เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
มานุษยวิทยามหาสมุทร By จักรกริช สังขมณี
  • รีวิวเว้ย (1469) หลายปีมานี้มีโอกาสได้อ่านงานเกี่ยวกับเรื่อง "สิ่งแวดล้อม" อยู่หลายชิ้นและงานแทบทุกชิ้นที่ได้อ่านล้วนสร้างความประหลาดใจให้เราอยู่เสมอ โดยเฉพาะงานวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ที่หันมาให้ความสำคัญและให้ความสนใจในประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่ไปไกลกว่าเรื่องของ "การพัฒนา" หรือการทำให้เป็นสมัยใหม่ ในหนหลังเราจึงมีโอกาสได้เห็นงานวิชาการหลากหลายรูปแบบที่ทำในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ เพราะงานหลาย ๆ ชิ้นให้ความสนใจในขอบเขตการศึกษาที่มากไปกว่าการใช้ศาสตร์ในการศึกษาเพียง 1 เดียว อย่างกรณีของงานที่ทำเรื่องของการกำหนดนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็มีการหยิบเอาองค์ความรู้เรื่องการจัดการเมือง การสร้างการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจและอีกหลากหลายสาขาความรู้มารวมเข้าในการศึกษาหนึ่ง ๆ นั่นทำให้ในมุมของคนอ่าน ได้มีโอกาสสนุกไปกับการขยายพรมแดนความรู้ไปพร้อม ๆ กับความเปลี่ยนแปลงของโลกวิชาการ
    .
    หนังสือ : มานุษยวิทยามหาสมุทร: ชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยเทคโนโลยี สปีชีส์ วัตถุ และเรื่องเล่าใต้ท้องทะเล
    โดย : จักรกริช สังขมณี
    จำนวน : 247 หน้า
    .
    "มานุษยวิทยามหาสมุทร: ชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยเทคโนโลยี สปีชีส์ วัตถุ และเรื่องเล่าใต้ท้องทะเล" เป็นอีกหนึ่งหนังสือวิชาการที่มีโอกาสได้อ่านมนปีนี้ และให้ความรู้สึกถึงการทำงานศึกษาที่หยิบเอาประเด็นที่มีความหลากหลายมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันผ่านเรื่องเล่าของ "มหาสมุทร" ที่เมื่อนักมนุษยวิทยาดำลงใต้น้ำ นอกเหนือจากความงดงามของฝูงปลาและแนวปะการังในแบบที่คนทุกคนเห็น แต่ "มานุษยวิทยามหาสมุทร: ชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยเทคโนโลยี สปีชีส์ วัตถุ และเรื่องเล่าใต้ท้องทะเล" ทำให้เรามองลึกลงไปในประเด็นที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับโลกใต้ทะเล ทั้งที่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องและในวาระที่มนุษย์ถูกลบออกไปจากมุมมองของงานศึกษาในบางมิติ
    .
    สำหรับ "มานุษยวิทยามหาสมุทร: ชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยเทคโนโลยี สปีชีส์ วัตถุ และเรื่องเล่าใต้ท้องทะเล" ผู้เขียนได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของการนำเสนอผลงานชิ้นนี้เอาไว้ความว่า "ในหนังสือเล่มนี้ ผมขอนำประสบการณ์การศึกษาภาคสนามใต้ท้องทะเล มาอภิปรายเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ผมเรียกว่าการดำรงอยู่ร่วมกันเชิงวัตถุ-ผัสสารมณ์ท่ามกลางโลกมนุษยสมัย มนุษยวิทยา หลังมนุษยนิยมและมนุษยสมัยเป็นสองแนวคิดที่เชื่อมโยงกันและกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในวิธีที่เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีในโลกร่วมสมัย แม้ว่าทั้งสองแนวคิดจะมีจุดเน้นที่แตกต่างกันบ้างแต่ก็มีมิติบางอย่างร่วมกันและนำเสนอมุมมองที่เสริมเกี่ยวกับพลวัตที่ซับซ้อนคนยุคปัจจุบัน" (น. 2)
    .
    โดยเนื้อหาของหนังสือ "มานุษยวิทยามหาสมุทร: ชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยเทคโนโลยี สปีชีส์ วัตถุ และเรื่องเล่าใต้ท้องทะเล" แบ่งออกเป็นทั้งสิ้น 7 บท ที่ในแต่ละบทจะประกอบไปด้วยหัวข้อการศึกษาที่เชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับเรื่องของมนุษยวิทยามหาสมุทร ทั้งที่มีมนุษย์เป็นองค์ประธาน และที่มีมนุษย์เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ สำหรับเนื้อหาทั้ง 7 บท แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทที่ 1 บทนำ :  โลกมหาสมุทรกับมนุษยสมัย
    .
    บทที่ 2 Thalassoanthropology ชาตพันธุ์วรรณนาและภววิทยาสนามมหาสมุทร
    .
    บทที่ 3 Scuba cyborg: มนุษย์กับเทคโนโลยีในโลกที่ไม่ใช่ของเรา
    .
    บทที่ 4 Coral reef: โลกของพหุสายพันธือันซับซ้อนและอ่อนไหว
    .
    บทที่ 5 Shipwreck:  วัตถุภาวะและสรรพางค์ของชีวิต
    .
    บทที่ 6 Underwater Sci-fi: เรื่องเล่าและมานุษยวิทยาของจินตนาการ
    .
    บทที่ 7 บทส่งท้าย: มานุษยวิทยาใต้ทะเลในโลกหลังมนุษยนิยม
    .
    อาจเรียกได้ว่า "มานุษยวิทยามหาสมุทร: ชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยเทคโนโลยี สปีชีส์ วัตถุ และเรื่องเล่าใต้ท้องทะเล" สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเราในฐานะของผู้อ่าน ทั้งในฐานะของคนที่เติบโตมากับทะเลเนื่องด้วยการโตมาในครอบครัวทหารเรือ ทำให้เรามีความทรงจำร่วมบางประการกับ "มานุษยวิทยามหาสมุทร: ชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยเทคโนโลยี สปีชีส์ วัตถุ และเรื่องเล่าใต้ท้องทะเล" โดยเฉพาะในบทที่เกี่ยวของกับเรื่องของ Scuba cyborg, Coral reef และ Underwater Sci-fi แน่นอนว่าการอ่าน "มานุษยวิทยามหาสมุทร: ชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยเทคโนโลยี สปีชีส์ วัตถุ และเรื่องเล่าใต้ท้องทะเล" ทำให้เราเข้าใจในบริบทและเรื่องเล่าของ "มนุษยวิทยามหาสมุทร" มากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เราย้อนกลับไปคิดถึงหลายเหตุการณ์ที่เราเคยพบเจอในสมัยเด็ก เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับท้องทะเลในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in