 

    ลักษณะของชุดจะประกอบไปด้วยผ้าที่ใส่ซ้อนทับกัน ว่ากันว่าในสมัยก่อนใส่ทับกันถึง 7 ชั้นเลยทีเดียว ทำให้ดูตัวพองๆ เป็นสัญลักษณ์ของการแต่งกายแบบนี้ เนื่องมาจากว่าผู้หญิงเหล่านี้ จะมานั่งรอครอบครัว หรือ สามี ของพวกเธอกลับบ้าน หลังจากออกเรือไปนานแรมเดือน และถ้าหากว่าสามีของผู้หญิงเหล่านี้คนใดตายไป พวกเธอก็จะใส่แต่สีดำ เพื่อเป็นไว้ทุกข์ตลอดชีวิตเลยทีเดียว

    ....ปัจจุบัน คงมีแต่ผู้ที่มีอายุขึ้นมาหน่อยที่ยังคงรักษาธรรมเนียมการแต่งกายแบบดั้งเดิมนี้เอาไว้


    เสื้อผ้าเหล่านี้ นอกจากจะทำหน้าที่ตอบสนองการใช้งานนั้นมันยังทำหน้าที่ “สะท้อน” ถึงสภาพทางสังคมหรือว่า วัฒนธรรมในที่นั้นด้วย ซึ่ง “เสื้อผ้า” นั้นทั้งบ่งบอก “ตัวตน” และ "เรื่องราว" ของ เมืองได้เป็นอย่างดี

    นอกจากนี้ยัง สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงความนิยมของสังคมใน ช่วงเวลานั้นๆ จากชุดท้องถิ่นที่พบเห็นได้ทั่วไป กลายสภาพมาเป็น ชุดว่ายน้ำจากนักท่องเที่ยวที่เดินกันขวักไขว่ 

    ร้านขายผลิตภัณฑ์จากการทำประมง ถูกเปลี่ยนกลายเป็น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก เข้ามาแทนที่วิถีชีวิตแบบเดิม ซึ่งคล้ายกับว่า จุดมุ่งหมายและบทบาทของหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆแห่งนี้ที่ถูกเปลี่ยนไป

    เห็น นาซาเร่ ก็พาลให้นึกถึงเมืองไทยของเรา ที่ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคต แต่จะอยู่รอดใน “กระแส”แห่ง “การเปลี่ยนแปลง”ไปได้ซักแค่ไหน ถ้าหากหมดแรงเมื่อไหร่ก็ไม่อาจที่จะสวนกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เช่นกัน ทุกวันนี้เรากำลังใช้ “แรง” เฮือกสุดท้ายที่จะต่อสู้รักษา ความเป็น “ตัวตน”ของเรา แต่เราจะไปได้ไกลซักเท่าไหร่ถ้าหากเราไม่มี “รากฐาน” ที่แข็งแรง


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in