เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
My First StoryAnan Pakvasa
50 ปี อัลบั้ม Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band ของ The Beatles
  • ปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปีของอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ของ The Beatles ซึ่งออกวางตลาดเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 1967 ในอังกฤษ และวันที่ 2 มิ.ย. 1967 ในอเมริกา เป็นสตูดิโออัลบั้มอันดับที่ 8 ของวงนี้ อะไรทำให้อัลบั้มนี้ถูกยกย่องให้เป็นร็อกอัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลโดยนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ สาเหตุหลักน่าจะมาจากอิทธิพลของมันที่มีต่อวงการเพลงในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบ concept album ที่นำไปสู่ยุค album era ที่ศิลปินมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานแทนที่จะต้องถูกพันธนาการด้วยการมุ่งผลิตเพลงในรูปแบบของซิงเกิลที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการนำเสนอโดยมุ่งเน้นเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว การออกอัลบั้มส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการรวมเอาเพลงที่ออกเป็นแผ่นซิงเกิลมาแล้วเข้าด้วยกันแล้วเพิ่มเพลงที่มีคุณภาพด้อยกว่าเพียงเพื่อ“เติม” อัลบั้มให้เต็มเท่านั้น

    The Beatles ไม่เห็นด้วยกับการทำแบบนี้เพราะมองว่าเป็นการเอาเปรียบแฟนเพลงที่ต้องเสียเงินซื้อเพลงเดียวกันถึงสองหน นี่ยังเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สองเพลงที่ผลิตขึ้นมาก่อนหน้าและถูกนำไปทำเป็นซิงเกิล Strawberry Fields Forever / Penny Lane ไม่ได้รวมอยู่ในอัลบั้ม Sgt. Pepper ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการทำอัลบั้มเพลงป็อปในสมัยนั้นเพราะมีเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์วงการเพลงป็อปที่เราจะแยกได้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือ“ยุคก่อน” และ “ยุคหลัง” อัลบั้ม Sgt.Pepper ถือเป็นเส้นแบ่งยุคที่เห็นได้อย่างชัดเจน

    อัลบั้ม Sgt. Pepper ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของยุคฮิปปี้ที่คนหนุ่มสาวในยุคนั้นปฏิเสธวัฒนธรรมดั้งเดิมและต้องการมองหาสิ่งใหม่ๆให้กับสังคมเป็นยุคแห่งการแสวงหาและไม่ยอมรับคิดแบบเก่าๆหรือที่เรียกกันว่า counterculture มีเพลงซึ่งเนื้อหาถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่าง Lucy In The Sky With Diamonds (ซึ่งย่อได้เป็น LSD ยาเสพติดที่นิยมกันในหมู่ฮิปปี้ในยุคนั้น) หรือ With A Little Help From My Friend (ซึ่งมีท่อนหนึ่งที่บอกว่า “I get high” ซึ่งเป็นคำสแลงหมายถึงกำลังเมายา หรือ “take some tea” ซึ่งอาจจะหมายถึงการพี้กัญชา) หรือแม้แต่ปกอัลบั้มที่ออกแนว psychedelic ที่ฉีกแนวจากปกอัลบั้มป็อปทั่วไป (ความจริงแนวโน้มนี้เริ่มเห็นได้ตั้งแต่อัลบั้มก่อนหน้าคือ Revolver ซึ่งใช้ลายเส้นสีขาวดำ)

    แต่หากมองในเนื้อหาของหลายเพลงในอัลบั้มนี้แล้วเรากลับพบว่าเพลงส่วนใหญ่ยังมีเนื้อหาที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เช่น เพลง She’s Leaving Home และเพลง When I’m Sixty-Four ที่ยังมีมุมมองของคนรุ่นเก่าหรือแม้แต่เพลง Fixing Hole ก็เป็นการบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญของการใช้ชีวิตของคนทั่วไปเนื้อหาเช่นนี้ดูจะไม่เหมาะกับอัลบั้มที่ออกมาในช่วง Summer of Love ปี 1967 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางวัฒนธรรมในยุคแห่งการแสวงหาของเหล่าบุปผาชน

    สิ่งที่เป็นจุดเด่นอย่างแท้จริงของอัลบั้มนี้คือรูปแบบดนตรีที่แม้นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งจะบอกว่าเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้ไม่ใช่เพลงที่เพราะและชวนจดจำมากเท่ากับอัลบั้มก่อนหน้าของThe Beatles ไม่ว่าจะเป็น Rubber Soul หรือ Revolver แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิจารณ์เห็นพ้องกันคือความกล้าในการลองและผสมผสานรูปแบบดนตรีหลากหลายเช่น rock, jazz, blues, avant-garde เป็นต้น นับได้ว่าเป็นต้นแบบของ progressive rock ในเวลาต่อมา  มีการใช้เทคนิคการอัดเสียงใหม่ๆ เช่น การตัดต่อเทปให้เล่นวนหรือ loop tape การสร้างเอฟเฟกต์ด้วยการเล่นเทปกลับหลัง การผสมเสียงของเทปจากการอัดสองครั้งที่จังหวะและระดับความถี่เสียง (pitch) ที่แตกต่างกัน

    เทคนิคต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่ลูกเล่นเท่านั้น แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งเพลงเพราะเป็นการใช้เอฟเฟกต์เพื่อให้เกิดอิทธิพลต่ออารมณ์ของผู้ฟังที่สอดคล้องกับเนื้อหาของเพลง มีรูปแบบที่คล้ายกับการสร้างงานศิลปะแนว avant-garde ซึ่งมีอิทธิพลมากในยุคนั้น โดยเฉพาะเทคนิคแบบ collage ที่สร้างงานศิลปะขึ้นใหม่จากการผสมผสานและดัดแปลงงานศิลปะแบบเก่าเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ Sgt. Pepper ยังเป็นอัลบั้มแรกที่ไม่มีช่องว่างระหว่างแต่ละแทร็ก เมื่อแทร็กหนึ่งจบจะต่อเนื่องไปเริ่มอีกแทร็กหนึ่งทันทีโดยไม่มีช่วงหยุดระหว่างเพลง ทำให้อารมณ์ในการฟังเพลงเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่สะดุด

    เพลงที่เป็น highlight ของอัลบั้มนี้คือเพลง A Day In The Life ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มต่อจากแทร็กเพลงซ้ำ Sgt. Pepper (Reprise) เพื่อให้สะท้อนถึงจุดจบของเรื่องราวในจินตนาการและการกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงเพลงนี้เป็นเพลงที่ค่อนข้างมีความสลับซับซ้อน ประกอบด้วยท่อนหลัก 4 ท่อนและท่อน bridge ท่อนที่แปลกและค่อนข้าง abstract คือช่วงที่บรรเลงด้วยออร์เครสตราใช้เครื่องดนตรี 40 ชิ้นแบบให้อิสระกับนักดนตรีในการไล่โน้ตจากต่ำไปสูงซึ่งมีความยาวทั้งหมด 24 ห้องดนตรี สอดแทรกด้วยท่อนกลางที่ Paul เป็นคนแต่งและร้อง ส่วนที่เหลือของเพลงแต่งโดย John จากเรื่องราวที่เขาอ่านพบในหนังสือพิมพ์ เนื้อเพลงช่วงก่อนเข้าสู่การบรรเลงแบบอิสระของออร์เครสตรามีข้อความว่า “…I love to turn you on..” ซึ่ง BBC ในสมัยนั้นมองว่าหยาบคายเกินไปเพราะสื่อถึงเรื่องเพศ เป็นเหตุให้เพลงนี้ถูกแบนไม่ให้ออกอากาศ

    เพลงจบลงด้วยคอร์ด E major ที่ดังอยู่เกือบหนึ่งนาทีเต็ม คอร์ดนี้เล่นด้วยเปียโน 3 หลังผสมด้วยเสียงของ harmonium (ออร์แกนโบราณชนิดหนึ่ง) และใช้เทคนิคในการอัดที่ช่วยให้ลากเสียงคอร์ดสุดท้ายออกไปนานถึงกว่า 40 วินาที

    มีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเพลงนี้ว่า ในตอนแรกเพลงปิดอัลบั้มควรจะเป็น Sgt. Pepper (Reprise) เพราะจะเป็นไปตาม concept ที่ให้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดโดยวง Sgt.Pepper แต่เมื่อโปรดิวเซอร์ George Martin ได้ฟังคอร์ดสุดท้ายของเพลง A Day In The Life แล้วเขาคิดว่าเสียงทอดยาวของคอร์ดนี้ควรจะเป็นคอร์ดสุดท้ายของอัลบั้มนี้ ไม่มีอะไรจะมาแทนมันได้

    แม้แต่ปกอัลบั้มนี้ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย อย่างแรกที่มักพูดถึงกันคือการสื่อด้วยภาพของวงในจินตนาการ Sgt. Pepper ที่มีการแต่งกายรวมทั้งการไว้ทรงผมและหนวดเคราที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาพลักษณ์ “mop tops” หรือ “สี่เต่าทอง” ที่มีสัญลักษณ์ปรากฏบนปกอัลบั้มด้วยหุ่นขี้ผึ้ง (จากพิพิธภัณฑ์ Madame Tussauds) ของสมาชิกทั้งสี่คนที่ถูกเบียดให้ไปยืนอยู่ด้านข้าง การไว้หนวดครึ้มและการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดสื่อถึงวัฒนธรรมฮิปปี้ที่กลายเป็นกระแสนิยมในยุคนั้น ภาพหมู่ของบุคคลสำคัญประกอบด้วยภาพถ่าย 57 ภาพและภาพหุ่นขี้ผึ้งอีก 9 ภาพ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญหลากหลายจากวงการต่างๆที่มีทั้งนักแสดง นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา กูรูลัทธิทางศาสนา นักเขียน นักร้องและนักแสดง ปกอัลบั้มนี้ได้รับรางวัล Grammy Award for Best Album Cover ในปี 1968  นอกจากนี้ ยังมีการนำเนื้อเพลงทุกเพลงมาพิมพ์ไว้บนปกหลังซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอัลบั้มเพลงร็อก

    สำหรับสมาชิกที่ต้องการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัลบั้มนี้และเรื่องราวของวงThe Beatles ผมขออนุญาตแนะนำบล็อก The Beatles for the Ages (ใช้ชื่อภาษาไทยว่า "The Beatles เหนือกาลเวลา") ที่ผมทำขึ้นมาสำหรับแฟนพันธุ์แท้ของวงนี้โดยเฉพาะ ผมเชื่อว่าแฟนเพลงของวงนี้มีหลากหลาย generations มาก บล็อกนี้น่าจะทำหน้าที่เป็นแหล่งนัดพบที่ไม่จำกัดยุคสมัยของแฟนพันธุ์แท้อย่างแท้จริง ใครที่สนใจ ขอเชิญตามลิงก์ข้างล่างนี้ไปได้เลยนะครับ ผมจะรอพบอยู่ที่นั่น ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

    https://plus.google.com/100482450416704221206

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in