เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
เจ้าชายน้อย เวอร์ชันภาษาถิ่นไทย By อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี
  • รีวิวเว้ย (1445, 1446, 1447, 1448) “สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา ต้องเห็นด้วยใจเท่านั้น” Le Petit Prince หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อของ "เจ้าชายน้อย" หนังสือที่เราเองก็ยากจะนิยามว่าโดยสรุปแล้วเจ้าชายน้อยเป็นหนังสือเด็ก วรรณกรรมเยาวชน หนังสือปรัชญา หรือควรจัดหมวดหมู่ของหนังสือเล่มนี้เอาไว้ที่ใดกันแน่ (หากจำเป็นต้องจัดหมวดหมู่แบบหนังสือหลายเล่มในร้านหนังสือ) ถอยกลับไปสมัยเป็นเด็กมัธยมต้นเมื่อหลายสิบปีก่อน เรามีโอกาสได้อ่านเจ้าชายน้อยครั้งแรกก็พบว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจ ภาพสวย เรื่องราวที่ปรากฏในเล่มก็สนุกดี แต่เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยอาจารย์หลายท่านแนะนำให้อ่านหนังสือเจ้าชายน้อยในฐานะของหนังสือปรัชญา (หากจำไม่ผิดเจ้าชายน้อยอยู่ในรายการอ่านประกอบของวิชาปรัชญาวิชาหนึ่งในชั้นเรียน) การได้กลับมาอ่านเจ้าชายน้อยอีกครั้งในวัยมหาลัยเนื้อหาและสารที่ได้รับกลับแปลกไปจากตอนสมัยเรียนอย่างน่าแปลกใจ กระทั่งเมื่อมีโอกาสกลับมาอ่านอีกหนในวัย 30 ขวบ สารและสิ่งที่ได้จากภายในเล่มของหนังสือก็ดูจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ค่าประสบการณ์และการเติบโตของผู้อ่าน น่าสนใจว่าหากเราลองเอา "เจ้าชายน้อย" กลับมาอ่านใหม่ทุก 10 ปี เราจะได้รับสารที่แตกต่างไปจากแต่ละช่วงเวลามากน้อยแค่ไหนกัน
    หนังสือ : เจ้าชายน้อย เวอร์ชันภาษาถิ่นไทย
    โดย : อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี
    .
    "เจ้าชายน้อย เวอร์ชันภาษาถิ่นไทย" หนังสือที่จัดทำขึ้นสำหรับใช้แจกจ่ายไปยังสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนภาษาถิ่น ตามแต่ละพื้นที่พื้นถิ่นในประเทศไทย ผ่านโครงการที่ระดมทีมงานในการช่วยกันแปลเจ้าชายน้อยออกมาเป็นภาษาถิ่น ซึ่งในตอนนี้ (2567) มีการดำเนินการแปลออกมาเป็นภาษาถิ่นไทยแล้วทั้งหมด 4 ภาษา คือ (1) ล้านนา (2) ปกาเกอะญอ (3) มลายูอักษรยาวี และ (4) เขมรถิ่นไทยหรือเขมรสุรินทร์
    .
    ซึ่งหนังสือ "เจ้าชายน้อย เวอร์ชันภาษาถิ่นไทย" ทั้ง 4 ภาษาที่ได้แปลออกมานั้นยังคงรักษาเนื้อหาและรูปแบบของหนังสือเจ้าชายน้อยเอาไว้เช่นที่เป็นมาทุกประการ หากแต่ในการจัดทำครั้งนี้ได้มีการออกแบบปก ภาพประกอบเนื้อหาให้สอดรับกับลักษณะของภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นภาษานั้น ๆ ด้วย ดังที่ปรากฏอยู่บนภาพปกของหนังสือทั้ง 4 ภาษา
    .
    หากจะให้กล่าวว่าเจ้าชายน้อยเป็นหนังสือที่มีความสำคัญเพียงใด เรื่องนี้คงตอบได้ยากเนื่องด้วยหนังสือแต่ละเล่มทำงานกับคนแต่ละคนแตกต่างกัน ยิ่งกับหนังสือเจ้าชายน้อยที่คนอ่านคนเดียวกัน อ่านมันในช่วงเวลาที่แตกต่างกันในหลายหนยังได้รับสารและสาระที่แตกต่างออกไปจากครั้งก่อนที่อ่าน เช่นนั้นการจะบอกว่าอ่านเจ้าชายน้อยแล้วได้อะไร หากให้ตอบแบบสั้น ๆ และง่าย ๆ ก็คือ "ได้อ่านหนังสือสักเล่ม" ส่วนหนังสือเล่มนั้น ๆ จะส่งผลต่อผู้อ่านอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับถุงเครื่องหลังของผู้อ่านแต่ละคน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in