เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความไม่เรียงrainbowflick17☂️
ผู้หญิง นายพล โรงภาพยนตร์ และบทสรรเสริญบารมี
  • วันนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักและแอบดูสกู๊ปโฆษณาในคราบสารคดีสั้นที่ฉายก่อนภาพยนตร์ในทุกๆ โรง ชุดสารคดีดังกล่าวใช้งบประมาณสิบเจ็ดล้านห้าแสนเปเซตาสหรือประมาณ 4 ล้านบาทต่อเดือน*  และถูกบังคับฉายอยู่เป็นเวลาเกือบ 40 ปีในประเทศสเปน เรียกกันว่า NO-DO 

    *แม้ว่าจะไม่สามารถหางบที่ใช้ตั้งแต่เริ่มอย่างแม่นยำได้ แต่ตามข่าวใน El Pais เงินสิบเจ็ดล้านกว่านี้เป็นงบที่ใช้ผลิตในช่วงปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่กำลังจะเจ๊ง ทั้งนี้ด้วยค่าเงินที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย พูดได้ว่าเงินสิบเจ็ดล้านเปเซตาสหรือสี่ล้านบาทนี้เป็นเงินจำนวนมากเลยทีเดียว ถ้าเทียบกับไทยแล้วช่วงนั้นจะเป็น พ.ศ.2522 ก๋วยเตี๋ยวชามละไม่เกิน 5 บาท  เท่ากับว่า4ล้านสมัยนั้นมูลค่าอยู่ที่40ล้านของสมัยนี้

    บริบทการเมืองและการเมืองภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง

    ช่วงปี 1931 สเปนได้ทำการปลดกษัตริย์ลงจากอำนาจได้สำเร็จ และตั้งสาธารณรัฐสเปนที่ 2 ขึ้นมาแทน สาธารณรัฐสเปนที่ 2 นี้มีอุดมณ์การณ์แบบฝ่ายซ้าย ออกแนวสังคมนิยม ฝ่ายขวาจึงไม่ค่อยจะถูกใจนัก (คาดว่าอาจไม่ค่อยจะถูกใจตั้งแต่ช่วงที่มีการล้มเจ้า) กลายเป็นหนึ่งในชนวนความขัดแย้ง มีการจ่อจะรัฐประหาร และเกิดสงครามกลางเมืองสเปนในที่สุด   
    ทั้งนี้ สงครามกลางเมืองสเปนเกิดจากความขัดแย้งหลายด้านรวมกัน ไม่ใช่เพียงความขัดแย้งด้านการเมืองอย่างเดียว ดังนั้นแม้ว่าจะแบ่งขั้วความขัดแย้งได้เป็นสองฝ่ายใหญ่ๆ แต่แต่ละฝ่ายก็มีหลากหลายกลุ่มอยู่รวมกัน ซึ่งอาจไม่ได้มีอุดมณ์การณ์เหมือนกันทุกข้อ ทำให้สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก

    สองฝ่ายหลักในสงครามกลางเมืองสเปนได้แก่ 

    • กลุ่มนิยมสาธารณรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นชื่อเรียกที่เรียกกันเอง ฝ่ายตรงข้ามก็จะเรียกกลุ่มนี้ว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ มีกำลังหนุนจากฝั่งสหรัฐอเมริกา
    • กลุ่มชาตินิยม หรือนิยมชาติก็ตามแต่ ถือว่าเป็นชื่อดีๆ ที่ใช้เรียกกันเอง ส่วนฝ่ายตรงข้ามจะเรียกกลุ่มนี้ว่าเป็นพวกฟาสซิสต์  มีกำลังหนุนคือนาซีเยอรมัน และฝั่งฟาสซิสของอิตาลี 

    ท้ายที่สุดกลุ่มชาตินิยมโค่นกลุ่มสาธารณรัฐได้สำเร็จ และนายพลฟรังโก้ได้ขึ้นสู่อำนาจ

    สื่อและภาพยนตร์

    ในช่วงสงครามกลางเมืองดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายนอกจากจะใช้การต่อสู้จริงๆ แล้วก็ยังใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อด้วย มีการพยายามประโคมสื่อกันทั้งสองฝ่าย ผลิตภาพยนตร์และภาพยนตร์กึ่งอิงจากเรื่องจริงที่เข้าข้างฝ่ายตัวเองเป็นจำนวนมาก อาจจะมีป้ายสีหรือบิดเบือนฝั่งตรงข้ามด้วย แต่ฝ่ายของสาธารณรัฐมีมากกว่าและเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ณ ขนาดนั้นมากกว่า 

    ด้วยความที่ฝั่งตรงข้ามได้รับกระแสตอบรับและความนิยมมากกว่าโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่มาโดยตลอด เมื่อฟรังโก้ได้ขึ้นสู่อำนาจจึงจำเป็นต้องสร้างของใหม่มาเบียดเสียหน่อย รวมทั้งตอนนั้นก็จำเป็นต้องสร้างสื่อขึ้นมาหาความชอบธรรมให้กับฝ่ายตัวเองด้วย ดังนั้นมีโฆษณาชวนเชื่อออกมาในหลายรูปแบบ แทรกเข้าไปอยู่ในสิ่งบันเทิงอย่างภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน 

    NO-DO

    วันที่ 4 มกราคม 1943 โรงภาพยนตร์แห่งแรกในสเปนเปิดตัวพร้อมโปรแกรมเสริมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน รายงานข่าวทั้งในและนอกประเทศความยาวประมาณสิบนาที แต่คัดมาเฉพาะข่าวที่ระบอบฟรังโก้ในเวลานั้นต้องการจะให้ทราบ ต่อด้วยการสรรเสริญความเสียสละเพื่อชาติของท่านนายพล สื่อกึ่งข่าวกึ่งสารคดีกึ่งโฆษณาชวนเชื่อนี้มีหลากหลายเวอร์ชั่น และฉายก่อนภาพยนตร์ทุกเรื่อง ในทุกโรงภาพยนตร์ในสเปน 


    เพลงเปิดสุดติดหู 

    ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า NO-DO 
    NO-DO (โนโด) ย่อมาจาก Noticiarios y Documentales Cinematográficos แปลว่า ข่าวและภาพยนตร์สารคดี เริ่มฉายในปี 1943 ประมาณ 4 ปี หลังจากฟรานซิสโก ฟรังโก้ขึ้นสู่อำนาจ แต่ละชุดมีความยาวประมาณ 10 นาที เนื้อหาก็เป็นการคัดเลือกข่าวสารตามแต่ท่านผู้นำเห็นสมควร ตามด้วยสิ่งที่ท่านผู้นำอยากจะปลูกฝังให้คนในชาติตามที่กล่าวไปข้างต้น

    สิ่งที่ปรากฎบ่อยคือการนำเสนอภาพฟรังโก้คู่ไปกับความสงบเรียบร้อย (เนื่องจากสงครามกลางเมืองเต็มไปด้วยความรุนแรง ฟรังโก้ที่ขึ้นสู่อำนาจหลังความรุนแรงนั้นจึงมีวาทกรรมของ "ความสงบ" "สันติภาพคือชัยชนะ" ติดมาด้วย โดยหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือมีการเฉลิมฉลอง 25 años de Paz หรือ 25 ปีแห่งสันติภาพ แม้ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองการจบลงของสงครามกลางเมือง แต่ก็เป็นการเฉลิมฉลองความสงบภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการไปด้วยในตัว และช่วงนี้เองก็เป็นช่วงที่ฟรังโก้ปรากฎตัวบ่อยเป็นพิเศษ ใน NO-DO) มีภาพการรำลึกรักบ้านเกิด คริสตจักรคาทอลิก เรื่องทั่วไปที่ปรากฎบ่อย เช่น  กีฬา การสู้วัวกระทิง ศิลปะ งานฝีมือ 
    สิ่งไม่ปรากฎเลยคือการกล่าวถึึงสงครามกลางเมืองที่ผ่านมา รวมไปถึงความยากจนอันเป็นผลต่อจากสงครามนั้น

    ฟรังโก้เสียชีวิตในปี 1975 แต่ NO-DO ฉายครั้งสุดท้ายในปี 1981 สังเกตได้ว่าโนโดยังอยู่ถึงแม้ฟรังโก้จะเสียชีวิตไป 6 ปีแล้วก็ตาม   สาเหตุที่เจ๊งและต้องหยุดฉายในที่สุดน่าจะมีหลายปัจจัย แต่ปัญหาเรื่องการเป็นหนี้น่าจะเป็นปัญหาหลัก

    หลังจากที่ NO-DO เลิกฉายไปแล้ว สถานีโทรทัศน์ RTVE ก็ได้มีการรวบรวมทุกตอนที่เคยฉายเอาไว้ในเว็บไซต์ เป็นทั้งประโยชน์ทางการศึกษาประวัติศาสตร์และเป็นการบันทึกเรื่องราวไปในตัว

    คห.ส่วนตัว เทปแรกๆ มีการประโคมเรื่องทหารเป็นรั้วของชาติและสร้างภาพผู้กองยอดรักอย่างเข้มข้น แต่ภาพรวมในเทปหลังๆทั่วๆ ไป ก็ดูเหมือนสกู๊ปข่าวสั้นที่มีเนื้อหาหลากหลายทั้งในทั้งนอกประเทศ เหมือนดูเที่ยงวันทันเหตุการณ์ (มีความเพลิน) แต่ขณะเดียวกันก็สังเกตว่าข่าวในประเทศจะนำเสนอความเจริญและเรื่องจรรโลงใจเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการแทรกเข้ามาของค่านิยมต่างๆ คิดว่าลักษณะคงจะแนบเนียนขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจลดลงตามเวลา โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครอง

    เผด็จการกับผู้หญิง

    สมัยฟรังโก้พยายามจะจัดระเบียบสังคมโดยแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละเพศชัดเจน และการจัดระเบียบนี้ก็ถูกใส่เข้าไปใน NO-DO ด้วย เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจ
  • ในNO-DOมีการกล่าวถึงผู้หญิง เช่น

    "ผู้หญิงในอุดมคติ คือผู้หญิงสวยทว่าอ่อนน้อมถ่อมตน แข็งแกร่งทว่าประพฤติอยู่ในโอวาส"
     
    "...เป็นแม่ เป็นภรรยา ทำงานบ้านคล่อง ดูแลลูกได้ เมื่อสามีกลับมาบ้านตอนบ่าย สามีภรรยาและลูกๆ อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นความสุข ด้วยความรักซักเล็กน้อยแล้ว ก็ไม่ยากเลยที่จะเป็นผู้หญิงในอุดมคติ"

    "เหล่าสาววัยรุ่นชาวอังกฤษพกสปิริตแบบนักรบมาลงแข่งฟุตบอลดวลกับคู่แข่งอกสามศอก ไม่หวั่นแม้ต้องเผชิญหน้ากับผู้ชาย*"  
    *ใช้คำว่าต้องเผชิญหน้ากับ stronger sex หรือแปลว่า ต้องเผชิญหน้ากับเพศที่แข็งแกร่งกว่า ซึ่งตามพจนานุกรม เพศที่แข็งแกร่งกว่าในภาษาสเปน คำแปลคือ ผู้ชาย เพศชาย อยู่แล้ว (ref)
    "นอกจากหน้าตาสะสวยแล้ว ก็ต้องน่ามองด้วย เพียงแค่ข้ามถนน(ไปฟิตเนส) ทุกสิ่งที่จะช่วยให้สาวนักเต้นเหล่านี้รักษารูปร่างอ้อนแอ้นสวยงามได้ก็อยู่เพียงปลายนิ้วสัมผัส"

    ความเห็นจากผู้หญิงที่เคยอยู่ในยุคนั้น เช่น

    "ฉันไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงในอุดมคติเลย แต่ตอนนั้นก็รู้สึกว่าอยากจะมีคุณสมบัติเหล่านั้นให้ได้ คิดว่าคงจะรู้สึกภูมิใจ..."

    "พวกเขาอยากจะได้ผู้หญิงผมสีน้ำตาลเข้ม* ผู้หญิงที่รักสวยรักงามดูแลตัวเองดี ผู้หญิงที่พร้อมเสมอที่จะนอนกับสามี ..."
    *แปลได้หลากหลาย อาจมีความหมายแบบเฉพาะเจาะจงมาก คือ ผู้หญิงที่ไม่ได้มีเชื้อชาติแอฟริกันหรือไม่ได้มีเชื้อชาติผสมระหว่างแอฟริกันและยุโรป แต่มีสีผิวไม่ขาวจัดและมีผมสีเข้ม 
    "ผู้หญิงเป็นราชินีของบ้าน เป็นคนที่ดูแลลูกๆ เป็นที่ลี้ภัยของผู้ชาย แต่ไม่มีบทบาทเป็นของตัวเอง"





    พูดถึงผู้หญิงกับการขับรถ คลิปนี้สามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องเข้าใจภาษา 



    ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเรื่องเล่าเก่าๆ ผ่านไปนานมากแล้ว แต่โฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการเมืองในสื่อต่างๆ และเรื่องเพศในระบอบกับเผด็จการนั้นมีเรื่องใหม่ๆ เหตุการณ์ใหม่ๆ ให้เห็นอยู่เสมอ และมีในหลากหลายบริบทสังคม 

    ประเด็นเรื่องของเพศกับระบอบเผด็จการ นอกจากเรื่องการถูกยัดเยียดบทบาทต่างๆ แล้ว เรื่องการต่อสู้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เหตุการณ์ที่พอจะเป็นปัจจุบันหน่อยนอกจากในประเทศเราแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บีบีซีนำเสนอเรื่อง

    รัฐประหารเมียนมา : ทำไมสตรีเมียนมาจึงใช้ผ้าถุงสู้กับเผด็จการ : https://www.bbc.com/thai/international-56346614

    ไว้น่าสนใจมากๆ 




  • อ้างอิง

    JOSÉ RAMON PÉREZ ORNIA : No-Do dejará de existir en octubre 
    https://elpais.com/diario/1979/08/30/cultura/304812015_850215.html

    Vicente Sánchez-Biosca: NO-DO y las celadas del documento audiovisual https://journals.openedition.org/ccec/2703

    wikipedia esp ver : https://es.wikipedia.org/wiki/NO-DO



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in