เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
JJ’s Cambodian Culture Diaryjjjaypc
[บันทึกหน้า 10] คำซ้อน: ไทยมี ลาวมี เขมรก็มีนะ
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา 1-2 เมษายน 2566 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะต่าง ๆ จัดงาน Open House เอกไทยของอักษรฯ เราจัดงานในหัวข้อ “เปิดประตูสู่เอกไทย” วิชาในเอกไทยนี้ก็หลากหลาย ไม่ได้เรียนแค่ภาษาไทยเป็นภาษาศาสตร์นะ วรรณคดีย่อมมี คติชนก็มา และที่เราชอบที่สุดแน่นอนว่าเป็น สาขาวิชาภาษาลาวและภาษาเขมร


    ภาพจากเพจเฟสบุ๊ก เอกภาษาไทย อักษร จุฬาฯ (https://www.facebook.com/ThaiArtsCU)

    ในห้องเอกไทยแบ่งเป็นโซน ๆ หน้านี้ขอพูดถึงโซนเปิดประตูสู่เอกไทย (เปิดได้จริง ๆ นะ) กับโซนเซียมคำไทย-คำถิ่น เนื่องจากเราพูดตตอบคำถามอยู่สองโซนนี้ เปิดประตูสู่เอกไทยมีคำถามจากวิชาต่าง ๆ ในภาควิชาภาษาไทย ข้อการรับส่งวัฒนธรรมเขมร-ไทย และยืมกลับ (borrow back) ไทยกับเขมรนี่ก็ตอบซ้ำหลายรอบเลย คำราชาศัพท์ไทยเป็นเขมร คำราชาศัพท์เขมรเป็นไทยงี้ คำว่า ย่าง เป็นคำราชาศัพท์เขมร แปลว่า เดิน แต่คำว่า ดำเนิน เป็นราชาศัพท์ไทย แปลว่า เดิน คำว่า ทับทรวง เป็นคำเขมรที่เขมรยืมไทยกลับไปอีกที เป็นต้น


    แต่โซนที่เราชอบจริง ๆ คือเซียมซีคำไทย-คำถิ่น เพราะเราชอบภาษาถิ่นอยู่แล้ว รู้หรือไม่ว่า นอกจากคำศัพท์ที่ยืมกลับไปได้แล้ว อีกสิ่งที่มีอิทธิพลมากคือการยืมไวยากรณ์ไป อิทธิพลของไทยด้านไวยากรณ์มีอยู่ในภาษาเขมรหลายประการ วันนี้ขอพูดถึงการสร้างคำซ้อนกับคำประสม


    ภาษาไทย-ลาวเป็นภาษาคำโดด (isolating language) ไม่เหมือนภาษาที่เป็นภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ภาษาเขมรสร้างคำโดยการแผลงคำ เติม prefix และ infix ไม่มี suffix ยกตัวอย่างการเติม infix -VmN- กลางคำ ทาย –> ทำนาย, เดิน –> ดำเนิน


    ภาษาไทย (รวมถึงลาว) เป็นภาษาคำโดด นั่นคือเป็นคำสมบูรณ์ที่ไม่ต้องผัน คำไทยจริง ๆ โดยมากมีพยางค์เดียว ฉะนั้นการจะเพิ่มคำในภาษาจึงต้องเพิ่มพยางค์ไปด้วย คำประสม คำซ้อน คำซ้ำ คำผสาน (ประสาน) เป็นวิธีการสร้างคำให้คำในภาษามีใช้มากขึ้น เราชอบที่สุดคือคำซ้อน เพราะในคำซ้อนแฝงไปด้วยภาษาไทยโบราณที่คนไทยไม่ใช้แล้ว คำภาษาถิ่น เหนือ อีสาน ใต้ เขมร 


    คำซ้อนมีลักษณะพิเศษที่เราชอบมากคือ เป็นคลังเก็บภาษาไทยโบราณที่คนไทยไม่ใช้แล้ว คำภาษาถิ่น เหนือ อีสาน ใต้ เขมร ยกตัวอย่างคำซ้อนอีสาน (ลาว) คำว่า เคียดแค้น เคียด = โกรธ, แค้น ซ้อนความหมายเดียวกับ แค้น นั่นแหละ ซึ่งคนที่ไม่รู้อาจคิดว่า เครียด = เครียด ไม่ใช่เลย เครียดภาษาอีสาน (ลาว) = อุ่กอั่ง และในภาษาลาวเองนี่ก็มีคำซ้อน เช่น ม้างเพ (ม้าง = พัง, เพ = พัง) ถิ่มปะ (ถิ่ม = ทิ้ง, ปะ = ทิ้ง)


    *คำซ้อนทั้งหมดที่ยกตัวอย่างในหน้านี้เป็นคำซ้อนเพื่อความหมาย ความหมายคล้ายคลึงหรือไปทำนองเดียวกันหมดเลยนะ


    ทีนี้ในภาษาไทย คำซ้อนภาษาเขมรมีอะไรบ้าง

    เด็ดขาด เด็ด (ข.) = ขาด 

    ฉับไว ฉับ (ข.) = เร็ว, ไว 

    หอมแดง หอม (ข.) = สีแดง กรอฮอม ในภาษาเขมร แปลว่า สีแดง เช่น เขมรแดง คือ แขมร์กรอฮอม

    แสวงหา แสวง (ข.) = หา 

    เจริญงอกงาม เจริญ (ข.) = งาม

    ปรุงแต่ง ปรุง (ข.) = แต่ง 

    เงียบสงัด สงัด (ข.) = เงียบ 


    แต่สิ่งที่เราอยากนำเสนอในหน้านี้คือ ภาษาเขมรรับการวิธีสร้างคำซ้อนในภาษาไทยไป

    เฉฺลียตบ เฉลย (ข.) + ตอบ (ท.) แปลว่า ตอบ

    กฺรหมแฎง กรอฮอม (ข.) + แดง (ท.) แปลว่า สีแดง


    ยกตัวอย่างคำประสมบ้าง

    เชีงแกฺอก เป็นคำเขมรทั้งคู่ เชีง (เท้า) + แกฺอก (กา) ไม่ใช่ตีนกานะ แปลว่า กากบาท

    จาส่ทุํ เป็นคำเขมรทั้งคู่ จาส่ (แก่) + ทุํ (สุก) แปลว่า ผู้ใหญ่ สังเกตุคำว่า จ่า ยศตำรวจ/ทหาร มาจาก จาส่ นี่แหละ


    บันทึกหน้านี้มีความอักษรฯ สุด ๆ ต้องยกเครดิตส่วนใหญ่ให้วิชา 2201326 ภาษาเขมรที่สัมพันธ์กับภาษาไทย เลย 


    หมายเหตุ: หากเขียนรูปภาษาเขมรเป็นไทยผิดขออภัยมา ณ ที่นี้ เราไม่ได้เรียนภาษาเขมรโดยตรง

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in