เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Exhivisionmelly_milk
Trùng mù – Endless Sightless
  • By Phuong Linh Nguyen
    2-28 February 2018

    นิทรรศการศิลปะของศิลปินชาวเวียดนามจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 4

    เมื่อความพร่ามัวเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ของความชัดเจนควันสีขาวที่คละคลุ้งไปทั่วพื้นที่จับเข้ากับประสาทสัมผัสของกระจกตา ผู้รับชมจะรับรู้ถึงอะไรกับผลงานที่อยู่ตรงหน้าเมื่อทุกอย่างรอบตัวล้วนเลือนราง แม้แต่คำบรรยายผลงานที่มักจะไกด์ไลน์ให้กับการชมผลงานแต่ละครั้งนั้นก็หายไป มีเพียงสิ่งเดียวที่ผู้ชมจะพอสัมผัสได้อย่างชัดเจนท่ามกลางบรรยากาศคลุมเครือนี้ก็คือ "ประสบการณ์" ที่ผู้ชมแต่ละคนต่างพกติดตัวกันมา       

    ในเมื่อทุกสิ่งล้วนเลือนลางและจางหายไปการเข้าชมนิทรรศการศิลปะในครั้งนี้จึงมีเพียงประสบการณ์ที่สามารถนำมาเล่าสู่กันฟังได้  ก่อนเข้าชม เราผู้เข้าชมจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าไปโดยจะมีจุดเตรียมถุงพลาสติกสำหรับสวมครอบรองเท้าไว้ให้อีกทีหนึ่ง ความพร่ามัวของบรรยากาศเกิดขึ้นตั้งแต่บริเวณทางเดินเป็นเส้นทางเชื่อมก่อนไปถึงผลงาน บรรยากาศตรงนั้นเต็มไปด้วยสีขาวและแสงสว่าง ปะปนกับโมเลกุลของควันที่ฟุ้งกระจายอยู่ ทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นของเราลดลงไป  ผลงานชิ้นแรกเป็นวิดีโอที่ฉายอยู่บนผนังสีขาว แต่เราแทบมองไม่เห็นภาพในวิดีโอนั้นและไม่รู้ว่าเนื้อหาในวิดีโอกำลังเล่าถึงอะไรด้วยความที่ห้องเป็นผนังสีขาวและฉายโปรเจคเตอร์ผ่านแสงสีขาวเข้าไป ประกอบกับควันที่จับเข้ากับกระจกตาของเราอย่างเต็มที่แล้วความเลือนลางนี้ยังคงดำเนินต่อไปและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


    ทางเดินที่เชื่อมจากทางเข้าสู่งานชิ้นแรก (จริงๆนี่คืองานชิ้นแรก) - ถ่ายย้อนหลังกลับไปบริเวณทางเข้า
    detail : Flood (2018) Light/ White carpet/ Mixed media installation

    งานวิดีโอชิ้นแรก เห็นเพียงแสงสีขาวจากโปรเจคเตอร์กระทบลงบนผนังสีขาว
    detail : Trùng mù- Endless, sightless (2018) , Video [9 mins 1 sec]  

    ห้องถัดไปถือเป็นห้องกำเนิดควัน ภายในจัดแสดงงาน Installation ที่เป็นหลอดไฟประกอบกับไม้ด้วยรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ ให้ความรู้สึกเหมือนงานจัดวางของกลุ่มมินิมอลลิสม์ (Minimalism) อย่างงานของ Dan Flavin แต่ไม่จัดจ้านเท่า เพราะควันได้ทำให้หลอดไฟและวัตถุกลมกลืนไปกับพื้นและผนังห้อง ลักษณะของวัตถุอยู่ในลักษณะที่กระจัดจายเหมือนลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ ทำให้ไม่มีสิ่งใดเด่นออกมาทั้งวัสดุที่ใช้อย่างหลอดไฟกับไม้ จึงไม่มีใครแย่งชิงพื้นที่ความสนใจได้เท่ากับควันในห้องสีขาวแห่งนี้


    งาน Installation จากหลอดไฟและไม้ ภายในห้องกำเนิดควัน
    detail : 7 light (2018) , seven light/ Wood panelling from a Catholic Church
    in Northern Vietnam/ Smoke/ Clear perspex

    ลักษณะของหลอดไฟที่เอียงอยู่ในแนวตั้งนั้น ทำให้นึกถึงงานของ Dan Flavin
                                                  Dan Flavin - the diagonal of May 25, 1963 

    เมื่อเข้าสู่ห้องถัดไปผนังของห้องเป็นผนังโค้งกลม จัดวางอลูมิเนียมในรูปทรงที่แตกต่างกันทั้งแบบแท่งตัดตรง โค้งงอ และชิ้นเล็กลักษณะคล้ายกับน็อต ห้องนี้เป็นห้องที่เพิ่มความสว่างมากกว่าห้องก่อนจนรู้สึกแสบตาเล็กน้อย แท่งอลูมิเนียมต่างๆถูกจัดวางไว้บนแผ่นกระจก(ที่ดูเป็นสีเขียวพาสเทล)ดูขัดกับภาพลักษณ์ของอลูมิเนียมที่ซ่อนเนื้อหาที่จริงจัง เอาไว้ทำให้นึกถึงเหล็กและบรรยากาศในยุคช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเหล็กได้ง่ายและมีการนำมาใช้อย่างเฟื่องฟู ถึงแม้แผ่นอลูมิเนียมเหล่านี้อาจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆกับการสะท้อนภาพของการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่มันก็เป็นผลพวงหนึ่งที่เกิดจากเหตุการณ์นั้นเช่นเดียวกัน 


    งาน Installation ภายในห้องผนังโค้ง
    detail : The last ride (2017) , Aluminium pieces various dimensions/
    Plastic perspex/ light/ circle glass pedestal

    ด้วยสภาพแวดล้อมที่ถูกเปลี่ยนแปลงและเกิดการก่อกวนประสาทสัมผัสมาโดยตลอดนี้ ทำให้เกิดความคาดหวังว่าเราจะพบเจอกับอะไรต่อไป  และทันใดนั้นบรรยากาศก็ถูกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเราเดินออกไปสู่ห้องต่อไป จากห้องที่มีสีขาวสว่างจ้าตัดไปสู่ห้องมืดอย่างฉับพลันห้องมืดได้ให้บรรยากาศที่ดูเว้งว้างและน่ากลัว เนื่องจากเป็นห้องที่ทิ้งพื้นว่างอยู่มาก ถือว่ายังคงคอนเซ็ปต์ที่ข้องเกี่ยวกับการมองเห็นได้เป็นอย่างดี ที่ไม่ใช่แค่เพียงเกิดความพร่ามัวแต่เปลี่ยนเป็นการที่ไม่สามารถมองเห็นอะไรได้ในความมืดนี้มากกว่า  ภายในห้องมือนี้จัดแสดงภาพวาดที่ติดอยู่บนผนังด้านข้างของห้อง  เป็นภาพกระโหลกผสมอนาโตมีของมนุษย์ที่เข้ากับบรรยากาศในห้องที่มีแต่ความมืดนี้เป็นอย่างดี

    ภาพวาดรูปหัวกระโหลกอยู่บริเวณผนังด้านข้างในห้องมืด
    detail : The Skull (2017) , Red soil on paper

    การตัดกันของแสงและความมืด - ถ่ายจากห้องมืดย้อนกลับไป

    ส่วนห้องสุดท้าย เป็นห้องฉายวิดีโอจอขนาดใหญ่ ชื่อว่า Memory of Blind Elephant เนื้อหาของวิดีโอนั้น เป็นภาพที่ฉายให้เห็นความแห้งแล้ง ความไม่สมประกอบของบางสิ่ง มีความมืดมิดในธรรมชาติ เห็นธงชาติที่พริ้วไหวแต่ดูอ้างว้างและเดียวดาย อาจเป็นงานเชิงเสียดสีสังคมที่ผสมความเชื่อที่เกิดจากท้องถิ่น ที่นี่ได้ให้ความเงียบบางอย่าง ทำให้เกิดบทสนทนาภายในใจอยู่ลึกๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามและการหาคำตอบเราเองไม่ได้แน่ใจว่าสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อนั้นคืออะไร ถึงการชมงานทั้งหมดจะตอบโจทย์ได้กับชื่อของนิทรรศการอย่าง endless sightless ปราศจากจุดจบและไร้ซึ่งการมองเห็นนั้น เปรียบดั่งความไม่ชัดเจนต่อการรับชมและรับสัมผัสกับผลงานในนิทรรศการนี้ ซึ่งการชมงานในครั้งนี้ผู้ชมได้ใช้เพียงแค่สิ่งที่พบเจออยู่ตรงหน้าไม่ได้ใช้ความคิดต่อสิ่งที่อ่านและนำไปเชื่อมโยง (นอกจากว่าก่อนเข้าชมจะได้อ่านคอนเซ็ปต์ของงานมาก่อนแล้ว) เป็นการสำรวจต่อสิ่งปัจจุบัน และเปิดโอกาสให้ใช้ประสบการณ์ของผู้ชมเองเป็นตัวตั้งในการรับชมผลงาน การมาชมงานในแบบที่ไม่ได้ทำการบ้านมาก่อน มาถึงแล้วชมเลยโดยไม่รู้คอนเซ็ปต์ของงาน ก็ได้ให้ความรู้สึกที่ต่างออกไป และได้รับประสบการณ์ที่ดีและแปลกใหม่ไปอีกแบบด้วยเหมือนกัน


    วิดีโอในห้องสุดท้าย
    detail : Memory of the blind elephant (2016) , Video [14 Mins 20 secs]


            การมีส่วนร่วมของผู้ชมถือเป็นส่วนสำคัญของงานศิลปะร่วมสมัยเช่นเดียวกัน ซึ่งการมีส่วนร่วมในที่นี้คือการเอาประสบการณ์ของตัวเองประกอบด้วย ทำให้การตีความต่อผลงานแต่ละชิ้นนั้นอาจมีความคลาดเคลื่อนหรือไปในคนละทิศละทางกัน  เราอาจตีความได้แบบหนึ่ง คนอื่นอาจได้อีกแบบหนึ่งซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจไม่ไช่สิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อเลยก็ได้  เพราะประสบการณ์แต่ละคน รวมถึงความคิดของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่อย่างน้อยผู้ชมก็จะได้รับอิมแพคบางอย่างจากงานนั้นๆและเข้าไปมีส่วนร่วมกับผลงานนั้นโดยไม่รู้ตัว เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้มันได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์และความทรงจำของเราเป็นที่เรียบร้อยด้วยประสาทสัมผัสที่เรามี งานนี้เลยคงจะแตกต่างไปจากผลงานอื่นๆ เพราะมันเข้ามาให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว


    รายละเอียดเพิ่มเติมของนิทรรศการ
                 
                    เป็นนิทรรศการสะท้อนสังคมการเมืองเวียดนาม ที่มีประวัติศาสตร์บาดแผลจากกรณีการแบ่งแยกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เป็นผลให้เกิดความแตกต่างทางวัฒนธรรม ถึงปัจจุบันดินแดนเวียดนามจะรวมกันเป็นแผ่นดินเดียวกันแล้ว แต่วัฒนธรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงยังคงกลายเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ ศิลปินหยิบยกเรื่องของแสงและการมองเห็นมาเป็นสัญลักษณ์และสื่อกลางเพื่อส่งผ่านความทรงจำของศิลปินภายใต้สังคมเวียดนาม ชื่อนิทรรศการ Trùng mù เป็นภาษาเวียดนาม แปลว่าปราศจากจุดจบและไร้ซึ่งการมองเห็น ศิลปินจึงหยิบยกเทคนิคต่างๆที่เล่นกับแสงสว่างและความมืดในรูปแบบต่างๆมาแสดงภาพความซับซ้อนของสังคมเวียดนาม ถึงแม้ชาวเวียดนามอาจจะหลงลืมมันไปและเป็นเพียงความทรงจำที่เลือนเลือง แต่สุดท้ายแล้วมันยังคงอยู่...


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in