คนในครอบครัวต่างบอกว่าจริงๆ แล้วเด็กหญิงต่างหากที่เป็นพี่ เพราะให้น้องคลอดออกมาก่อน แต่เธอกลับแย้งเสียงแข็ง ตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆ ว่า
"เพราะสี่เป็นพี่ที่นิสัยไม่ดีไงคะ ถึงแย่งเบญจ์ออกมา"
พี่ชายฝาแฝดทำอะไรไม่ได้นอกจากใช้หางตาตวัด ทำปากคว่ำ แล้วแลบลิ้นใส่น้องสาว
ถึงจะตีกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทว่าเด็กชายเด็กหญิงยังเป็นที่เสน่หาของคนในบ้าน ด้วยเชื้อสายจีนจากทางพ่อและแม่ ทำให้ทั้งคู่มีดวงตาเรียวเล็ก(มากถึงมากที่สุด)แต่ได้รูป ผิวขาวเนียนละเอียดจนหลายคนอิจฉา และพวงแก้มสีสดซึ่งทำให้ใครต่อใครต่างเอ็นดู
จตุรวัชรและพัชรเบญจ์เป็นฝาแฝดที่คล้ายกัน
แต่อย่างไรเสีย เด็กทั้งคู่ยังมีความแตกต่างที่ทุกคนรู้ชัดอยู่แก่ใจคือเพศ พวกเขาเป็นพี่ชายและน้องสาวฝาแฝด ด้วยเหตุนี้ที่บ้านจึงตัดสินใจว่าไม่ควรเลี้ยงเด็กทั้งสองให้เหมือนกัน เพราะอาจจะทำให้ทั้งคู่เบี่ยงเบนผิดแผกไปจากเพศกำเนิด เรื่องราวมันดูง่ายเมื่อแรกวาดโครงการ แต่ทศเดชผู้เป็นพ่อต้องกุมขมับเมื่อลูกๆ สุดท้องกล่าวอย่างหนักแน่น
"เบญจ์ต้องได้เหมือนสี่สิฮะ" ลูกชายคนเล็กท้วงเมื่อบิดาซื้ออุปกรณ์แพทย์ของเล่นให้ตน
"สี่ต้องมีกล่องนี่เหมือนเบญจ์สิคะ" ลูกสาวชูกล่องเครื่องสำอางตุ๊กตาสีชมพูหวานประดับเพชรปลอมล้อแสงวิบวับ
พิมพ์สุรางค์ผู้เป็นมารดาแสนจะอ่อนใจ จนใจอ่อนซื้อของเล่นอย่างละสองชิ้น แบ่งให้ทั้งสองคนได้คนละชุด เมื่อเห็นสีหน้าดีอกดีใจของลูกๆ ที่รักใคร่และห่วงใยอีกฝ่าย ขนาดคิดถึงกันและกันกลัวว่าพี่น้องจะได้ของเล่นไม่เท่าเทียม เท่านี้คนเป็นพ่อแม่ก็หมดห่วง
แต่มันยังไม่จบ
วันหนึ่ง เมื่อ 'ตรัย' ลูกชายคนที่สามกลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนของไฮสคูลในสวิตเซอร์แลนด์ เด็กแฝดทั้งสองติดพี่ชายที่แก่กว่าสิบปีอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าสามคนพี่น้องแทบตัวติดกัน พี่ชายกระเตงน้องทั้งสองไปไหนมาไหนตลอด เขาสนิทสนมกับน้องๆ ยิ่งกว่าพี่ชายคนโตและพี่ชายคนรองที่อายุห่างกันมากขึ้นไปอีก ตรัยจึงได้สังเกตพฤติกรรมของน้องหลายอย่างแม้นานๆ ได้กลับมาที กระทั่งเวลาน้องนั่งเล่นกันสองคน เขาก็จะนั่งอ่านหนังสืออยู่ใกล้ๆ
และนั่นทำให้เขาได้พบสิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง
"แม่ครับ" เด็กหนุ่มเอ่ย ก่อนลงนั่งข้างๆ พิมพ์สุรางค์ผู้เป็นแม่เลี้ยงที่อุ้มชูตนมาราวกับเป็นลูกแท้ๆ "ตรัยขอถามอะไรแม่หน่อยได้ไหมครับ"
"เอาสิลูก" ผู้เป็นแม่ยิ้มอ่อนโยน "ตรัยมีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า"
ที่เธอเอ่ยเช่นนั้นเป็นเพราะสีหน้าว้าวุ่นใจของลูกชาย เธอคาดเดา และคะเนเอาเองว่าเขาอาจจะถามเรื่องทั่วไปของวัยรุ่น
"แม่ซื้อของเล่นให้น้องคนละสองชุดหรือครับ"
"ใช่จ้ะ" เธอตอบ แปลกใจเล็กน้อยว่าสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการถามกลับเป็นเรื่องของน้องๆ "ทำไมหรือตรัย น้องแย่งกันหรือจ๊ะ?"
"ไม่ครับ น้องไม่แย่ง น้องแบ่งกันเล่น" เขาเอ่ยเสียงขรึม
"ก็ดีแล้วนี่ลูก"
"ตรัยว่าไม่นะครับแม่ แม่ตามตรัยมาดูนี่ดีกว่า" เขาอ้อมแขนไปแตะศอกอีกด้านของมารดา ก่อนค้อมหลังพยุงให้อีกฝ่ายลุก
พิมพ์สุรางค์เดินมากับลูกชายจนถึงห้องนั่งเล่นของเด็กๆ อันที่จริงบอกว่าเป็นห้องเล่นเลอะของลูกๆ คงจะเหมาะกว่า ห้องนี้อยู่ที่ชั้นหนึ่งของบ้าน มีประตูฝรั่งเศสบานกว้างเปิดออกสวน ไม่มีเครื่องเรือนลอยตัวที่วางไว้ให้เป็นเหลี่ยมมุมซึ่งง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุ ตู้หนังสือเต็มไปด้วยสารานุกรม นิทาน และวรรณกรรม ที่ลูกๆ ของบ้านนี้สะสมกันมานาน
"ตรัยจะให้แม่ดูอะไรน่ะลูก"
"ตรัยจะให้แม่ดูน้องเล่นกันครับ"
เธอเห็นลูกคนเล็กทั้งสองนั่งเล่นอยู่บนพื้น มีกล่องเครื่องมือและกระเป๋าเครื่องสำอางตุ๊กตาวางแผ่อยู่
"น้องก็เล่นกันดีนี่จ๊ะ หรือว่าเมื่อกี้น้องตีกัน?"
"ไม่ครับ น้องไม่ตีกัน แต่แบ่งกันเล่น"
"ก็ดีแล้วนี่" มารดาเอ่ยเสียงสูง ก่อนลดเสียงให้เบาลงเพื่อไม่ให้รบกวนเด็กๆ "แล้วตรัยมีอะไรล่ะลูก"
"แม่ดูดีๆ สิครับ" เขาชี้ชวน
แต่พิมพ์สุรางค์ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี
"แม่ซื้อของเล่นให้น้องคนละชุดใช่ไหมครับ"
"ใช่จ้ะ ก็ทั้งสองคนน่ะบอกแม่เองเลยนะ ว่าให้ซื้อให้อีกคนด้วย รักกันดีเนอะ" มารดาเอ่ยด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้มอย่างสะกดไว้ไม่ได้
ตรัยถอนหายใจพลางลูบไหล่แม่เบาๆ "แล้วแม่ได้ดูไหมครับว่าน้องแบ่งกันเล่นยังไง"
"เอ๊ะ" เธออุทานเป็นเชิงถาม
เด็กหนุ่มพยักพเยิดให้มารดามองตาม
ที่พื้นมีชุดเครื่องมือแพทย์อยู่สองชุด...มันวางอยู่ใกล้มือของลูกสาวคนเล็ก
พัชรเบญจ์กอดเครื่องมือทั้งสองชุดนั้นอย่างหวงแหน เธอหยิบมันออกมาลูบๆ คลำๆ ก่อนใช้สเตทโตสโคปของเล่น วางนาบไปที่อกของพี่ชาย
"สี่ให้เบญจ์ตรวจหน่อย"
"อะอะ" เขาขยับให้อีกฝ่ายเอาหูฟังแนบ
"สุขภาพแข็งแรงดีนะค้า เดี๋ยวหมอจ่ายยาให้นะ"
"แข็งแรงดีแล้วจ่ายยาทำไม"
"ยาบำรุงไงเล่า ถามมาได้ โง่จริง" เด็กหญิงแยกเขี้ยวใส่ ก่อนหยิบเครื่องมือคล้ายกระจกตรวจช่องปากของทันตแพทย์ขึ้นมา "ไหนสี่อ้าปากซิ อ้าาา อ้ากว้างๆ นะ ให้คุณหมอเบญจ์ดูหน่อยว่ามีฟันผุไหม ว้าย มีแมงกินฟันแน่ๆ เลย เมื่อคืนแอบไปกินคุกกี้แล้วไม่แปรงฟันใช่ไหม"
"หมอพูดมาก" เด็กชายตวัดเสียง "พอละๆ ได้เวลาพักกลางวันแล้ว คุณหมอมาแต่งตัวสวยกันดีกว่า"
"อะไร เมื่อกี้เพิ่งแต่งสวยไปเอง"
"สวยแล้วก็ต้องเติม! " จตุรวัชรยืนยันเสียงแข็ง "มา เขยิบมาใกล้ๆ เอาหูฟังออกด้วย"
น้องสาวเบ้ปากทำหน้าไม่ค่อยสบอารมณ์ แต่ก็ยอมทำตามที่อีกฝ่ายบอกแต่โดยดี
"รู้ไหม เป็นสาวเป็นนางก็ต้องห่วงสวยห่วงงามบ้าง" พี่ชายที่แก่กว่าไม่กี่นาที กล่าวสั่งสอนราวกับคลอดออกมาก่อนสักยี่สิบสามสิบปี "หน้าเน่อก็ต้องแต่งต้องปรุงไว้ คนเขามองจะได้ชอบได้นิยม"
เด็กชายจัดการเปิดกล่องเครื่องสำอางของเล่นทั้งสองกล่อง เขาก้มลงมองราวกับเลือกบางสิ่งอยู่
“อะ สีนี้ดีกว่า” เขาหยิบแปรงปลอมขึ้นมาทำท่าปาดๆ บางสิ่งในกล่อง แล้วจึงเอาไปไล้แก้มน้องสาว “อย่าให้หน้าซีดนะ เดี๋ยวคนเขามองว่าเราป่วย สุขภาพไม่ดี”
“จ้า” พัชรเบญจ์ลากเสียงยาว
“คุณพระ...”
นั่งคือคำอุทานเดียวที่ตรัยได้ยินจากปากของพิมพ์สุรางค์ ก่อนที่ทั้งสองจะพากันกลับห้องนั่งเล่นไป
พิมพ์สุรางค์นำเรื่องนี้ไปปรึกษาสามีอย่างจริงจังโดยมีลูกชายทั้งสามคนนั่งอยู่ด้วย ทั้งหมดลงความเห็นตรงกัน ว่าจะไม่ยุ่งกับเรื่องนี้ หากน้องชายคนเล็กจะโตไปเป็นน้องสาวพวกเขาก็ไม่ว่า แต่ไม่อยากให้ใครไปบังคับกะเกณฑ์ให้จตุรวัชรต้องเป็นแบบไหนที่ใครๆ จะได้พอใจ ขอเพียงน้องชายมีความสุขในสิ่งที่เป็นก็พอใจแล้ว
ทั้งพ่อและแม่ก็เห็นดีงามเช่นนั้น
ครอบครัวของจตุรวัชรและพัชรเบญจ์จึงเลี้ยงลูกแฝดชายหญิงเหมือนเดิม ให้เข้าใจความแตกต่างและคล้ายคลึง ให้รักอีกฝ่ายเช่นเพื่อนที่จะคอยดูแลกันไปจนชั่วชีวิต ไม่ใช่เพียงพี่น้องที่ถูกระบุด้วยหน่วยทางพันธุกรรม เด็กสองคนจึงเติบโตมาด้วยความสนิทสนมอย่างยิ่ง มีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน แถมสิ่งนี้ยังเผื่อแผ่ไปให้คนอื่น ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นเด็กที่มีเพื่อนฝูงรักใคร่
แต่ทศเดชและพิมพ์สุรางค์ก็ยังไม่เห็นว่าลูกชายคนเล็กจะอยากเป็น ‘ลูกสาว’ แต่อย่างใด
จตุรวัชรเติบโตมาเหมือนเด็กชายทั่วไป…
เอาว่าเกือบๆ เหมือนเด็กชายทั่วไป
ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เขามักจะได้ไปอยู่กับย่าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กิจกรรมวันหยุดก็ไม่ได้ต่างจากเด็กชายวัยเดียวกัน มีเพื่อนชวนไปเล่นวิดีโอเกม มีพรรคพวกลากกันไปเตะฟุตบอลที่ลานวัด โดยตอนเพื่อนมาตามอีกฝ่ายไปฟุตบอลนั้น จตุรวัชรกำลังนั่งใช้มีดแกะสลักคมโค้งเซาะลูกฟักเป็นลวดลายอ่อนช้อยอยู่
ในทุกเย็นวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เขาก็ไม่ได้ว่างจากการงาน เพราะต้องเรียนดนตรีไทยกับครูที่ย่าจ้างมาให้สอนเป็นการเฉพาะ เสียงระนาดเอกก้องกังวานไปในสวนของหมู่เรือนไทยไม้สักคลอกับเสียงซอหลากชนิด บางวันเป็นซอด้วงเสียงแหลมใส ซออู้เสียงทุ้มอุ่นใจ และซอสามสายเสียงประสานชวนให้โหยหา
ยามใครต่อใครมาเยี่ยมบ้าน ผู้เป็นแขกจะใช้ตะบวยตักน้ำในตุ่มดินเผาล้างเท้าและเช็ดเท้ากับผ้าซึ่งลาดไว้ก่อนถึงหัวบันได พอก้าวขึ้นเรือนและข้ามธรณี ภาพที่เห็นคือหลานๆ ของย่าเพียงจิตต์และครูดนตรี กำลังนั่งเรียนกันอยู่ตรงกลางลานบ้านในยามเย็น โดนมีสตรีเชื้อสายไทย-จีน ผู้เป็นประมุขของตระกูล นั่งจิบชาจีนอิงหมอนขวานอยู่ใต้ชายคาเรือน
พัชรเบญจ์นั่งขัดสมาธิหลังตรงหลังระนาดเอก ด้วยมาดของมือระนาดที่บรรเลงไม้นวมให้เสียงหวาน และรัวไม้แข็งเป็นเพลงโหมโรงได้องอาจเกินหญิง
ส่วนจตุรวัชรก็นั่งพับเพียบเอี้ยมเฟี้ยม สีซอสามสายที่มีทวนกลาง*ประกอบมุกสีรุ้งแวววามตัดกับคันทวนไม้ดำ และที่สะดุดตาคือถ่วงหน้า*ซึ่งล้อแสงยามเย็นเป็นประกายวิบวับ ผิดจากซอสามสายเครื่องอื่นๆ
แม้แขกหลายคนจะสับสนกับภาพตรงหน้า แต่ก็นึกไม่ออกว่าจะอธิบายความสงสัยของตนเองอย่างไรดี จึงได้แต่ชื่นชมหลานๆ ของย่าเพียงจิตต์จากใจจริง
จตุรวัชรเป็นหลานคนโปรดของประมุขตระกูล ด้วยความที่เป็นลูกคน(เกือบ)เล็ก เลยอาจจะทำให้เขาช่างอ้อน ออเซาะ ฉอเลาะ และช่างเอาใจ อย่างที่พี่ชายทั้งหลายพูดกันติดตลกว่ามรดกทางอยุธยาคงไม่เหลือมาถึงตนเอง เพราะน้องชายคนเล็กใช้สาลิกาลิ้นทอง โปรยเสน่ห์ย่าจนรักจนหลงพานยกทรัพย์สฤงคารให้ไปเสียหมดสิ้น
เด็กแฝดเป็นที่รักของคนทั้งบ้าน โดยไม่มีใครสนใจว่าพัชรเบญจ์จะห้าวหาญแค่ไหน และจตุรวัชรนั้นแสนจะละเอียดลออผิดเด็กชายวัยเดียวกันเช่นไร ทั้งสองก็ยังเป็นลูกและน้องที่ทั้งบ้านรักและเอาใจใส่เสมอมา
แต่สิ่งที่คู่แฝดไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง คือมีเพียงจตุรวัชรเท่านั้นที่สนใจกิจการร้านเพชรซึ่งเป็นหนึ่งในงานสำคัญของธุรกิจครอบครัว หากพูดกันตามตรงเขาไม่ได้สนใจ ‘การทำธุรกิจค้าเพชรและอัญมณี’ ทว่าแต่แรกเริ่ม...ลูกชายคนเล็กของบ้าน ‘ทุ่มเทความสนใจเป็นพิเศษไปที่เพชร’ ชนิดที่คนในบ้านก็บอกไม่ได้เช่นกันว่าเพราะอะไร
หากพาเด็กทั้งสองคนไปห้างสรรพสินค้าเพื่อเยี่ยมชมกิจการร้านสาขา คนที่จะร่ำร้องขอไปเดินแผนกของเล่นเพื่อดูรถบังคับและร้านหนังสือตามประสาเด็กวัยประถมซึ่งอยู่ไม่นิ่ง...เด็กคนนั้นคือพัชรเบญจ์ ส่วนผู้ที่นั่งบนเก้าอี้สูงหน้าเคาน์เตอร์นิ่งๆ ด้วยท่าทางทิ้งตัวเกยกระจกเหมือนแมวเห็นปลาตัวเขื่องในตู้...คือจตุรวัชร
ยามพนักงานหน้าร้านได้เห็นท่าทางเช่นนี้เป็นครั้งแรก หลายคนถึงกับลงไปคุกเข่ากับพื้นก้มมองอย่างตื่นตระหนก เพื่อดูว่าลูกชายเจ้าของร้านป่วยไปหรือไม่ถึงได้ฟุบไปเช่นนั้น ทว่าภาพที่พวกเขาเห็นคือรอยยิ้มกว้างขวางอย่าง...น่ากลัว ของลูกชายคนเล็กเจ้านาย บางครั้งก็เป็นรอยยิ้มปนหัวเราะติดค้างอยู่บนใบหน้า แต่ที่ต่างเห็นเหมือนๆ กันในทุกครั้ง คือประกายในดวงตาเรียวเล็กเบิกกว้าง อย่างที่ไม่มีใครระบุได้ว่าเกิดจากความคิดในใจของเด็กชาย หรือเป็นเงาสะท้อนพราวพรายจากเพชรที่เรียงรายในตู้
แต่ทุกคนรับรู้ตรงกันว่าจตุรวัชรนิยมเพชร
ถ้าถาม ‘เอก’ พี่ชายคนโตจะตอบว่าน้องชายแค่สนใจเพชรเพราะเห็นมาแต่เกิด
หากไปคุยกับ ‘ทวิ’ พี่ชายคนรองก็จะตอบเพียงแค่ว่าน้องชอบเพชรเพราะผูกพันกันมานาน
แต่ถ้าเป็นตรัยซึ่งสนิทสนมกันที่สุด เขาจะกล่าวว่า
“สี่มันบ้าเพชร” พี่ชายคนที่สามกล่าวกับพ่อแม่ “เด็กปกติที่ไหนทิ้งไว้กับตู้เพชรก็อยู่นิ่งเหมือนตุ๊กตาลิงตีฉาบถอดถ่านไฟฉาย นี่เวลาแม่เอาเพชรออกมาดูมาทำความสะอาด ก็จะวิ่งดุ๊กๆ ไปขอช่วยงาน เอาแปรงปัดไปก็ยิ้มไป บางทีตรัยได้ยินเสียงมันหัวเราะ ‘ฮิฮิ’ ด้วยซ้ำไปนะ”
ทุกคนว่าตรัยเป็นการใหญ่ที่กล่าวหาน้องเช่นนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าทุกอย่างมันมีมูลความจริงอยู่ เรียกว่าเห็นกับตากันทุกคน เพียงแต่อยากออกตัวปกป้องจตุรวัชรพอเป็นพิธี
ขณะที่หลายคนมองว่าลูกชายคนเล็กของบ้านมีความ ‘พิลึก’ อยู่ในตัวจนเป็นปกติ คนเดียวที่ยืนหยัดเพื่อปกป้องว่าจตุรวัชรไม่เห็นจะผิดแผกจากคนอื่นตรงไหนคือพัชรเบญจ์ฝาแฝดของเขา เด็กหญิงเป็นคนที่เข้าใจพี่ชายเป็นอย่างดี เธอสามารถนั่งฟังแฝดพร่ำเพ้อเรื่องความสวยงามของเพชรและเครื่องประดับได้ อย่างที่คนในบ้านประหลาดใจว่าไม่เบื่อบ้างหรือไร ทว่าพัชรเบญจ์ตอบพวกเขาด้วยรอยยิ้มทุกครั้งโดยไม่พูดอะไร
ญาติห่างๆ บางคนบอกพวกเขาว่ากิจการเพชรควรให้พัชรเบญจ์เป็นคนดูแล ด้วยความคิดแบบเดิมๆ ว่าอย่างไรเสียผู้หญิงก็เหมาะกับเรื่องสวยๆ งามๆ มากกว่า โดยไม่ได้สนใจสีหน้าของหลานสาวคนเล็กเลยว่ามีความไม่พอใจฉายชัด ทว่าไม่พูดออกมา เพราะเกรงว่าสิ่งที่พูดนั้นอาจจะทำให้พ่อแม่โดนกล่าวหาว่าร้างการอบรมสั่งสอนลูกก็เป็นได้
“เรื่องร้านเนี่ย ฉันว่าให้ยายเบญจ์ดูแลเหมาะสุด” คนพูดสรุปอย่างคิดเองเออเอง “อีกหน่อยก็เรียนจบใช่ไหม เรียนอะไรก็ได้ ง่ายๆ สบายๆ ทำงานร้านดูแลเพชรไป เพราะว่าจบมาก็ต้องแต่งงานมีลูกมีสามีไง ทำงานอะไรไม่เหนื่อยน่ะดีแล้ว จะได้มีเวลาดูแลครอบครัว”
ว่าแล้วก็หันไปพยักพเยิดกับพิมพ์สุรางค์ที่ตอบด้วยรอยยิ้มสุภาพ ทว่าไร้ซึ่งความเห็นใดๆ เพราะไม่อยากจะไปหาเรื่องด้วย
“ส่วนเราน่ะ ให้มันเพลาๆ หน่อย เป็นผู้ชายนะ” เจ้าของเสียงสั่งสอนหันไปหาจตุรวัชรในวัยสิบต้นๆ ซึ่งกำลังจิบน้ำมะตูมอยู่ “ไปชอบของสวยๆ งามๆ เดี๋ยวเขาจะว่าเป็นตุ๊ดเป็นแต๋วไป ชอบอะไรให้มันสมชายชาตรีหน่อยสิ เรื่องเพชรน่ะปล่อยไปเถอะ เราเป็นพี่ไม่โกรธน้องหรอกเนอะถ้าจะได้ร้านเพชรไป เคยได้ยินไหม ไดม่อนอาร์อะเกิร์ลสเบ๊ดเฟรนด์* นะ”
พูดเสร็จก็หัวเราะคิกคัก ราวกับดีใจที่ได้หยิบยกวลีจากเพลงดังมาใช้ยกระดับตัวเองได้
จตุรวัชรวางแก้วน้ำมะตูมลงบนเคาน์เตอร์กลางสวนที่จัดเป็นงานเลี้ยงค็อกเทล ก่อนยิ้มกว้างขวางอย่างยิ่ง
“แล้ว ‘ป้า’ เคยได้ยินไหมฮะว่า ได๊มึ่นด์ส- อาร์ฝ่ะเร้ฟเฝ่อะร์”
เขาถามกลับ ด้วยวลีที่ออกเสียงตามสำเนียงอังกฤษชัดเจน
“ฮะ!?” อีกฝ่ายเบิกตากว้าง อ้าปากค้างด้วยความงุนงง
“เดี๋ยวสี่ขอตัวพาแม่กับน้องไปทางโน้นก่อนนะฮะ พ่อรออยู่ละ”
เด็กหนุ่มก็ลากแขนพาแม่และน้องสาวเดินออกไปจากบริเวณนั้น เมื่อพ้นจากระยะที่ญาติห่างๆ คนนั้นจะไม่เห็นแล้ว พิมพ์สุรางค์และพัชรเบญจ์ต่างจ้องหน้าเขา อย่างที่จตุรวัชรรู้ดีว่าทั้งสองต้องการคำตอบ
“สี่ทำอย่างนั้นไม่ดีเลยนะลูก” มารดาปราม
“แต่เขาพูดเยอะแยะ พูดมาก” ลูกชายโคลงศีรษะ “ว่าทั้งแม่ ว่าบ้านเรา ว่าเบญจ์ด้วย”
“ขอบคุณที่จัดการแทน” เด็กสาวยิ้มตาหยี
“ไม่เป็นไร” ฝาแฝดตอบ
“สี่! เบญจ์! ” มารดาทำเสียงดุลูกทั้งสองที่พากันมารุมกอดแขนคนละข้างเพื่อเอาใจ “เรานี่มันจริงๆ เลย ทั้งคู่เลย ร้ายนัก”
“ไม่หรอกๆ เบญจ์ไม่ร้าย สี่ร้ายคนเดียว” พัชรเบญจ์ทำเสียงออดอ้อน
“เออ หล่อนไม่ร้าย ฉันร้ายคนเดียวก็ได้” จตุรวัชรเรียกน้องด้วยเสียงจิกกัด
“เออ สี่ ว่าแต่เมื่อกี้ที่ตอบโต้ป้าเขาไปว่า ได๊มึ่นด์ส-อาร์ฝ่ะเร้ฟเฝ่อะร์ นี่คืออะไร” น้องสาวฝาแฝดออกสำเนียงได้ชัดเจนเทียมกัน แถมยังใส่จริตเหมือนพี่ชายได้ไม่ผิดเพี้ยน
“ไม่รู้”
“อ้าว” ทั้งแม่และน้องอุทานพร้อมกัน
“สี่อยากจะด่ากลับ แต่คิดว่าคงไม่ดี เลยเอาชื่อตอนของเจมส์ บอนด์ ที่ชอบที่สุดมาสู้ เห็นมีเพชรเหมือนกัน” เขาตอบอย่างตรงไปตรงมา “นี่สี่กะว่าป้าแกคงงงแน่ๆ อะ”
พัชรเบญจ์ระเบิดเสียงหัวเราะดังอย่างที่มารดาต้องปราม เธอโผเข้าไปกอดฝาแฝดของตัวเอง พลางพร่ำซ้ำๆ ระคนเสียงหัวเราะ
“สี่ หล่อนนี่มันบ้า บ้าจริงๆ บ้าๆๆๆ”
“ขอบใจนะที่หล่อนชมฉัน” เด็กหนุ่มเชิดหน้าอย่างภาคภูมิ
แม้ใครๆ จะเห็นว่าเป็นเรื่องตลก แต่ในใจของจตุรวัชรกลับครุ่นคิดเรื่องนั้นอยู่นาน และไตร่ตรองอย่างจริงจัง
การที่ตนซึ่งเป็นผู้ชายแล้วมาชอบเพชร เท่านี้ก็เป็นเรื่องพิลึกพิลั่นในสายตาคนโลกทัศน์แคบอยู่แล้ว เขาคงไม่สามารถตอบโต้ซึ่งหน้าอย่างนี้ได้ทุกครั้ง เพราะถ้าทำไปเขาก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กที่ตั้งใจตะแบงและไม่รู้จักโต นั่นอาจจะทำให้พ่อ แม่ รวมถึงคนอื่นในครอบครัวโดนมองในแง่ร้ายได้ เขาให้สัญญากับตัวเองว่าเขาจะทำเช่นนี้เป็นครั้งสุดท้าย....ถ้าไม่มีใครมาทำเช่นนี้อีก
แต่ทางออกของปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การไล่จิกด่าเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคน จตุรวัชรมั่นใจในตอนนั้นเองว่า หากเขาต้องการจริงจังกับการทำในสิ่งที่รัก เขาต้องเริ่มเสียตั้งแต่วันนี้
เด็กหนุ่มตั้งปณิธานกับตนเอง เขาจะพยายามเรียนรู้ เป็นคนที่เก่งกาจ เหมาะสม และคู่ควรกับการดูแลเพชรเหล่านั้นให้ได้
ถึงมาริลีน มอนโรว์จะบอกว่า ‘Diamonds are a girl’s best friends’ แต่เขาว่าไม่ใช่ เพชรงดงามได้โดยไม่เลือกว่าผู้ใดเพศใดจะเป็นเจ้าของ อย่างที่ผู้เขียนเจมส์ บอนด์ ถึงขนาดตั้งเป็นชื่อตอนว่า ‘Diamonds Are Forever’ นั่นหมายความว่าเพชรนั้นเลอค่าและมีความงามอันเป็นนิรันดร์
เพราะ ได๊มึ่นด์ส-อาร์ ‘สี่’ เบ้สทฺเฟร้นด์ฝ่ะเร้ฟเฝ่อะร์ !
(จบบทนำ)
ทวนกลาง คันซอที่ยาวลงมาจากรัดอกถึงกะโหลกซอ มักตกแต่งด้วยมุก นาค หรือทอง ความยาวรวมประมาณ ๔๑ เซนติเมตร
ถ่วงหน้า ส่วนประกอบของซอทำถ้วยโลหะ เพื่อลดความสั่นสะเทือนของหน้าซอ และทำให้เสียงไพเราะยิ่งขึ้น ในบางครั้งมีการประดับถ่วงหน้าด้วยอัญมณี
Diamonds are a girl’s best friends. ชื่อเพลงจากละครเวทีเรื่อง Gentlemen Prefer Blondes(1949) แต่เป็นที่รู้จักกว้างขวางเมื่อมาริลีน มอนโรว์นำมาร้อง ครั้งที่เธอแสดงนำภาพยนตร์เรื่องนี้
Diamonds Are Forever ผลงานนวนิยายชุดเจมส์ บอนด์ โดย เอียน เฟลมมิ่ง ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 1971 แสดงนำโดย ฌอน คอนเนอรี่
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in