เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
'อย่ากลัว' ที่จะถูกเกลียด ผู้ป่วยซึมเศร้าและการเดินทางมาพบกัน
  • อย่ากลัว

    หลายคนน่าจะผ่านตาหนังสือเล่มนี้ หลายคนเคยอ่าน มันจัดเป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่งของสำนักพิมพ์ WE LEARN มีเล่ม และ 2 พิมพ์หลายรอบ ผมเชื่อด้วยว่ามีคนรีวิวหนังสือเล่มนี้ไปมากแล้ว

    ผมจึงไม่คิดจะรีวิวซ้ำ แต่อยากบอกเล่าถึงบางเหตุการณ์ในชีวิตที่เดินทางไปบรรจบกับเนื้อหาของหนังสือโดยบังเอิญ

    ด้วยความสนใจปรัชญาเป็นทุนเดิม ตอนที่เปิดๆ หนังสือเล่มนี้ มันนำเสนอด้วยบทสนทนาระหว่างนักปรัชญากับชายหนุ่ม ทั้งยังเล่าถึงแนวคิดของนักจิตวิทยาที่เป็นที่รู้จักน้อยกว่ายักษ์ใหญ่ 2 ตน-ฟรอยด์และยุง-อย่างอัลเฟรด แอดเลอร์ ผมไม่ลังเลที่จะเป็นเจ้าของ

    เนื่องจากผมซื้อมาตั้งแต่หนังสือออกใหม่ๆ และอ่านจบไปหลายปีแล้ว ความทรงจำเกี่ยวกับเนื้อหาลางเลือนเต็มที จำได้เพียงว่าอ่านอย่างลื่นไหล ชื่นชอบ และสั่นไหวความคิดไม่น้อยกว่า ริกเตอร์

    ต่อมา ผมป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ยังคงกินยาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพราะความอินโทรเวิร์ตเข้มข้น เวลาจำนวนไม่น้อยผมใช้ไปกับการเดินทางในความคิดของตนเองมาแต่ไหนแต่ไร รับรู้ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกได้ค่อนข้างชัดและว่องไวพอประมาณ

    ความเศร้าเป็นมีดผ่าตัดที่คมกริบ มันเฉือนเนื้อหัวใจอย่างเงียบเชียบ เรียบเนียน ทว่า เจ็บปวดสาหัส ผมพึ่งพาการบำบัดและกิจกรรมหลายอย่างเพื่อตะกายออกมาจากหลุมที่ไร้ก้นบึ้ง ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ บางค่ำคืน กอดตัวเองแทบแหลกสลายจากการพรั่งพรูของน้ำตา บางค่ำคืน ใช้มีดจิ้มข้อมือตัวเองเพื่อให้ความเจ็บปวดทางกายช่วยยืนยันว่าฉันยังมีตัวตน ไม่ต้องพูดถึงความคิดฆ่าตัวตาย มันผุดขึ้นมาสม่ำเสมอจนสนิทสนม และอีกหลายสิ่งที่ผู้ป่วยซึมเศร้ามักกระทำ

    แล้ววันหนึ่ง ผมก็พบความผิดปกติเพิ่มขึ้นอีก ผมโกรธตลอดเวลา (เหมือนฮัลค์) เป็นอยู่นับเดือน โกรธชนิดที่ว่าพร้อมจะใช้ทักษะที่มีแปลงออกมาเป็นความรุนแรง ขอแค่ให้มีใครสักคนเดินเข้ามาในอาณาบริเวณแห่งความเดือดดาล โชคดีที่ไม่เกิดขึ้น จิตแพทย์ถึงกับคิ้วขมวดตอนที่ผมเล่าให้ฟัง

    ผมเคยเขียนไปแล้วว่า ความโกรธในศาสนาพุทธเป็นอกุศล แต่ในจริยศาสตร์คลาสสิกแบบอริสโตเติล ไม่ใช่ คนเราสามารถโกรธได้และควรโกรธ การรู้ว่าควรโกรธเรื่องใด ใคร เมื่อไหร่ อย่างไหร่ และแค่ไหน หาใช่ความชั่วร้าย แต่เป็นคุณธรรมประการหนึ่ง

    ในทางจิตวิทยา ความโกรธมีหน้าที่ของมัน มันเป็นพลังงานชนิดหนึ่งที่ขึ้นกับผู้ใช้ว่าจะสันดาปมันออกมาในรูปลักษณ์ไหน

    แต่ลองคิดนะครับ...

    คนที่ไม่แสดงความโกรธเลยเกือบทั้งชีวิต ยามที่ถูกกระทำไม่ดีใส่ กลับคิดว่าตนเองดีไม่พอ แล้วแปลงความโกรธนั้นเป็นความเสียใจโบยตีตัวเอง กระทั่งแสดงความโกรธไม่เป็น กลัวคนอื่นจะเสียความรู้สึก จะเกลียดตน

    คนที่ว่านี้คือผมเอง

    การอยู่กับตัวเองและใคร่ครวญ ช่วยให้ผมตระหนักรู้ข้อนี้ ความโกรธที่ไม่เคยแสดงออกแปรสภาพเป็นสนิมสีน้ำตาลอมส้มกัดแทะหัวใจผมอย่างไร้สุ่มเสียงเรื่อยมา โดยสามัญสำนึก ผมรู้ว่านี่คือวิกฤต มันแสดงให้เห็นว่าผมเคารพตนเองต่ำเพียงใด ผมเอาชีวิตตนเองไปผูกกับสายตาผู้อื่นมากเกินไป กระทั่งกระดูกสันหลังตนเองคดงอจากการแบกรับภาระอันไม่จำเป็น

    หลังจากนั้นผมก็เปลี่ยนไป ผมแสดงความโกรธเกรี้ยวกับเหตุการณ์และผู้คนตามแต่ระดับความงี่เง่าอย่างพอเหมาะพอสม ผ่านการแสดงออกต่อหน้าหรือผ่านเฟสส่วนตัว เมื่อเริ่มป่วยไม่นาน ผมทิ้งและบริจาคของออกไปมากมายเพื่อเพิ่มพื้นที่โล่งว่างให้กับห้องตัวเอง พอรู้ตัวขึ้นอีกระดับ ผมทิ้งความสัมพันธ์ฉาบฉวยออกไปจากเฟสบุ๊คจำนวนมาก เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับความสัมพันธ์ที่จริงจังกว่า โดยแยกเรื่องงานออกไปเป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิต ผมเอ่ยชื่อหรือบางครั้งก็สื่อเป็นนัยถึงคนคนนั้นว่า คุณน่ะงี่เง่า ผมตำหนิติเตียนอย่างออมปากออมคำน้อยลง ผมอธิบายในเฟสว่าหากรู้สึกว่าผมเปลี่ยนไปจนขัดหูขัดตา สามารถ unfriend ได้ ไม่มีการถือโทษโกรธเคืองใดๆ

    แน่นอน น่าจะมีคนหมั่นไส้ผมไม่น้อย จากที่ไม่ค่อยมีคนคบหาอยู่แล้วก็คงยิ่งห่างเหินกันไปใหญ่ หรืออาจถึงขั้นชิงชังรังเกียจ ต้องมีแหละ มันเป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน

    แต่รู้อะไรไหม? ผมไม่แคร์

    ถามว่าผมกล้าที่จะโกรธ กล้าที่จะถูกเกลียดหรือ? ไม่ใช่ ผมไม่ได้กล้าหรอก

    ผมแค่ ไม่กลัว ที่จะโกรธ ที่จะถูกเกลียด ที่จะแสดงตัวตนบางด้าน

    ไม่กลัว ผลกระทบจากการเป็นตัวของตัวเองมากเท่าอดีต ผมถามตัวเองว่าจะมีชีวิตอย่างไร ถ้าผูกคอตัวเองด้วยสายจูงที่สร้างขึ้นเองแล้วเอาไปมัดไว้กับสายตาของคนอื่นอีกที

    ใช่, อาการผมทุเลาขึ้น ยังชัทดาวน์บ้างเป็นระยะ แต่รับมือได้

    เปล่า, ผมไม่ได้บอกว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมดีขึ้น ผมตระหนักรู้และแก้ไขด้วยตนเอง แล้วจึงนึกถึงหนังสือเล่มนี้ต่างหาก

    เช่นที่เคยเขียนไปอีกนั่นแหละ ถึงจุดจุดหนึ่ง ชีวิตและการอ่านจะเปลี่ยนกันและกัน

    ถึงจุดจุดหนึ่ง ท่วงทำนองชีวิตจะพาเรามาพบปะกับสิ่งที่เราอ่านชนิดไม่รู้เนื้อรู้ตัว

    ...อาจเป็นความอัศจรรย์

    บอกเลยว่าไม่ใช่หนทางเยียวยาที่ถูกต้องแม่นยำ ผู้ป่วยซึมเศร้ามีความหลากหลาย วิธีที่ได้ผลกับคนหนึ่งอาจล้มเหลวสิ้นเชิงกับอีกคน และยิ่งไม่ใช่สูตรสำเร็จในการใช้ชีวิตดังที่ไลฟ์โค้ชพยายามนำเสนอ มนุษย์มีเงื่อนไขต่างกันเกินไปที่จะมีสมการเดียว

    ไม่ถึงกับต้องกล้าหรอกครับ ความกลัวเป็นอีกสิ่งที่บอกว่าเราเป็นมนุษย์นะ

    แต่เท่าที่ผมพอจะพูดได้แบบขั้นต่ำที่สุดคงเป็น...

    อย่ากลัว


    https://www.facebook.com/NokPanejorn/posts/271782457587206?__tn__=K-R

    https://wandering-bird.blogspot.com/2020/06/blog-post_27.html#more

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in