เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
อ่านเพลง “ฮิโนกิ” ผ่าน “ฉันจึงมาหาความหมาย”



  • เพลง “ลำมัจฉาฮิโนกิ”
    ศิลปิน - จ๋า เกวริน
    คำร้อง - เกรียงเดช ผลทวี
    เรียบเรียง - วิทวัส แสนเริง

    อ่านเนื้อเพลง “ลำมัจฉาฮิโนกิ” ได้ ที่ https://music.trueid.net/th-th/detail/WG3q89rdVOp7

    อ่านบทกวี “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ของ วิทยากรเชียงกูล ได้ที่   https://th.wikipedia.org/wiki/เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน

    อ่านเพลง “ฮิโนกิ” ผ่าน “ฉันจึงมาหาความหมาย”:
    การแสวงหา “พญานาค” และ “ความหมายของมหาวิทยาลัย”                    ใน “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน”

              ผู้ใช้แอปพลิเคชันติ๊กต็อก (Tiktok) คงจะคุ้นชินกับบทเพลง “ลำมัจฉาฮิโนกิ” ซึ่งเคยไวรัลในช่วงที่ผ่านมา เนื้อเพลง “ลำมัจฉาฮิโนกิ” เล่าถึงการออกเดินทางแสวงหาพญานาคของปลาสัญชาติญี่ปุ่นตัวหนึ่ง นามว่า “ฮิโนกิ” เนื่องจากวันหนึ่งเธอฝันเห็นพญานาคหลากสีเกี่ยวก่ายกันอย่างสวยสดงดงาม ความฝันอันเพริศแพร้วนี้เป็นแรงผลักดันให้เธอมุ่งหน้าไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อตามหาพญานาคตัวเป็น ๆ ทว่าเมื่อไปถึง เธอกลับได้รับคำแนะนำจากปลานีโม่ตัวหนึ่งว่า “ที่มหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้ไม่มีพญานาคหรอกนะ เจ้าต้องไปหาที่อ่าวไทย” เมื่อได้ยินเช่นนั้น ฮิโนกิก็ไม่รอช้า ใช้ความพยายามดั้นด้นว่ายน้ำผ่านท่อน้ำเสียมุ่งหน้าสู่ทะเลอ่าวไทย แต่แล้วเมื่อเธอไปถึงที่หมาย เธอกลับไม่พบพญานาคดังที่วาดฝัน พบเพียงแต่เรือดำน้ำที่ใช้งานไม่ได้และไม่สมประกอบ ความจริงที่พบนี้ทำให้เธอเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากนั่งหัวเราะกลบเกลื่อนความผิดหวังของตนเองเท่านั้น 

              เพลง “ลำมัจฉาฮิโนกิ” เป็นเพลงลำกลอนภาษาอีสานผสมกับแนวดนตรีร่วมสมัยที่นำเสนอผ่านเนื้อเพลงแปลกใหม่ โดยมีหัวใจสำคัญของเพลงอยู่ที่การสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล

              หากมองในเชิงการวิจารณ์สังคม เพลง “ลำมัจฉาฮิโนกิ” ก็ได้แอบจิกกัดรัฐบาลเบา ๆ ในประเด็นเรือดำน้ำที่ใช้การไม่ได้ แต่หากเราลองเทียบตัวเองกับปลาฮิโนกิแล้ว เราก็อาจมีบางช่วงชีวิตที่เป็นเช่นเดียวกันกับปลาฮิโนกิก็ได้ ช่วงชีวิตแห่งการตามหาบางสิ่งบางอย่างที่เราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า และรวบรวมขุมพลังทั้งในร่างกายและจิตใจเพื่อตามล่าหาความฝันนั้น ทว่าสุดท้าย ความฝันของเราก็อาจเป็นดังพญานาคที่ไม่มีอยู่จริง มีเพียงปลายทางอันเคว้งคว้างที่ไม่สามารถจะให้คำตอบใด ๆ แก่เราได้ ไม่ได้เติมเต็มความฝัน ซ้ำยังกลับเป็นสิ่งดับฝันด้วยซ้ำ 

              “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” เป็นบทกวีที่แต่งขึ้นด้วยกลอนสุภาพ โดย รองศาสตราจารย์วิทยากร เชียงกูล เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ยูงทอง ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2511 ต่อมารวมเล่มตีพิมพ์ในหนังสือ ฉันจึงมาหาความหมาย ในปี 2514 

              รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้วิเคราะห์บทกวีเรื่อง “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ไว้ในบทความเรื่อง “ฉันจึงมาหาความ(หมาย)” ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของดวงใจวิจารณ์ ความว่า วลี “ฉันจึงมาหาความหมาย” อันเป็นวรรคหนึ่งในบทกวีนั้น บางคนได้นำมาใช้เป็นชื่อเรียกแทนยุคสมัยก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพราะวลีดังกล่าวสะท้อนสภาวะสับสนและแปลกแยกของคนหนุ่มสาวต่อคุณค่าที่สังคมยึดถือ

              ใจความหลักของกวีนิพนธ์บทนี้ อยู่ที่การสะท้อนคุณค่าและความหมายของมหาวิทยาลัยผ่านการชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่มหาวิทยาลัยมอบให้ก็เป็นเพียงกระดาษใบหนึ่ง กวีนิพนธ์บทนี้จึงเป็นการสะท้อนความล้มเหลวของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นแหล่งบ่มเพาะประชากรคุณภาพผ่านการประสิทธิ์ประสาทวิชาต่าง ๆ หน้าที่ของมหาวิทยาลัยอันควรจะเป็นสถานที่ที่บ่มเพาะให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เติบโต และพัฒนา กลับกลายเป็นสถานที่ที่มอบให้แต่ความว่างเปล่า

              เราจะเห็นได้จากความในตัวบทกวีว่า นักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเกิดความผิดหวังที่สถานศึกษาแห่งนี้ไม่สามารถให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ ลักษณะของความผิดหวังนี้สามารถเชื่อมโยงได้กับลำมัจฉาฮิโนกิ ลำกลอนสมัย 2022 ที่กล่าวถึงการแสวงหาพญานาคและความผิดหวังของปลาฮิโนกิ ความเชื่อมโยงนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่วง ได้แก่ สงสัย ไขว่คว้า และเผชิญหน้ากับความหมาย


    สงสัย

    “นางนี้เป็นฮ้อนฮนย้อนความฝันคิดมาก
    ฝันเห็นพญานาคหลากสีเกี้ยวก่าย
    ตั้งแต่น้อยจนใหญ่บ่เคยพ้อพบพาน
    นางนี่เกิดสงสัย
    คือสิอยู่ในด้านมหาสมุทรแปซิฟิก
    ทะเลก้วง”

    (เพลง “ลำมัจฉาฮิโนกิ” ประพันธ์คำร้องโดย เกรียงเดช ผลทวี)

    ____________________________

    “ดอกหางนกยูงสีแดงฉาน
    บานอยู่เต็มฟากสวรรค์
    คนเดินผ่านไปมากัน
    เขาด้นดั้นหาสิ่งใด”

    (บทกวี “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ประพันธ์โดย วิทยากร เชียงกูล)


              การเดินทางตามหาพญานาคของฮิโนกิเริ่มต้นที่ความฝันและความสงสัยของเธอที่ว่า “นางนี่เกิดสงสัย คือสิอยู่ในด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลก้วง” ในขณะที่ ความสงสัยของหนุ่มสาวนำพาพวกเขาให้นำตนเองเข้าสู่การศึกษาในมหาวิทยาลัยดังปรากฏในตัวบทว่า “คนเดินผ่านไปมากัน เขาด้นดั้นหาสิ่งใด”

              จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะฮิโนกิหรือคนหนุ่มสาว ความสงสัยถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่นำพาพวกเขาไปสู่การเดินทางค้นหาบางสิ่งบางอย่าง ความสงสัยถือเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมากับมนุษย์ เป็นธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่พระเจ้ามอบให้ ชีวิตของคนเราจึงมักเริ่มต้นด้วยความสงสัยอยู่เสมอ สงสัยว่าเราเกิดมาทำไม เราเป็นใคร และเราใช้ชีวิตเพื่ออะไร?

              ตำนานเก่าแก่ของกรีกโบราณเล่าย้อนไปถึงเรื่องราวที่มนุษย์ออกอุบายหลอกลวงเทพเจ้าจนทำให้เทพบดีซุสผู้เป็นใหญ่แห่งโอลิมปัสพิโรธ พระองค์ไม่รอช้าที่จะตอบแทนความเลวทรามของมนุษย์ด้วยการส่ง แพนดอร่า หญิงสาวที่ถูกสร้างด้วยพรของเทพเจ้าแต่ละองค์ โดยพรข้อสุดท้ายที่นางได้รับคือ “ความอยากรู้อยากเห็น” ก่อนนางจะถูกส่งมาบนโลก เทพบดีซุสได้มอบกล่องทองคำให้นางใบหนึ่งโดยกำชับว่า “ห้ามเปิดโดยเด็ดขาด” เมื่อแพนดอร่าได้ลงมาถึงโลกมนุษย์ เธอก็ตกหลุมรักชายคนหนึ่ง ทั้งคู่แต่งงานและอยู่กินด้วยกันตราบนานเท่านาน จนกระทั่งวันหนึ่ง แพนดอร่าเกิดความสงสัยว่าในกล่องทองคำมีสิ่งใดซ่อนอยู่ ทว่า เสียงกำชับของเทพบดีซุสยังคงฝังแน่น แต่ความสงสัยในตัวเธอก็กลบเสียงคำสั่งของเทพเจ้า แพนดอร่าเปิดกล่องทองคำออก ไม่นานนัก ความชั่วร้ายนานาประการก็พวยพุ่งกระจัดกระจายไปทั่วท้องฟ้า แผ่ขยายออกไปทั่วโลก แต่สิ่งสุดท้ายที่ปล่อยออกมาจากกล่องก็คือ
    “ความหวัง” นี่เป็นเหตุให้เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ประพฤติหยาบเลวทรามต่อกัน เข่นฆ่าประหัตประหาร ทำสงครามกัน สิ่งสุดท้ายที่จะปรากฏคือ “ความหวัง” พวกเราหวังว่าจะไม่มีสงครามอีกต่อ หวังว่ามนุษย์ด้วยกันจะไม่เข่นฆ่ากันอีกต่อไป 

              เรื่องราวของนางแพนดอร่าเป็นสิ่งที่ชี้ให้เราเห็นว่าความสงสัยนั้นอยู่ในตัวมนุษย์มานานแล้ว ทั้งยังเป็นของกำนัลจากเทพเจ้า ด้วยเหตุนี้ความสงสัยจึงอยู่ในตัวเราทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งปลาอย่างฮิโนกิที่สงสัยว่าพญานาคนั้นอยู่แห่งหนตำบลใด เธอคิดเอาเองว่าพญานาคนั้นอาจจะอยู่ที่มหาสมุทรแปซิฟิก แต่เมื่อเธอไปถึงเธอกลับพบเพียงความว่างเปล่า สิ่งนี้ไม่ได้ต่างไปจากนักศึกษาทั้งหลายที่คิดว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยจะให้อะไรบางอย่างกับเขา พวกเขาคาดหวัง ตั้งสมมติฐาน และค้นพบกับคำถามที่แสนจะคลุมเครือว่า แท้จริงแล้วมหาวิทยาลัยนั้นมีหน้าที่อะไร และจะมอบอะไรให้กับชีวิตคนคนหนึ่ง ถึงแม้ “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” จะประพันธ์ขึ้น ในปี 2511 และระยะเวลาได้ล่วงเลยมากว่า 50 ปี จวบจนก้าวเข้าสู่กลางปี 2565 แล้ว แต่ปัญหาที่ “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” กล่าวถึงนั้นยังคงไม่จางหายไปไหน คนหนุ่มสาวทั่วโลกยังคงตั้งคำถามถึงหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและสิ่งที่ควรได้รับจากการเข้าศึกษาในสถานที่แห่งนี้ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามหาวิทยาลัยยังควรดำรงอยู่หรือเปล่า?


    ไขว่คว้า

    “ฉันมีนามว่า ฮิโนกิ
    ลอยมาจากถิ่นที่ญี่ปุ่นเอเชีย
    วนว่ายตามท่อน้ำเสีย
    ร่างกายอ่อนเพลียกว่าจะถึงทะเล
    เดี้ยนตามหาพญานาค
    สุดแสนลำบากมาหายากแท้เด
    เห็นแต่ปลากระเบนดังเป
    พวกปลาซิวละเทตีปิงปองอยู่กับปลิง”

    (เพลง “ลำมัจฉาฮิโนกิ” ประพันธ์คำร้องโดย เกรียงเดช ผลทวี)
    ______________________________________

    “ปัญญามีขายที่นี่หรือ
    จะแย่งซื้อได้ที่ไหน
    อย่างที่โก้หรูหราราคาเท่าใด
    จะให้พ่อขายนามาแลกเอา”
    (บทกวี “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ประพันธ์โดย วิทยากร เชียงกูล)


              เพื่อที่จะพบพญานาค ฮิโนกิต้องลำบากตรากตรำยอม “วนว่ายตามท่อน้ำเสีย ร่างกายอ่อนเพลียกว่าจะถึงทะเล” เพียงเพื่อจะพบสิ่งมีชีวิตที่เธอฝันถึง

              เพื่อที่จะได้ปัญญาดังความฝันใฝ่ คนหนุ่มสาวต่างยอม “ให้พ่อขายนามาแลกเอา” สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของคนคนหนึ่งที่ต้องการจะบรรลุเป้าหมายหรือแสวงหาในสิ่งที่ตนต้องการ

              ทั้งคนรุ่นใหม่และปลาฮิโนกิจึงอยู่ในฐานะนักเดินทางหรือนักแสวงหาที่ต้องประสบพบเจอความยากลำบากต่าง ๆ นานาเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ความยากลำบากของฮิโนกิไม่เพียงแต่ต้องว่ายน้ำผ่านท่อน้ำเสีย แต่เธอยัง “ไปผิดที่” โดยเธอไปมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นที่แรกแต่กลับไม่พบพญานาค เธอจึงต้องมุ่งหน้าผ่านท่อน้ำเสียมาที่อ่าวไทยแทน การ “ไปผิดที่” นี้อาจเทียบได้กับชีวิตของนิสิตนักศึกษาที่ “ไปผิดที่” หรือไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่า ที่แห่งนั้นจะสนองความต้องการของตัวเองได้จริง ๆ หรือเปล่า


    เผชิญหน้าความจริง

    “โตนางนี้เสีย Self พอประมาณ
    มาสงสารโตกูบู๋มาไกลล้ำ
    มองดูก้ำเห็นดำๆ ลอยเสิ่น
    อีนางเลยเวิ่นพุ่งทะยานมุ่งโดยไว
    พออยากไห่ดิ้นตายคาหนอง
    เห็นแต่ฟองสีดำผัดแม่นเรือดำน้ำ
    เรือดำน้ำไทยแลนด์ขี้กระต่าย
    เครื่องบ่มียิงบ่ได้แม่นไผซื้อห่ามึง”

    (เพลง “ลำมัจฉาฮิโนกิ” ประพันธ์คำร้องโดย เกรียงเดช ผลทวี)
    __________________________

    “ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง
    ฉันจึงมาหาความหมาย
    ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
    สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”

    (บทกวี “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ประพันธ์โดย วิทยากร เชียงกูล)

              การเดินทางของฮิโนกิสิ้นสุดลงเมื่อเธอพบว่าพญานาคที่เธอเห็นเป็นเงา ๆ ดำ ๆ ในน้ำนั้น แท้จริงคือ “เรือดำน้ำไทยแลนด์ขี้กระต่าย เครื่องบ่มียิงบ่ได้แม่นไผซื้อห่ามึง” เช่นเดียวกันกับความใฝ่ฝันของนักศึกษาที่สิ้นสุดลงเมื่อพวกเขาพบว่า “ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”

              ความจริงที่นักศึกษาและปลาฮิโนกิพบนั้น อาจไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะต่างก็ทำให้เกิดความผิดหวังด้วยกันทั้งคู่ ทั้งเรื่องพญานาคที่ไม่มีอยู่จริงและกระดาษแผ่นเดียวส่องสะท้อนความล้มเหลวของการออกเดินทางเพื่อแสวงหาสิ่งที่พวกเขาต้องการ ในแง่หนึ่งอาจตีความได้ว่า ทั้งปลาฮิโนกิและนักศึกษายัง “เยาว์” เกินกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการนั้นไม่มีอยู่จริง ดังปรากฏในวรรคหนึ่งว่า “ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง”

              วิทยากร เชียงกูลเคยอธิบายความหมายของวรรคนี้ในงาน “เด็กรักป่า” ทอดผ้าป่าหนังสือ โครงการสายธารความรู้สู่เด็กและเยาวชนไว้ความว่า

              ฉันเยาว์ หมายความว่า ยังเด็ก พร้อมเติบโต เรียนรู้ ฉันเขลา หมายความว่า ยังไม่รู้ (ignorant) ไม่ใช่แปลว่าโง่ (stupid) ฉันทึ่ง หมายความว่า เราควรมีความเป็นคนช่างสงสัย ตั้งคำถามตลอดเวลา โดยไม่ต้องกลัวถูกกล่าวหาว่าโง่ ฉันจึงมาหาความหมาย หมายความว่า ความอยากรู้อยากเห็นในชีวิต ว่า เอ๊ะ..ชีวิตคืออะไร จบไปแล้วทำงานได้เงินเดือน...ชีวิตอยู่ไปวันๆ หรือว่ามีอะไรมากกว่านี้”

              เราจะเห็นลักษณะเหล่านี้ได้ทั้งจาก “ฉัน” ใน “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” และ “ฮิโนกิ” ปลาผู้ออกเดินทางตามความฝันยามเธอหลับในเพลง “ลำมัจฉาฮิโนกิ” ฝันของฮิโนกิไม่ใช่ความฝันในเชิงนามธรรมว่า ฉันอยากจะมี อยากจะได้ อยากจะเป็น หากแต่เป็นฝันที่เกิดจากสภาวะทางร่างกายในยามนอนหลับ เธอฝันเห็นพญานาคและออกตามหามันทันทีโดยไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งนี้ไม่มีอยู่จริง ฮิโนกิจึงอยู่ในลักษณะ “ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง” 

              ลักษณะร่วมอีกประการหนึ่งของฮิโนกิกับนิสิตนักศึกษาคือสภาวะของการเป็นผู้แสวงหา ในขณะที่ฮิโนกิแสวงหาพญานาค นักศึกษาก็แสวงหาความหมาย ในบริบทของนักศึกษานั้น “ความหมาย” เป็นสิ่งที่คลุมเครือ เพราะในบทกวีไม่ได้บอกเราว่าความหมายคืออะไร สิ่งนี้จึงเปรียบเสมือนพื้นที่ปลายเปิดที่ต้องการให้ผู้อ่านทุกคนคิดว่า “ความหมายคืออะไร” และอาจตีความได้อย่างหลากหลาย เพราะทุกคนต่างมีนิยามของ “ความหมาย” ในแบบฉบับของตนเอง ดังนั้น สิ่งที่คนเราแสวงหาจึงแตกต่างกันออกไป สำหรับฮิโนกิ สิ่งที่เธอแสวงหาคือพญานาค แต่สิ่งที่เธอพบคือเรือดำน้ำ สารดังกล่าวเป็นจุดมุ่งหมายของผู้ประพันธ์คำกลอนที่ต้องการจะวิพากษ์การจัดซื้อเรือดำน้ำที่ใช้งานไม่ได้ของรัฐบาล พญานาคจึงเป็นตัวแทนความฝันอันเพริศแพร้วของฮิโนกิ ในขณะที่เรือดำน้ำคือความเป็นจริงที่เธอพบ ความฝันและความจริงเหล่านี้เป็น “สภาวะลวงตา” ที่ทำให้เรามองเห็นของสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง พญานาคที่ฮิโนกิอยากเห็นอาจเป็นประเทศไทยที่เจริญรุ่งเรืองดั่งเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่พวกเรามีกลับเป็นแค่เรือดำน้ำที่ใช้งานไม่ได้ เรือดำน้ำนี้อาจหมายถึงประเทศที่ผุพังถูกกัดกร่อนไร้เสถียรภาพ ไร้ความเที่ยงธรรมทางกฎหมาย มีข่าวการอุ้มฆ่า มีการค้ามนุษย์ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้พบเห็นจนชินตา

              อันที่จริงแล้วพวกเราอาจจะเป็นฮิโนกิที่วาดฝันถึงชีวิตที่ดีในประเทศนี้แต่สิ่งที่เราพบกลับกลายเป็นความจริงที่น่าเอือมระอา พวกเราจึงอยากชวนทุกคนกลับมาคิดว่า ถ้าเราเป็นฮิโนกิ เราฝันอยากจะพบอะไร? และเมื่อออกแสวงหาและพบความความจริงแล้ว ความจริงนั้นคืออะไรเมื่อเราสามารถคิดถึงการเดินทางของเราได้แล้ว? บางทีพญานาคและเรือดำน้ำที่เป็นพื้นที่ปลายปิดจะกลายเป็นพื้นที่เปิดสำหรับให้พวกเราทุกคนค้นพบความจริงบางอย่างก็เป็นได้

    บรรณานุกรม

              Wasawat Deemarn. เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน (ฉันจึงมาหาความหมาย : วิทยากร เชียงกูล). (2011). เข้าถึงได้จาก https://www.gotoknow.org/posts/469537

              คุณพิทักษ์. (6 กันยายน 2556). อิ่มเอม : "เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน" ฟังจากปากผู้เขียน. เข้าถึงได้จาก GotoKnow.org: https://www.gotoknow.org/posts/191748

              ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. (ม.ป.ป). ฉันจึงมาหาความ(หมาย). เข้าถึงได้จาก ดวงใจวิจารณ์: http://www.ดวงใจวิจารณ์.com/16867498/ชูศักดิ์-ภัทรกุลวณิชย์

              ลำมัจฉาฮิโนกิ. (2565). เข้าถึงได้จาก https://www.siamzone.com/music/thailyric/23784

              แพนโดรา. (ม.ป.ป.). เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/แพนโดรา

    บรรณานุกรมรูปภาพ

              ภาพท้องฟ้าตอนกลางคืน เข้าถึงได้จาก https://i.pinimg.com/564x/07/f5/40/07f540795a21aed817875050177d97ac.jpg

              ภาพท้องฟ้า เข้าถึงได้จาก https://i.pinimg.com/564x/99/85/a7/9985a7515186233d548f23f1f00d2b31.jpg

              ภาพเด็กร้องไห้ เข้าถึงได้จาก https://i.pinimg.com/564x/33/23/fb/3323fbcfc37a0bde7ea928b49304811f.jpg

              ภาพปีก เข้าถึงได้จาก https://i.pinimg.com/564x/83/95/38/839538fe7bbd2b12bce19d84b7e5a602.jpg


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558

    สร้างสรรค์เรื่องและภาพโดย...ณัฎฐณิชา เจริญพร ชนินท์ บุญเหลือง
    และสมรทอง พูลภักดี

    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ปีการศึกษา 2564
    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง

    บรรณาธิการ: หัตถกาญจน์ อารีศิลป
    กองบรรณาธิการ: ศราวุธ วังหลวง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in