เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Ram Roam Romeผู้พลาดพลั้งแห่งวันศุกร์
.italy 7
  • เวนิส

    หนึ่งในเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สุดและเป็นนครรัฐแห่งอำนาจที่เคยร่ำรวยที่สุดในโลก มีจุดเริ่มต้นที่ไม่สวยหรูเท่าไหร่ เวนิสถือกำเนิดขึ้นมาจากความกลัวและหมดสิ้นหนทาง

    ในช่วงศต.ที่ 4 อาณาจักรโรมันเข้าสู่การล่มสลาย และอิตาลีแถบตะวันออกเฉียงเหนือถูกโจมตีอย่างหนักจากชนเผ่าจากเยอรมันชื่อ Lombards และพวก Huns นักรบบนหลังม้าผู้เก่งกาจจากเอเชียกลาง ชาวบ้านที่หมดทางต่อสู้หลบหนีด้วยความกลัวข้ามลากูนไปอยู่บนพื้นที่ซึ่งเป็นบึงใน Adriatic sea

    พื้นที่เหล่านี้ไม่เหมาะอย่างยิ่งในการอยู่อาศัย การปลูกสิ่งก่อสร้างแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเกาะแก่งเต็มไปด้วยพื้นดินเละๆ แค่เดินเท้ายังจมลงไปในดินเลย ต้นไม้ก็ไม่มี มีแต่หญ้า ถ้าอยากได้จริงๆ ก็ต้องขนมาจากแผ่นดินใหญ่ การเพาะปลูกก็ทำไม่ได้ เลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้ แหล่งน้ำจืดก็ไม่มี มันไม่ใช่ที่ที่ใครคิดจะมาสร้างบ้านสร้างเมือง ในช่วงแรกเวนิสจึงเป็นแค่พื้นที่หลบภัยชั่วคราว ชาวบ้านใช้การประมงเป็นหลักในการประทังชีวิต รอให้การปล้นฆ่าในแผ่นดินใหญ่สงบลง ก่อนที่จะย้ายกลับเข้าไป

    การบุกรุกไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงแต่กลับถี่มากขึ้น สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อเผ่า Lombards มาตั้งถิ่นฐานถาวรในแถบตอนเหนือของอิตาลี ฉะนั้นทางเลือกสุดท้ายของชาวบ้านก็คือ...เวนิส พวกเขาเริ่มก่อสร้างที่อยู่ถาวรจากกระท่อมไม้น้ำหนักเบาแทนการใช้อิฐ และในเมื่อไม่สามารถเพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ได้ ทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ...การค้า

    . . .

    ในยุคโบราณที่ไม่มีตู้เย็น เกลือคือสิ่งสำคัญมากเพราะเป็นส่วนประกอบในการถนอมอาหารเก็บไว้กินโดยเฉพาะในยามฤดูหนาว เรียกได้ว่าเกลือมีค่าดั่งทองคำที่กินได้ และไม่มีที่ไหนที่มีเกลือมากมายไปกว่ามหาสมุทรซึ่งล้อมรอบเวนิสอยู่ในขณะนี้ ชาวเวนิสจึงเริ่มต้นอาชีพค้าขาย โดยสินค้าหลักก็คือเกลือ

    มาถึงจุดนี้ชาวเวนิสก็เริ่มคิดว่า...เฮ้ย เราอยู่ได้! ที่นี่ไม่ใช่แค่ที่หลบภัยชั่วคราว แต่มันเป็นบ้านของเราได้
    ช่วงคศ. 600 สถานการณ์ในแผ่นดินใหญ่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ชาวบ้านข้ามลากูนเพื่อหนีเอาตัวรอดทำให้ประชากรของเวนิสเพิ่มมากขึ้น ขนาดบิชอปเองยังอยากจะย้ายโบสถ์ไปอยู่ในเวนิสเลย

    ในเมื่อทั้งจำนวนคนและจำนวนเงินเพิ่มมากขึ้น เวนิสจึงต้องการมากกว่ากระท่อมไม้ พวกเขาต้องการบ้านอันแข็งแรงถาวรซึ่งจำเป็นต้องใช้อิฐ พวกเขาเอาชนะพื้นฐานที่เป็นดินเลนเละๆ ด้วยการเอาท่อนซุงขนาดใหญ่ปักลึกลงไปในดินจนถึงส่วนที่แข็งแรง เหมือนการตอกเสาเข็มแต่เป็นการปูพรมพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดด้วยท่อนซุง หลังจากนั้นพวกเขาก็วางไม้ในแนวนอนเพื่อกระจายน้ำหนัก ปูทับด้วยหินอ่อนซึ่งกันน้ำ และนั่นก็เป็นการนับหนึ่งของการก่อสร้างนครรัฐเวนิสอันยิ่งใหญ่

    ด้วยความร่ำรวยที่เกิดจากการค้าเกลือเวนิสกลายเป็นเมืองน้องใหม่ที่มีอนาคตไกล ชื่อเสียงที่โด่งดังไม่ได้นำมาแต่การค้า แต่มันนำผู้บุกรุกที่ต้องการครอบครองเวนิสมาด้วย ...ในปี 810 กษัตริย์ของเผ่า Franks ได้นำทัพบุกเวนิส ถึงแม้จะมีกองทัพที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่ franks ขาดความเชี่ยวชาญในการเดินเรืออย่างที่ชาวเวนิสมี และยังโดนมาลาเรียเล่นงานกองทัพ ผลปรากฎคือชาว Franks ผ่ายแพ้และต้องถอยกำลังกลับ

    ชัยชนะที่ได้มาสร้างบทเรียนให้แก่ชาวเวนิส เพื่อป้องกันการรุนรานในอนาคต พวกเขาย้ายศูนย์กลางการค้าและการปกครองเข้าไปในเกาะใหญ่ที่ไกลจากแผ่นดินใหญ่มากขึ้น มีน้ำล้อมรอบเกือบ 2 ไมล์ทำให้ยากแก่การยกทัพโจมตี และตั้งชื่อบริเวณนั้นว่า ‘Rialto’

    . . .

    วันเวลาผ่านไป เวนิสเติบโตขึ้นอย่างน่าเกรงขาม ในช่วงที่พีคที่สุดเวนิสสามารถผลิตเรือได้วันละ 1 ลำ และธงของเวนิสก็โบกสะบัดอยู่บนกองเรือที่มีจำนวนถึง 3000 ลำ เส้นทางการค้าของเวนิสโยงใยไปทั่วทะเลแอนเดรียติก และเมดิเตอร์เรเนียน เวนิสกลายเป็นเมืองหลักในการเชื่อมดินแดนทางตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน สินค้าทั้ง เกลือ เครื่องเทศ ผ้าไหม จากฝั่งอินเดีย เอเชีย และตะวันออกกลาง รวมทั้งสินค้าจากทางสายไหม ล้วนแล้วแต่ได้รับการรับการอัพราคาจากพ่อค้าคนกลางอย่างเวนิสเป็นที่เรียบร้อย เหรียญของเวนิสถือว่าเป็นเงินตราที่นิยม และแพร่หลายไปถึงจีน

    ด้านการปกครองเวนิสได้เริ่มการปกครองตัวเอง โดยจัดตั้งรัฐบาลของตัวเองขึ้นมาประกอบไปด้วยประชากรในทุกชนชั้น และมีการเลือก Doge ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษาละติน dux แปลว่า ‘ผู้นำ’ Doge มีหน้าที่ดูแลนครรัฐแห่งเวนิส และจะอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งตาย ชาวเวนิสมีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้ระบอบการปกครองของพวกเขาเองนั้นปลอดจากการเล่นเส้นสาย และการคอรัปชั่น พวกเขาบาลานซ์อำนาจเป็นอย่างดีเพื่อป้องกันอำนาจไปตกอยู่กับคนหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่ง

    พวกเขามีวิธีการที่โคตรจะซับซ้อนในการเลือกตั้ง Doge เริ่มโดยให้กรรมการ 4 คนซึ่งถูกเลือกโดย 12 คนจากสภาสูงแห่งเวนิส (12 คนนี้จะถูกคัดเลือกใหม่ทุกปี) และให้ 4 คนนั้นเลือกกรรมการชุดที่สองขึ้นมา 40 คน จับสลากจนเหลือ 30 คน แล้วจับสลากอีกครั้งจนเหลือ 9 คน แล้วให้ 9 คนเลือกกรรมการชุดที่สามมาใหม่ 45 คน แล้วจับสลากเหลือ 11 คน แล้วให้ 11 คน เลือกผู้เข้าชิงการเป็น Doge 41 คน แล้วให้โหวตกันเอง....เอิ่มม ซับซ้อนไปไหม มาดูงานบ้านตรูนี่!!!!

    ถึงแม้ว่า Doge จะเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติ์ แต่มันก็มีข้อเสียมากมาย Doge ไม่สามารถมีทรัพย์สินนอกเขตของเวนิสได้ รวมทั้งลูกหลานหรือญาติพี่น้องของ Doge จะถูกตัดสิทธิ์ในการเป็นสมาชิกของสภา แถม Doge ยังถูกจับตามองทุกฝีก้าว และถูกจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ใน Doge’s Palace ยกเว้นว่าออกจากเวนิสไปทำภารกิจทางการฑูต ชนชั้นปกครองจะถูกจับตาจากสายลับซึ่งมีอยู่มากมาย ฝั่งประชาชนเองก็มีตู้ ซึ่งอนุญาตให้ชาวบ้านเขียนจดหมายบอกเล่าพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลต่างๆ ของเพื่อนบ้านหรือคนรู้จักมาเล่าให้ทางการฟังโดยไม่ต้องลงนามในจดหมาย หากมีหลักฐานพอ หรือเพียงแค่มีเค้าว่าผู้นั้นคิดร้ายต่อนครรัฐ คนคนนั้นจะถูกไต่สวน และทรมานอย่างโหดเหี้ยม เพื่อรีดเร้นให้รับผิดและเปิดเผยข้อมูล

    ผลพลอยจากการระบบที่เข้มงวดและซับซ้อน ทำให้ชนชั้นปกครองเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง (คือมันไม่มีทางจะ ‘แท้จริง’ หรอก แต่พวกเขาก็พยายามจะให้มันใกล้เคียง) ชาวเมืองกับชนชั้นปกครองก็ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางจนถึงขั้นก่อจราจร หรือยึดอำนาจเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะประชาชนยอมรับในอำนาจของรัฐบาล

    เมื่อการเมืองภายในมั่นคง พื้นที่ก็ยากต่อการรุกราน รวมทั้งร่ำรวยจนถึงขีดสุด สิ่งที่เวนิสหมายตาคือชื่อเสียง และอำนาจ กองเรือที่เคยใช้ปกป้องสินค้าก็เปลี่ยนมาใช้ในการรุกพื้นที่โดยรอบทะเลเอเดรียติก และก่อสงครามกับเมืองคู่แข่งสำคัญอย่างจีนัว

    . . .

    หลังจากสงครามครูเสด (สงครามแย่งชิง เยรูซาเล็ม เมืองศักดิ์สิทธิ์ของทั้ง ยิว คริสต์ และอิสลาม) ครั้งที่ 3 จบลง และความผ่ายแพ้ของชาวคริสเตียนก็ยังคงเป็นรอยแผลที่ไม่มีทีท่าจะหาย ในที่สุดในปี 1198 พระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ก็ประกาศการเริ่มต้นของสงครามครูเสดครั้งที่ 4 แผนการณ์คือบุกเข้าไปทางอียิปต์และมุ่งตรงสู่เยรูซาเล็ม......

    แต่ความพีคมันอยู่ตรงนี้!!! 
    คือแทนที่จะได้บุกเยรูซาเล็ม สุดท้ายกองทัพครูเสดและเวนิสกลับไปตี Constantinople เมืองหลวงแห่งอาณาจักร Byzantine ซึ่งเป็นคริสเตียนด้วยกัน (อ้าว งงไปอีก!!! ปล.สำหรับใครที่ยังไม่รู้ Byzantine คืออาณาจักรหลังจากโรมันล่มสลายแยกออกเป็นโรมันตะวันตก - Holy Roman Empire อันแสนวุ่นวาย และโรมันตะวันออกที่รุ่งเรื่องนั่นคือ Byzantine นั่นเอง) และไม่ใช่ยึดธรรมดานะ กองทัพเวเนเซียยังปล้นเมือง สมบัติและของมีค่าทั้งหลายถูกขนกลับเวนิส ทอง บรอนซ์ และเงิน ถูกหลอมออกจากรูปปั้น และสิ่งก่อสร้าง เรียกว่าหมดบ้านหมดเมืองกันเลย



    แล้วทำอีท่าไหนมันเลยกลายเป็นแบบนั้นได้.... นี่เลยเดี๋ยวเล่าให้ฟัง

    คือพอพระสันตปาปารวบรวมกองทัพครูเสดได้เรียบร้อย แม่ทัพครูเสดเขาก็มาเจรจาอยากให้เวนิสสร้างเรือรบเพื่อขนกองทัพที่มีจำนวนถึง 33,000 คน ไปตีอียิปต์และค่อยบุกเยรูซาเล็มด้วยกัน Doge ตอนนั้นก็ตกลงโอเค เวนิสหยุดการค้าขายเลยหนึ่งปี กูไม่ขงไม่ขายมันแล้วเกลือกับผ้าไหม ขมักเขม่นสร้างเรือรบรัวๆ กลัวไม่ทันตามสัญญา เรื่องราวก็ควรจะ Happy ending win-win กันทั้งคู่.... แต่เปล่า

    พอถึงเวลานัดอ่าวของเวนิสก็เต็มไปด้วยเรือรบ Great Galley 50 ลำ และเรือขนส่งอีก 450 ลำ แต่กองทัพครูเสดที่นัดกันไว้ดันโผล่หัวมาแค่ 12,000 คน จากที่ตอนแรกตกลงกันไว้ 33,000!!!
    อ้าว เฮ้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นิหน่า

    พอแม่ทัพเจอหน้าก็รีบเข้ามาอธิบายสถานการณ์  '...แบบว่าตัวเองงง คือทัพอื่นเขายกทัพมาจากท่าเรืออื่นอ่ะ เดี๋ยวจะไปเจอกันแถวอียิปต์ เตงไม่โกรธเค้าน้าาา’

    ‘กูไม่โกรธหรอก.... ถ้าเมิงจ่ายกูเท่าที่ตกลงกันไว้’ Doge หน้าเริ่มตึง

    ‘เตงงงงงงงง.... เค้าไม่มีตังอ่ะะะะะ เขินจุง’
    ……..
    ……
    ….
    นั่นแหละครับ กองทัพครูเสดงานเข้าใหญ่มาก
    เวนิสเองก็ถือว่าซวยขั้นหนัก เพราะนอกจากไม่ได้เงินแล้ว รายได้จากการค้าขายก็หายไปตั้งปีนึง... ขาดทุนถล่มทลาย Doge ก็เลยบอกว่าพวกเอ็งไม่มีเงินจ่ายใช่ไหม เอาทหารมายืมหน่อย เดี๋ยวไปตีเมือง Zara ปล้นเสื้อผ้า (เฮ้ย เดี๋ยวคนละ Zara) ...ปล้นสะดมแล้วยึดเมืองคืน (Zara เป็นเมืองชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่เคยอยู่ในการปกครองของเวนิซมาก่อน)

    พระสันตะปาปาได้ยินก็ส่งจดหมายมาด่า เฮ้ย พวกเอ็งทำไรกัน Zara มันเป็นเมืองคริสเตียนนะ ไปบุกทำไม... ฉันไล่พวกแกออกจากศาสนา!! (Excommunication) .... แม่ทัพก็ส่งจม. คืนกลับไป ‘เตงงง ตอนนี้เค้าตึงมากเลย เตงอย่าเพิ่งงอแง เตงอยากได้เยรูซาเล็ม เตงก็อย่าเพิ่มเรื่องหนักใจให้เค้าอีกได้ป่ะะะะะ แค่นี้ Doge ก็จะกินหัวกูตายแล้ว เอาเป็นว่าเค้าขอโทษแล้วกัน’ 

    สรุปว่าพระสันตะปาปาก็อภัยโทษให้แม่ทัพครูเสด แต่ยังส่งจดหมายมาด่า Doge กับชาวเวนิส ...ซึ่งจดหมายนั้น โดนแม่ทัพครูเสดเอาไปทิ้ง (ฮ่าๆๆๆๆๆ โคตรพีค)

    . . .

    ตอนนี้แหละที่เรื่องราวมันเริ่มซับซ้อนมากขึ้น ประหนึ่งอยู่ใน Game of throne
    อยู่ดีๆ Doge และแม่ทัพครูเสดก็ได้รับจดหมาย ร่อนมาจากเจ้าชาย Alexious ซึ่ง Claim ว่าตัวเองนั้นเป็นกษัตริย์แห่ง Byzantine โดยชอบธรรม ไอ้คนที่ปกครองอยู่บนบันลังก์ตอนนี้มันไม่ช่าย True King! ของไบเซนไทน์ มันก่อการกบฎแย่งบัลลังก์ตูไป ชาวเมือง Constantinople ต้องปลาบปลื้มแน่นอนถ้าเรากลับไปเป็นกษัตริย์ของพวกเขา

    Alexious ยื่นข้อเสนอว่าถ้ากองทัพครูเสดและเวเนเซีย ช่วยเขายืดเมือง Constantinople คืนมานะ เขาจะตบรางวัลให้อย่างงาม แถมจะให้ยืมทหาร Byzantine ไปบุกอียิปต์อีก แม่ทัพก็เริ่มไขว้เขว เอาไงดีวะ ส่วน Doge ก็เชียร์รัวๆๆๆ มึงไปเห่อะๆ กูอยากได้ตังคืน

    เถียงกันอยู่นาน สรุปว่า...ไป!!!
    กองทัพก็ออกเดินทางไป Constantinople ระหว่างนั้นพระสันตะปาปาก็ส่งจดหมายมาด่าอีก...แต่ไม่มีใครสนใจ (ฮ่าๆๆๆ) พอประชิดเมือง Doge กับ แม่ทัพก็เอา Alexious ขึ้นมาบนเรือเพื่อโชว์ให้ทหารและชาวเมืองเห็นว่านี่เรามาดีนะ เราเอากษัตริย์ที่ชอบธรรมของเมืองพวกเธอมาส่ง ขอบใจเราซะสิ.... ทหารบนกำแพงเมืองยิ้มๆ แล้วยิงธนูใส่กองทัพ (อ้าว... Alexious ไหนมึงบอกประชาชนเลิฟมึงมาก)

    แม่ทัพกับ Doge ก็มาประชุมกัน เอาไงดีวะ ยกทัพกลับก็คว้าน้ำเหลวนะ ไม่ได้อะไรเลย ..กูจะบ้า เอางี้ บุก Constantinople มันเลยแล้วกัน ซึ่งในภาวะปกติกองทัพครูเสดคงไม่มีปัญญาสู้ได้เพราะ Constantinople นี่คือเมืองหลวงของอาณาจักรไบเซนไทน์อันยิ่งใหญ่เลยนะ แต่ตอนนี้ไบเซนไทน์กำลังอยู่ในขาลง ...มันก็เลยพอสูสี สุดท้ายแล้วกองทัพครูเสดกับเวเนเซียชนะ สามารถสวมมงกุฏให้กับ Alexious ขึ้นครองราชย์ได้สำเร็จ เรื่องราวก็ควรจะจบลงด้วยดี แต่เปล่า....

    Alexious ไม่สามารถควบคุมเหล่าขุนนางได้ การเมืองภายในคุกกรุ่นจากแรงต่อต้าน ทำให้กษัตริย์องค์ใหม่ไม่สามารถหาเงิน หรือทหารตามที่สัญญากับ กองทัพครูเสดและเวเนเซียที่ตอนนี้ตั้งแคมป์นอนรออยู่นอกกำแพงเมืองได้ Alexious ต้องขึ้นภาษี เอาของในโบสถ์ไปขาย ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

    ความซวยถึงขีดสุดเกิดขึ้นเมื่อ Alexious ถูกหัวหน้ากลุ่มกบฎจับตัวแล้วสังหารด้วยการบีบคอ ยึด Constantinople แล้วปิดประตูเมือง แม่ทัพครูเสด และ Doge ก็มานั่งปรับทุกข์กัน... ทำไมชีวิตมันบัดซบแบบนี้วะ เงินก็ไม่ได้ แถมแทนที่จะได้ไปบุกอียิปต์ ทหารกลับมาตายเพราะบุก Constantinople กองทัพก็ไม่มีมาให้ แถมตอนนี้จะอดข้าวตายอีก ....งั้นปล้น Constantinople เลยดีไหม ไหนๆ เมืองก็โดนกบฎควบคุมอยู่แล้ว

    คำตอบคือ....ดี จัดไป!!!

    และแล้วนั่นก็เป็นที่มาว่าทำไมกองทัพครูเสด ถึงมาลงเอยด้วยการบุกยึดเมืองคริสเตียนด้วยกันเองแบบนี้ เรือเวนิซก็หอบสมบัติเต็มลำเรือกลับบ้าน Happy ไปอีก สมบัติหลายชิ้นที่ขโมยมาก็ไปอยู่ในมหาวิหาร St. Mark ยกตัวอย่างเช่นม้าบรอนซ์ขนาดใหญ่ทั้งสี่ตัว บ้างก็ไปโผล่ตามคฤหาสน์ของเหล่า Doge ทั้งหลาย เรียงว่าถอนทุนคืนกันทุกบาททุกสตางค์ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มของการล่มสลายของ Constantinople เพราะไบเซนไทน์ไม่เคยกลับมาแข็งแกร่งอีกเลย 



    . . .

    แต่ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรื่องขนาดไหน มีขึ้นก็ต้องมีลง เวนิสรุ่งเรืองมาจากการค้า ฉะนั้นสิ่งที่จะหยุดเวนิสได้...ก็คือคู่แข่งทางการค้านั่นเอง เนื่องจากเป็นเจ้าพ่อแห่งเมดิเตอร์เรเนียนมานานร่ำรวยแบบไม่แคร์สื่อ ด้วยความอิจฉา นานาอารยะประเทศเลยระดมส่งกองเรือสำรวจของตนเอง เพื่อหาเส้นทางการค้าใหม่ๆ ใครเจอก่อน โดยที่ไม่ต้องมีเวนิซเป็นพ่อค้าคนกลางก็รวย!

    จนในปี 1492 โคลัมบัสที่ได้สเปนหนุนหลังก็ค้นพบทวีปอเมริกา ยุโรปเลยมีตัวเลือกในการค้ามากขึ้น ต่อมาอีกไม่นานโปรตุเกสก็สามารถแล่นเรืออ้อมแหลม Good Hope ของทวีปแอฟริกาสำเร็จ เปิดเส้นทางค้าไปยังอินเดีย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ต้องผ่านเส้นทางเดิมของเวนิสอีกต่อไป

    คราวนี้เวนิสงานเข้าอย่างรุนแรง เพราะโดนกระทบเต็มๆ ในเมื่อบทบาทของมหาอำนาจทางการค้าในเวทีโลกได้เสื่อมลง เวนิสดิ้นรนโดยใช้แทคติกโดยเปลี่ยนเมือง....เป็นสถานเริงรมย์แทน คาสิโนพุดขึ้นเป็นดอกเห็ด โสเพณีตั้งแต่ระดับ Low cost ยัน Premium Full Service มีให้ชายหนุ่มได้เลือกสรร ว่ากันว่าถ้าเงินมากพอ...ขนาดแม่ชีก็ยังสามารถตกลงราคากันได้ ถือเป็น Destination ที่เคล้าโลกีย์ที่สุดแล้วในยุโรป เรียกว่าจากหนุ่มเวอร์จิ้นมาเที่ยวเวนิสสัก 2 อาทิตย์ กลับบ้านเกิดเมืองนอนไปนี่เทิร์นโปรเลย ส่วนพวกรวยๆ ก็แวะมาเล่นพนัน เต้นรำและเมาปลิ้นในงานกาลาสุดหรูที่ห้องบอลรูม ทำทุกอย่างที่ใจปราถนา แต่ทำไม่ได้ในบ้านเกิดของตัวเอง ภายใต้หน้ากากคาร์นิวัล

    แต่ด้านที่ดีก็มีนะ พวกโอเปร่า และงานศิลปะในเวนิซก็ถือว่าโด่งดังเป็นอันมาก เพียงแต่ฐานะของนครรัฐมหาอำนาจทางการเมืองของเวนิซได้ถูกลดความสำคัญลงมาเรื่อยๆ โดยเส้นทางการค้าที่เกิดขึ้นใหม่

    เวนิสคงความเป็นนครรัฐของตัวเองไว้ได้ จนกระทั่งปี 1797 ที่นโปเลียนบุกเข้ายึด และประกาศสิ้นสุดความเป็นนครรัฐของเวนิสลง หลังจากนั้นก็ตกไปอยู่ในการปกครองของออสเตรียอยู่พักนึง ก่อนจะถูกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลีอย่างในปัจจุบัน

    หากคุณอ่านทุกตัวอักษรมาจนถึงจุดนี้

    เนิร์ด มาก

    บอกเลย!


    つづく
    พบกันใหม่ตอนต่อไป
    ผู้พลาดพลั้งแห่งวันศุกร์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in