เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
NEW YORK 1ST TIME นิวยอร์กตอนแรกๆ...SALMONBOOKS
คำนำ

  • การเขียนคำนำสำนักพิมพ์เต็มไปด้วยความตื่นเต้น

    ครั้งแรกก็อย่างนี้ กลัวว่ามันจะไปกระทบกระเทือนการเล่าเรื่องของผู้เขียน กลัวมันจะไปทำลายอรรถรสของผู้อ่าน กลัวจะเขียนเยิ่นเย้อจนน่ารำคาญ แต่ใจหนึ่งเราก็อยากเขียนคำนำจนตัวสั่นเพราะเมื่อมาถึงขั้นตอนนี้มันมีความหมายว่าหนังสือที่เราบ่มเพาะใกล้เสร็จสมบูรณ์พร้อมแหวกว่ายสู่มือผู้อ่าน ขอเพียงแค่เราร่ายตัวอักษรในพื้นที่ตรงนี้เสร็จเท่านั้น (กดดันหนักกว่าเดิม)

    ที่ว่ามาคือความรู้สึกครั้งแรกของการเขียนคำนำสำนักพิมพ์

    ครั้งแรกที่คุยกับ ธนชาติ ศิริภัทราชัย เขาบอกเราว่าเป็นคนจริงจัง พูดอะไรก็ขึงขัง อย่าหวังว่าเขาจะเล่นมุกเรี่ยราดหรือปล่อยมุกตลอดห้านาที เพราะเขา (ย้ำอีกทีว่า) เป็นคนจริงจัง

    เราไม่รู้ว่าวันนั้นเขาพูดจริงหรือเล่นมุก แต่หลังจากนั้นเขาบอกว่าอยากทำหนังสือเกี่ยวกับนิวยอร์ก—มหานครแห่งแสงสี และตอนนี้เป็นมหานครที่ธนชาติอาศัยอยู่

    ความที่เขาเป็นคนจริงจัง (เราเป็นพวกเชื่อคนง่าย) เราจึงบอกเขาไปว่าถ้าเป็นหนังสือไกด์บุ๊คเราคงไม่ต้องการ เราเป็นกลุ่มคนที่ไม่ถนัดทำหนังสือนำเที่ยว และเราก็คงไม่อยากรู้เรื่องราวของสถานที่อย่างเทพีเสรีภาพ ฟิฟธ์อเวนิว หรือไชน่าทาวน์ เพราะเราไม่ใช่มนุษย์-ต่างดาวที่ชอบไปพังแลนด์มาร์กของมหานครที่ไม่มีวันหลับแห่งนี้

    หลังจากนั้นไม่นาน ธนชาติส่งต้นฉบับมาให้ชุดใหญ่ บอกว่านี่คือเรื่องราวในนิวยอร์กแบบที่เรา (น่าจะ) ต้องการ

    ครั้งแรกในนิวยอร์ก คือแกนหลักของหนังสือเล่มนี้

    เราเปิดต้นฉบับเขาอ่านเป็นครั้งแรกด้วยความตื่นเต้น

    อ่านไปได้สองย่อหน้า เราคิดในใจว่าธนชาติกำลังทำอะไร ใครจะไปอยากรู้เรื่องราวประสบการณ์ครั้งแรกของโนบอดี้อินไทยแลนด์ที่เก็บกระเป๋าไปเรียนต่อในนิวยอร์ก ต่อให้ใครไปอยู่ต่างประเทศมันก็มีเรื่องราวครั้งแรกกันทั้งนั้น แล้วเอาเข้าจริงประสบการณ์พวกนี้อยู่เมืองไทยก็ประสบพบเจอได้เหมือนกัน!?
     
    อ่านไปได้จนจบบท เราขอถอนคำพูด

    ประสบการณ์ครั้งแรกของเขาน่าสนใจอย่างไม่น่าเชื่อ เขามีจังหวะการเล่าเรื่องที่เฉียบขาด และที่สำคัญเรื่องเล่าของเขาแพรว-พราวไปด้วยมุกตลก (...ไหนบอกว่าเป็นคนจริงจัง)

    เราไม่แน่ใจว่าธนชาติตั้งใจหรือไม่ แต่ถ้าเปรียบให้เห็นภาพ เราคิดว่าเขาคงเป็นมนุษย์ที่ชอบเล่นมุกตลกหน้าตาย พูดจาแต่ละครั้งคู่สนทนาคงต้องคิดแล้วคิดอีกว่าเขาพูดจริงหรือเล่นมุก ยิ่งนำไปผสมกับเรื่องเล่าที่ชวนเหลือเชื่อในบางจังหวะ ทำให้เราสงสัยว่าคนบ้าอะไรจะเจอแต่เรื่องที่มันชวนเหวอตลอด นี่มันเรื่องจริงเหรอเนี่ย?!

    แต่อย่าลืมว่าธนชาติเป็นคนจริงจัง

    เราจะไม่ด่วนตัดสินธนชาติให้ทุกคนได้รู้จัก เพราะอีกไม่นานคุณก็จะได้รู้จักเขาด้วยลีลาภาษาและเรื่องเล่าในแบบฉบับของเจ้าตัวเอง

    แต่ก่อนที่คุณจะพลิกหน้าถัดไป เราขอทิ้งท้ายสักนิดว่า

    การอ่านเรื่องราวของธนชาติ น่าตื่นเต้นไม่แพ้กับการเขียนคำนำสำนักพิมพ์ครั้งนี้เลย





  • 1.

    “รายงานฉบับนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ...”

    ผมยังพอจำการเขียนคำนำครั้งแรกได้ ตอนนั้นน่าจะเป็นตอน ป.3 เทอม 1 ที่ผมต้องทำรายงานเรื่องการเพาะปลูกต้นพลูด่างส่งในวิชาการเกษตร ประโยคขึ้นต้นคำนำนั้นคือ “รายงานฉบับนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ...” ตามด้วยหัวข้อเรื่องนู่นนี่ที่จับสารบัญมายัดเข้าไปดื้อๆ ก่อนจะตัดจบด้วย “สุดท้ายนี้ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ทางผู้เขียนขอน้อมรับ...” มองย้อนกลับไปแล้ว มันดูไม่เท่เลยนะครับ ตรงๆ ดื้อๆและโคตรเซฟ แต่นี่ก็เป็นลักษณะหนึ่งของอะไรทั้งหลายที่เราทำเป็นครั้งแรกนั่นแหละ

    ‘ครั้งแรก’ มักจะเต็มไปด้วยความไม่รู้ ความตื่นเต้น ความล่ก ความเก้ๆ กังๆ ความมั่ว ความติดขัด ความไม่พลิ้ว ความไม่ค่อยเท่และหลายครั้งคือความฉิบหาย

    ย่อหน้าข้างบนคือสิ่งที่ผมพานพบมาตลอดสามปีที่มาใช้ชีวิตอยู่ในมหานครนิวยอร์กแห่งนี้

    การไปเรียนเมืองนอกอาจดูเป็นเรื่องเท่สำหรับใครหลายคน ได้ไปถ่ายรูปกับแลนด์มาร์กคูลๆ ใส่เสื้อผ้าหลายเลเยอร์คูลๆ กินอาหารหน้าตาคูลๆ ถ่ายรูปกับเพื่อนฝรั่งลุคคูลๆ อยู่ในสภาพบ้านเมืองที่คูลๆ แต่ถ้ามองให้ลึกเกินวัสดุรองพื้นบนเฟซบุ๊คพวกนี้ การเป็นเด็กนอกก็ใช่ว่าจะเท่เก๋ไก๋และอภิรมย์เสมอไป เพราะมันคือการปะทะกับเหตุการณ์สารพัดอย่างที่พร้อมใจกันเกิดเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งมักตามมาด้วยสถานการณ์ประสาทแตกแหกโค้งทั้งหลายที่เกินจะคาดเดา เหตุการณ์เวรี่เบสิกที่เราทำกันจนชินชาในบ้านเกิดอย่างเดินไปซื้อข้าวกิน ซักผ้า เข้าร้านตัดผม หรือเดินไปขึ้นรถเมล์ สามารถสร้างความฉิบหายให้ชีวิตได้หมด เมื่อเราย้ายมาอยู่ต่างถิ่น

    ยิ่งเป็นนิวยอร์กด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่

    2.

    พูดถึงนิวยอร์ก คุณนึกถึงอะไรครับ?
     
    เมืองที่มีเทพีเสรีภาพ เมืองที่มีตึกเอ็มไพร์สเตท เมืองที่มีไทม์สแควร์ เมืองที่มีตึกสูงเยอะๆ หรือเมืองที่แม่งมักจะซวยก่อนเพื่อนในหนังโลกแตกหรือหนังเอเลี่ยนบุก

    หลังจากที่มาพำนักอาศัยด้วยตัวเอง ผมว่านิวยอร์กคือความจัดจ้านที่เกิดจากการปะทะกันทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่มาจากทุกมุมโลก ความจัดจ้านที่เกิดจากวิถีชีวิตอันเร่งรีบ และความจัดจ้านจากคาแรคเตอร์ของประชากรที่ต่างคนก็ต่างจะเป็นตัวกูให้ถึงที่สุด

    ความจัดจ้านของนิวยอร์กโบยตีความหน้าใหม่ของผมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

    การทำอะไรสักอย่างเป็นครั้งแรกที่ว่าตื่นเต้น พอมาทำในนิวยอร์กแม่งยิ่งตื่นตระหนกตูมตามจามจุรีเข้าไปใหญ่ 

    ยอมรับว่าทุกวันนี้ เวลาตื่นขึ้นมาตอนเช้า ผมยังเผื่อเวลาเงียบๆ ให้กับตัวเองเพื่อเตรียมใจให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่นิวยอร์กจะซัดใส่หน้าผม เอ๊ะ...วันนี้มันจะมีเหตุการณ์พิลึกๆ อะไรมาเล่นงานกูอีกและวันนี้กูจะต้องเจออะไรเพี้ยนๆ บ้าง

    ถ้านิวยอร์กจะบอกอะไรผมสักอย่าง ก็น่าจะบอกว่า มึงจงทำความคุ้นเคยกับความไม่คุ้นเคยเสียดีๆ 

    3.

    ความคุ้นเคยดูเป็นสิ่งที่น่าประสงค์ เพราะมันคือความสบาย-ใจ ความคาดการณ์ได้ และความมีประสบการณ์

    แต่หลายครั้งความคุ้นเคยมักทับถมจนกลายเป็นความเคยตัว

    ความเคยตัวทำให้ธรรมชาติของชีวิตที่เคลื่อนอยู่ตลอดเวลาหยุดนิ่ง สิ่งต่างๆ รอบตัวเกิดเป็นแพตเทิร์นเดิมๆ ดาหน้าเข้ามาเรื่อยๆและเราเองก็ไม่อยากจะออกไปพบเจอกับอะไรแปลกๆ ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว นั่นแหละครับ ไม่ได้บอกว่าความคุ้นเคยไม่ดี แต่มากเกินไปก็ไม่เวิร์ก

    ถ้าจะแก้ภาวะความคุ้นเคยอุดตันด้วยอะไรสักอย่าง มันก็ต้อง ‘...ครั้งแรก’ นี่แหละ

    ครั้งแรกไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่อลังการแบบมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก พิชิตเทือกเขาคาราโกรัมเป็นครั้งแรก หรือเอาจริงเอาจังอย่างสมัครฟิตเนสเป็นครั้งแรก เก็บเงินไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก 

    ครั้งแรกสามารถเป็นอะไรที่เล็กน้อย กระจิริด และดูไร้สาระแค่ไหนก็ได้ เดี๋ยวคุณก็จะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากมันเสมอ หรือต่อให้ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มันก็ยังเป็นเครื่องปรุงรสชั้นเยี่ยมให้ชีวิต

    ขึ้นรถเมล์สายใหม่ๆ เป็นครั้งแรก

    กินกะเพราไก่กับไข่ลวกเป็นครั้งแรก (เอียนไข่ดาวละ)

    ฟังเพลงป๊อปตุรกีเป็นครั้งแรก

    แคะจมูกด้วยนิ้วนางเป็นครั้งแรก

    สั่งซื้อตั๋วหนังฝรั่งด้วยการบอกชื่อไทยเป็นครั้งแรก (แต่ก่อนผมชอบทำ สนุกมาก “พี่ครับ  ผมขอ มหาสงครามเครื่องจักรกลถล่มจักรวาล ภาค 2 หนึ่งที่ครับ”)

    หรือจับแปรงสีฟันในท่าจับดินสอเป็นครั้งแรก (เพิ่งอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ นักวิจัยเขาบอกว่านี่เป็นท่าทางการแปรงฟันที่เหมาะสมเพราะคอยจำกัดไม่ให้เราออกแรงมากจนเกินไปและสร้างความเสียหายให้กับเหงือกหรือไรฟัน)

    เฮ้ย! แล้วกูพล่ามเรื่อง ทรานส์ฟอร์เมอร์ กับสุขลักษณะในช่องปากทำไมเนี่ย นี่มันคำนำหนังสือเกี่ยวกับนิวยอร์กนะโว้ย!

    แต่นั่นแหละครับ

    ครั้งสุดท้ายที่คุณทำอะไรบางอย่างเป็นครั้งแรกคือเมื่อไรกัน?

    ถ้ามันนานมาแล้ว

    เห็นทีว่ามันคงถึงเวลาสำหรับครั้งต่อไปแล้วล่ะ

    ซึ่งถ้าสุดท้ายมันเกิดข้อผิดพลาดประการใด ทางผู้เขียนก็ขออภัยมา ณ ที่นี้...


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in