เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
[นิยาย] ดุจเรือนใจMepMhee
ดุจเรือนใจ (บทที่ ๑๖)

  • ทั้งชุดโซฟางานทำมือแลประณีตและการตกแต่งภายใน ทำให้รู้ว่าห้องรับรองพิเศษนั้นสะท้อนตัวตนของประเทศออกมา จตุรวัชรไม่ได้มีโอกาสเข้าห้องวีไอพีบ่อยนัก แต่ครั้งนี้เป็นคราวที่ทำให้เขาประหลาดใจที่สุด เพราะเรื่องราวที่ได้คุยกันผ่านไป สามารถใช้เพียงร้านกาแฟเป็นจุดนัดเพื่อสนทนาก็ได้

    ทันทีที่เขาลงจากเครื่องก็มีชายในชุดสูทดำสองคนเข้ามาประกบ พร้อมบอกเป็นภาษาอังกฤษติดสำเนียงตะวันออกกลางเล็กน้อยว่า

    ‘เอฟโฟร์ต้องการพบคุณเจสซี่ครับ’

    ชายหนุ่มได้ฟังก็ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะบอกให้อีกฝ่ายแก้ไขรหัสประจำตัวเสีย เมื่อเขาพูดไปผู้เป็นชีคก็ยอมรับคำติติงและแก้ไขในทันที

    ‘งั้นเอาเป็นโฟร์เอส’ ท่านผู้สูงศักดิ์ตัดสินใจ ‘โฟร์ฟ้องเสียงกับเฟาว์ และเอสคือซี ในชื่อของเรา เราจะใช้รหัสใหม่ว่าโฟร์เอส ทุกคนรับทราบด้วย’

    ผู้คุ้มกันตบเท้ารับทราบ ทำให้พอเดาได้ว่าทั้งสองคงมาจากหน่วยทหารเป็นแน่

    แต่รหัสใหม่ที่เพิ่งกำหนดขึ้นทำเอาคนฟังกุมขมับ เพราะทันทีที่อีกฝ่ายขานว่า โฟร์เอส ในหัวจะมีวลี ‘โฟร์เอสสร้างสรรค์ ผลงานดีมีคุณภาพอีกแล้วครับท่าน’ ซึ่งเป็นสโลแกนของค่ายเพลงลูกทุ่งสมัยก่อนลอยขึ้นมาในหัว

    เอาเถอะ ยังเป็นแค่คุณน้าใส่หมวกแก๊ปและแว่นดำแค่คนเดียว ดีกว่าวงเอฟโฟร์ที่ขนกันมาที ๔ คนอยู่นิดหน่อย

    หลังจากนั้นก็เหลือเวลาอีกไม่มากนักก็ต้องจะขึ้นเครื่องเพื่อบินยาวไปยังสหรัฐอเมริกา มีเรื่องราวมากมายที่ชายผู้ยิ่งใหญ่เหนือใครหลายคนได้หยิบยื่นและยกวางไว้ให้อยู่ในมือของเขา

    ‘เราฝากด้วยนะสี่’ ชายผู้เป็นชีคกล่าว ทั้งน้ำเสียงและแววตาของเขาดูจริงจังกว่าครั้งใดๆ ที่เคยเป็นมา ‘มันเป็นเรื่องบังเอิญ คราวนี้เราไม่ได้ทำอะไร’

    ‘ผมรู้ครับ’ จตุรวัชรตอบ ‘เพราะที่ผมต้องไปทำงานนิวยอร์กนั่นผมก็เลือกเอง ไม่ใช่เพราะท่าน’

    ‘เราได้ยินสี่พูดอย่างนี้ก็เบาใจ’ ชายวัยสี่สิบค่อนปลายในชุดพื้นเมืองอาหรับถอนหายใจยาวก่อนจิบกาแฟ เบื้องหลังเขาคือชายร่างสูงใหญ่สองคน ที่หากไม่ได้โดนเรียกให้เข้ามาใกล้ก็ยืนสงบนิ่งราวเป็นรูปปั้นลอยตัวประดับห้อง

    ‘สี่ เราขออวยพร สิ่งที่สี่จะทำมันเป็นเรื่องใหญ่และมันคงเปลี่ยนแนวคิด ความคิดหลายๆ อย่างของสี่ เรามั่นใจว่าสี่จะเปลี่ยนชีวิตสี่ได้ด้วยตัวเอง’

    ชายหนุ่มกระพุ่มมือวางกับพนักวางแขนและก้มศีรษะลงไปให้ปลายหัวแม่มือแตะจมูก อีกฝ่ายวางมือหนักบนศีรษะ เช่นผู้ใหญ่ทำต่อผู้น้อย

    ‘ขอให้อัลล่ะห์ทรงอำนวยพรให้สี่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจ’

    แล้วเขาก็จากถิ่นที่คุ้นเคยอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเดินทางมายังแดนดินที่แบกรับความเกลียดชังและโหยหาของตนไว้



    “อาสี่ ไม่ไปไม่ได้เหรอ” 

    มารีญงสะอื้นฮักเกาะขากางเกง ชายหนุ่มก้มลงไปช้อนตัวอุ้มหลานสาวตัวน้อย จูบแก้ม ล้วงผ้าเช็ดหน้าซึ่งพับเหน็บอยู่กับกระเป๋าเบลซเซอร์สีเทาขึ้นมาซับน้ำตา

    “หนูมาลี อาสี่ไปทำงาน นิวยอร์กห่างกันแค่นั่งเครื่องบินหกชั่วโมงเอง ก่อนหน้านี้อาสี่อยู่ห่างออกไปยี่สิบกว่าชั่วโมงเลยนะ” เขาเรียก ‘หนูมาลี’ แทนชื่อหลานสาว ก่อนเอ่ยประโยคทั้งหมดด้วยภาษาอังกฤษที่เธอเข้าใจดีกว่า “เราไม่ได้ห่างกันขนาดนั้นหรอก ไว้ถ้าอาสี่ปลีกตัวจากงานมาได้ อาสี่จะมาหาหนูนะคะ”

    “แล้วใครจะวาดการ์ตูนกับหนูล่ะ” เธอถาม

    “หนูวาดเองไง หัดวาดให้สวยๆ เดี๋ยวอาสี่กลับมาดู”

    “แล้วใครจะร้องเพลงกับหนูล่ะ” เจ้าของแก้มแดงปลั่งประท้วง

    “หนูหัดร้องเพลงไง เอาเพลงใหม่ๆ แล้วอาสี่จะกลับมาเช็ค แต่ก่อนนั้นเราคุยกันผ่านวิดีโอคอลได้นี่นา จริงไหม”

    หลานสาวทำท่าชั่งใจ ก่อนพยักหน้าและดิ้นเบาๆ เป็นสัญญาณให้ปล่อยลง

    จตุรวัชรยืดกายมองพี่ชาย พี่สะใภ้ รวมถึงหลานทั้งสาม เขาเข้าไปกอดหญิงสาวผมทองดวงตาสีฟ้าสดใสแม้จะล่วงเข้าวัยสี่สิบแล้ว ขอบคุณที่เธอทำกัมโบให้เขากินอยู่หลายครั้งตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่อยู่ที่นี่ เขาหันไปกอดหลานสาวคนโตที่แม้จะเริ่มโตแล้วแต่ก็ยังไม่รังเกียจการทักทายของครอบครัว ผู้เป็นอาหันไปกอดหลานชายที่มีเค้าว่าจะตัวสูงยิ่งกว่าบิดา อีกฝ่ายกอดกลับเขาแน่น ถอนหายใจใส่บ่าแล้วจึงดึงตัวเองออกมา

    “ขอบคุณสำหรับสูตรอาหารครับอาสี่ ผมจะตั้งใจทำ ตั้งใจเรียนรู้ จะได้ทำให้คนในบ้านกินกันได้” ราล์ฟเอ่ยเป็นภาษาไทยติดสำเนียงอเมริกัน พร้อมแววตาฉายความตั้งใจชัด

    “เรื่องสำคัญคือต้องจำรสให้ได้ว่ามันเป็นอย่างไร” จตุรวัชรเสริม “เอาจริงๆ ถึงไม่รู้ว่ารสมันเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราจำรส และลักษณะ รวมถึงกลิ่นเครื่องปรุงแต่ละชนิดได้ อาว่ามันน่าจะสำเร็จไปครึ่งแล้ว”

    “อาสี่ทำให้ผมกินหลายอย่าง” 

    อาหารไทยมื้อใหญ่ที่อาทำให้มาตลอดสัปดาห์ทำให้เพื่อนๆ ของเด็กหนุ่มกรีดร้องเมื่อเห็นรูปในเฟซบุ๊ค หลายคนขอตามมาบ้านเพื่อลองอาหารไทย และผู้เป็นอาก็ไม่รังเกียจที่จะรับรองเพื่อนของหลานทุกคนเลยแม้แต่น้อย แถมยังเอ็นดูเสียอีกเมื่อทุกคนพยายามเรียก ‘อาสี่’ ตามราล์ฟ แต่ก็ออกเสียงกันไม่ถูกเสียที

    ‘อาสี่’ หลานชายพูดนำ

    ‘อาซี’

    ‘อาซี่’

    จตุรวัชรหัวเราะ ก่อนให้คำแนะนำ ‘รู้จักใช่ไหม วัคซีนเรบี่ เรบี่ อาสี่ เหมือนกันเลย’

    ทุกคนฟังและทำหน้าเข้าใจ เริ่มเรียกได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ผู้เป็นอายิ้มพราย เพราะเขาก็ใช้วิธีสอนนี้กับหลานๆ ทั้งสามคนตอนยังเด็กอยู่ แต่ท่าทางเจ้าตัวจะจำไม่ได้ แม่จะลำบากใจที่เอาชื่อตัวเองไปเทียบกับวัคซีนพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าทำให้ทุกคนเรียกชื่อเขาถูกก็พอถูไถไปได้อยู่

    “แต่ถ้าราพณ์ไม่เข้าใจรสจริงๆ ว่ารสของอาหารที่อยากทำเป็นแบบไหนก็บอกพ่อ” ผู้เป็นอาแนะนำ

    “อ้าว” คนโดนพาดพิงร้องทันที “พี่ทำกับข้าวเป็นที่ไหน”

    “ใครหวังพึ่งพี่วิเรื่องนั้น” น้องชายเลิกคิ้วทำหน้าราวว่าสิ่งที่พี่พูดมาช่างน่าขันสิ้นดี

    ซึ่งถ้าดูจากฝีมือทำอาหารของทวิ...ทุกคนในบ้านก็เข้าใจได้

    “จะบอกราพณ์ว่าให้ไปขอตังค์พ่อไปกินร้านอาหารไทย อาเช็คแล้วว่ามีร้านไหนที่รสไทยจริงๆ บ้าง เดี๋ยวหาส่งข้อความมาบอกทีหลังก็แล้วกัน”

    “รักอาสี่เลย” หลานชายหัวเราะร่า ก่อนกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันราวกับเป็นพี่น้อง เพราะอันที่จริงแล้วก็อายุห่างกันเพียงสิบกว่าปีเท่านั้น

    ทั้งสองคลายอ้อมกอดให้กันและกัน ก่อนที่จตุรวัชรจะเดินไปหยุดตรงหน้าพี่ชาย ชายหนุ่มลองยกมือขึ้นอย่างฝรั่งที่จะรอให้ฝ่ายตรงข้ามมาสัมผัสมือตอบ ทวิยกมุมปากยิ้มเพียงข้างเดียว กำประสานมือกันแน่นและดึงน้องชายเข้ามากอด

    “รักษาเนื้อรักษาตัวนะสี่ นิวยอร์กไม่เหมือนที่นี่”

    “สี่รู้ ที่นั่นไม่มีครอบครัว” เขาตอบ

    ผู้เป็นพี่ถอยออกมามองนิ่ง ถอนหายใจยาว “รู้ใช่ไหมว่าย่านไหนไม่ควรเดิน ถิ่นไหนไม่ควรไป”

    “ทราบครับ”

    “อย่าใส่ของแพงล่อตาล่อใจ เอ...แค่ต่างหูเพชรนี่คนเขาก็ไม่สังเกตล่ะมั้ง คงไม่มีอะไรให้ต้องกังวลละ” 

    “มีสิ” น้องชายแย้งในทันที ทำให้ผู้เป็นพี่ขมวดคิ้ว “ความหล่อสี่ไง ล่อตาล่อใจสุดๆ โคตรอันตรายเลย เดี๋ยวใครมาช่วงชิงพรากความดีงามนี้ไปสี่คงเสียใจแย่”

    พูดเสร็จเจ้าตัวก็ยื่นมือไปข้างหน้าในจังหวะเดียวกับที่ทวิอ้าปากหมายจะปะทะคารมด้วย ก่อนง้างนิ้วดีดมะกอกใส่หน้าผากพี่ชายจนเขาหลุดร้องโอ๊ยดังลั่น

    “ไปละ หายกั๊น!” ชายหนุ่มวิ่งตัวปลิวเข้าไปข้างในโดยมีเสียงโวยวายและเสียงหัวเราะของครอบครัวทิ้งไว้เบื้องหลัง

    เขาไม่ชอบการร่ำลาที่สนามบิน ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทำให้มันจบโดยไว เหลือเพียงตัวเองลำพัง...อย่างน้อยก็มีสมาธิพอจะรวบรวมความคิดที่กระจัดกระจายเพราะความรู้สึกโหยหาความอบอุ่น

    เพราะอีกไม่นานก็คงต้องการสติและปัญญาอย่างมากในการใช้ชีวิตต่อไป



    ชื่อจริงๆ ของเขาคือ จตุรวัชร และมีชื่อรองว่า เจสซี่

    ถึงเขาจะบอกใครๆ ว่า ‘เจสซี่’ คือชื่อที่ไว้ใช้ตอนเรียนต่างประเทศ แต่แท้จริงแล้วมันคือชื่อกลางที่คนไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมในการใช้ แต่เพราะเขาถือกรีนการ์ดของสหรัฐอเมริกาที่พี่เอกผู้เป็นพลเมืองได้ดำเนินการขอให้และใช้เวลารอคอยถึง ๑๐ ปี ทางครอบครัวจึงระบุชื่อนั้นเป็นชื่อกลางไปเสียเลย เพื่อความสะดวกในการทำธุระต่างๆ ยามอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

    ‘เจสซี่’ จตุรวัชรในสมัยมัธยมถามย้ำเมื่อได้ยินพี่ชายเอ่ยขึ้นมา ‘ทำไมต้องมีชื่อกลางด้วยฮะพี่เอก ดูเหง้าหน้าสี่ดิ เจสซี่ อื้อหือ ฝรั่งมาก เบ้าตาไม่ปรากฏ ชั้นตาที่มีก็แนบเข้าไปกับเปลือกตาจนเหมือนไม่มี ชื่อเจสซี่ตลกตายเลย’

    ‘แล้วคิดว่าคนตะวันตกเขาจะเรียกสี่ถูกหรือ ซี้ สี สี่ ซี่ หรือชาทูราวัด’

    คนเป็นน้องฟังทัศนะของพี่ชายแล้วเกิดเห็นพ้องขึ้นมา ‘ชื่อสี่สำเนียงฝรั่งนี่อย่างกับปราสาทลึกลับในอเมริกาใต้ จะหาเจอต้องบูชายัญด้วยกล้วยปิ้ง’

    ‘ทำไมต้องกล้วยปิ้ง!’

    ‘ไม่มีอะไรพิเศษอะเฮีย แค่อยากกิน’ เด็กหนุ่มตอบเขินๆ ‘เดี๋ยวเย็นขี่จักรยานไปซื้อป้าม่อมที่ตลาดดีกว่า’

    พี่เอกหัวเราะ แม้จะอายุห่างกันกว่า ๑๕ ปี แต่เขากับพี่ชายคนโตก็ยังสนิทสนิมกันมากอยู่ดี

    ‘ขอน้ำเชื่อมราดพิเศษให้เฮียด้วย’

    ‘แปลว่าเฮียจะเลี้ยงสี่เหรอ’

    ‘ให้หอบไปเลี้ยงที่อเมริกายังทำได้เลย ประสาอะไรกับแค่กล้วยปิ้ง’

    เขาเชื่อในคำพูดของพี่ชายคนโตและอีกฝ่ายทำได้จริง 

    แม้เฮียเอกจะไม่ได้เห็นด้วยตาว่าการกระทำของตนเองส่งผลดีอย่างไรกับน้องในภายหลัง แต่เขาจะรู้ได้ ตราบเท่าที่ยังมีคนระลึกถึงอยู่

    ‘แล้วทำไมต้องเป็นเจสซี่ ชื่ออื่นมีเยอะแยะ’ เขาในตอนนั้นถามอย่างไม่สบอารมณ์นัก

    ‘เจสซี่ เจมส์ ไง’ พี่ชายตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง ‘โคตรคูลเลย คนในประวัติศาสตร์เลยนะ’

    ‘แต่นั่นมันคาวบอย! อาชญากรเมืองเถื่อนแดนตะวันตก!’ น้องชายโวยลั่น ‘น้องชายเฮียเอกเป็นคนดีศรีอยุธยา ไม่น่าจะต้องใช้ชื่อคนดังในทางอบายมุขอย่างนั้นเล้ย’

    พี่ชายคนโตยิ้มมุมปาก เขาและตรัยพี่ชายคนที่สามมีความคล้ายคลึงกันอย่างประหลาด...โดยเฉพาะรอยยิ้ม ถ้าความสนใจของตรัยคือเพลงแจซ สำหรับเอกก็คงจะเป็นภาพยนตร์เก่ารวมถึงแผ่นเสียงเพลงเก่า

    ‘ก็สร้างใหม่สิ’ 

    น้องชายฟังคำตอบของพี่แล้วเลิกคิ้ว

    ‘ถ้าคนจำชื่อเจสซี่ เจมส์ เป็นอาชญากร สี่ก็ต้องสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จัก พอคนเอ่ยถึงเจสซี่ก็จะนึกถึงสี่ก่อนเจสซี่ เจมส์’

    ‘จะเป็นไปได้ยังไง โน่นเขาอเมริกา สี่อยู่ไทย อย่างมากก็แค่มีเพื่อนรู้จักในไทย’

    ‘สี่จะไปไกลกว่านั้น เชื่อพี่สิ’ อีกฝ่ายยิ้ม ด้วยรอยยิ้มไม่อาจเดาความหมายได้

    สิ่งต่างๆ ที่เฮียเอกทำนั้นราวกับเขาเห็นอนาคต ทั้งเรื่องขอกรีนการ์ดและเรื่องชื่อ ทุกอย่าง...ทุกเรื่อง พอเหมาะพอเจาะ จนบางทีคนเป็นน้องก็คิดว่าที่พี่ชายตายไป จริงๆ แล้วเขาอาจจะกลับไปอยู่ในโลกหรือมิติอื่นที่เหนือกว่าสามัญสำนึกจะเข้าใจได้ 

    เฮียเอกเก่งกาจราวเป็นพ่อมด 

    เอกคือลูกชายคนโต คือความหวัง คืออนาคตที่ครอบครัวฝากเอาไว้ เมื่อเขาจากไปอย่างกะทันหัน ภาระรับผิดชอบและความกดดันทั้งหมดจึงมาตกอยู่กับเฮียตรัยที่ไม่เคยได้เตรียมชีิวิตไว้เพื่อทำหน้าที่นี้ แต่ท้ายสุดทุกชีวิตก็ต้องเดินต่อไป ตัวเขาเองก็เช่นกัน

    จนถึงตอนนี้ อาคารผู้โดยสารหมายเลข ๔ ของสนามบินจอห์น เอฟ. เคเนดี้ ก็ไม่ได้ดูต่างจากที่อื่นสักเท่าไรนัก มีผู้คนมากมาย หลายเชื้อชาติ ต่างคนต่างก็เดินไปยังจุดหมายของตัวเองไม่ต่างไม่จากตนเอง

    หลังจากรอรับกระเป๋าจากสายพานเสร็จ จตุรวัชรเข็นรถเดินตามผู้โดยสารไฟลท์เดียวกันเดินออกไปด้านนอกโดยมีปลายทางคือจุดนัดพบ ระหว่างที่คิดอะไรไปพลางพลันสายตาเขาเห็นข้อความตัวยึกยือหลากสีสันบนกระดาษที่เขียนไว้ว่า 

    ‘ยินดีต้อนรับ๔’ 

    คนเขียนคงจะกลัวว่าตนจะโดนมองเป็นคนที่มาหลอกลวง เลยเขียนภาษาไทย แถมยังใช้เลขไทยอีก แต่ด้วยลายมือที่ดีกว่าเด็กอนุบาลหัดคัดนิดหน่อย...เลขสี่ไทยเลยดูคล้ายลูกศรไปโดยปริยาย

    “สี่มี่มาแล้ว”

    เขาหลุดหัวเราะพรืดเมื่อได้ยินการเรียงประโยคแบบพลั้งพลาดของเพื่อนสนิทพี่ชาย คู่สมรสของอีกฝ่ายที่มาด้วยและยืนอยู่ข้างก็ทำหน้าเหนื่อยหน่ายไม่น้อยไปกว่ากัน ก่อนกระซิบแก้ไขข้อความให้ เจเรมี่ก็เอ่ยในทันทีอย่างกระตือรือร้น

    “มี่ สี่มาแล้ว”

    “จะบอกตัวเองทำไม” ชายหนุ่มร่างสูงที่มีเค้าความเป็นเอเชียเอ็ดคนผมทองซึ่งตัวโตกว่า “บอกผมแค่ว่า สี่มาแล้ว ไม่ก็บอกสี่ว่า มี่อยู่นี่ หรือไม่อีกที พูดภาษาอังกฤษ ง่ายกว่าไหม”

    “ปฏิเสธ” เจเรมี่ร้องลั่น

    “แค่พูดว่า ‘ไม่’ ก็พอครับพี่มี่” จตุรวัชรก้มศีรษะไหว้ทั้งสองคน แล้วคนตัวสูงกว่าก็คว้าเขาเข้าไปผลัดกันกอดราวกับเป็นตุ๊กตาตัวใหญ่ที่เพิ่งส่งขึ้นเครื่องตรงจากซาน โฮเซ่ มานิวยอร์ก

    เจเรมี่เป็นเพื่อนสนิทของตรัยตั้งแต่สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยทูเลนในนิวออร์ลีนส์ ทั้งสองเป็นรูมเมทกันทั้งที่พี่ชายเขารู้ว่าอีกฝ่ายเป็นเกย์ แต่เพราะต่างเข้าใจว่าไมตรีของเพื่อนนั้นต่างจากรสนิยมทางเพศ ทั้งคู่เลยใช้ชีวิตสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างมีความสุข 

    คนหนึ่งเป็นหนุ่มไทยครึ่งจีนซึ่งเรียนต่างประเทศมาตลอดและมีฝีมือทำอาหารไทย ส่วนอีกคนคือหนุ่มอเมริกันเชื้อสายฝรั่งเศสมีบ้านเกิดอยู่ที่นิวออร์ลีนส์ ความพิเศษของเพื่อนต่างชาติผู้นี้คือเขาหลงรักเมืองไทยและบ้าคลั่งกับทุกอย่างที่เป็นไทยราวเกิดผิดที่ผิดทาง ถึงขนาดว่าตกล่องปล่องชิ้นกับหนุ่มลูกครึ่งไทยได้ในที่สุด

    ข้อนี้จตุรวัชรไม่แน่ใจว่าสวรรค์บันดาลหรือเป็นความพยายามส่วนตัวของอีกฝ่ายที่ตื๊อจนกวีใจอ่อน

    ทั้งเจเรมี่และตรัยไม่มีใครรังเกียจเดียดฉันท์ในความเป็นคนเอเชียหรือรสนิยมทางเพศ มิตรภาพของทั้งคู่ดำเนินมากว่า ๒๐ ปี จนกระทั่งต่างฝ่ายต่างก็สร้างครอบครัวของตนเอง และถ้าว่ากันตามจริงเจเรมี่กับกวีคือบุคคลสำคัญที่ทำให้ตรัยได้ลงเอยกับพี่สะใภ้ของเขา นับไปนับมาก็เป็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนและแน่นแฟ้นอย่างประหลาด

    “เห็นบอกว่าจะส่งคนมารับ ดูแล้วรู้เลยว่ามารับสี่แน่ๆ” ผู้ที่เพิ่งมาถึงยิ้มกว้างจนตาหยี “ไม่ผิดเลยแฮะ”

    “ทีแรกมี่อยากหาชุดไทยใส่มารับสี่ สี่จะได้เห็นชัดๆ” เจเรมี่บ่นอุบอิบ “แต่ดาร์ลิงไม่ยอม”

    “กางเกง...เหมือนทรงฮาเร็ม แต่สั้นแค่ปิดเข่า...” กวีพยายามอธิบายพลางทำไม้ทำมือ

    “ไทยเรียกโจงกระเบนครับ” จตุรวัชรไขข้อสงสัย

    “นั่นละ โจง-กระ-เบน ผ้าสีเหลือบทอง มีสร้อยทองพาดไปพาดมา แถมมีจุกผมสีทองปลอมอีก” กวีถอนหายใจ “ไม่รู้เอามาจากไหน อยู่ดีๆ ก็ไปขุดมา”

    เจเรมี่โอดครวญเสียงเครือในลำคอ ก่อนจับรถเข็นเดินนำทั้งสองคนไป “ชุดนั้นน่ะ ชุดสำคัญของมี่กับตรัยเลยนะ เราเคยเป็นพาร์ทเนอร์กันตอนงานฮัลโลวีน”

    “ยังไงฮะ” จตุรวัชรเลิกคิ้ว 

    “ตรัยบอกว่ามี่ไปยืมสร้อยลูกปัดมาม่าร้านขนมปังที่รู้จักกันมานะ พอเอาไปให้ตรัย ก็เห็นตรัยใส่เสื้อขาว กางเกงขาว ตรัยบอกตรัยแต่งเป็นหมอผี ถือหม้อดินที่เราเอาไว้ทำจุ่มจิ้มกินกัน”

    “จิ้มจุ่ม” กวีและจตุรวัชรแก้ให้อย่างพร้อมเพรียง 

    “นั่นแหละ จุ้มจิ่ม” 

    คนฟังถอนหายใจด้วยความเหนื่อยหน่าย แต่คนเล่าไม่ทันสังเกตเลยพูดต่อ

    “ทีแรกก็จะไปเอาหม้อของพวกคณะดึกดำบรรพ์มานะ แต่ตรัยบอกว่าไม่ดีหรอก”

    “ฮะ” จตุรวัชรอุทาน “คณะอะไรนะ ดึกดำบรรพ์"

    “ก็ที่ศึกษาของเก่าๆ ไง” คนเล่าอธิบายเสริม

    “โบราณคดีครับพี่”

    “นั่นแหละๆ แต่ไม่รู้ทำไมต้องหาผ้าแดงมามัดปิดปากหม้อล่ะ” เขารำลึกความหลังอย่างมีความสุข “แล้วก็มีด้ายขาวๆ ก้อนใหญ่ๆ ข้างนึงเอามามัดๆ มือมี่ไว้ ส่วนมี่ก็แต่งชุดนั้น ปะแป้งขาวๆ แลสต์เดย์ออฟออคโตเบอร์ หนาววววนะ แต่ทนได้ เพราะตรัยบอกว่ากุมารทองคือเด็กชายที่เป็นที่รักใคร่ น่าเอ็นดู ทำให้คนอยู่ด้วยร่ำรวยมีเงินมีทอง เลยชื่อกุมารทอง โกลเด้นบอย มี่นี่ดูสำคัญขึ้นมาเลย”

    คนไทยแท้หลุดขำจนเกือบสะดุด ดีที่คว้าแขนกวีซึ่งเดินข้างๆ ไว้ได้ 

    “ดีแล้วฮะที่พี่มี่ไม่ใส่มา”

    “ไมอะ สี่ไม่อยากเห็นเหรอ” เขามองหน้าน้องชายของเพื่อนสนิท

    “เดี๋ยวพี่มีดูดีเกินไป สี่หมองแน่ๆ”

    “โถ...” คนพูดทอดเสียงอ่อนโยน “สี่นี่ช่างแสนดีผิดกับตรัยเลย”

    กวีหลุดหัวเราะพรืดทั้งที่ปกติเป็นคนนิ่งขรึม สงบคำ เขาแสร้งกระแอมก่อนเอ่ย “ไปที่รถเถอะ เดี๋ยวพาสี่ไปบ้านแล้วจะได้ไปธุระต่อ มีเรื่องให้ต้องจัดการเยอะแยะ”

    คนอายุน้อยสุดมองหน้าพี่ทั้งสอง แน่ล่ะ วันนี้วันธรรมดา ไม่แปลกที่ทั้งสองคนควรจะมีงาน แม้อาชีพช่างภาพแฟชั่นของเจเรมี่จะทำให้เวลาการทำงานไม่เหมือนกับคนทั่วไปก็ดี แต่คนที่ทำงานเป็นทนายของนักธุรกิจดังอย่างกวีเล่า...ไม่ได้มีงานแน่นตารางหรอกหรือ

    “พี่มี่กับพี่กวีลำบากหรือเปล่าครับ มารับสี่”

    “ไม่นี่” กวีตอบในทันที “ไม่ต้องห่วงนะ ลางานแล้ว”

    “ไม่ต้องห่วงมี่นะ ลาออกจากงานแล้ว”

    “เฮ้ย” จตุรวัชรร้องลั่น

    “ล้อเล่นนนน” เจ้าตัวไม่พูดเปล่า ทว่ายังปล่อยรถเข็นสะบัดมือหมุนไปมา ทำให้แฟนของเขาเดินเลยรถซึ่งหยุดทันทีที่คนเข็นปล่อยมือ จนกวีต้องก้าวถอยหลังกลับมาเอารถไปเข็นเอง

    “มี่ว่าง รู้ตั้งนานแล้วนี่นาว่าสี่จะมา มี่จะทำงานยังไงได้ เลยกวาดงานออกไปหมดแล้วล่ะ อาทิตย์ที่แล้วเลยยุ่งหัวฟู”

    ผู้ที่เพิ่งมาถึงซึ้งใจ

    “สี่ต้องทำอาหารไทยให้มี่กินเป็นการตอบแทน” เจเรมี่พูดต่อทันที

    จตุรวัชรหัวเราะลั่น “เขียนมาเลยว่าอยากกินอะไรบ้าง”

    “รายการอยู่ที่บ้าน ลืมหยิบมา เดี๋ยวไว้เอามาให้นะ”

    ถึงน้องชายรู้อยู่ว่าเพื่อนพี่ชายย่อมมีนิสัยเป็น ‘ตะเภาเดียวกัน’ โดยไม่ต้องเดา แต่การที่ทุกคนเห็นหน้าเขาแล้วนึกถึงแต่อาหารไทยมันทำให้จตุรวัชรคิดอย่างจริงจังว่าเขาควรจะมาฝึกงานเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในร้านอาหารมากกว่าสิ่งที่จะมาทำในเร็วๆ นี้



  • รถคันใหญ่ของเจเรมี่เบียดเข้าริมฟุตพาธได้อย่างเรียบร้อย โดยแทบไม่ต้องขยับอีกครั้งทั้งที่มันเป็นรถคันใหญ่โตกว่าปกติ ทันทีที่จตุรวัชรเห็นรถของเพื่อนพี่ชายก็ถึงกับเบิกตากว้าง เขาว่ารถเลกซัสตระกูล LX ของพี่ชายคันใหญ่แล้ว มาเจอรถฮัมเมอร์*ยังดูเล็กไปถนัดใจ และด้วยเหตุของขนาดที่เทียบเท่ากับรถทหาร คนมาใหม่ถึงได้หวั่นกลัวว่าจะเข้าซองจอดไม่ไหว

    ทั้งสามลงจากรถซึ่งจอดอยู่ยังถนนสายที่ ๑๐ ทางตะวันตก ในย่านที่กวีแนะนำว่าคือ ‘กรีนิช วิลเลจ’ ทางที่พวกเขาขับรถผ่านเข้ามาเป็นทางวันเวย์ รถมากมายหลากยี่ห้อจอดอยู่หน้าบ้านทาวน์โฮมที่มีรูปลักษณ์แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันคือตึกที่ก่อด้วยอิฐแดง บันไดขึ้นสู่บ้านที่มีราวเหล็กดัดลวดลายอ่อนช้อยทาสีเข้ม และหน้าต่างของชั้นใต้ดินที่โผล่มาให้เห็นเพียงครึ่ง ชายหนุ่มเงยหน้ามองยอดต้นต้นไม้สูงเรียงรายสองฟากถนนทำให้บริเวณนี้ดูร่มรื่นน่าอยู่ราวกับเป็นหมู่บ้านเล็กๆ สมชื่อของมัน

    “หลังนี้แหละ ที่เขาจัดไว้ให้สี่อยู่” กวีกล่าวพลางพยักพเยิดหน้าใบ้ให้หันไปมองบ้านซึ่งอยู่ทางขวามือ

    ตึกหลังใหญ่สีแดงอิฐตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า สีดำของขอบหน้าต่างและม่านสีเทาอ่อนซึ่งเรียงสูงขึ้นไปราวห้าชั้นทั้งดูตัดและเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับผนังของตึกรูปทรงเก่าแก่ อาคารนี้ดูเป็นพิมพ์นิยมของสักยุค อาจจะช่วงปี ๔๐ เขาเองระบุชัดเจนไม่ได้ แต่ชายหนุ่มยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายหมายใจว่าจะส่งไปถามแฟนที่น่าจะเชี่ยวชาญด้านนี้มากกว่า

    “สี่ขนของส่วนตัวขึ้นมาก่อน พวกสัมภาระอะไรเดี๋ยวค่อยลงมาหิ้วกันทีหลัง มานั่งพักก่อน” ผู้เป็นแฟนของเพื่อนพี่ชายกล่าวย้ำ ตาเขาปรายมองคู่สมรสตนเองที่เปิดท้ายรถตั้งท่าจะยกของทั้งหมดขึ้นไปเสียเดี๋ยวนี้ พูดเสร็จเขาก็เดินขึ้นไปบนบันไดซึ่งแต่ละขั้นมีกระถางดอกไม้เล็กๆ วางแทรกตัวอยู่ระหว่างลูกกรงเหล็ก และที่ข้างประตูก็เป็นต้นสนขนาดย่อมๆ ใบเขียวของมันทำให้รู้สึกดี และคาดหวังว่าเมื่อถึงคริสต์มาสจะประดับมันอย่างไรดี 

    คนเพิ่งมาถึงคิดว่าความสดชื่นของต้นไม้ที่แนบอิงกับอิฐ ปูน และเหล็ก ทำให้ความแข็งกร้าวลดลง และเมืองนี้ดูเป็นมิตรมากขึ้น

    กวีใช้ทั้งคีย์การ์ด กดรหัส และการไขกุญแจเปิดประตูสีเขียวครามทะเลลึกแล้วถอยออกมา รอให้ผู้เป็นสมาชิกใหม่ของมหานครนี้ได้เดินเข้าไปก่อน

    ภาพที่ปรากฏแก่สายตาของจตุรวัชรคือทางเดินขนาดเล็กและบันไดที่ไม่กว้างพอจะให้เดินสวนได้ วอลเปเปอร์ลายทางลงสีเทาอ่อนบนผนังสองฟากให้ความรู้สึกเย็น ตรงข้ามกับพรมสีเนื้อและทางเดินพื้นไม้เคลือบมันสีน้ำตาลเจือแสด ที่ผนังทางซ้ายมือมีกระจกบานกว้างกรอบประดับลวดลายติดไว้ ฝั่งตรงข้ามเป็นงานศิลปะอะไรสักอย่างที่ดูไม่ถนัดนัก นอกจากวางเพื่อเป็นฉากให้คนในบ้านใช้ตอนส่องกระจกก่อนออกไปข้างนอก แสงไฟภายในแลสว่างไสวผิดกับสภาพข้างนอกที่ดูเป็นตึกเก่า เห็นได้ชัดว่าเจ้าของหมดเงินไปไม่น้อยกับการตกแต่งภายในใหม่ทั้งหมด

    “ตึกนี้มีทั้งหมดหกชั้น รวมชั้นใต้ดินที่เป็นห้องยิมแล้วก็ห้องซักรีด กับดาดฟ้า”

    โอเค ชายหนุ่มคิดว่าเจ้าของคงเสียเงินไปมหาศาลกับการบูรณะและติดตั้งลิฟต์ ซึ่งเขาคงจะกราบขอบคุณก่อนนอนคืนนี้

    จตุรวัชรเดินตามกวีเข้าไปยังห้องแรกที่อยู่ทางขวามือ ห้องสีครีมดูอบอุ่นด้วยพื้นปาร์เก้สีสด คล้ายกับสีผ้าม่านผืนยาวที่ทิ้งตัวตลอดแนวความสูงของห้อง มันถูกรูดเอาไว้ริมหน้าต่างบานยาวจากเพดานถึงพื้น เผยให้เห็นม่านโปร่งอีกชั้นที่ใช้บังแสงจากภายนอก สิ่งซึ่งสะดุดตาที่สุดของห้องนี้มิใช่โคมไฟระย้าสีวอร์มไวท์เพิ่มความอบอุ่นให้กับห้องหรือชุดรับแขกสีอิฐขนาดย่อมที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ทว่าเป็นเบบี้แกรนด์เปียโนสีดำซึ่งตั้งอยู่ริมหน้าต่างอย่างที่คนเพิ่งมาใหม่ก็ไม่รู้ว่าเอาไว้ประดับหรือใช้งานจริง

    “อันนี้้ห้องรับแขก ตรงกลางนี่ก็นั่งได้ ตรงมุมที่มีเบาะกับสตูลไม้สีดำก็นั่งได้ ถ้าจะปาร์ตี้เล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้ก็โอเคอยู่”

    “จะให้สี่ปาร์ตี้กับใครครับ” 

    “ไม่คิดว่าอยู่ๆ ไปแล้วจะมีเพื่อนเลยหรือ?” กวีหัวเราะ ก่อนเดินนำออกไป “ด้านข้างบันไดนี่เป็นลิฟต์ ใช้ได้ ไม่ต้องห่วง มีช่างมาเช็คสภาพตลอดเวลา ส่วนสุดทางเดินนั่นคิดว่าสี่น่าจะชอบห้องนี้นะ”

    ชายหนุ่มตามอีกฝ่ายไป ส่วนเจเรมี่ลากกระเป๋าเข้ามากองไว้หน้าประตูโดยไม่ได้เดินไปยังสุดทางเดินชั้นนี้ด้วย

    “ครัว” คนแนะนำเอ่ยสั้นก่อนเปิดประตูออกกว้าง

    ให้ตายเถอะ...จตุรวัชรตกหลุมรักห้องนี้จริงๆ ด้วย

    ครัวโทนสีน้ำตาลเหลืองดูอบอุ่น แม้ว่านอกหน้าต่างจะเป็นกำแพงอิฐสีเทาไม่ได้มองเห็นสวนเช่นที่บ้าน แต่บรรยากาศของที่นี่ สี และแสง ดูคล้ายจะมีกลิ่นขนมปังและอาหารอบอวลตลอดเวลา อาจเป็นเพราะเตาอบขนาดใหญ่ที่ฝังอยู่ในตู้ไม้แบบบิลท์อิน ที่ทำให้คันไม้คันมืออยากจะอบอะไรกันสักอย่าง หรือไม่ก็เป็นเพราะเตาไฟแบบสี่หัวที่มีฮู้ดดูดควันรุ่นใหม่ซ่อนตัวอยู่ใต้ท่อสีน้ำตาลแสร้งเป็นของเก่า

    คนที่พาเขามาอยู่นิวยอร์กรู้จักเขาดี...กระทั่งว่าเรื่องชอบทำกับข้าว ก็ยังเอามาใช้ประกอบในตัวเลือกที่พักอีกนั่น

    ร้ายกาจจริงๆ

    “เดี๋ยวเราไปดูห้องนอนกัน อยู่ชั้นสาม เป็นมาสเตอร์เบดรูม”

    “เฮ้ย” จตุรวัชรอุทาน “ให้สี่อยู่ห้องใหญ่ไม่ดีหรอกมั้งครับ”

    “ดีสิ เลือกมาแล้ว” กวีตอบด้วยน้ำเสียงมั่นคง

    ทั้งสองเดินออกจากห้องครัวเลยได้เห็นสีหน้าเหนื่อยเหน็ดของเจเรมี่ที่หอบกระเป๋าใบสุดท้ายขึ้นมากองตรงทางเดินได้

    “เหนื่อย” ช่างภาพอาชีพและกุลีแบกหามพาร์ทไทม์บ่น

    คู่สมรสของเขาถอนใจยาว “ผมบอกแล้วว่าเดี๋ยวช่วยกันยก งั้นคุณนั่งพักไปก่อน ผมจะพาสี่ขึ้นไปดูห้อง”

    “มี่ไม่ให้สี่พาฮันนี่เข้าห้องนอนกันสองต่อสองหรอกนะ!” เจเรมี่โวยลั่น ก่อนสลดลงเมื่อเห็นสายตาแบบ ‘ไม่ตลก’ ของคนรักมองกลับมา

    “ผมจะขึ้นบันไดไปดูห้องนั่งเล่นชั้นสอง แล้วจะปีนขึ้นไปชั้นสาม สี่ ดาดฟ้า จะมาด้วยกันไหม” กวีถามย้ำ

    “โน” เขายกมือกากบาท “เดี๋ยวลากของไปแอบไว้ในห้องนั่งเล่น มี่เล่นมือถือรอดีกว่า ถ่ายรูปบ้านไว้ จะส่งให้ตรัยดู อันที่จริงตรัยเคยเห็นภาพแล้วแหละ แต่ส่งอีกที”

    “เดี๋ยว เฮียเคยเห็นแล้ว?” จตุรวัชรเลิกคิ้ว “หมายความว่ารู้กันหมดแล้วว่าสี่จะมาอยู่ตรงไหน ยังไง หน้าตาบ้านเป็นยังไง โดยที่สี่รู้แต่ที่อยู่บ้านเนี่ยนะ”

    “ตรัยห่วง เลยขอดูก่อนไง” เจเรมี่อธิบาย “เหมือนพ่อเด๊ด”

    “เดช” ลูกชายแก้ชื่อให้

    “พ่อเดช พ่อเดช” คนพูดกล่าวย้ำ เพราะแม้จะเรียกจนคุ้นปากแล้วแต่บางทีก็เผลอไผล “พ่อเดชก็รู้ ทุกคนห่วงสี่ รักสี่”

    “แต่ก็ถีบสี่มานี่นะฮะพี่มี่”

    “เพราะรู้ว่าเอาตัวรอดได้ไง” อีกฝ่ายยิ้มกว้างแล้วกวัดมือไล่ “ไปไป๊ มี่จะนอนพักละ ขึ้นไปห้องกัน จะได้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เดี๋ยวเย็นต้องไปดินเนอร์สำคัญ มีคนรอ”

    กวีและจตุรวัชรมองหน้ากันอย่างเข้าใจ ก่อนผู้มากกว่าด้วยวัยจะเดินไปกดลิฟต์

    “เปลี่ยนแพลนไปดูห้องนอนก่อนดีกว่า”

    แม้ลิฟต์ที่ทั้งคู่โดยสารจะมีขนาดเล็ก แต่ว่าหน้าตาทันสมัยสมกับที่ผ่านการบูรณะมาแล้ว ไม่นานนักเสียงเอียดอาดก็หยุดลงและพาทั้งคู่มาถึงยังชั้นสาม กวีเลี้ยวไปทางซ้ายซึ่งเป็นด้านหน้าบ้าน ก่อนไขกุญแจเปิดประตูพาเข้าสู่ห้องเล็กที่มีผนังเป็นสีขาวสะอาดตาผิดจากการตกแต่งอันฉูดฉาดหรูหราเบื้องล่าง โต๊ะทำงานตัวยาววางอยู่กลางห้อง กระดาษสเก็ตช์ที่ยังไม่ได้ใช้อยู่ในกล่องอย่างดิบดี ใกล้ๆ กันมีตู้กระจกใสติดผนัง ข้างในเต็มไปด้วยสีไม้ สีน้ำ และอุปกรณ์วาดเขียนเท่าที่จำเป็นวางอยู่ครบ ส่วนโต๊ะตัวเล็กพอวางโน้ตบุ๊คได้ตั้งอยู่ริมหน้าต่าง

    “ห้องทำงานเล็กๆ ติดกับห้องนอน” 

    ยังไม่ทันที่คนมาอยู่อาศัยใหม่จะได้ดื่มด่ำกับห้องซึ่งมีของใช้ครบครัน กวีก็เปิดประตูเชื่อมไปยังห้องนอนขนาดใหญ่

    ความรู้สึกแรกของจตุรวัชรคือมันสว่างไสวกว่าที่คิดไว้

    “สี่มาทำงาน แล้วก็เป็นงานที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์ จะให้มาอยู่อุดอู้ไม่ได้ ต้องเป็นสถานที่ที่สะดวกสบาย ครบครัน และหายใจโล่งคอ"

    จตุรวัชรยิ้มพราย “พี่กวีเป็นคนพูดเองหรือครับ”

    เขาสั่นศีรษะและไม่เอ่ยอะไร ทว่าคนรอฟังเข้าใจดี

    “ยังไม่หมดนะ” คนนำทางออกเดินต่อ ผ่านประตูห้องนอนไปยังห้องข้างๆ ที่มีหนังสือจำนวนไม่น้อยเรียงราย พอจะเรียกได้ว่าเป็นห้องสมุดย่อมๆ พอออกจากห้องนั้นก็เป็นทางเดินที่ผ่านห้องสุขาเล็ก ก่อนเขาจะหยุดเพื่อเปิดประตูสีดำออกกว้าง เผยให้เห็นตู้สีน้ำตาลที่เรียงรายชิดผนังทั้งสี่ด้าน เคาน์เตอร์กลางห้องที่มีการติดโคมไฟให้แสงเฉพาะจุดเช่นเดียวกับร้านเสื้อผ้าชั้นสูง

    “มาสเตอร์บาธรูมอยู่ทางโน้น มีทั้งชาวเออร์แล้วก็บาธ” กวีชี้ “ตู้ที่อยู่ฝั่งซ้ายมือเป็นของสี่ ส่วนฝั่งขวาเดิมเป็นของอีกคน ปาป้าจัดมาให้เขาด้วย เดี๋ยวก็คงย้ายขึ้นไปไว้ที่ห้อง”

    “อีกคน” ชายหนุ่มทวนคำ

    “ใช่ มีคนอื่นอยู่ด้วย อายุรุ่นราวคราวเดียวกันคงเข้ากันได้ไม่ยาก เขาไปๆ มาๆ ไม่ได้อยู่ตลอด ห้องเขาอยู่ชั้นสี่” คนแนะนำอธิบายให้ฟังเพิ่มเติม ขณะผู้มาใหม่เปิดตู้สำรวจ และพบว่ามีทั้งสูท เชิ้ต กางเกง รองเท้า เข็มกลัดติดไท กระทั่งคัฟลิงก์ที่เอาไว้ติดปลายแขนเสื้อเชิ้ตก็ยังมี แถมยังมีตู้นิรภัยเล็กๆ ให้อีกด้วย

    นี่มันพร้อมพรั่งเกินไปแล้ว!

    ถ้าปิดแล้วเปิดมาอีกทีมันจะหายไปไหมนะ...

    “พี่กวีฮะ ของสี่นี่ฝั่งซ้ายใช่ไหม แล้วทำไมถึงมีเสื้อผ้าอยู่”

    “ถามดีกว่าว่าทำไมมันถึงจะไม่มีเสื้อผ้าอยู่ สี่มาทำงานให้ใคร” ชายลูกครึ่งไทยหัวเราะร่าเริง 

    ชายหนุ่มพลิกดูป้ายยี่ห้อที่ปักแนบไว้ก็เข้าใจในทันที

    “ไปต่อเถอะสี่ เดี๋ยวเราขึ้นไปดูชั้นลอย แล้วลงไปยกของกัน สี่จะได้อาบน้ำเตรียมตัวไปดินเนอร์ ทางนี้ก็ต้องไปเปลี่ยนเสื้อผ้าด้วย”

    “ดินเนอร์ทำไมดูเป็นเรื่องใหญ่” ผู้มาใหม่ถามด้วยความสงสัย

    “ใหญ่สิ” กวีตอบ “แล้วสี่ก็ต้องใส่เสื้อในตู้นี้ด้วย”




    จตุรวัชรไม่ได้ใช้คัฟลิงก์ที่มีอยู่ในตู้ ทว่าเขาใช้คู่โปรดซึ่งหยิบติดมาจากไทยเก็บไว้ในกล่องลงรหัสอย่างดี

    แน่นอนว่าเป็นผลงานการออกแบบของตนเอง

    ชายหนุ่มกลัดปลายแขนเสื้อเชิ้ตสีดำอย่างบรรจงและชำนาญ ด้วยกระดุมปลายแขนเสื้อทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทำมาจากทองคำขาว ฝังเพชรใสแวววามล้อมไพลินสีน้ำเงินเม็ดเดี่ยว เขานำสูทไหมเงาสีกรมท่าชุดเดียวกับกางเกงออกมาแขวนไว้ด้านนอก ก่อนเดินกลับไปยังห้องนอนที่ยังมีกระเป๋าเดินทางวางอยู่ตรงมุมต่างๆ หยิบเอารองเท้าหนังสีดำมันปลาบ กระเป๋าสตางค์ และโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งได้ซิมการ์ดของอเมริกาไปวางไว้ในห้องแต่งตัว เจ้าของห้องยืนกลัดกระดุมคอเสื้อที่พอดีแนบไปกับตัวระหว่างที่สวมรองเท้าไปด้วย เขาสอดแขนเข้าไปในเสื้อนอก และติดกระดุมซึ่งพอดีเสียจนอีกนิดคงคิดว่าตนเองสั่งตัดมา

    เขาถอนใจ

    ไม่ใช่เพราะเหนื่อยหน่ายการแต่งตัว ใครๆ ก็รู้ว่าจตุรวัชรนั้นรักการเลือกเสื้อผ้าเพื่อแต่งตัวอย่างที่สุด แต่มื้ออาหารค่ำวันนี้มันต่างออกไป เขายังไม่ทันได้พักหายใจหายคอปรับตัวเข้ากับเมืองใหม่ อยู่ดีๆ ก็โดนคำสั่งให้ไปร่วมดินเนอร์กับ ‘บุคคลสำคัญ’ ต้องใส่สูทสุภาพและดูดี...แม้ตอนนี้อากาศน่าจะสักสามสิบกว่าเซลเซียสก็ตามที

    ไม่สิ ราวเก้าสิบองศาฟาเรนไฮท์ต่างหาก

    นี่คืออีกข้อที่เขาไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศนี้ต้องใช้มาตรวัดอะไรต่างๆ ให้ผิดแผกไปจากชาวบ้าน

    ชายหนุ่มปิดห้องแต่งตัว ล็อคห้องนอน แล้วจึงกดลิฟต์ลงบันไดไปยังชั้นล่างเพื่อนั่งรอเจเรมี่และกวียังห้องรับแขกด้านล่าง แต่เมื่อออกจากครัวผู้อยู่อาศัยใหม่ก็เลี้ยวเข้าไปสำรวจครัวอีกครั้ง เขาเปิดตูไม้ติดผนังหยิบแก้วขึ้นมาเทน้ำเปล่าจากในตู้เย็นดื่ม และล้างแก้วอย่างระมัดระวังปลายแขนเสื้อ 

    ถึงสูทชุดนี้จะราคาแพงมหาศาล แต่การทิ้งจานชามไว้ในอ่างให้เพื่อนร่วมบ้านดูนั้นแย่จนประเมินค่าไม่ได้

    จตุรวัชรทิ้งตัวลงโซฟาสีอิฐที่นิ่มและสบายราวเอาเมฆมาบุ เขาเปิดโทรศัพท์มือถือเลือกต่อสัญญาณไวไฟที่กระจายทั่วบ้าน แล้วจึงเปิดเช็คเรื่องราวและคราวคราวของเพื่อนๆ ที่อยู่ไทยในเฟซบุ๊ค 

    การเช็คอินครั้งสุดท้ายที่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมด้วยภาพหมู่ของครอบครัว แฟน และเพื่อนฝูง มีคนมากดไลก์และแสดงความคิดเห็นมากมาย บ้างก็พิราบรำพันว่าคิดถึงยาวกว่าห้าบรรทัด และทิ้งท้ายไว้ว่าให้ถ่ายรูปเทย์เลอร์ สวิฟท์ให้หน่อย บางคนพิมพ์ข้อความด้วยห่วงใยจนคนอ่านซึ้ง แต่มีข้อความหนึ่งที่ทำให้เขาหลุดหัวเราะออกมาได้


    Pamin A.

    ตกลงได้ไปอยู่เป็นโฮมเลสที่สวนสาธารณะไหน จะได้ฝากเพื่อนไปดูแล


    คนเป็นแฟนกันเขาห่วงใยกันขนาดนี้เลย...

    จตุรวัชรผุดลุกจากเก้าอี้โดยไม่ลืมหยิบคีย์การ์ดสอดไว้ในกระเป๋ากางเกง เขาเดินออกไปที่ประตูตั้งใจว่าจะถ่ายรูปคู่กับทาวน์เฮาส์สวยใจกลางนิวยอร์กไปเยาะเย้ยภามินเสียหน่อย แต่ยังไม่ทันที่จะแตะประตูเพื่อกดเปิด จู่ๆ บานไม้สีเขียวเข้มก็เปิดออก พร้อมกับชายหนุ่มผมดำร่างสูงคนหนึ่งซึ่งมีเค้าหน้าอย่างลูกครึ่งเช่นเดียวกับแฟนของเจเรมี่

    แต่คนที่ยืนตรงหน้าไม่ใช่กวี

    “โอ๊ะ” คนแปลกหน้ามอบคำทักทายให้แก่กันด้วยคำอุทาน ก่อนที่ต่างจะหลุดหัวเราะเบาๆ

    “ผมเสียมารยาทไปแล้วสิ เอาใหม่ก็แล้วกัน คุณคงเป็นคนที่อยู่ที่นี่มาก่อน”​ จตุรวัชรเอ่ยทักทายเป็นภาษาอังกฤษ และยื่นมือออกไปข้างหน้า “ผมเจสซี่ครับ”

    “ซาเวียร์ครับ” เขาแนะนำตัวด้วยรอยยิ้มสดใสราวหนุ่มสมาชิกวงบอยแบนด์ทักทายแฟนเกิร์ลพร้อมยื่นมือมาสัมผัส 

    อีกฝ่ายใส่ถุงมือหนัง

    “โอ้ ขอโทษครับ ผมก็เสียมารยาท” ชายหนุ่มถอดถุงมือของผู้ที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์ถือเอาไว้ด้วยมือซ้าย ก่อนประสานมืออีกครั้ง “ผมซาเวียร์ครับ อยู่ชั้นสี่ แต่ไปๆ มาๆ ครับ แล้วแต่ว่าเจ้านายจะไปไหน คงได้เจอกันบ่อยๆ นะครับ”

    “เช่นกันครับ” 

    “ว่าแต่คุณเจสซี่จะออกไปไหน ผมขวางทางหรือเปล่า”

    “อ้อ พอดีจะไปถ่ายรูปข้างนอก พอดีมีคนอยากเห็นว่าที่พักหน้าตาเป็นยังไง” เขาตอบ

    “แถวนี้อย่าออกไปกลางค่ำกลางคืนคนเดียวเลยครับ ไม่ปลอดภัยเท่าไหร่” เจ้าถิ่นเตือน “เอางี้ ถ้าจะถ่ายเดี๋ยวผมถ่ายให้”

    “แต่คุณเพิ่งมาถึง” จตุรวัชรแย้ง

    “นั่นแหละ ก็ยังไม่ได้เข้าบ้าน แป๊บเดียวเอง มาเลยๆ” ผู้พูดเดินนำออกไปก่อนแล้ว คนมาอยู่ใหม่ก็เลยต้องตามไป

    ชายหนุ่มซึ่งแนะนำว่าตนเองว่าชื่อซาเวียร์ยืนนิ่งอยู่นาน ก่อนกวักมือและชี้ให้จตุรวัชรไปยืนแทนที่ตัวเอง เขาแบมือรับโทรศัพท์เพื่อนร่วมบ้าน เดินถอยออกมาบนถนน เพื่อถ่ายรูปให้ได้เห็นทั้งตัวคนและตึกในภาพรวม

    “เรียบร้อยแล้วครับ ถ้าไม่โอเคถ่ายใหม่ได้นะ” คนถ่ายยื่นโทรศัพท์คืนให้

    “ดีแล้วครับ แค่ให้รบกวนก็ขอบคุณมากแล้ว” จตุรวัชรตอบด้วยความจริงใจ 

    “งั้นผมขอขึ้นบ้านก่อนนะครับ หิวน้ำมาก” คนพูดกระโดดข้ามขั้นขึ้นบันไดไป 

    เมื่อนึกถึงคำเตือนเรื่อง ‘ความไม่ปลอดภัย’ ที่ได้ยินมาเมื่อครู่ ชายหนุ่มที่ยังยืนบนถนนเลยหมุนตัวหมายตามเข้าไป พลันสายตาเขาได้เห็นรถมอเตอร์ไซค์สีดำคันใหญ่จอดอยู่ตรงด้านหน้า ถ้ารวมกับการที่เพื่อนร่วมบ้านใช้ถุงมือหนัง ย่อมตัดสินได้ในทันทีว่าบิ๊กไบก์คันนี้เป็นของอีกฝ่าย

    ชีวิตนูวยอร์เกอร์นี่ช่างต่างจากบางเคาะเคียนจริงๆ

    จตุรวัชรเดินเข้าในตัวตึกและดูให้ประตูปิดสนิทลงล็อคอย่างระมัดระวัง ผู้ที่เดินเข้าไปในครัวเพื่อเทน้ำเปล่าดื่มเดินออกมาแล้วพร้อมแก้วใส่น้ำแร่เย็นสองใบ อีกฝ่ายค้อมศีรษะน้อยๆ เป็นเชิงชักชวนให้เข้าไปนั่งคุยกันในห้องรับแขก ผู้มาใหม่จึงรับน้ำและไมตรีนั้นไว้

    “เห็นคุณกวีบอกว่าคุณอายุมากกว่าผมนิดหน่อย แต่รุ่นเดียวกัน” ซาเวียร์ทัก

    คนฟังจับสังเกตการออกเสียง ‘กวี’ ที่เป็น ก. ชัดเจน ไม่ใช่อย่างที่เคยได้ยินบางคนออกเสียงเป็น ‘คาวี’ พานให้นึกถึงวัวในนิทานพื้นบ้าน

    “ผมจวนจะสามสิบแล้วครับ” จตุรวัชรตอบ

    “ไม่เหมือนเลย! ผมอ่อนกว่าตั้งเกือบห้าปี” อีกฝ่ายโพล่ง “แหม คนเอเชียดูเด็กงี้นี่เอง”

    “คุณซาเวียร์ก็ไม่ได้ดูต่างจากผมเลยนะ” เขาหัวเราะ 

    “นั่นสิ แค่อยากลองพูดประโยคนี้กับคนอื่นบ้างน่ะ ไหนๆ เพราะมีเชื้อเอเชียก็เลยโดนทักแบบนี้มาตลอดชีวิต” ชายหนุ่มรุ่นน้องยักไหล่ 

    อีกฝ่ายมีเชื้อเอเชียดังคาด แต่แปลก...ที่ดวงตาเป็นสีฟ้าสดใสและกระจ่างอย่างยิ่ง

    “คุณเจสซี่มาจากที่ไหนครับ อังกฤษหรือเปล่า”

    “อ้อ ไม่ครับ เคยอยู่อังกฤษ เรียนที่นั่นหลายปี เลยได้สำเนียงมา ผมมาจากไทย”

    ซาเวียร์หัวเราะร่าเริงจนคนที่นั่งร่วมห้องชักสงสัยว่าก่อนเข้าบ้านได้แอบไปเมากัญชาที่ไหนมาก่อนหรือเปล่า

    “งี้ผมต้องเรียกพี่เจสซี่แล้วสิ” 

    จตุรวัชรเบิกตากว้างเพราะอีกฝ่ายพูดเป็นภาษาไทยชัดเจน

    “ไม่ต้องเรียกซาเวียร์แล้ว เรียกผมสวิตรก็ได้ครับพี่ ย่าผมเป็นคนเชียงใหม่” 

    “เอ้า นี่ก็เจอคนใช้ภาษาไทยง่ายไป” คนแก่กว่าร้องเสียงแหลม “นึกว่าอยู่ที่นี่แล้วจะเหงาเพราะไม่ได้พูดไทยเสียอีก”

    “เหงาจริงครับพี่ ผมถึงดีใจมากไงล่ะ” ซาเวียร์-สวิตรเอ่ย

    “งั้นเรียกผมว่าสี่ก็ได้”

    “เลขสี่” เขาถาม เมื่อได้รับคำตอบจากเจ้าของชื่อเป็นการพยักหน้าเลยพูดต่อ “มีพี่สี่เป็นเพื่อนพูดภาษาไทยแล้ว เจ๋งเลย ไม่น่าล่ะคุณกวีบอกว่าต้องเข้ากันได้ดีแน่ๆ สอนภาษาไทยผมได้นะครับ”

    “เท่าที่ฟังไม่น่าจะต้องสอนอะไรแล้วนะ” จตุรวัชรพึมพำพลางจิบน้ำ

    “งั้นเดี๋ยวผมสอนพี่สี่อู้กำเมืองแทน”

    คนฟังเกือบสำลัก “ได้เรอะ”

    “ได้ก่อนภาษากลางอีก” เขาตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง “สังเกตสิ สำเนียงพูดกลางผมยังติดเมืองอยู่เลยนะ ถึงอยากให้สอนไง”

    จะว่าไปก็จริง

    เสียงกริ่งหน้าบ้านดัง พอดีกับเวลาที่นัดหมายเอาไว้ จตุรวัชรจะลุกขึ้นไปเปิด แต่คนที่อยู่ใกล้ประตูมากกว่ากลับพุ่งตัวออกไปก่อน ชายหนุ่มได้ยินเสียงทักทายดังมาจากหน้าประตู ก่อนผู้ที่มาหาจะเดินเข้ามาในห้องรับแขก

    “ไงล่า เจอคนคุยภาษาไทยด้วย ไม่เหงาแล้วใช่ม้าย” เจเรมี่โผล่หัวมาก่อน

    ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมไม่เดินเข้ามา

    “มี่กับกวีนึกอยู่แล้วว่าต้องเข้ากันได้ ไว้มี่จะมาเว้าไทยด้วยนะ” ฝรั่งติดสำเนียงอีสานเสนอตัวเองด้วยความกระตือรือร้น

    “ยินดีเลยครับ” สวิตรตอบ “แต่ถ้าจะไปไหนรีบไปดีกว่าครับ เดี๋ยวรถติด”

    จตุรวัชรลุกยืน ตั้งใจจะเอาแก้วไปล้างและเก็บในครัว แต่ผู้ที่เป็นเฮาส์เมทกลับสั่นหัวน้อยๆ และแบมือ

    “พี่สี่ทิ้งไว้ให้ผมดีกว่า เดี๋ยวเอาไปจัดการให้ ล้างเองกลัวเสื้อจะเลอะเปล่าๆ รีบไปกันเถอะ”

    “ขอบคุณนะ” ชายหนุ่มยิ้มตอบ หยิบข้าวของเดินตามกวีและเจเรมี่ออกจากบ้านไป 

    จตุรวัชรก้าวขึ้นรถคันใหญ่ รอจนทุกคนขึ้นมาบนรถครบถ้วนแล้วจึงเอ่ยถาม “เราจะไปไหนกันนะครับ”

    “ไทรแบก้า*” กวีซึ่งนั่งข้างคนขับเป็นผู้ตอบ “ปาป้าเลี้ยงดินเนอร์ที่บ้าน”

    จตุรวัชรเอนหลังไปกับเบาะ มองแสงไฟดวงแล้วดวงเล่าจากเมืองที่ยังเป็นคนแปลกหน้าต่อกันเคลื่อนผ่านไป 

    เขามาอยู่ที่นิวยอร์กนี่ด้วยข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ของ ‘ดอนแห่งรันเวย์’ ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่น

    ใช่ เขามาเพื่อเป็นผู้ช่วยของ ‘ปันตาลิโอเน่’


    จบบทที่ ๑๖


    ฮัมเมอร์/ฮัมวี่ ยี่ห้อผู้ผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ ซึ่งมีขนาดใหญ่

    ไทรแบก้า TriBeCa ย่อมาจาก Triangle Below Canal street เป็นย่านหนึ่งในนิวยอร์กซิตี้ที่มีราคาอสังหาริมทรัพย์สูง และเป็นที่อยู่คนดังมากมาย


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in