เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือการเมืองการปกครองท้องถิ่นChaitawat Marc Seephongsai
TheLocal Alternative: Decentralization and Economic Development
  • LED: การกระจายอำนาจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต

    บทปริทรรศน์หนังสือ TheLocal Alternative: Decentralization and Economic Development

    ชุติเดชเมธีชุติกุล[1]



    เกริ่นนำ

              หนังสือ TheLocal Alternative: Decentralization and Economic Development บรรณาธิการโดยRafaelde la Cruz, Carlos Pineda Mannheim และ Caroline Pöschl หนังสือแบ่งออกเป็น 6 ส่วน 21 บท เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกระจายอำนาจ(Decentralization) และการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น (LocalEconomic Development; LED) ว่ามีความสัมพันธ์หรือส่งผลต่อกันอย่างไรทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะชี้จะให้เห็นว่าการกระจายอำนาจนั้นได้ทำให้ประสิทธิผลและคุณภาพของชีวิตผู้คนนั้นเปลี่ยนไปในทางที่ดีภายใต้การขยายตัวของการให้อำนาจที่มากขึ้นกับรัฐบาลท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นมิติทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั้งการคลังและงบประมาณ (1) ดังนั้นคำถามหลักที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะตอบมีอยู่ด้วยกัน 5 คำถาม 1) รัฐบาลจะสามารถกลายเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาได้หรือไม่2) รัฐบาลส่วนกลางจะสามารถส่งมอบอำนาจ ความรับผิดชอบและทรัพยากรให้รัฐบาลท้องถิ่นได้อย่างไรโดยไม่กระทบต่อคุณภาพของกิจการสาธารณะและเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาพ 3) อะไรจะเป็นแรงผลักดันให้มีการส่งเสริมให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการท้องถิ่นของตนได้เต็มที่4) อะไรคือผลกระทบที่จะส่งผลต่อความยั่งยืนของสถาบันการเมืองท้องถิ่นและปฏิสัมพันธ์ของสถาบันดังกล่าวกับภาคเอกชนในเรื่องความสามารถในการแข่งขันในระดับท้องถิ่น 5) ทำอย่างไรถึงจะทำให้กลไกลการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบและเป็นส่วนหนึ่งของการรับผิดชอบในกิจการสาธารณะต่างๆของรัฐบาลท้องถิ่น (Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 2)โดยหนังสือทั้งเล่มจะให้ความสำคัญกับกรณีศึกษาในประเทศแถบละตินอเมริกาและทวีปอเมริกาในบางกรณี

              สำหรับสิ่งที่เรียกว่า“การพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น” หรือ “LED” นั้นคือการเพิ่มขีดความสามารถในทางเศรษฐกิจและความมั่นคั่งในระดับท้องถิ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจ้างงานและการสร้างเงื่อนไขความเป็นอยู่ที่ดีในการดำเนินชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆโดยอาศัยการทำงานทั้งผ่านภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกันเป็นการเครือข่ายการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นร่วมกันในแง่นี้หากสรุปประเด็นที่สำคัญสำหรับ LED ที่งานส่วนใหญ่จะพูดถึงนั้นจะมีอยู่4 ประเด็นด้วยกันคือ 1) ในระดับชาติหรือระดับมหภาคนั้นจะให้ความสำคัญกับเรื่องกรอบการควบคุมรัฐบบาลท้องถิ่นของรัฐบาลกลางว่าจะต้องเป็นกรอบแบบไหนที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับความสามารถในการแข่งขันได้ของภาคเอกชนในระดับท้องถิ่นและตลาดนั้นๆ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเศรษฐกิจมหภาคนั้นก็ต้องมีเสถียรภาพด้วย 2)นวัตกรรมเชิงวัฒนธรรม นั้นคือวัฒนธรรมแบบไหนที่ส่งเสริมจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการให้กับท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคมให้เข้มแข็งและมีขีดความสามารถมากขึ้น3) การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในระดับท้องถิ่นสาธารณูปโภคแบบไหนหรืออะไรบ้างที่จำเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น 4) ความร่วมมือในระดับท้องถิ่นต่อการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานประเด็นนี้จะเน้นที่การสร้างเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมแบบใดที่เอื้อต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชน และประชาสังคมทั้งในเชิงการลงทุน โครงการการพัฒนา การประสานงาน และดูแลเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน(Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 9)

              โดยภาพรวมแล้วทั้ง 6ส่วน และ 21 บทนี้มีคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้คร่าวๆ 5 ประเด็นด้วยกันคือ 1)การกระจายอำนาจและการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้สัมพันธ์กันในเชิงบวกเสมอไปที่นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนเช่น อาร์เจนติน่า และโคลัมเบีย ทั้งสองประเทศมีอัตราการกระจายอำนาจที่สูงมากแต่เมื่อเทียบสัดส่วนของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นกับน้อยกว่าประเทศอย่างชิลีและคอสต้าลิก้าที่มีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐบาลกลาง แต่ในบางกรณีอย่างโบลีเวีย เม็กซิโก และบราซิลการกระจายอำนาจทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเมืองบางเมืองใน 3 ประเทศนี้มีอัตราที่สูงมากกระนั้นก็ตามการประเมินความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ไม่สามารถใช้เป็นมาตรฐานกลางในการชี้ขาดได้ว่าการกระจายอำนาจดีหรือไม่ดีด้วยปัญหาที่ว่ามันยากที่จะระบุว่าอะไรที่จะส่งผลให้การกระจายอำนาจประสบความสำเร็จและกระบวนการการกระจายอำนาจในแถบละตินอเมริกานั้นก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี อีกทั้งผลของการกระจายอำนาจนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายและระเบียบของแต่ละประเทศที่นำนโยบาบการกระจายอำนาจไปใช้และศักยภาพของการบริหารจัดการและผู้นำในระดับรัฐบาลท้องถิ่น 2) รัฐบาลจะไม่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในท้องถิ่นได้หากยังขาดอำนาจในการบริหารจัดการนโยบายการเงินและงบประมาณของตนเองประเทศประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา และโคลัมเบีย เป็นต้น 3)เป็นสิ่งที่จำเป็นที่เราต้องหาสมดุลระหว่างความอิสระทางการคลังของท้องถิ่นกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
    มหภาคที่รัฐบาลกลางเป็นผู้ดูแล เช่นกรณีเม็กซิโกที่ในด้านหนึ่งก็ปฏิรูปการคลังของท้องถิ่นให้มีอำนาจและอิสระมากขึ้นโดยการมอบอำนาจในการจัดเก็บภาษีให้มีขอบเขตมากขึ้นแก่รัฐบาลท้องถิ่นแต่ในขณะเดียวกันก็ได้วางเงื่อนไขและข้อจำกัดบางประการในการจัดทำงบประมาณท้องถิ่นเพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะรับผิดชอบต่อการจัดทำงบประมาณของท้องถิ่นโดยไม่กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ(
    Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 2-3) 4) รัฐบาลท้องถิ่นต้องส่งเสริมและมีทัศนคติที่ดีต่อการทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันกันได้ในระดับท้องถิ่นของภาคเอกชนเช่น การสร้างจูงใจทางภาษี การจัดอบรมหลักสูตรสร้างผู้ประกอบการใหม่การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อส่งเสริมเรื่องดังกล่าว เป็นต้น 5) รัฐบาลท้องถิ่นต้องมีการสื่อสารและให้ข้อมูลกับชุมชนและประชาชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและรอบด้านรวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมการบริหารกิจการสาธารณะของคนในท้องถิ่นด้วย (Cruz,Mannheim and Pöschl, 2011, 3-4)

    เนื้อหาโดยภาพรวม

              โดยทั้ง 6 ส่วนของหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วย ส่วนที่ 1 การกระจายอำนาจและการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น (Decentralization and Local EconomicDevelopment) ส่วนที่ 2 การบริหารจัดการท้องถิ่น(Local Management) ส่วนที่ 3 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค(Macroeconomic Impact) ส่วนที่ 4 การคลังของรัฐบาลท้องถิ่น(Subnational Financing) ส่วนที่ 5 ความสามารถในการแข่งขันได้และโลกาภิวัตน์(Competitiveness and Globalization) ส่วนที่ 6 การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น (Local Community Participation)

              ส่วนที่ 1 การกระจายอำนาจ และการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ในส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องการทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกันระหว่างการกระจายอำนาจกับการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นในแง่นี้การกระจายอำนาจจะช่วยสร้างโอกาสและกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นแต่ละบทในส่วนที่ 1 ก็จะฉายภาพให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองรวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองนั้นเกื้อหนุนกันได้ ในบทแรกของส่วนนี้ได้นำเสนอว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดการความสัมพันธ์ที่สมดุลและลงตัวระหว่างความเป็นอิสระในการตัดสินใจของรัฐบาลท้องถิ่นกับประสิทธิภาพในการควบคุมและกำหนดกรอบของการจัดการการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะดังนั้นรัฐแต่ละรัฐควรนิยามและกำหนดขอบเขตทั้งสองเรื่องนี้ให้ชัดเจน และยังต้องสร้างกลไกการพร้อมรับผิดที่มีประสิทธิภาพในระดับท้องถิ่นด้วย(บทที่ 1) อีกบทหนึ่งก็เสริมต่อว่ายิ่งมีการกระจายอำนาจมากเท่าไรผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในเรื่องประสิทธิภาพและนโยบายการเงินและการคลังภายใต้การดูแลของรัฐบาลท้องถิ่นว่าจะรัฐบาลกลางควรกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์หรือกฎเกณฑ์อย่างไรในเรื่องดังกล่าว (บทที่ 2)ในขณะที่อีกบทหนึ่งเสนอว่าการกระจายอำนาจนั้นส่งผลต่อการกระจายผลประโยชน์สาธารณะและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเศรษฐกิจในแง่นี้หากเรามองด้วยมุมมองทางเลือกที่มีเหตุมีผล (Local Public ChoiceApproach) การกระจายอำนาจช่วยให้สามารถกระจายทรัพยากรสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงแต่หากมองในมุมของหลักการและตัวกระทำการ (Principal-Agent Approach) ประสิทธิภาพของการกระจายอำนาจจะขึ้นอยู่กับระเบียบ กฎเกณฑ์ การจัดการและรูปแบบในการบริหารของรัฐบาลท้องถิ่นที่รัฐบาลกลางเป็นผู้กำหนด (บทที่ 3)

              ความน่าสนใจของส่วนนี้อยู่ที่บทที่ 1โดย Tim Campbell ได้เสนอว่าปัจจัยที่สำคัญ 7อย่างในกระบวนการการกระจายอำนาจที่จะช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นนั้นประสบผลสำเร็จได้แก่ 1) นโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ รัฐจะต้องมีแผนการในการปฏิรูปการเมืองในเชิงการแบ่งปันอำนาจการพัฒนาเศรษฐกิจ และการตัดสินใจแบบประชาธิปไตยที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและสมรรถนะของการคลังงบประมาณในการทำให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดการและพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว(Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 10) 2) การจัดเตรียมองค์กรของรัฐ การสร้างกลไกในเชิงสถาบันที่รองรับและประสานงานการพัฒนาบทบาทของรัฐบาลท้องถิ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การร่วมมือกับภาคเอกชนในท้องถิ่นตนเอง(Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 13-17) 3) กลไกการรับผิดชอบต่อหน้าที่และภารกิจของรัฐบาลท้องถิ่นหรือก็คือการต้องดำเนินให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลท้องถิ่น มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน อย่างแรก การมีอิสระในการเลือกและความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายตามสถารการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างที่สอง ประสิทธิภาพของการกระจายและจัดส่งบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่นอย่างที่สาม การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบรรลุผล (Cruz, Mannheim andPöschl, 2011, 17-21) 4) การคลังงบประมาณ ความน่าสนใจของประเด็นดังกล่าวคือTim Campbell พูดอย่างชัดเจนถึงประเด็นนี้ว่าการเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ของการคลังท้องถิ่นนั้นเป็นเพียงภาพลวงตาเพราะประเทศในกลุ่ม G8 (สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รัสเซีย อิตาลีแคนนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี)ต่างใช้นโยบายการคลังท้องถิ่นที่ให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดหาหรือจัดการงบประมาณของต้นได้ในระดับครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นไม่ได้ให้อิสระอย่างสมบูรณ์ทั้งในเชิงการใช้จ่ายและการจัดเก็บภาษีเช่น การสร้างข้อจำกัดหรือกำหนดเกณฑ์ขั้นสูงในเรื่องภาษีแล้วให้รัฐบาลท้องถิ่นกำหนดเกณฑ์ไม่ให้เกินเกณฑ์ดังกล่าวเป็นต้น (Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 21)ดังนั้นในเรื่องการคลังงบประมาณที่ส่งผลต่อ LED นั้นจึงเป็นลักษณะของการดูกรอบการควบคุมของรัฐบาลกลางต่อรัฐบาลท้องถิ่นในเรื่องการจัดเก็บภาษีการใช้จ่ายและรายได้ว่าสนับสนุนหรือส่งเสริมขีดความสามารถด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลท้องถิ่นว่าควรจะอยู่ในระดับใดมากน้อยแค่ไหน

              5) กลไกการมีส่วนร่วมและการพร้อมรับผิดโดยพิจารณาใน 3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นที่หนึ่ง การเลือกตั้งและระเบียบการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมหรือไม่ และมีช่องทางให้ประชาชนในระดับท้องถิ่นสามารถเลือกตั้งตนเองหรือการเลือกตั้งที่จะส่งผลต่อท้องถิ่นของตนหรือไม่ ประเด็นที่สองอำนาจของฝ่ายบริหารของรัฐบาลท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่มากแค่ไหนและอำนาจหน้าที่นั้นส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาของตนเองหรือไม่ ประเด็นที่สามความสำคัญของเสียงของประชาชน การมีส่วนร่วม และทางเลือกต่างๆ ในรัฐนั้นๆ กล่าวคือรัฐนั้นๆส่งเสริมช่องทางให้ประชาชนในระดับท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นหรือไม่ (Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 23-26) 6) ขีดความสามารถและสมรรถนะของสถาบันของรัฐในระดับท้องถิ่นโดยพิจารณาจากจำนวนบุคลากรที่เพียงพอต่องานในระดับท้องถิ่นกลไกการบริหารจัดการและการบริหารแบบการทำสัญญา (Contracting)ระบบคุณธรรมความสามารถ (Merit-based) และการคอรัปชั่น อาจกล่าวได้ว่าเป็นประเด็นนี้สำคัญมากเพราะนี้คือกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนรัฐบาลท้องถิ่นให้สามารถคงรักษาและดำเนินนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ(Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 26-28) 7) การเติบโตของบทบาทของเมือง จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นของแต่ละเมืองส่งผลให้เมืองกลายเป็นมหานคร(Metropolitan) ทำให้ส่งผลต่อการทำงานของภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขยายตัวเพิ่มมากขึ้นไปพร้อมกับปัญหามลพิษอาชญากรรม การจราจร ความแออัด และอื่นๆ ที่ตามมามากมาย ในแง่นี้สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นฉะนั้นจะเห็นว่าประเด็นที่น่าสนใจมีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกันคือประเด็นที่หนึ่ง ประเด็นเชิงสถาบันของอำนาจ องค์กรและการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น ประเด็นที่สอง ประชาธิปไตยแบบผู้แทน นั้นคือกระบวนการทั้งสองจะต้องเอื้อต่อการส่งเสริมศักยภาพของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อจัดการแก้ปัญหาต่างๆของการกลายเป็นมหานครของเมืองต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี (Cruz,Mannheim and Pöschl, 2011, 28-31)

              ส่วนที่ 2 การบริหารจัดการท้องถิ่น ส่วนนี้จะเจาะลงไปในรายละเอียดของการกระจายอำนาจนั้นคือหากส่วนที่ 1 เป็นการเน้นย้ำว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและได้กล่าวถึงเงื่อนไขที่จะช่วยเกื้อหนุนในเรื่องดังกล่าวนี้ว่าคือการบริหารการคลังสาธารณะในส่วนนี้จะเป็นเจาะและขยายต่อไปว่าการจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจในระดับท้องถิ่นนั้นตัวแปรที่สำคัญในกระบวนการดังกล่าวก็คือการบริหารจัดการการคลังสาธารณะระดับท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพโดยยกกรณีศึกษาเมือง Mississauga ของแคนนาดา (บทที่ 4)สิ่งสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นก็คือการมีหน่วยงานเฉพาะที่คอยดูแลและสนับสนุนเศรษฐกิจดังกล่าวและการบริหารจัดการเมืองควรเป็นการจัดการแบบธุรกิจ และเน้นนโยบายเรื่องการลดภาษีและเพิ่มบริการต่างๆให้กับธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนในเมืองของตนในเวลาเดียวกันก็ต้องมั่นใจว่าการลดภาษีและการเพิ่มบริการจะต้องสมดุลกันไม่ควรสิ่งใดสิ่งใดหนึ่งจนเกินไป(Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 87-88) และสำหรับวอชิงตันดี.ซี. (บทที่ 5)สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นคือรากฐานของเมืองที่เอื้อต่อการทำเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการคลังสาธารณะที่โปร่งใส ความปลอดภัยในเมืองและการบริการสาธารณะของเมือง (93-94) ซึ่งทั้งสองเมืองต่างประสบความสำเร็จในการส่งเสริมธุรกิจในระดับท้องถิ่นด้วยการให้ความสำคัญกับระบบการบริหารการเงินและการคลังสาธารณะโดยรัฐบาลท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความเชื่อใจ (Trust) และประกันความเชื่อมั่น (Assurance) ในการทำธุรกิจให้กับภาคเอกชนกลายเป็นแรงจูงใจที่ดึงดูดภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในเมืองดังกล่าวในขณะที่กรณีศึกษาเมืองคาตาโลเนียของสเปน (บทที่ 6) ยิ่งเป็นการตอกย้ำในเรื่องดังกล่าวและยังเสริมต่อไปว่าการบริหารจัดการงบประมาณนั้นควรใช้ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน(Performance-Base Budgeting) และความยืดหยุ่นที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น(Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 100-103)

              ในบทที่ 7 ได้เสนอสิ่งที่เรียกว่า “Urban Revitalization Projects” (URPs) หรือก็คือความพยายามรื้อฟืนความเป็นเมือง และศูนย์กลางของเมืองในละตินอเมริกาให้ฟื้นกลับมาในแง่นี้การรื้อฟื้นหรือคืนชีวิตให้กับเมืองเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนการพยายามรื้อฟืนชุดคุณค่าในทางสังคมวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ให้กลับคืนมาการพัฒนาเมืองจึงไม่ใช่แค่เพียงการเพิ่มศักยภาพหรือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้นหาชีวิตที่ดีของแต่ละคนในเชิงกายภาพเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการคืนหรือรื้อฟืนชุดคุณค่าแบบดั้งเดิมที่เคยดำรงอยู่กับผู้คนในเมืองและชุมชนด้วยความเป็นเมืองในละตินอเมริกาเกิดขึ้นในช่วงการล่าอาณานิคมเมื่อคนยุโรปเข้ามาบุกเบิกและล่าอาณานิคมพวกเขาเหล่านี้ก็นำแนวคิดเรื่องการสร้างเมืองเข้ามาในดินแดนเหล่านั้นด้วยความเป็นเมืองในละตินอเมริกาเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องการให้เกิดการติดต่อค้าขายกับเมืองต่างๆให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น (Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 105-107) กระนั้นช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติการปลดแอกในทวีปนี้รวมถึงผลของการขึ้นมาของผู้นำเผด็จการในที่ต่างๆ สงคราม การต่อสู้การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ทำให้เมืองศูนย์กลางต่างๆได้รับความบอบช้ำ ความเสียหายทั้งเชิงทรัพย์สิน เชิงกายภาพ เชิงจิตใจและชุดคุณค่าต่างๆ ที่ถูกลดความสำคัญและหายไปกับสงคราม กลิ่นอายเลือด ความโศกเศร้าและเสียงร้องไห้ของผู้คน URPs จึงเป็นลักษณะที่เมืองต่างๆทั่วละตินอเมริกาพยายามฟื้นฟูเมืองของตนเองขึ้นมาอีกครั้ง URPs แบ่ง 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน 1) กายภาพ ได้แก่ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเภทนี้คือความพยายามรื้อฟื้น ความสัมพันธ์ของผู้คนผ่านสิ่งปลูกสร้างต่างๆหรือการเพิ่มและพัฒนาพื้นที่สาธารณะในเมือง 2) เหนือกว่ากายภาพการพิจารณาการพัฒนาเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาสังคม ปัญหารายต่อครัวเรือนต่ำข้อมูลในการทำการค้า หรืออาชญากรรม ในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นไปเราจะเห็นปรากฎการณ์หรือโครงการดังกล่าวนี้ทั่วไปในละตินอเมริกาอย่างเช่น ในเม็กซิโกที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยหน่วยงานที่เรียกว่า “FederalDistrict Government (FDG) ที่สามารถจัดแบ่งตลาดในเม็กซิโกซิตี้กว่า15,000 รายได้อย่างมีสัดส่วนและเอื้อต่อการค้าขายและการใช้ชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ยังมีกรณีโบโกต้า (โคลัมเบีย) ลิม่า (เปรู)ซานติอาโก้ (ชิลี) คิโต้ (เอกวาดอร์) ต่างมีลักษณะนโยบายแบบ URPs ที่พัฒนาทั้งเชิงกายภาพและชุดคุณค่าต่างๆ ในแง่นี้ลักษณะของ URPs ในท้ายที่สุดก็ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นในที่สุด (Cruz,Mannheim and Pöschl, 2011, 110-113)

              ส่วนที่ 3 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค ในส่วนนี้เป็นเสมือนส่วนที่พยายามชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคและความกลัวต่อการกระจายอำนาจในเรื่องของเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคการบริหารการคลัง และหนี้สาธารณะหากรัฐบาลท้องถิ่นไม่บริหารจัดการทั้งสองเรื่องนี้อย่างดีก็จะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งประเทศได้(บทที่ 8, 9) นั้นคือการบริหารสมดุลระหว่างการกระจายอำนาจและเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคนั้น รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องสามารถที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้คือการระบุให้ชัดเจนถึงภาระหน้าที่ ขอบเขตในความรับผิดชอบของทุกๆ ระดับชั้นของรัฐบาลหรือแม้กระทั่งการมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันหรือไม่ และอย่างไรรัฐบาลท้องถิ่นต้องมีทรัพยากรและงบประมาณที่เพียงพอต่อภาระหน้าที่ที่ได้รับรวมถึงศักยภาพเชิงสถาบันด้วยและต้องกำหนดให้ชัดเจนถึงข้อจำกัดหรือการควบคุมการใช้งบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่นที่ทั้งเอื้อให้ตัวท้องถิ่นพึ่งพาตนเองได้และจะไม่ดำเนินนโยบายที่อาจเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ (Cruz, Mannheimand Pöschl, 2011, 122, 127-128) กระนั้นในระยะยาวหากมีการออกแบบระบบงบประมาณที่สามารถควบคุมจุดเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการกระจายอำนาจในด้านการคลังให้กับท้องถิ่นดังนั้นการกำหนดและสร้างกฎเกณฑ์ในการควบคุมการใช้เงินของท้องถิ่นจึงสามารถช่วยแก้ปปัญหาในเรื่องผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั้งประเทศได้(บทที่ 10) นอกจากนี้ก็ยังชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนที่กล่าวว่าระบบงบประมาณแบบการกระจายอำนาจหรือแบบสหพันธรัฐจะให้ศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคที่มากกว่าระบบงบประมาณแบบรวมศูนย์แต่ประเด็นดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้หากสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ให้รัฐบาลท้องถิ่นในเรื่องการจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพเช่น การออกแบบโครงสร้างเชิงสถาบันที่เหมาะสม การกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นและความโปร่งใสในการบริหาร (Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 141-142)

              ส่วนที่ 4 การคลังของรัฐบาลท้องถิ่น ในส่วนนี้ถือเป็นการต่อยอดในเรื่องของหนทางการแก้ปัญหาว่าการกระจายอำนาจอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจหากไม่สามารถบริหารจัดการการเงินและการคลังในระดับท้องถิ่นได้ในส่วนนี้จึงเป็นเสนอทางออกในการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถาบันขึ้นมาเพื่อที่จะสามารถช่วยการันตีให้การกระจายอำนาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจมหภาค(บทที่ 11) การจัดความสัมพันธ์ที่ชัดเจนในเรื่องการจัดการงบประมาณของท้องถิ่นบทบาทหน้าที่ และการประสานงานของรัฐบาลส่วนกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าว(บทที่ 12) การปฏิรูปการคลังระดับท้องถิ่นระบบการจัดการเก็บภาษี และระบบการคลังและงบประมาณ (บทที่ 13)ในกรณีของเม็กซิโกที่ได้ผลักดันกฎหมายการปฏิรูปภาษีในปี 2007 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มอำนาจและศักยภาพในด้านการคลังให้กับรัฐบาลท้องถิ่นโดยมีเป้าหมาย4 เรื่องด้วยกัน คือ 1) เพิ่มประเภทภาษีที่จัดเก็บโดยท้องถิ่น2) การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพโครงสร้างและประสิทธิภาพให้หน่วยงานระดับท้องถิ่น3) การพัฒนาการบริหารจัดการภาษีของท้องถิ่น 4) การเพิ่มศักยภาพให้กับการคลังท้องถิ่น การปฏิรูปดังกล่าวถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาต่างๆของเม็กซิโก เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับความไม่เท่าเทียมในทางสังคมและเศรษฐกิจเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันงบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่ได้รับจากส่วนกลางมากกว่าที่จะเป็นการจัดเก็บหรือหารายได้เองของตัวท้องถิ่นซึ่งมีเพียงร้อยละ10 ของทั้งประเทศที่สามารถจัดเก็บรายได้และเป็นงบประมาณในการบริหารท้องถิ่นของตนได้รวมถึงการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินที่เต็มมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ Organisationfor Economic Co-operation and Development)ประเภทการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลท้องถิ่นที่เก็บได้น้อยมากมีเพียงไม่กี่เมืองที่สามารถเก็บได้เกินกว่าร้อยละ30 ของงบประมาณท้องถิ่นของตนนอกจากนี้ยังเป็นเรื่องการเมืองภายในที่ ณ เวลานั้น ปรากฎว่าผู้ว่าการรัฐต่างๆในเม็กซิโก 25 คน สังกัดพรรคฝ่ายค้านในขณะที่ผู้ว่าการรัฐที่สังกัดพรรครัฐบาลมีเพียง 7 คนจากทั้งหมด32 รัฐการเสนอกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งการเมืองของพรรครัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงและจำนวนผู้ว่าการรัฐของพรรคตนในการเลือกตั้งครั้งหน้าและอีกประเด็นคือการพยายามสร้างมาตรฐานทางบัญชีและข้อมูลการเงินเพื่อทำงบประมาณของประเทศที่ยังไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนเป็นมาตรฐานกลาง(Cruz, Mannheim and Pöschl, 2011, 201-204)นอกจากนี้ในบทอื่นๆ ของส่วนที่ 4 ก็ยังได้พูดถึงเรื่องการจัดการกองทุนสาธารณะกองทุนเพื่อการกู้ยืมเงินสำหรับการทำธุรกิจในระดับท้องถิ่น เช่น ระบบของแม็กซิโกหรือกองทุนของสหภาพยูโรป (บทที่ 14, 15)อันเป็นการพยายามเพิ่มบทบาทและศักยภาพให้ท้องถิ่นในการบริหารหรือวางแผนนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นต่อไป

              ส่วนที่ 5 ความสามารถในการแข่งขันได้และโลกาภิวัตน์ เป็นการพยายามจัดวางประเด็นความสามารถในการแข่งขันได้ของท้องถิ่นกับบริบทโลกในยุคโลกาภวัตน์ว่ารัฐบาลท้องถิ่นคือกลไกสำคัญต่อการเพิ่มและพัฒนาศักยภาพในการคงรักษาและดำรงความสามารถในการแข่งขันในบริบทโลกในยุคโลกาภวัตน์นี้ได้ส่วนนี้จึงเป็นการตอกย้ำว่าการกระจายอำนาจส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและสามารถส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจในท้องถิ่นให้สามารถไปแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆในระดับโลกได้ดังนั้นเป้าหมายที่สำคัญที่รัฐบาลท้องถิ่นควรเน้นและส่งเสริมอย่างจริงจังจึงเป็นเรื่องยุทธศาสตร์และนโยบายของตนไม่ว่าจะเป็นการพัฒนามนุษย์ และการส่งเสริมการนวัตกรรมใหม่ๆ ในระดับท้องถิ่น(บทที่ 16) หรือโครงการส่งเสริมการทำธุรกิจในระดับท้องถิ่นที่เป็นโครงการของธนาคารโลก(World Bank) ในยุคหนึ่ง (บทที่ 17) และอนาคตของการพัฒนาเศรษฐกิจในละตินอเมริกาว่ารัฐบาลท้องถิ่นยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัตน์นี้ได้การพัฒนาและขีดความสามารถของสถาบันที่ดูแลหรือรับบทบาทในการกระจายอำนาจและปกครองท้องถิ่นจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในอนาคต(บทที่ 18)

              ส่วนที่ 6 การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น พลเมืองถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการกระจายอำนาจการส่งเสริมให้คนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันถือเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับรัฐบาลและการส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้พลเมืองสนับสนุนการกระจายอำนาจ เพราะด้วยการกระจายอำนาจสามารถให้อำนาจเขาในการตัดสินใจหรือกำหนดชะตาชีวิตของชุมชนตัวเองการส่งเสริมการมีส่วนรวมและการมีช่องทางให้ประชาชนได้มีส่วนในการตัดสินใจนโยบายหรือการจัดการกิจการสาธารณะในระดับท้องถิ่นก็ถือเป็นการส่งเสริมและทำให้ประชาชนเริ่มเข้าใจถึงคุณูประการของการกระจายอำนาจมากขึ้นเช่น เมืองโบโกต้า เมืองหลวงของโคลัมเบียที่เริ่มมีการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจสู่เมืองในช่วงทศวรรษที่ 1980 ทั้งในเรื่องอำนาจทางการเมือง การคลัง และการบริหารกิจการสาธารณะต่างๆแต่ก็ยังไม่ประสบผลยังคงเป็นการถกเถียงในเชิงหลักการอยู่จนกระทั้งในช่วงทศวรรษที่ 1990เกิดความวุ่นวายในบริเวณเมืองหลวง รัฐบาลกลางและข้าราชการของเมืองถูกกล่าวหา รวมถึงระบบการเงินและการคลังต่างๆด้วยทำให้เมืองมิอาจมีการขับเคลื่อนไปได้เศรษฐกิจตกต่ำรัฐบาลต้องขอกู้ยืมเงินจากธนาคารโลก จนในที่สุดรัฐบาลจึงตัดสินใจในปี 1993 ดำเนินการกระบวนการกระจายอำนาจให้กับเมืองโบโกต้าในเรื่องการเมืองการคลัง และการบริหารกิจการเมืองเพื่อจัดการปัญหา ณขณะนั้นที่อาจลุกลามและบานปลายส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศได้ (Cruz,Mannheim and Pöschl, 2011, 263, 266-268)

     

    บทส่งท้าย: สิ่งที่ขาดหาย และมุมมองที่แตกต่าง

              โดยสรุปภาพรวมของหนังสือ TheLocal Alternative: Decentralization and Economic Development เป็นการพยายามทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการกระจายอำนาจและการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ในที่สุดแล้วก็จะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งประเทศและการที่ดำเนินการให้การกระจายอำนาจประสบบความสำเร็จทั้งในเชิงกระบวนการและผลต่อเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศได้นั้นก็คือการจัดการในเรื่องการคลังท้องถิ่นกฎเกณฑ์การควบคุม และศักยภาพของสถาบันการเมืองท้องถิ่นรวมถึงกระบวนการประชาธิปไตยต่างๆ หนังสือได้สำรวจให้เห็นความเป็นไปได้ต่างๆในท้องถิ่นของทั้งทวีปอเมริกา โดยเน้นที่ละตินอเมริกาเป็นหลักในแง่นี้ความสำเร็จของการกระจายอำนาจไม่ใช่เรื่องง่ายหรือใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีแต่กระนั้นการกระจายอำนาจก็เป็นไปได้เสมอขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ การให้ความสำคัญการจัดทำนโยบาย การวางแผน และตัวผู้นำซึ่งยากที่จะระบุลงไปชัดเจนว่าปัจจัยตัวไหนเป็นตัวชี้ขาดขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมของแต่ละที่ที่เราจะต้องสังเกตและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

              กระนั้นหนังสือเล่มนี้ก็ยังขาดมิได้ครอบคลุมหรือขาดประเด็นสำคัญบางอย่างที่หนังสือเล่มนี้ไม่ให้ความสำคัญและผู้เขียนคิดว่าประเด็นพวกนี้สำคัญเพราะในบางประเด็นหนังสือเล่มก็ได้กล่าวถึงไว้บ้างแต่ไม่ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งความสัมพันธ์ที่อาจเอื้อหรือนำไปสู่ความสำเร็จของการกระจายอำนาจและการพัฒนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นได้ในงานของ Timothy J. Bartik ในบทความชื่อ TheFuture of State and Local Economic Development Policy: What Research Is Needed ได้เสนอว่าสิ่งที่หายไปหรือประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจในประเด็นการวิจัยด้านนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจระดับรัฐและระดับท้องถิ่นประเด็นเรื่องแรงงานท้องถิ่นกับงานในระดับท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับเรื่องอุปสงค์และอุปทานของแรงงานการจ้างงาน และตลาดในระดับท้องถิ่นกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการจะออกนโยบายในด้านแรงงานระดับท้องถิ่นอย่างไรให้มีผลต่อการพัฒนาแรงงานระดับท้องถิ่นได้ประเด็นวิจัยดังกล่าวยังคงมีคนให้ความสำคัญน้อยอยู่ (Bartik, 2012) ผู้เขียนคล้อยตามข้อเสนอของ Bartik เพราะตลอดหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องแรงงานในระดับท้องถิ่นสักเท่าไรซึ่งหากพูดในอีกภาษาหนึ่งอาจพูดได้ว่าความสัมพันธ์ที่อธิบายในหนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญกับภาคเอกชนแต่ในภาคแรงงานนั้นกลับไม่ได้พูดถึงมากนักหรือเจาะจงในเรื่องดังกล่าวผู้เขียนคิดว่าหากต้องการทำให้เห็นว่าการกระจายอำนาจมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นการเพิ่มเรื่องนโยบายแรรงานหรือกลุ่มแรงงานเข้ามาเป็นตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้อาจจะยิ่งช่วยให้เห็นคุณูประการของการกระจายอำนาจที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นมากขึ้นด้วย

              นอกจากนี้เราอาจมองหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นส่วนของการเป็นวาทกรรม(Discourse) การพัฒนา (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2560; สามชาย ศรีสันต์, 2561) การเป็นกลไกหรือเครื่องมือของลัทธิเสรีนิยมใหม่(Neoliberalism) (เดวิด ฮาร์วี่, 2555;แมนเฟร็ด สเตเกอร์ และ รวี รอย; 2559) ด้วยการที่หนังสือต่างเน้นย้ำถึงชุดคำอธิบายหรือการฉายภาพให้เห็นถึงการเดินตามรอยตะวันตกของประเทศในละตินอเมริกาที่นำไปสู่ความสำเร็จการเชิดชูชุดคุณค่าของการพัฒนาที่อิงแอบอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจ GDP ที่มองเห็นว่าเศรษฐกิจกับชีวิตที่ดีเป็นเรื่องเดียวกันหากส่งเสริมธุรกิจชีวิตคนก็จะดีขึ้นการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน แต่ในด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าหนังสือเล่มนี้ก็พยายามหาสมดุลบทบาทของรัฐและเอกชนที่ไม่ได้มุ่งว่าต้องลดบทบาทของรัฐเพียงฝ่ายเดียวแต่กระนั้นร่องรอยการพยายาแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการเปิดเสรีทางการเงินและตลาดก็ยังมีให้เห็นร่องรอยของข้อเสนอในงานชิ้นนี้ที่ชุดคำอธิบายที่เป็นไปได้ในบริบทที่มีการเปิดเสรีการค้า

              นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังละเลยมิติทางประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศแม้จะมีการพูดอยู่บ้างแต่เป็นลักษณะที่ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นเส้นตรงและมีแต่แนวโน้มที่จะก้าวหน้าหรือการเมืองระหว่างประเทศนั้นมีเสถียรภาพไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่การเมืองภายในมากนัก ทั้งๆที่ว่าภูมิภาคนี้ในช่วงการสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นพื้นที่ที่ถูกสหรัฐอเมริกาแทรกแซงมาโดยตลอดรวมถึงมุมมองแบบสตรีนิยม (Feminism) รวมถึงเด็กเวลาหนังสือเล่มนี้พูดถึงประชาชนก็คือประชาชนไม่ได้พิจารณาลงในรายประเภทมากนักในแง่นี้สตรีนิยมทำให้เห็นแล้วปิตาธิปไตยก็ส่งผลอย่างสำคัญต่ออคติทางการเมืองเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หรือการละเลยเรื่องสถานะการเป็น “โลกที่สาม” (ThirdWorld) มาก่อน และการเป็นอาณานิคมของพื้นที่แทบนี้มาก่อนนั้นคือการละเลยมุมมองแบบหลังอาณานิยม(Post-colonialsm) (Escobar, 1988; 2007; Kothari,2005; McEwan, 2001; Sylvester, 1999)ในหนังสือก็กล่าวถึงอยู่หลายครั้งแสดงให้เห็นว่าคณะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ตระหนักถึงเรื่องอาณานิคมแต่เวลานำมาพิจารณากลับไม่มีประเด็นดังกล่าวนี้ เช่นมรดกของลัทธิอาณานิคมต่อการพัฒนาเชิงกายภาพ เชิงวัฒนธรรม และเชิงจิตใจ คงปฏิเสธได้ยากสำหรับประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศในยุโรปมาก่อนเป็นเวลายาวนาน

              ในเรื่องสุดท้ายเมื่อพูดถึงท้องถิ่นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เลยโดยเฉพาะในบริบทของภูมิภาคอย่างละตินอเมริกาแล้วก็คือเจ้าพ่อท้องถิ่นหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ในบทนำของ ThomasBlom Hansen และ Finn Stepputat ในหนังสือชื่อSovereign bodies: citizens, migrants, and states in the postcolonialworld ทั้งสองได้เสนอสิ่งที่เรียกว่า “De FactoSovereign” เป็นทฤษฎีทีได้เสนอข้อถกเถียงใหม่ในเรื่องของอำนาจขององค์อธิปัตย์ที่โดยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจของส่วนกลาง รัฐบาลกลางหรือเป็นอำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ โดยทั่วไปเราจะเชื่อมโยงองค์อธิปัตย์เข้ากับเรื่องเขตแดนเป็นสำคัญรวมถึงการยอมรับอำนาจอธิปไตยของรัฐกับรัฐด้วยกันเอง แต่ในทฤษฎีนี้จะเป็นการสำรวจตรวจสอบองค์อธิปัตย์หรืออำนาจอธิปไตยภายในที่พยายามใช้ความรุนแรงต่อร่างกายและประชากรภายในรัฐ ในแง่นี้ทฤษฎีดังกล่าวเพียงต้องการขยายความเข้าใจในเรื่องอำนาจขององค์อธิปัตย์ที่อยู่ในสภาวะยกเว้นที่สามารถทำเรื่องที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายในเวลาเดียวกันหรือสามารถวางตัวเองไว้นอกกฎหมายให้ถูกกฎหมายได้เป็นผู้ให้และผู้พรากชีวิตแก่ผู้คนในอาณาเขตของตน แต่ดังที่บอกไปเวลาพอเราพูดถึงเรื่องของอำนาจขององค์อธิปัตย์เราจะคิดถึงภาพในหนังสือ Leviathanของ Thomas Hobbes ที่เป็นรูปคนตัวใหญ่ที่เกิดการรวมตัวกันของคนตัวเล็กๆจินตาภาพในเรื่องดังกล่าวของเราจะนึกถึงอำนาจที่กระจุกตัวอยู่ที่คนๆ เดียว หรืออยู่ที่ศูนย์กลางแต่ในทางปฏิบัตินั้นอำนาจขององค์อธิปัตย์ไม่ได้กระจุกที่องค์อธิปัตย์เพียงผู้เดียวแต่ยังมีองค์คณะผู้มีอำนาจในฐานะองค์อธิปัตย์กระจายตัวทั่วเขตแดนต่างๆ ภายใต้อำนาจขององค์อธิปัตย์(Hansen & Stepputat, 2005, 2) และองค์คณะดังกล่าวก็คือกลุ่มผู้อิทธิพลในท้องถิ่นที่กระจายตัวไปในท้องที่ต่างมีผลประโยชน์ของตนเองและพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์นั้นเอาไว้ ปัจจัยในเรื่องนี้หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงและคิดว่าคู่ความสัมพันธ์ของการกระจายอำนาจมีเพียงแค่รัฐบาลกลางรัฐบาลท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนแต่เอาเข้าจริงแล้วผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นอาจมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของการกระจายอำนาจอย่างมาก

    บรรณานุกรม

    ไชยรัตน์เจริญสินโอฬาร. (2560). วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น. กรุงเทพฯ:วิภาษา.

    เดวิด ฮาร์วี่.(2555). ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, นรุตม์ เจริญศรี, ภัควดี วีระภาสพงษ์, สุรัตน์ โหราชัยกุล และอภิรักษ์วรรณสาธพ (ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา.

    แมนเฟร็ด สเตเกอร์ และรวี รอย.(2559). เสรีนิยมใหม่: ความรู้ฉบับพกพา. วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง (ผู้แปล). กรุงเทพฯ: Openworld.

    สามชาย ศรีสันต์.(2561). ว่าด้วยการวิเคราะห์วาทกรรมแนววิพากษ์: บทศึกษาวิเคราะห์วาทกรรม การพัฒนา / หลังการพัฒนา. กรุงเทพฯ: สมมติ.

    Bartik, Timothy J. (2012). TheFuture of State and Local Economic Development Policy: What Research Is Needed.Growth Change, 43(4): 545-562.

    Cruz, Rafael de la, Mannheim,Carlos Pineda and Pöschl, Caroline. (eds.) (2011). The Local Alternative:Decentralization and Economic Development in the Americas. New York:Palgrave Macmillan.

    Escobar, Arturo. (1988). Powerand Visibility: Development and the Invention and Management of the Third World.Cultural Anthropology, 3(4): 428-443.

    _____________. (2007).‘Post-development’ as Concept and Social Practice. In Aram Ziai. (ed.) ExploringPost-Development: Theory and Practice, Problems and Perspectives, (18-31).Oxon: Routledge.

    Hansen, Thomas Blom andStepputat, Finn. (2005). Introduction. In Thomas BlomHansen and Finn Stepputat. (eds.). Sovereign bodies: citizens, migrants, andstates in the postcolonial world, (1-36). Princeton: Princeton UniversityPress.

    Kothari, Uma. (2005). FromColonial Administration to Development Studies: A Post-colonial Critique of theHistory of Development Studies. In Uma Kothari. (ed.) A Radical History ofDevelopment Studies: Individuals, Institutions and Ideologies, (47-66).Cape Town: David Philip.

    McEwan, Cheryl. (2001). Postcolonialism,feminism and development: intersections and dilemmas. Progress inDevelopment Studies, 1(2): 93-111.

    Sylvester, Christine. (1999). DevelopmentStudies and Postcolonial Studies: Disparate Tales of the 'Third World'. ThirdWorld Quarterly, 20(4): 703-721.


    [1] นักศึกษาปริญญาโท (การเมืองการปกครอง) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,E-mail: [email protected]

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in