เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
of Dust and PaperSchvala_
หอยสังข์ กองไฟและการชุมนุม : วิเคราะห์ Lord of the Flies (1)
  • Lord of the flies วัยเยาว์อันสิ้นสูญ

    (William Golding)


    ในบทความก่อนหน้านี้ ( https://minimore.com/b/8Osvk/1) เราได้เขียนรีวิวคร่าวๆ ถึงหนังสือเล่มนี้ไปค่ะ 


    ที่จริงแล้ว Lord of the flies จะอ่านเป็นนิยายผจญภัยบนเกาะร้างของกลุ่มเด็กชายเฉยๆ ก็ได้ (ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการผจญภัยที่ร้ายกาจและหดหู่ไปซักหน่อย) หรือจะอ่านแล้วมาตีความก็ทำให้ได้มุมมองที่น่าสนใจหลายอย่างเลยค่ะ

    Willium Golding เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นในปี 1954 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีไอเดียคือต้องการเขียนเกี่ยวกับความสำคัญของกฎระเบียบและความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ 

    วันนี้เลยจะลองมาตีความนัยแฝงใน Lord of the flies กันค่ะ ซึ่งจริงๆ มีหลายประเด็นเหลือเกิน ซับซ้อนและแฝงเอาไว้ในทุกๆ ประโยค จนมีคำกล่าวว่านี่เป็นหนังสือที่ไม่สามารถตัดคำออกไปได้เลยแม้แต่คำเดียว เพราะทุกอย่างสำคัญหมด

    แต่ประเด็นคร่าวๆ ที่ได้จากการอ่านครั้งแรก ก็คือสามประเด็นหลักที่เราพูดถึงในบทความก่อนหน้านี่แหละค่ะ ซึ่งทั้งสามอย่างก็เกี่ยวพันทับซ้อนกันจนแทบแยกไม่ออก เราจะลองตีความตามแบบของเราดูนะคะ


    Disclaimer : บทความต่อจากนี้เป็นการตีความตามความเข้าใจของเรานะคะ และต้องขอออกตัวก่อนว่า เราไม่ได้เรียนทางวรรณกรรมมาโดยตรง ถ้าหากมีตรงไหนผิดพลาดหรืออยากแลกเปลี่ยนอะไร บอกเราได้นะคะ


    ** Spoiler alert

    -------------------

    สำหรับบทความวันนี้เราจะพูดถึงการก่อร่างสังคมของเด็กๆ กันค่ะ


    หนังสือเปิดเรื่องด้วยกลุ่มเด็กชายที่ติดอยู่บนเกาะร้างกลางมหาสมุทร ซึ่งเป็นคล้ายการจำลองสภาพสังคมของมนุษย์มาอยู่ในขนาดย่อม บนเกาะร้างที่ตัดขาดจากโลกภายนอกไม่มีสังคม ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีอารยธรรมใดๆ เป็นสังคมที่เริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ศูนย์ และเริ่มต้นสร้างตนเองขึ้นมาโดยปราศจากกฎเกณฑ์จากภายนอก

    เมื่อมนุษย์ไปติดอยู่ในสถานที่ซึ่งไม่รู้จัก สิ่งแรกที่พวกเขาหันไปหาย่อมเป็นอำนาจที่จะทำให้พวกเขารู้สึกมั่นคงปลอดภัย สำหรับเด็กเหล่านี้ก็คือผู้ใหญ่ แต่เกาะแห่งนี้ไม่มีผู้ใหญ่อยู่เลย พวกเขาจึงต้องเริ่มหาทางอยู่รอดกันเอง

    ในตอนแรก เด็กๆ จึงพยายามสร้างสังคมโดยอ้างอิงจากภาพจำของสังคมที่พวกเขาจากมา เริ่มจากการที่ราล์ฟเป่าหอยสังข์และเรียกทุกคนมาชุมนุมกัน ซึ่งการชุมนุมนี้อาจแสดงได้ถึงการเมืองแบบประชาธิปไตย

    พวกเขาได้ทำการเลือกหัวหน้าโดยการโหวต ราล์ฟถูกเลือกให้เป็นหัวหน้า แม้ว่าเด็กคนอื่นจะยังไม่รู้จักเขาดี แต่พวกเขาเลือกจากภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูสง่างาม จากภาพจำของ 'คนที่ดูเป็นผู้นำ' และราล์ฟยังเป็นผู้ที่เป่าหอยสังข์เรียกทุกคนมา หอยสังข์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ (Authority) โดยปริยาย

    การเลือกหัวหน้านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของความขัดแย้งระหว่างแจ็คกับราล์ฟ 

    แจ็คเป็นเด็กชายตัวโต แข็งแรง เป็นหัวหน้าคณะประสานเสียง เขาต้องการเป็นหัวหน้า แต่เมื่อไม่ถูกเลือก เขาจึงเสนอตัวเป็นนักล่าแทน ซึ่งราล์ฟเองก็ยินยอมโดยดี เรามองว่าตรงนี้ราล์ฟทำไปเพื่อลดความตึงเครียดภายในกลุ่ม และมอบอำนาจบางส่วนให้แจ็ค แม้ว่าสุดท้ายการตัดสินใจนี้จะย้อนกลับมาทำร้ายเขาเอง

    และนี่คือคำถามที่จะดำเนินไปตลอดทั้งเรื่อง - - แท้จริงแล้ว ระหว่างแจ็คกับราล์ฟ ใครเหมาะกับการเป็นหัวหน้ามากกว่ากัน

    ราล์ฟเป็นคนฉลาด แม้จะไม่เท่าหมูอ้วน แต่ก็คิดอะไรได้ลึกซึ้ง เขามองสถานการณ์ออก มีท่าทางสุภาพ คำพูดคำจาน่าเชื่อถือ มีหลักการและเป้าหมาย แต่ความสามารถเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์นักในทางปฏิบัติ และนั่นทำให้ในเวลาต่อมา คำพูดสวยงามของเขาจึงเป็นเพียงคำพูดลอยลมเปล่าๆ 

    ในขณะเดียวกัน แจ็คกลับมีความสามารถหลายอย่างในการอยู่รอด เขาแข็งแรง ล่าสัตว์ได้ แต่แจ็คเป็นหัวหน้าประเภทที่ปกครองคนอื่นด้วยความกลัว เราจะเห็นได้แต่ฉากเปิดตัวว่าความเป็นหัวหน้าของแจ็คมีความเป็นเผด็จการไม่น้อย เขาออกคำสั่งต่อคณะประสานเสียงให้เดินเป็นแถว ยืนตรง และจะพักได้ก็ต่อเมื่อเขายอมให้พัก ซึ่งเราคิดว่าผู้เขียนจงใจนำเสนอภาพนี้ให้คล้ายคลึงกับการฝึกทหาร และแสดงให้เห็นว่าความแข็งกร้าวของแจ็ค


    ในตรงนี้ เราขอพูดถึงตัวละครอีกตัวคือหมูอ้วน

    หมูอ้วนเป็นคนที่มีความใกล้เคียงกับความเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่สุดในเกาะ เขายึดหลักการและเหตุผลเป็นที่ตั้ง ในหนังสือกล่าวว่าเขาเป็นคนฉลาดที่สุด เขาเป็นคนแรกที่ถามหาผู้ใหญ่ เป็นคนเสนอให้ราล์ฟเรียกชุมนุม

    ช่วงแรกของการติดเกาะ เด็กๆยังคงเชื่อว่าอีกไม่นาน ใครสักคนจะมารับพวกเขากลับไป ราล์ฟเองก็เอ่ยถึงพ่อของตนที่เป็นทหารเรืออย่างมั่นใจ ว่าพ่อต้องมาช่วยแน่ๆ และบอกว่า “นี่เป็นเกาะของพวกเราแล้ว มันเป็นเกาะที่ดี พวกเราจะมาเล่นสนุกกันจนกว่าพวกผู้ใหญ่จะมารับ” พวกเด็กจึงมองว่านี่เป็นแค่การพักร้อน เป็นเกาะสรวงสวรรค์ที่ปราศจากผู้ใหญ่ ในขณะที่หมูอ้วนดูจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจความร้ายแรงของเหตุการณ์นี้ เขาเป็นคนแรกที่พยายามบอกทุกคนว่า ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาติดเกาะที่นี่ และจะไม่มีใครมาช่วย

    ตลอดทั้งเรื่อง เราจะได้เห็นหมูอ้วนอ้างถึง ‘ผู้ใหญ่’ อยู่เสมอ หากเป็นผู้ใหญ่จะทำอย่างไร พวกผู้ใหญ่ก็คงทำแบบนี้ใช่ไหม ส่วนหนึ่งอาจมองได้ว่าเขาเป็นเด็กที่ขี้ขลาด ยึดติดกับโลกที่ปลอดภัย แต่หากมองอีกด้าน นี่อาจเป็นตรรกะของหมูอ้วนเพื่อแสวงหาคำตอบที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหา

    หมูอ้วนจึงเป็นภาพแทนของโลกอันมีอารยธรรม ดำเนินไปด้วยหลักการเหตุผลและความเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับแจ็ค

    อีกสิ่งที่แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ของหมูอ้วน คือการที่เขาเชื่อมั่นในตัวราล์ฟมาก หากคิดตามหลักการของเขาแล้ว มันถูกต้องที่จะเชื่อถือผู้นำ ในขณะที่หากพิจารณาเด็กชายคนอื่นที่ยังมีความเป็นเด็กอยู่มาก ความจงรักภักดีของเด็กๆ จะถูกย้ายไปมาระหว่างราล์ฟและแจ็ค ตามแต่ว่าในสถานการณ์นั้นใครดู ‘เป็นผู้นำ’ มากกว่า


    หลังจากมีผู้นำ พวกเขาก็เริ่มสร้าง กฏกติกา กฏแรกที่ถูกตั้งขึ้นคือ “ใครที่ถือหอยจะมีสิทธิ์พูด และคนอื่นจะพูดแทรกไม่ได้” โดยเปรียบกับการยกมือขึ้นพูดในโรงเรียนที่ซึ่งอารยธรรมของมนุษย์ถูกสอนแก่เด็กๆ นี่ยิ่งทำให้ภาพของหอยสังข์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความศิวิไลซ์ ดูชัดเจนมากยิ่งขึ้น

    อย่างไรก็ตาม แม้ในการประชุมครั้งแรก ก็มีหลายครั้งที่คนไม่ทำตามกฎข้อนี้ โดยเฉพาะแจ็ค ที่มักพูดสอดออกมาแม้จะไม่มีหอยสังข์ ผู้เขียนแสดงภาพให้เห็นว่าแจ็คมีความเป็นขบถต่อกฎระเบียบตั้งแต่ต้น และแสดงถึงการไม่ยอมรับอย่างเต็มที่ต่ออำนาจของหอยสังข์และกฎของราล์ฟ

    ในทางตรงกันข้าม หมูอ้วนกลับเคร่งครัดกับกฎข้อนี้ยิ่งนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะยามปกติแทบไม่มีใครฟังในสิ่งที่เขาพูด เขาจึงเชื่อว่าหอยสังข์จะทำให้คนอื่นฟัง เขาจึงได้เห็นหมูอ้วนพูดอยู่บ่อยครั้งว่า “ฉันถือหอยสังข์นะ ฉันมีสิทธิ์จะพูด” 

    แต่แท้ที่จริง หอยสังข์ก็ไม่ได้มีอำนาจขนาดนั้น ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งเมื่อราล์ฟเป็นคนถือเอง ในตอนที่พวกเด็กๆ คนอื่นเฮกันไปก่อกองไฟ หรือมีเรื่องตื่นเต้นใดเกิดขึ้น พวกเขาก็จะวุ่นวายและไม่ฟัง ราวกับสื่อถึงอำนาจอันเปราะบางของราล์ฟ และเสมือนการบอกกลายๆ ว่าเขาจะต้องสูญเสียมันไปในท้ายที่สุด


    ต่อมา พวกเขาก็ก่อกองไฟเพื่อเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ

    กองไฟบนยอดเขานี้แฝงไปด้วยสัญญะมากมาย มันคือความหวัง คือความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งแสดงถึงอำนาจ แบ่งแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ และเชื่อมโยงพวกเขากับโลกอันศิวิไลซ์ที่จากมา ทั้งยังเป็นจุดหมายร่วมที่กำหนดทิศทางของสังคมเล็กๆ ของเด็กเหล่านี้

    ทว่าในตอนท้ายของเรื่อง ความหมายของกองไฟก็เปลี่ยนแปลงไป

    จากทั้งหมดนี้ เราจะได้เห็นว่า สังคมเล็กของเด็กๆ บนเกาะได้ถูกสร้างขึ้นมาราวกับจำลองจากสังคมมนุษย์จริงๆ พวกเขามีอำนาจอธิปไตยของตนเอง เป็นอิสระจากพวกผู้ใหญ่ มีการปกครองแบบที่อิงจากประชาธิปไตย คือมีการชุมนุมและเลือกผู้นำโดยการโหวต มีการสร้างกฎกติกาและกำหนดจุดมุ่งหมายร่วมกัน โดยมีสัญลักษณ์ของสังคมเป็นหอยสังข์นั่นเอง

    ------------------

    แต่สังคมที่ถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ก็เปราะบางเหลือเกิน

    แม้จะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน แต่ด้วยความเป็นเด็ก ยังคงรักจะเที่ยวเล่นสนุก พวกเขาจึงละเลยหน้าที่ของตัวเอง เหลือเพียงราล์ฟและเด็กโตอีกไม่กี่คนที่ยังคงรับผิดชอบหน้าที่ของตน และสุดท้าย แม้กระทั่งสิ่งสำคัญที่สุดอย่างกองไฟก็ถูกละเลยจนมอดดับ

    แล้วความช่วยเหลือก็หลุดลอยไปจากพวกเขา

    ในส่วนนี้ ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง จริงอยู่ การที่แจ็คพาเด็กที่เฝ้ากองไฟไปช่วยจับหมู ทำให้พวกเขาได้มีเนื้อกิน แต่เมื่อหน้าที่เฝ้ากองไฟถูกละเลยและไฟมอดดับ ผลที่ตามมาจากความไม่รับผิดชอบจึงเลวร้ายยิ่งนัก

    นอกจากนี้ หากมองย้อนกลับไปตอนก่อกองไฟที่เด็กทุกคนต่างตื่นเต้นและร่วมมือกันอย่างดี มีการแบ่งเวรเฝ้ายามกันอย่างขันแข็ง ในยามนี้ เวรยามกลับถูกละทิ้ง ความสำคัญของกองไฟถูกละเลย 

    การมอดดับของกองไฟในครั้งนี้จึงเป็นคล้ายจุดเริ่มต้นของความแตกแยกในสังคมที่จะตามมาในภายหลังนั่นเอง

    --------------------


    ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ

    ยังไงก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นการตีความของเราเอาคนเดียวค่ะ ถ้าใครคิดเห็นยังไง มาคุยกันได้นะคะ

    สัปดาห์ต่อๆไป เราจะมาพูดถึงความขัดแย้งของเด็กทั้งสองคนที่เป็นภาพแทนสังคมสองแบบที่ต่างกัน และมาพูดถึงด้านมืดของมนุษย์กับวัยเยาว์ที่สูญหายไปกันค่ะ :)


    Schvala

    6 July 2020

    -------------------
    Edit 13 July 2020
    เราเพิ่มย่อหน้าสุดท้ายและเปลี่ยนชื่อเพื่อให้เข้ากับเนื้อหาของบทความแต่ละพาร์ทค่ะ ตอนแรกเรากะจะใช้ชื่อเดียวกันแล้วเปลี่ยนเลขบอกพาร์ทข้างหลัง แต่คิดว่าใช้ชื่อต่างไปเลย น่าจะสื่อความเกี่ยวกับพาร์ทนั้นๆ ได้ชัดเจนกว่าค่ะ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in