เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สนทนาการ์ตูนdearjane97
Vindland Saga ดินแดนไร้สงคราม
  • **สปอยล์เนื้อหาสำคัญ**

    เมื่อเร็วๆ นี้เรามีโอกาสได้ตามดูอนิเมะประจำปีนี้ที่ชื่อว่า 'Vinland Saga' ซึ่งดัดแปลงมาจากมังงะในชื่อเดียวกัน โดยมีสำนักพิมพ์ สยามอินเตอร์ คอมมิคส์เป็นผู้จัดจำหน่ายมังงะฉบับภาษาไทย ซึ่งเขียนโดย มาโคโตะ ยูคิมูระ (Makoto Yukimura) ในฉบับอนิเมะนั้น สตูดิโอที่ผลิตก็คือ Wit Studio เจ้าเดียวกับที่ผลิตอนิเมชั่นเรื่อง Attack on Titan หรือ Shingeki no Kyojin นั่นเอง

    โดย Vinland Saga เล่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กชายที่ชื่อธอร์ฟิน (Thorfinn) หรือในมังงะฉบับไทยทับศัพท์ชื่อว่า ทอลฟิน เขาเป็นลูกของแม่ทัพใหญ่ที่เบื่อสงครามและหนีมาตั้งต้นชีวิตใหม่ที่ไอซ์แลนด์ด้วยการเป็นชาวบ้านธรรมดา ทว่าวันหนึ่งพ่อของธอร์ฟินถูกเรียกตัวกลับไปเข้าร่วมสงคราม เขาจึงจำใจต้องไป และระหว่างการเดินทางก็ถูกฆ่าโดยกลุ่มไวกิ้งกลุ่มหนึ่งต่อหน้าต่อตาธอร์ฟิน ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวการแก้แค้นของธอร์ฟิน

    ในเรื่อง Vinland Saga จะอิงมาจากประวัติศาสตร์คริสต์ศตวรรษที่ 11 ของทวีปยุโรป (แน่นอนว่ามีการดัดแปลงรายละเอียด ส่วนผลลัพธ์ยังคงเดิม ส่วนตัวเราไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์แถบยุโรปเลย ดังนั้นจึงจะพูดถึงแง่คิดต่างๆ ในเรื่องเท่านั้น) โดยชื่อตัวละครหลายตัวในเรื่องนั้นนำมาจากชื่อของบุคคลที่มีอยู่จริง หรือชื่อเทพเจ้าในตำนานของนอร์ส และเล่าเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ ศาสนา สงคราม และวิถีชีวิตของไวกิ้ง (Vikings)

    ดูเผินๆ เรื่องนี้อาจจะเหมือนกับมังงะสายหลักทั่วไป ทว่าสิ่งที่แฝงอยู่มังงะเรื่องนี้มีแนวคิดมากมายที่น่านำไปขบคิดต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงคราม ศาสนา และ ideologies แบบต่างๆ

    สิ่งที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของการ์ตูนเรื่องนี้คือการมีอยู่ของศาสนา โดยในเรื่องจะเล่าถึงความเชื่อในแบบของนอร์ส โดยความเชื่อหลักของชาวนอร์สคือ ผู้ใดที่เป็นนักรบและต่อสู้อย่างกล้าหาญในสนามรบ เมื่อตายไปจะถูกเชิญไปยังวัลฮาล่า (Valhalla) ซึ่งเป็นสรวงสวรรค์ แต่เป็นสรวงสวรรค์ที่เป็นสนามรบของเทพเจ้า และเตรียมทำสงครามครั้งสุดท้ายในฐานะทหารของเทพเจ้าสูงสุด หรือสงครามที่เรียกว่า แร็คนาร็อค (Ragnarok) ความเชื่อนี้แหละ คือหลักการดำเนินชีวิตที่สำคัญของชาวไวกิ้งทุกคนในสมัยนั้น การเป็นนักรบเป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นแรงบันดาลใจ เป็นทุกๆ อย่าง หากใครไม่ทำตัวเป็นนักรบก็จะถูก discriminate ถูกแบ่งแยกจากคนส่วนมาก ในขณะที่เริ่มมีคนอีกจำพวกหนึ่งเชื่อว่าชีวิตธรรมดา เป็นชาวไร่ ชาวนา เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย ตกปลานั่นแหละคือชีวิตที่วิเศษสุดของมนุษย์แล้ว

    เราอาจจะพอรู้กันอยู่แล้วว่าศรัทธานั้นมีพลังที่ยิ่งใหญ่มากแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นศรัทธาเกี่ยวกับอะไรก็ตาม อาจเป็นศาสนา นักการเมือง หรือแม้กระทั่งไอดอลที่ชอบ แต่เรื่องนี้ฉายภาพพลังของศรัทธาออกมาได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งจนเรานึกกลัวในพลังนั้นไปเลย 

    ในแง่หนึ่งหากชาวไวกิ้งไม่ยึดถือความเชื่อเรื่องวัลฮาล่า พวกเขาอาจจะไม่มีแรงจูงใจพอที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสนามรบที่มีแต่กลิ่นคาวเลือด และความโหดร้ายได้จนต้องหนีตายออกจากทัพ บางคนอาจบอกว่าความเชื่อนี้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวให้พวกเขาดำรงวิธีชีวิตแบบชาวไวกิ้งต่อไปได้ แต่สิ่งที่เรามองเข้าไปนั้น เราเห็นว่าศรัทธานี้ก็เหมือนดาบสองคม เพราะความเชื่อนี้เองที่ทำให้คนเรามองว่าการฆ่าฟันเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกัน จนถึงระดับที่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทุกคนอยากจะไปอยู่บนสรวงสวรรค์ของเทพเจ้า

    ทางด้านของตัวละครหลักอย่างธอร์ฟิน หลังจากการตายของพ่อเขา ธอร์ฟินก็ตัดสินใจติดตามกลุ่มของอัสเคลัด (Askeladd) ไปเพื่อแก้แค้นให้กับพ่อของตน อัสเคลัดคือหัวหน้ากลุ่มนักรบรับจ้างผู้คร่าชีวิตพ่อของธอร์ฟินไป พ่อของธอร์ฟินเป็นนักรบที่แข็งแกร่งมาก มีชื่อเสียงแบบที่ว่าพูดชื่อไปใครๆ ก็รู้จักไปหมด แต่ทว่าหลังจากพ่อของธอร์ฟินหนีทัพนั้น เขาได้กลับกลายเป็นคนอีกคน เพราะเขาได้ค้นพบแนวคิดใหม่ที่ตัวเองยึดถือ พ่อของธอร์ฟินหรือ ธอร์ส (Thors) เชื่อว่านักรบที่แท้จริงต้องไม่ใช้ดาบ และตัวเขานั้นไม่มีศัตรู ไม่ว่าใครบนโลกใบนี้ก็ไม่มีศัตรู เขาพบว่าสงครามไม่ใช่ทุกสิ่ง และดาบก็ไม่ใช่คำตอบของชีวิต 

    ธอร์สได้สอนแนวคิดนี้ให้กับธอร์ฟินในนาทีสุดท้ายของชีวิต ทว่าด้วยความเป็นเด็กและไม่เดียงสาของธอร์ฟิน บวกกับโทสะจากการที่เห็นพ่อโดยฆ่าตายต่อหน้าต่อตา ไม่ได้ช่วยให้เด็กน้อยเข้าใจถึงความหมายของคำสอนนั้นเลยแม้แต่น้อย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ธอร์ฟินทำต่อจากนั้นล้วนตรงข้ามกับที่พ่อเขาสอนทั้งหมด

    ธอร์ฟินมีชีวิตอยู่ด้วยความแค้น ไม่ใช่ความรัก เขาติดตามอัสเคลัดไปและลับฝีมือตนเอง ยอมทำงานในสงคราม คร่าชีวิตผู้คนมากมาย แลกกับการประลองกับอัสเคลัดเพื่อแก้แค้นให้พ่อของเขา ถึงขนาดที่แฟนอินเตอร์หลายๆ คนเอาไปเล่นเป็นโจ๊กเลยทีเดียวว่าไอ้นี่พ่อสอนอะไร เอ็งแม่งทำตามตรงข้ามทุกอย่าง พ่อบอกไม่ให้เอ็งใช้ดาบ เอ็งเลยไปใช้กริชแทนใช่ไหม ฉลาดจริงๆ ไอ้นี่... (เขาใช้คำว่า dagger มาล้อ แต่ภาษาไทยก็ใช้คำว่าดาบสั้นอยู่ดีแหละ) ธอร์ฟินทำทุกอย่างลงไปเพื่อแก้แค้นให้พ่อ เขาจับดาบ (สั้น) ฆ่าฟันศัตรูตั้งแต่อายุราวหกขวบ ใช้ชีวิตในสนามรบราว 11 ปีเพื่อแก้แค้นให้พ่อ โดยลืมไปว่าคนที่เขาฆ่าไป ก็เป็นครอบครัวของใครคนหนึ่งเช่นกัน

    เอาจริงๆ จากสิ่งที่ธอร์ฟินฝันเห็นหรือแว้บคิดมาในหัวบางครั้งทำให้เราคิดว่า ธอร์ฟินไม่ได้ลืมหรอกว่าสิ่งที่ตัวเองทำแม่งผิด แม่งโหดร้าย แต่เพราะไฟแค้นมันบังตา ชนิดที่ว่าคุณค่าและเป้าหมายในชีวิตของธอร์ฟินอยู่ที่ว่า เขาจะแก้แค้นให้พ่อได้ไหม เขาจะฆ่าอัสเคลัดได้หรือเปล่า

    แต่ความสัมพันธ์ของอัสเคลัดความธอร์ฟินมันช่างซับซ้อน... แม้ว่าสิ่งที่เชื่อมสองคนนี้ด้วยกันคือความแค้นและผลประโยชน์ แต่เพราะธอร์ฟินโตมากับอัสเคลัด อัสเคลัดจึงเป็นเหมือน father figure หรือพ่อคนที่สองของธอร์ฟินเลยแหละ และไม่เพียงเท่านั้นตัวละครอัสเคลัดยังมีความซับซ้อน มีหลาย layers ในตัว เปรียบได้กับหัวหอม ยิ่งปลอกไป ยิ่งเห็นว่ามีหลายชั้น ทั้งยังมีความสำคัญต่อการเติบโตของธอร์ฟินและเนื้อเรื่องของการ์ตูนเรื่องนี้มากอีกด้วย

    อัสเคลัดเป็นตัวละครที่เราทั้งรัก ทั้งเกลียดเลยแหละ ฉลาดและโหดเหี้ยม ทำทุกอย่างได้เพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเองโดยไม่สนใจใครหน้าไหนทั้งนั้น เขามีชีวิตอยู่เพียงเพื่อทำสิ่งที่เขาต้องการให้สำเร็จ เพราะงั้นมิตรภาพและสายสัมพันธ์เกือบทั้งหมดในชีวิตเขาแทบจะไม่มีอะไรจริง (ใช้คำว่าเกือบเพราะก็พอจะมีอยู่บ้าง) แต่เขาก็ตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันโหดร้ายแค่ไหน และเพราะเขาตระหนักได้เราเลยยิ่งเกลียดขี้หน้าแม่งเลย อัสเคลัดตัดสินคนอื่นตลอดว่าโหดร้าย ป่าเถื่อน ไร้ความงดงามในฐานะมนุษย์ แต่ทุกอย่างที่เขาเกลียด เขากลับทำเองทั้งสิ้น เพื่อแก้แค้น และเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เป็นตัวละครที่ทั้งมีเสน่ห์และน่าสะอิดสะเอียนไปพร้อมกัน

    จุดสำคัญของ character development ในเรื่องนี้คือการเปลี่ยนผ่านของ ideology จากแนวคิดหนึ่งไปสู่อีกแนวคิดหนึ่งนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นธอร์ฟิน หรือราชาคานูท (Canute) หรือพระเจ้าคนุตมหาราชนั่นเอง ราชาคานูทเป็นตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งของเรื่อง ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงคนละแบบกับธอร์ฟินตัวเอกของเรื่อง โดยสองคนนี้จะได้เจอกันช่วงก่อนการขึ้นครองราชย์ของราชาคานูท ในตอนนั้นเขายังเป็นเจ้าชายอยู่

    ในช่วงเวลาที่คานูทกับธอร์ฟินได้เจอกัน เป็นช่วงเวลาที่ศาสนาคริสต์เข้ามามีบทบาทมาก รวมถึงค่อยๆ แทรกซึมเข้ามายังชาวไวกิ้ง กระนั้นส่วนใหญ่ก็ยังศรัทธาในความเชื่อแบบนอร์สตามเดิม แต่คานูทนั้นศรัทธาในศาสนาคริสต์ เขาเกลียดการสู้ สงคราม ดาบ หรือฆ่าฟันยังถึงที่สุด แม้ศัตรูจะบุกเข้ามายังค่ายกองทัพของเขา เขาก็ยังทำเพียงแค่สวดภาวนาในเต๊นท์ต่อไป 

    แต่... ธอร์ฟินกับราชาคานูทเป็นสองคนที่เปรียบได้กับเส้นขนาน แม้จุดมุ่งหมายจะเหมือนกัน แต่แนวคิดนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ธอร์ฟินจากเป็นคนโหดเหี้ยมกลับกลายเป็นอ่อนโยน ราชาคานูทจากคนที่อ่อนโยนกลายเป็นคนที่เด็ดขาด กลายเป็นคนที่มีคล้ายกับอัสเคลัด สามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง เนื่องมาจากกลายเปลี่ยนผ่าน ideology ทั้งสิ้น โดยการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้เกิดจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ความเป็นไปของโลกจากประสบการณ์ต่างๆ แล้วได้คำตอบออกมาในคนละมุมมองกัน

    ตัวตนของราชาคนูทไม่เพียงแต่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของคนคนหนึ่งที่ต้องพบเจอความโหดร้ายของสงคราม แต่ยังรวมถึงความเชื่อทางศาสนา และความน่ากลัวของอำนาจอีกด้วย ไม่ว่าจะจากตัวคานูทโดยตรง หรือกษัตริย์องค์ก่อนผู้เป็นราชบิดาของคานูทต่างสะท้อนถึงความมัวเมาลุ่มหลงต่อมงกุฏทั้งสิ้น (แม้คานูทจะอ้างว่ากลายเป็นอสูรร้ายเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจของมงกุฏมีผลต่อการตัดสินใจ และการกระทำของเขาเช่นกัน) 

    เมื่อมนุษย์คนหนึ่งมีอำนาจสูงสุดในมือ และเชื่อว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงทั้งทวีปได้ราวกับเป็นพระเจ้า ตราชั่งที่ใช้วัดความถูกต้องของเขาก็จะพังทันที เขาจะเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นดีต่อประเทศที่สุดแล้ว สิ่งที่เขาทำคือความถูกต้องโดยแท้จริง ทั้งที่ไม่ได้ถามคนอื่นเลยว่าต้องการมันไหม หรือคิดว่าสิ่งที่เขาทำมันถูกต้องหรือเปล่า เพราะเขาคือพระเจ้า เพราะตัวเขาเองคือความถูกต้อง

    นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่เราเอียนเอนไปทางเสรีนิยม เราเชื่อในระบอบประชาธิปไตย เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือของคนคนเดียว เราสามารถตรวจสอบได้ เพราะอำนาจเป็นของทุกคนในประเทศ ไม่ใช่อำนาจของใครคนหนึ่ง เขาคนนั้นก็แค่เป็นตัวแทนของเรา เขายืมอำนาจนั้นมา และหากเขาทำผิด เขาก็ต้องคืนมันให้กับทุกคน เขามีฐานะเท่าเทียมกับทุกคน และเขาไม่ควรหลงนึกไปว่าตัวเองคือพระเจ้าที่สามารถชี้ถูกหรือผิด ชี้เป็นหรือชี้ตายใครได้ง่ายดายเพียงแค่ออกปาก

    เราคิดว่าอนิเมะเรื่องนี้คงทำถึงจบองก์แรก (Arc) ซึ่งก็จะสิ้นสุดที่เรื่องราวก่อนราชาคนูทจะครองราชย์ ในใจก็ขอภาวนาให้อนิเมะได้ไปต่อในซีซั่นที่สอง เพราะนอกจากภาพสวย มุมกล้องดี เพลงประกอบเพราะแล้ว เราชอบเรื่องราวใน Arc ที่สองมาก เพราะได้เห็น development ของธอร์ฟินจริงๆ (ส่วน arc นี้ development ของราชาคานูทเด่นกว่าไปอีกกกก) ถึงใครๆ จะแซวว่ามันเป็นภาค Harvest moon (ทำฟาร์ม ปลูกผัก) ก็เถอะ แต่เราคิดว่ามันไม่ได้เนื้อหาออกทะเลสักนิด เราคิดว่าองก์ที่สองเป็น Arc ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของธอร์ฟินซึ่งน่าทึ่งและก้าวกระโดดมาก และเป็น Arc ที่อาจารย์ผู้แต่งตั้งใจจะสะท้อนถึงเรื่องของทาสเป็นหลักอีกด้วย

    ในส่วนของ Arc แรกหรือพาร์ทที่อนิเมะทำถึงนั้นเป็นเพียงแค่ Prologue หรือบทนำของ Vinland Saga เท่านั้น (เป็น prologue จากคำยืนยันของ official เองเลย)

    ส่วนชื่อเรื่อง Vinland Saga นั้นมาจาก เรื่องเล่าของคุณเลฟ ดินแดนแสนอุดมสมูรณ์ที่คุณเลฟ เพื่อนนักเดินเรือของพ่อธอร์ฟินเคยค้นพบมาครั้งหนึ่ง และเป็นดินแดนในฝันของธอร์ฟินที่ต้องการจะสร้างดินแดนไร้สงครามให้เกิดขึ้นให้ได้ และตัวละครสำคัญอื่นๆ ยังมีดินแดนในฝันของแต่ละคนด้วย แม้มีชื่อแตกต่างกันไป แต่รวมๆ แล้วสิ่งที่ทุกคนปรารถนาก็คือดินแดนที่สงบสุขและเต็มไปด้วยความรัก

     Vinland Saga ถ้าจะแปลตรงตัวก็คือตำนานของวินแลนด์ ดังนั้นเราขอเดาว่าเรื่องนี้จะดำเนินไปจนถึงการก่อตั้งประเทศวินแลนด์ขึ้นมา หรือต่อให้จะจบยังไง จะเป็นแบบไหน เราก็หวังว่าเรื่องนี้จะไม่โดนดอง

    สรุปก็คือเรื่องนี้คือหนึ่งในการ์ตูนที่เราคิดว่ามีข้อคิดให้ขบคิดมากมาย แฝงปรัชญา และแนวคิด ความเชื่อทางศาสนา มีแฝงประวัติศาสตร์ไว้ด้วย ซึ่งแม้จะมีการดัดแปลงไปเพื่อความเหมาะสมในการทำเป็นการ์ตูน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจ เป็นการ์ตูนที่คุ้มค่าในการเสพ ต่อให้คุณคิดว่าคงไม่สนุก แต่ลองดูก็ไม่เสียหายอะไร และหากเข้าใจแง่คิดของการ์ตูนเรื่องนี้ก็อาจได้คำถามอะไรหลายๆ อย่าง ไปคิดหรืออภิปรายกับคนอื่นต่อด้วย ซึ่งอนิเมะเรื่องนี้โยนคำถามใส่เยอะมากๆ จนไม่รู้จะโคปยังไงให้หมดเลยทีเดียว




    ** หากมีข้อมูลตรงไหนผิดพลาดขออภัย และสามารถแจ้งได้ค่ะ





Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in