เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Art first (because life can wait)jchang
[movie review] 3 things I learn from Dunkirk


  • หนังเกียวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไม่มีฉากเลือดสาด ไม่ได้พูดถึงการเมืองและไม่เห็นแม้แต่ใบหน้าของศัตรู ไม่มีตัวละครหลัก บทพูดน้อยซะจนแทบจะนับได้  Dunkirk ไม่ใช่หนังสงครามแบบที่ตีแผ่ความน่ากลัวของนาซีและสงครามให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ แต่บอกเราหลายประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิตมากกว่าสงคราม 






    *** มีสปอย์นะคะ ***




    1. Fairness: Survival is not fair !





    ถ้าโนเลนบอกว่า Dunkirk เกี่ยวของกับการมีชีวิตรอด ฉากที่โดนใจเราที่สุดคงหนีไม่พ้นฉากของกลุ่มทหารที่แอบอยู่ในเรือรอให้น้ำขึ้นจะได้ออกจากฝั่ง แต่บังเอิญว่าตอนนั้นเรือถูกยิงและน้ำหนักเกินทำให้ไม่ลอย ปัญหาสุดคลาสสิคของมนุษยชาติก็เกิดขึ้น อย่างที่ Alex ( แสดงโดย Harry Styles) ได้พูดไว้ 


    “Somebody’s gotta get off, so the rest of us can live.”

    ใครสักคนต้องออกไปเพื่อที่ว่าพวกเราทั้งหมดจะได้รอด 


    ในช่วงเวลาที่ต้องรอด เราควรจะเสียสละหนึ่งชีวิตเพื่อรักษาชีวิตของคนหมู่มากไว้หรือไม่ ? 


    ฉากหนึ่งชีวิตแลกหลายชีวิตใน Dunkirk นำคำถามคลาสสิคทางปรัชญาที่หลายๆคนอาจจรู้จักในชื่อ The trolley problem  มาเรียบเรียงใหม่ ขอเล่าก่อนว่า The trolley problem เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ว่า มีรถไฟกำลังวิ่งมาบนราง ถ้าปล่อยให้ว่ิ่งต่อไปรถไฟจะชนกลุ่มคนหลายคนที่ถูกผูกติดไว้กับรางรถไฟ แต่เรามีสิทธ์สับรางรถไฟได้ ถ้าสับแล้วรถไฟจะว่ิ่งไปอีกรางที่มีผู้ชายคนเดียวถูกผูกติดไว้ คำถามคือ เราจะสับรางเพื่อฆ่าหนึ่งชีวิตและรักษาอีกหลายชีวิตไว้หรือไม่




    ในทางปรัชญาคำตอบของ The Trolley problem นั้นไม่มีถูกมีผิดค่ะ นักปรัชญาเองก็เเบ่งเป็นหลายฝ่ายและทุกฝ่ายก็มีเหตุผลดีๆมารองรับคำตอบของตัวเองทั้งนั้น นักปรัชญาอย่าง Mill หรือ Benthem ที่เชื่อใน Utilitarianism (ประโยชน์นิยม) บอกว่าการรักษาชีวิตคนหลายคนยอมดีกว่าการรักษาชีวิตคนคนเดียว ดังนั้นเราควรสับรางเพื่อรักษาชีวิตคนหมู่มากไว้ 


    แต่มันก็เหมือนที่ Tommy (แสดงโดย Fionn Whitehead) ตะโกนเถียง Alex ในหนังว่า it is not fair !


    ความ Fair ของ Tommy คือ ทุกคนบนเรือล้วนแต่เป็นทหารร่วมรบเหมือนกัน เป็นมนุษย์เหมือนๆกัน ทุกคนควรมีสิทธิ์จะอยู่รอดบนเรือลำนี้ ไม่มีใครควรเสียสละ แม้ว่าทหารที่ Alex มองว่าสมควรตายเพื่อช่วยทุกคนจะเป็นทหารฝรั่งเศส (แสดงโดย Aneurin Barnard)ที่แฝงตัวเข้ามาก็ตาม ซึ่งคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมและควรได้รับการยอมรับอย่างแฟร์ๆของ Tommy ก็คล้ายคลึงกับปรัชญาของ Kant นักปรัชญาเยอรมันที่ปรัชญาของเขาเน้นที่คุณค่าของมนุษย์ มากกว่าผลลัพธ์ว่าจะรักษาชีวิตไว้ได้กี่ชีวิต เรียกว่าแบบว่า Alex ก็แฟร์ แบบ Tommy เออ แล้วจะเอายังไงดี ?



    บทโต้เถียงเกรี้ยวกราดระหว่าง Tommy และ Alex ฟังเพลินๆเหมือนไม่มีอะไร แต่ตอนดูหนังเรานี่นั่งลุ้นมากกว่าใครจะชนะ เหมือนหนังกำลังถามคนดูว่า ความแฟร์ของคุณคืออะไร คือการรักษาคนหมู่มาก หรือ การที่ทุกคนควรมีโอกาสรอดเท่าๆกัน ? ตอนกำลังลุ้น Nolan ก็ให้คำตอบที่ต่างออกไปกับคนดู นั่นคือน้ำที่ท่วมเข้ามาในท้องเรือ ทำให้ทุกคนเลิกเถียงและต่างพยายามเอาชีวิตรอดในที่สุด 


    ตอนแรกเราเเอบเสียใจที่หนังไม่ได้เลือกไปตรงๆว่าจะฆ่าไม่ฆ่า แต่พอกลับมานั่งคิดน้ำที่ท่วมเข้ามาดูจะเป็นคำตอบที่ตรงกับชีวิตดี เพราะในชีวิตจริงๆ (และในสงคราม) เราคงไม่มีเวลามานั่งเถียงว่าอะไรแฟร์ที่สุด ในหนัง Alex ก็ขู่ Tommy กลับว่าถ้าพูดมากก็ออกจากเรือไปเองเลย ซึ่ง Tommy เองก็มีอาการลังเล พูดไม่ออก  ในชีวิตและสงคราม ถ้าอยากจะมีชีวิตรอดแน่นอนว่าเราไม่มีเวลามานั่งลังเล เพราะถ้าเราลังเล เลือกไม่ถูก มั่วแต่มานั่งคิดว่าอะไรแฟร์ไม่แฟร์ โลกก็จะเลือกให้เราเอง เหมือนกับสายน้ำที่ท่วมเข้ามาและทำให้ ทหารฝรั่งเศสคนนั้นตายไปในเรือ 



    ซีนนี้เป็นซีนที่สรุปคำพูดหัวร้อนของ Alex ที่ว่า Suvivial is not fair ได้อย่างดี เพื่อเอาชีวิตรอด บางครั้งมันก็ไม่มีคำว่าแฟร์หรือไม่แฟร์ ก็ต้องแค่เอาชีวิตรอด 






    2.  Mental illness: He's not himself.



    ความประทับใจอย่างที่สองคือการที่ Nolan เล่นกับค่านิยมต่อผู้ป่วยทางจิตผ่านการเดินทางบนเรือของกัปตัน Dawson (แสดงโดย Mark Rylance) ที่ช่วยนายทหารตัวสั่นๆ (แสดงโดย Cillian Murphy) ขึ้นมาบนเรือ เริ่มฉากกัปตันก็บอกจอร์จ (แสดงโดย Barry Keoghan) ก่อนเลยว่า


    He’s shell-shocked.  He’s not himself.  He may never be himself again. 

    (เขาโดนแชลช็อก เขาไม่ใช่ตัวเอง บางทีเขาอาจะไม่ได้เป็นตัวเองอีกต่อไป)


    [ เผื่อใครไม่รู้นะคะ Shell shock คืออาการทางจิตที่เกิดมากในหมู่ทหารที่ผ่านสงครามค่ะ เจอระเบิดเสียงดัง เจอสงครามแล้วทำให้เกิดอาการแพนนิค ตื่นตกใจและหวาดกลัว ปัจจุบันนี้อาการ shell shock รู้จักกันภายใต้ชื่อโรค post traumatic stress disorder (PTSD) ค่ะ ]



    แม้ว่ากัปตันจะพูดดี แต่ความพีคของประเด็นนี้อยู่ที่ Charecter development ของปีเตอร์ (แสดงโดย Tom Glynn-Carney ) ที่มีต่อนายทหารคนนั้นค่ะ 




    เริ่มต้นจากตอนแรกที่ปีเตอร์ พาทหารคนนั้นไปพักในห้องเก็บของตามคำสั่งของกัปตัน จะเห็นว่ากล้องในหนังฉายที่กลอนประตูและความลังเลใจของปีเตอร์ว่าควรจะล็อกห้องขังทหารคนนี้ไว้รึเปล่า ซึ่งคนดูก็ลุ้นไปกับปีเตอร์ว่าจะล็อกไม่ล็อก ทหารคนนี้ก็ดูเป็นตัวปัญหากวนแต่จะให้หมุนเรือกลับอังกฤษ สุดท้ายปีเตอร์ก็ล็อคประตูขังไว้เป็นการตัดปัญหาในที่สุด 


    สิ่งที่ซ่อนอยู่ในฉากนี้คือการรักษาผู้ป่วยทางจิตในสมัยก่อนที่ทำการรักษาโดยการขังคนที่ป่วยทางจิตแยกไว้จากคนปกติ กีดกันไม่ให้มาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นจะได้ไม่สร้างปัญหา ซึ่งวิธีการักษาแบบนี้เป็นที่วิจารณ์กันมากในโลกตะวันตกมาเนิ่นนานแล้วค่ะ  ในปัจจุบันค่านิยมต่อผู้ป่วยทางจิตก็ยังคงเป็นการแยกพวกเขาออกจากคนอื่น คิดว่าพวกเขาแปลกแยก สร้างปัญหา และควรขังแยกไว้คนเดียว ซึ่ง Nolan ก็ใส่ค่านิยมตรงนี้ผ่านตัวละครปีเตอร์ได้อย่างดี 


    หลังจากฉากนี้ กัปตันก็ด่าปีเตอร์เลยว่าขังไว้ทำไม เอาเขาออกมา แต่พอออกมาปุ๊ป ทหารก็สร้างปัญหาด้วยการเผลอทำร้ายจอร์จ เหมือนที่ปีเตอร์อาจจะกลัวๆอยู่ในตอนแรก



    หนังแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ถูก shell shocked สร้างปัญหาจริงๆ มีปัญหาจริงๆ ตัวหนังไม่ได้พยายามสร้างความโลกสวยว่าผู้ป่วยจะต้องเป็นคนดี ไม่ทำร้ายใคร แต่ในขณะเดียวกันก็ฉายให้เห็นว่าหลังจากทำร้ายจอร์จแล้ว ทหารคนนั้นก็ซึมเศร้าไปเลย รู้สึกผิดและไม่ได้ตั้งใจ ทำให้เราย้อนคิดไปถึงคำพูดของกัปตันที่ว่า เขาไม่ใช่ตัวเอง และเขาอาจจะกลับไปเป็นตัวเองไม่ได้อีกแล้ว


    สุดท้ายตอนที่พีคมากคือ ฉากหลังจอร์จตายแล้วทหารคนนั้นถามปีเตอร์ว่า เด็กผู้ชายคนนั้นโอเครึเปล่า? ตรงนี้นักแสดงดีมากๆ เพราะพูดแค่ประโยคเดียวแต่รู้สึกเลยว่าเขารู้สึกผิดมากๆ และปีเตอร์ที่เงียบไปก็เป็นฝ่ายโกหกไปว่า เขาโอเค  ฉากนี้คือกรี๊ดในใจดังๆ จากปีเตอร์ที่ตอนแรกคือขังทหารคนนั้นไว้ ตอนจบกลับมีdevelopment เปลี่ยนจากความรู้สึกหวาดกลัว ไม่เข้าใจ เป็นการเข้าใจและพร้อมปลอบประโลมทหารคนนั้น แม้ว่าทหารคนนั้นจะเป็นคนทำให้จอร์จต้องตาย 

    บางทีเมสเสจตรงนี้อาจจะบอกว่า บางคนก็มีชีวิตรอดในแบบที่เขาก็ไม่ชอบ ไม่ได้อยากเป็น แต่เขาก็รอดมาแบบนี้ และบางทีเราควรจะเห็นใจเขามากกว่าจะกีดกันพวกเขาออกไป 






    3. Humiliation: They’ll be spitting at us in the streets.



    ในแง่หนึ่ง Dunkirk อาจจะเป็นหนังปลุกใจให้รักชาติ หรืออาจจะเป็นการตั้งคำถามว่าการเอาชีวิตรอดคือการมีชัยชนะในสงครามหรือไม่ สำหรับเราสิ่งที่ได้จากฉากจบของ Dunkirk คือประเด็นเกี่ยวกับ humiliation (ความละอาย) 




    ในฉากนั่งรถไฟกลับบ้าน Alex ทนอ่านหนังสือพิมพ์ไม่ได้ ไม่กล้ามองว่าคนอื่นที่รออยู่ที่จะถุยน้ำลายใส่ทหารขี้แพ้อย่างเขาที่หนีกลับบ้านมารึเปล่า ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ การถอนกำลังกลับห่างไกลจากคำว่าชัยชนะในสงคราม (และในชีวิตจริง) ดังนั้นเลยไม่แปลกใจที่ Alex กลับบ้านด้วยความรู้สึกเหมือนเป็นคนแพ้สงคราม ละอายจนไม่กล้าจะมองอะไรทั้งนั้น  เราชอบที่หนังนำเสนอฉากจบออกมาในแง่มุมนี้แทนที่จะบอกว่าตัวละครโล่งใจที่ได้กลับบ้าน เพราะการยอมรับความละอายของตัวเองก็เท่ากับการแสดงความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ ซึ่งความรู้สึกละอายนี่แหละที่จะทำให้อังกฤษลุกขึ้นสู้อีกครั้งในสงคราม 


    ตรงนี้ตรงปรบมือดังๆให้ Nolan ที่เล่าเรื่องได้ดีมาก ในฉากรถไฟกลับบ้านมีสามองค์ประกอบ คือ อารมณ์ของ Alex ที่ตอนนี้อายจนอยากแทรกแผ่นดินหนี รถไฟที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้สถานีเรื่อยๆ (แสดงอารมณ์ของผู้คนทั่วไป) และคำบรรยายจาก Tommy ที่อ่านspeech ของ Churchill 


    เริ่มแรกที่ Alex หดตัว ปิดหน้าไม่กล้ามอง Speech ของ Churchill ก็เป็นการยอมรับความพ่ายแพ้อย่างตรงไปตรงมา 


    Wars are not won by evacuations. But there was a victory inside this deliverance, which should be noted.

    สงครามไม่ได้ชนะด้วยการถอนกำลัง แต่มันก็ยังมีชัยชนะที่อยู่ในการถอนกำลังกลับในครั้ง 



    Our thankfulness at the escape of our Army must not blind us to the fact that what has happened in France and Belgium is a colossal military disaster.

    ความสำเร็จในการถอนกำลังจะไม่บังตาเราถึงความจริงที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมคือหายนะทางทหารครั้งยิ่งใหญ่ 



    แต่หลังจากรถไฟเข้าเมือง Alex ก็เห็นว่าผู้คนต่างปรบมือให้เขาแทนที่จะด่า พร้อมๆกับที่ speech ของ Churchill เปลี่ยนโทนจากาการยอมรับความพ่ายแพ้เป็นการสร้างความหวังว่า  We shall not flag or fail. We shall go on to the end ... We shall fight on the beaches ...  ตอนประโยคนี้ขึ้น Alex ก็ไม่ได้อยู่กับความละอายอีกแล้ว เพราะเขาเป็นฝ่ายโผล่หน้าออกจากโบกี้รถไฟและรับเสียงปรบมือจากคนอื่นๆ 







    Nolan ได้เล่าถึงการเปลี่ยนความละอายจากความพ่ายแพ้ให้กลายเป็นความหวังในการสู้ต่อไปเพื่อชัยชนะอย่างแท้จริงผ่านตัวละครของ Alex ได้อย่างแยบยล แสดงให้เห็นว่าพลังให้ชัยชนะที่แท้จริงนั่นมาจากความผิดหวังและความละอายใจ  นอกจากนี้ยังมีตอกย้ำการมีความหวังในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดด้วยการตัดสลับกับฉากคำพูดเต็มไปด้วยความหวังของ Churchill ตัดกับฉากนักบินถูกฝ่ายศัตรูจับตัวไป แม้จะดูหมดหวังแต่เราจะยังก้าวต่อไป จงใช้ความผิดหวังเป็นพลังเพื่อชัยชนะ !  







    *ก่อนจบจริงๆ ขอแทรกอีกฉากที่เราชอบมากๆ คือ ฉากที่ Alex บอกกับคนแก่ตาบอดที่มาแจกผ้าห่มว่า

    All we did is survive.

    และคนแก่ก็ตอบกลับว่า That's enough

    ความตลกร้ายของฉากนี้คือ ตอนที่ขึ้นรถไฟ Alex พูดกับ Tommy ว่า That old bloke wouldn’t even look us in the eye. (ตาแก่นั่นไม่ได้มองตาพวกเราด้วยซ้ำ)  Alex ไม่รู้ว่าตาแก่คนนั้นตาบอด !

    เราเองก็ไม่แน่ใจว่าตลกร้ายตรงนี้ต้องการสื่ออะไร อาจจะบอกว่าเป็น Alex เองรึเปล่าที่ตาบอดไม่เข้าใจว่า แค่มีชีวิตรอดกลับมาก็ดีแล้ว ไม่ได้เข้าใจความหมายของการมีชีวิตรอดเอาเสียเลย  ซึ่งถือเป็น irony เล็กๆในหนังที่ตอกย้ำคอปเซปการมีชีวิตรอดของหนังได้อย่างดี 









    สุดท้ายขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ค่า

    Twitter: @indiiej
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
วิเคราะห์ดีครับ