เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Running Formเข้าที่..ระวัง..ไป!
Running Form ท่าวิ่งที่ดีต้องเป็นแบบไหน?
  • ไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งมือใหม่ไปจนถึงนักวิ่งมือเก๋าก็คงจะสืบหาข้อมูลเพื่อพัฒนาการวิ่งของตัวเองกันมาไม่น้อยวิธีหนึ่งที่หนีไม่พ้นก็คงจะเป็นเรื่องของท่าวิ่ง วิ่งแบบไหนถึงจะถูก, วิ่งแบบไหนถึงจะไม่เจ็บ ซึ่งถ้าพูดกันถึงเรื่องของท่าวิ่ง แต่ละคนก็จะมีความถนัดและความชินที่แตกต่างกันออกไป ฉะนั้นนอกจากการมีท่าวิ่งที่ถูกต้องแล้ว ท่าวิ่งนั้นก็จะต้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน
    วันนี้เราจึงจะมาพูดถึงท่าวิ่งหรือ Running Form เพื่อจัดท่าวิ่งให้ถูกต้อง โดยจะอ้างอิงถึงหลักการ Pose Running ที่จะเน้นไปที่ Ball of Foot เป็นหลัก โดยจะแบ่งช่วงออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

      ช่วงแขนและมือ

    ถึงแม้ว่าโดยหลักแล้วการวิ่งจะเป็นการใช้ร่างกายช่วงล่าง แต่ช่วงบนก็เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยให้ข้อศอกงอทำมุม 90องศา กำมือหลวม ๆ แกว่งไปข้างลำตัว โดยให้มือผ่านจากช่วงเอวเลยขึ้นมาถึงช่วงหน้าอก (ระยะการแกว่งแขนจะขึ้นอยู่กับลักษณะของการวิ่ง เช่น การวิ่งเร็วอาจจะยกแขนขึ้นถึงช่วงบริเวณปาก) การแกว่งแขนที่ถูกต้องควรจะสัมพันธ์ไปกับการก้าวขาอย่างเป็นธรรมชาตินั่นคือแขนและขา จะต้องไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน การที่เราแกว่งแขนจะช่วยรักษาสมดุลและทำให้เราทรงตัวได้ดี

      ช่วงลำตัว

    ช่วงลำตัวถือว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้การลงเท้าเลยเป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวร่างกาย เวลาวิ่งควรจะตั้งตัวให้ตรง โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ไม่งอตัว ไม่เอียงซ้าย ขวา ขณะวิ่งช่วงเอวและสะโพกของเราควรจะอยู่ที่ระดับเดิมเสมอ นั่นคือเราต้องระวังอย่าปล่อยให้ขาจมหรืองอเข่ามากเกินไป มันจะเหมือนเรากระโดดขึ้น-ลงมากกว่าพุ่งไปข้างหน้า ฉะนั้นการที่เราปล่อยให้ช่วงตัวขยับขึ้น-ลงจะทำให้พลังงานที่เสียไปสูญเปล่า


      ระยะก้าวขาและการลงเท้า

    สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญในลำดับต่อมาคือระยะในการก้าวขา และการวางเท้า มีนักวิ่งหลาย ๆ คน อยากสร้างเวลาที่ดีต้องการวิ่งให้เร็ว แต่สุดท้ายต้องมาพ่ายแพ้ต่ออาการบาดเจ็บโดยไม่รู้สาเหตุ ระยะในการก้าวขาจะส่งผลกับช่วงขาโดยตรงหากเราก้าวขายาวเกินไป ก็อาจจะทำให้บาดเจ็บที่เข่าได้ เราจึงไม่ควรก้าวขายาวเกินไปแต่ใช้วิธีการก้าวขาสั้น ๆ แต่สับขาให้ถี่ขึ้นกว่าเดิมจะส่งผลดีกว่า
    ระยะก้าวขาเป็นสิ่งที่เราสามารถสังเกตได้ง่ายๆ ถ้าเราวิ่งแล้วเอาช่วงส้นเท้าลงพื้นก่อน (Heel Strike) นั่นหมายความว่าเรากำลังก้าวขายาวเกินไป หรือที่เราเรียกกันว่า Overstride มันคือการที่เราก้าวขาเกินช่วงตัว ถ้าเปรียบง่าย ๆ ก็คงจะได้ว่าขาเราก้าวนำหน้าตัวไปก่อน แต่ตัวเราตามขาไปทีหลัง

    การลงเท้าที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บน้อยที่สุด จะลงน้ำหนักที่ช่วงปลายเท้า (Forefoot Strike) โดยใช้ช่วงอุ้งเท้า หรือที่เรียกว่า Ball of Foot (BOF) เป็นตัวถีบส่งให้ขาไปข้างหลัง เพื่อส่งให้ตัวเราพุ่งไปข้างหน้า และลดแรงกระแทกที่เกิดขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับการลงน้ำหนักที่ส้นเท้ามันจะส่งแรงกระแทกจากพื้นกลับไปที่เข่าโดยตรง จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เข่า และข้อเท้า นอกจากนี้แรงจะไม่ถูกส่งให้เราไปข้างหน้าด้วยทำให้เราเสียแรงในการก้าวขาไปโดยเปล่าประโยชน์



    ท่าวิ่งที่ดีนั้นอาจจะไม่มีสูตรที่ถูกต้อง และตายตัว ไม่ว่าจะได้สูตรไหนมาก็ต้องลองนำไปปรับใช้เพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองกันนะคะ


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in