เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ปกิณกะโรมาเนียbureikou
Totul บทกวีสะท้อนสังคมในยุคคอมมิวนิสต์ (1)
  • บรรยากาศการเข้าแถวต่อคิวรับปันส่วนอาหารในบูคาเรสต์ (เครดิตภาพ Scott Edelman)

    แต่ไหนแต่ไรมา วาทกรรมกับการเมืองนั้นเป็นของคู่กัน เนื่องจากกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่าภายใต้ระบบใดก็ตามล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแสวงหาแนวร่วม การพยายามสร้างวาทกรรมที่สามารถกระตุ้นความรู้สึก โน้มน้าวใจให้คนหมู่มากเห็นด้วย และมีความเชื่อหรือมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกันจึงเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่อาจเลี่ยงได้

    ในโลกเสรีเราเคยได้ยินวาทกรรม (ทั้งในทางสร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์) เช่น Change ของบารัค โอบาม่า หรือ America first ของโดนัลด์ ทรัมป์ ในโรมาเนียสมัยคอมมิวนิสต์ก็มีวาทกรรมที่น่าสนใจเช่นกัน คำๆ นั้นคือคำสั้นๆ ว่า Totul ออกเสียงว่า โตด-ตุล แปลว่า ‘everything’ ในภาษาอังกฤษ หรือ ‘ทุกสิ่ง’ ในภาษาไทยนั่นเอง

    คำว่า Totul นี้ จริงๆ แล้วเป็นเพียงคำศัพท์ธรรมดาที่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรม แต่เมื่อมันถูกนำมาใช้ในทางการเมือง คำธรรมดาๆ ก็เปลี่ยนเป็นไม่ธรรมดาแล้ว ทั้งนี้คำๆ นี้กลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองได้อย่างไร คงต้องเกริ่นถึงอดีตประธานาธิบดีเชาเชสคูผู้อื้อฉาวก่อน

    นิโคลาย เชาเชสคู (Nicolae Ceausescu) ในวัย 49 ปี เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียตั้งแต่ปี 1967 และครองตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนกระทั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียถูกประชาชนลุกฮือปฏิวัติจนล่มสลายลงในปี 1989

    ระยะเวลา 20 ปีเศษที่เขาอยู่ในอำนาจและได้อาศัยอำนาจนั้นกระทำการต่างๆ นานาซึ่งบันดาลให้เกิดผลลัพธ์ทั้งในทางที่ดีและทางร้าย จนบางครั้งผู้คน (บางคน) ก็มองว่าเขาเป็นผู้นำที่ดี กล่าวคือเป็นคอมมิวนิสต์หัวก้าวหน้าที่มีนโยบายเปิดกว้าง สนับสนุนการศึกษา เร่งรัดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือเป็นผู้นำรัฐสังคมนิยมที่มีจุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นของตนเอง โดยไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของพี่ใหญ่แห่งโลกคอมมิวนิสต์อย่างโซเวียต

    แต่บ่อยครั้งเขาถูกมองเป็นตัวร้าย เป็นเจ้าลัทธิบูชาตัวบุคคลที่มักสร้างภาพฝันสวยหรูให้แก่ชาวโรมาเนีย ทว่าตัวตนที่แท้จริงคือเผด็จการบ้าอำนาจที่ล้มเหลวในการบริหารประเทศอย่างสิ้นเชิง คำประกาศของพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียที่ยกให้ชนชั้นแรงงานเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เป็นผู้ผลิต และผู้ได้รับประโยชน์ แท้จริงเป็นเพียงลมปาก เพราะทั้งประเทศเผชิญปัญหาขาดแคลนสินค้าจนประชาชนต้องอยู่อย่างอดๆ อยากๆ กระนั้นเซคูริตาเต (Securitate) ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐก็พร้อมที่จะ ‘จัดการ’ ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรค ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง สื่อ ศิลปิน นักวิชาการ นักเขียน หรือแม้แต่ชาวบ้านที่ซุบซิบนินทาในทางที่ไม่เห็นด้วย

    เวลาที่เชาเชสคูกล่าวคำปราศรัยต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการพูดในที่ชุมนุมชนหรือแถลงการณ์ผ่านวิทยุกระจายเสียง เขามักจะกล่าวอ้างถึงผลงานของเขาและของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยใช้คำว่า ‘Totul’ เพื่อเน้นย้ำให้ผู้ฟัง (ประชาชน) ตระหนักว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียมี ‘ทุกสิ่ง’ ครบถ้วนบริบูรณ์ มีความเท่าเทียม มีความเจริญก้าวหน้า และทั้งหมดนั้นถือเป็นผลงานของเขา ซึ่งเป็นการบอกโดยนัยว่าประชาชนชาวโรมาเนียเป็นหนี้บุญคุณของเขานั่นเอง

    และนี่คือที่มาของวาทกรรม ‘Totul’ ซึ่งคนจำนวนมากพอได้ฟังแทนที่จะเชื่อถือกลับมองว่าคำๆ นี้เป็นวาทกรรมที่แสนจะย้อนแย้ง แม้แต่คนที่โง่เขลาที่สุดยังไม่หลงคล้อยตาม เนื่องจากสภาพวิถีชีวิตและความเป็นจริงที่ปรากฏในสังคมขณะนั้นมันฟ้องอยู่ทนโท่ ไม่ว่าจะเหลือบแลไปทางไหน พวกเขาแทบจะไม่พบเห็นสิ่งใดที่ดีพอให้ประธานาธิบดีเชาเชสคูหยิบยกมาใช้เป็นผลงานสำหรับลำเลิกบุญคุณได้เลย

    เมื่อตระหนักได้ดังนี้ นักคิดนักเขียนหลายคนก็เริ่มเขียนงานต่อต้านเชาเชสคูแบบอ้อมๆ แน่นอนว่าผลงานเหล่านั้นถูกสั่ง ‘แบน’ และตัวผู้เขียนเองก็ถูกจับ หรือไม่ก็ถูกย้าย ถูกให้ออกจากงานไปตามๆ กัน อย่างไรก็ดีมีกวีสาวผู้หนึ่งนามว่าอะนา บลันดิยาน่า (Ana Blandiana) ได้หยิบยกเอาวาทกรรม Totul มาเขียนเป็นบทกวี ซึ่งสามารถเสียดเย้ยการบริหารงานของพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างเจ็บแสบ สาระสำคัญของตัวบทกวีนั้นเรียบง่ายแต่ทรงพลัง เพราะมันเป็นการตอกกลับประธานาธิบดีเชาเชสคูแบบซึ่งหน้าว่า

    สาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียนั้นมี ‘ทุกสิ่ง’ ยกเว้นก็แต่สิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต!

    ในบทความหน้า เราจะมาดูกันว่าบทกวี Totul ของอะนา บลันดิยาน่ากล่าวถึงอะไรบ้าง และแต่ละสิ่งที่ถูกกล่าวถึงซ่อนนัยความหมายที่น่าสนใจอย่างไร


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in