เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ปาตานีฉบับชาติ (ไม่) นิยมฯ By วันอิฮซาน ตูแวสิเดะ
  • รีวิวเว้ย (1509) ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนและประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ของประเทศไทย เราอาจจะเรียกประวัติศาสตร์ชุดนี้ในกลุ่มของประวัติศาสตร์บาดแผล ที่สร้างความทรงจำและความรู้สึกร่วมกันบางประการของกลุ่มคน และแน่นอนว่าประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมของกลุ่มคนมักจะแบ่งแยกเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชุดเดียวกันจากมุมมองที่แตกต่างกัน อย่างกรณีประวัติศาสตร์ความทรงจำในเรื่องของ "ปาตานี" แน่นอนว่าชุดความทรงจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ดังกล่าวอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ชุด อันได้แก่ ประวัติศาสตร์ที่ยึดความทรงจำของสยามเป็นศูนย์กลาง และประวัติศาสตร์ที่ยึดความทรงจำของปาตานีเป็นศูนย์กลาง แน่นอนว่าบนฐานของประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกันแต่เชื่อและยึดถึงความทรงจำร่วมคนละแบบ มักนำพาไปสู่คำตอบของคำถามแบบคนละเรื่องเดียวกัน
    หนังสือ : ปาตานีฉบับชาติ (ไม่) นิยม: สงครามช่วงชิงอำนาจก่อนปักปันเส้นเขตแดน
    โดย : วันอิฮซาน ตูแวสิเดะ
    จำนวน : 248 หน้า
    .
    "ปาตานีฉบับชาติ (ไม่) นิยม: สงครามช่วงชิงอำนาจก่อนปักปันเส้นเขตแดน" หนังสือที่พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการตอบคำถามในเรื่องของ "เหตุใดผลของสนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909 ถึงออกมาแบบนั้น ... ทำไมเมืองมลายูอย่างปาตานีต้องตกเป็นของสยาม ส่วนเมืองมลายูที่เหลือตกเป็นของอังกฤษและกลายเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียในเวลาต่อมา..."  (น. (13)) โดยที่การศึกษาของ "ปาตานีฉบับชาติ (ไม่) นิยม: สงครามช่วงชิงอำนาจก่อนปักปันเส้นเขตแดน" คือการย้อนกลับไปดูบริบท เหตุการณ์และพลวัตของปาตานีในช่วงเวลา 1 ศตวรรษก่อนที่เหตุการณ์การลงนามในสนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909 จะเกิดขึ้น
    .
    "ปาตานีฉบับชาติ (ไม่) นิยม: สงครามช่วงชิงอำนาจก่อนปักปันเส้นเขตแดน" แบ่งการนำเสนอเนื้อหาออกเป็น 5 บท ที่บอกเล่าถึงความสำคัญของสนธิสัญญาแอลโกล-สยาม และเหตุการณ์ที่มีผลก่อนการลงนามในสนธิสัญญาและผลสืบเนื่อง ผ่านการศึกษาหลังฐานชั้นรองและสร้างบทสนทนาต่อหลังฐานชิ้นต่าง ๆ โดยสำนึกรู้ตลอดเวลาต่อการสร้างบทสนทนากับหลักฐาน ว่าหลักฐานแต่ละอย่างที่หยิบมาใช้มาจากสำนึกแบบใดระหว่างมีสยามเป็นศูนย์กลางหรือมีปาตานีเป็นศูนย์กลางของงานศึกษาแต่ละชิ้น โดยเนื้อหาของ "ปาตานีฉบับชาติ (ไม่) นิยม: สงครามช่วงชิงอำนาจก่อนปักปันเส้นเขตแดน" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทที่ 1 บทนำ ว่าด้วยเรื่องของสนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909 สารตั้งต้นของเรื่องราวทั้งหมด และโลกคู่ขนานของประวัติศาสตร์นิพนธ์ปาตานี
    .
    บทที่ 2 กำเนิด 7 หัวเมือง: ปฐมบทแห่งการเปลี่ยนแปลง ประกอบไปด้วยเรื่องของ การเป็นเมืองท่าของปาตานี, การเมืองในราชสำนัก, จากหัวหน้าชุมชนสู่เจ้าเมือง: กำเนิด 7 หัวเมืองปาตานีและ พลวัตประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การแบ่ง 7 หัวเมือง
    .
    บทที่ 3 รามัน: เมืองตอนในที่ถูกลืม ประกอบไปด้วยกำเนิดรามัน, ดีบุกและการเมืองระหว่างรัฐมลายู, รามัน เปรัก สยาม และอังกฤษ และตำแหน่งแห่งที่ของรามัน
    .
    บทที่ 4 สลับสับเปลี่ยนอำนาจนำ: การช่วงชิงที่เกือบจะสำเร็จของอำนาจทางศีลธรรม ประกอบไปด้วยลักษณะการกุมอำนาจของชนชั้นนำปาตานี, ยุครุ่งเรืองของราชสำนัก, ออรังกายาเรืองอำนาจ, เมื่ออูลามาอฺปรากฏตัว และการช่วงชิงที่เกือบจะสำเร็จ
    .
    บทที่ 5 บทสรุป ว่าด้วยเรื่องราวของ ปาตานีก่อน 1909 และปาตานีหลัง 1909
    .
    "ปาตานีฉบับชาติ (ไม่) นิยม: สงครามช่วงชิงอำนาจก่อนปักปันเส้นเขตแดน" ทำให้เราได้เห็นถึงพลวัตของเหตุการณ์ก่อนการเกิดขึ้นของสนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909 ว่ารากฐานความเป็นมาของปัญหาเชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์เป็นเช่นไร และเหตุใดการเข้ามาของสยามในช่วงเวลาก่อนการลงนามสนธิสัญญาและการแยกหัวเมืองมลายูเป็น 7 หัวเมืองของสยามจึงทีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจก่อนเหตุแห่งการลงนามในสนธิสัญญา 1909 แน่นอนว่า "ปาตานีฉบับชาติ (ไม่) นิยม: สงครามช่วงชิงอำนาจก่อนปักปันเส้นเขตแดน" อาจจะมีทั้งคนที่เชื่อถือ-และตั้งคำถามต่อข้อมูลและหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือ หากแต่คุณค่าสำคัญของ "ปาตานีฉบับชาติ (ไม่) นิยม: สงครามช่วงชิงอำนาจก่อนปักปันเส้นเขตแดน" คือการสร้างมุมมองและกระตุ้นให้ผู้สนใจในประวัติศาสตร์ปาตานีและประวัติศาสตร์ไทย ได้ลองสำรวจมุมมองและความเป็นไปได้ใหม่ในทางประวัติศาสตร์ด้วยอีกทางหนึ่ง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in