เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-ระเบิดนิวเคลียร์ฆ่าเราอย่างไร?-
  • “One good thing about music, when it hits you, you feel no pain.”

    คุณเป็นเหมือนผมไหม?

    เวลาเห็นหนังสือที่อธิบายแนวคิดหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ พร้อมคำโฆษณาบนปกหน้าและหลังประมาณว่า ‘ผู้เขียนทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่มีความสลับซับซ้อนย่อยง่ายสำหรับนักอ่านทุกคน บลาๆๆ’

    และด้วยความอยากรู้ว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ๆ ต่างคืออะไร กว่าจะรู้ตัว เราก็ถือหนังสือเดินไปเสียเงินที่แคชเชียร์แล้ว

    พออ่านไปสักพักปรากฏว่า อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ไม่ว่าผู้เขียนจะพยายามอธิบายตัวอย่างประกอบอย่างไร ก็ยังไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง ท้ายสุดต้องวางลงอย่างพ่ายแพ้ บอกตัวเองว่าสติปัญญาเราคงไม่ถึง

    ผมเป็นบ่อยทีเดียว โดยเฉพาะกับหนังสือแนวนี้ของสำนักพิมพ์มติชน

    แต่เล่มนี้ผมถือว่าต่างออกไปพอสมควร เรียกว่าสติปัญญาผมพอจะเข้าใจมันได้ เพราะไม่ได้พยายามอธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพอะไรนักหนา เนื่องจากผู้เขียน ‘ชีวประวัติสมการปฏิวัติโลก’ เดวิด โบดานิส เป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ความคิด มันจึงเป็นการบอกเล่าความเป็นมาของส่วนประกอบในสมการและตัวสมการมากกว่า เล่มนี้แปลโดย รศ.ดร.ภาณ ด่านวานิชกุล

    ผมยกตัวอย่างส่วนที่ชอบมาเล่าแล้วกัน ตัว E ในสมการสะเทือนโลก E=mc2 ของไอน์สไตน์ หมายถึงพลังงาน ผู้เขียนเล่าว่า พลังงานเป็นคำที่มีอายุน้อยเพียงแค่ประมาณ 200 กว่าปี โดยก่อนหน้านั้นผู้คนไม่รู้เลยว่ามีพลังงานอยู่รอบตัว ไมเคิล ฟาราเดย์ เป็นผู้ที่ทำให้โลกเริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่าพลังงาน และมันไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่มีเพิ่ม ไม่มีลด

    ความมหัศจรรย์คือสมการของไอน์สไตน์บอกเราว่า พลังงานและมวลเป็นสิ่งเดียวกัน ทั้งสองแค่อยู่กันคนละรูปแบบ

    ในส่วนถัดๆ มาของหนังสือเล่าถึงการกำเนิดของสมการนี้ การช่วงชิงกันพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ระหว่างฝ่ายสหรัฐฯ และเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ และการกำเนิดจนถึงจุดจบของเอกภพ

    ส่วนที่ 4 ของหนังสือบอกเล่าถึงเหตุการณ์การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมา วันที่ 6 สิงหาคม 1945 หรือ 2488

    ผู้เขียนบรรยายการทำงานของระเบิดนิวเคลียร์ลูกนั้น เมื่อนิวเคลียสของยูเรเนียมแตกตัวออกจากกัน จาก 1 เป็น 2 2 เป็น 4 4 เป็น 8 8 เป็น 16 ทวีคูณเช่นนี้ไปเรื่อยๆ 80 ครั้ง เกิดชิ้นส่วนนิวเคลียสที่แตกหักของยูเรเนียมจำนวนมหาศาลและเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง นี่คือสภาพที่มวลกำลังแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน

    ความร้อนของศูนย์กลางระเบิดที่ยังลอยอยู่บนอากาศสูงหลายล้านองศาเซลเซียส ซึ่งพอๆ กับความร้อน ณ ใจกลางดวงอาทิตย์ หลังจาก 1/10,000 ส่วนของวินาทีเมื่อรังสีเอ็กซ์ที่เกิดจากความร้อนกระจายออกมาจนหมด ลูกบอลความร้อนก็จะกระจายออกไปรอบตัว เกิดแสงสว่างวาบราวกับท้องฟ้าฉีกจากกัน มีวัตถุบนท้องฟ้าคล้านดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงลงมามากกว่าดวงอาทิตย์หลายร้อยเท่า ลุกไหม้อยู่ราวครึ่งวินาที และอีก 2-3 วินาทีต่อมาคือการปลดปล่อยพลังงานออกมาจนหมด

    มันเกิดอะไรขึ้น?

    ความร้อนมหาศาลกระจายออกมา ทุกสรรพสิ่งข้างใต้ถูกเผาไหม้ ผิวหนังจะหลุดเป็นแผ่นใหญ่ๆ ความร้อนนี้ยังผลักอากาศให้เคลื่อนที่ออกไปด้วยความเร็วเหนือเสียง ตามด้วยคลื่นอากาศระลอก 2 ที่ช้าลงเล็กน้อย สิ่งต่างๆ ถูกปะทะจากคลื่นอากาศ ปลิวไปตามแรง ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกหรือร่างกายมนุษย์

    จากนั้นอากาศจะเคลื่อนที่กลับไปเติมอากาศที่ถูกผลักออกไป ทำให้ความหนาแน่นของอากาศบริเวณที่อยู่ไกลจากระเบิดลดลงอย่างรวดเร็วจนเกือบเป็นศูนย์ เมื่อภายนอกเป็นสุญญากาศ แต่ภายในร่างกายมนุษย์ยังมีแรงดันอยู่ ตัวของเราจะบวมขึ้นๆ แล้วแตกออกเหมือนลูกโป่ง พลันที่เห็นกลุ่มควันรูปเห็ดลอยล่องกลางฟ้า ก็ถือได้ว่าสมการ E=mc2 ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แล้ว

    เป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้ว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ถือเป็นอาวุธทำลายล้างสูงสุดทำงานอย่างไร

    ผมจินตนาการถึงผู้คนนับหมื่น นับแสนชีวิตที่มอดไหม้ในพริบตา ร่างกายบวมจนระเบิดออก พวกเขาอาจไม่ทับรู้สึกเจ็บปวด ผมไม่รู้ แต่เพียงคิดผมก็เจ็บปวดแล้ว กัมมันตภาพรังสีที่หลงเหลืออีกล่ะ

    ก่อนหน้านั้น ผู้นำทหารระดับนายพลหลายคนอย่างแม็คอาเธอร์และไอเซนฮาวร์เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดทำลายล้างชนิดนี้กับญี่ปุ่นที่บอบช้ำและเตรียมจะยอมแพ้ แต่อย่างที่ประวัติศาสตร์บันทึก ประธานาธิบดีทรูแมนสั่งให้ยิง โลกจึงได้เห็นว่าสมการ E=mc2 เมื่อแปรเป็นอาวุธ น่าสั่นสะพรึ่งเพียงใด

    ปัจจุบัน เฉพาะสหรัฐฯ กับรัสเซียมีระเบิดนิวเคลียร์รวมกันประมาณ 12,500 ลูก น่าจะเพียงพอต่อการทำลายล้างโลกได้หลายสิบครั้ง (หรือหลายร้อย?)

    มันคงจะดี หากเรายิ้มใส่กัน แทนยิงใส่กัน ยื่นดอกไม้ให้กัน แทนก้อนหิน และอื่นๆ อีกมากที่ปาใส่กันแล้วไม่ทำให้ใครเจ็บตัว แต่มีความสุขแทน

    ผมนึกถึงถ้อยคำของ Bob Marley นักร้องสไตล์เร็กเก้

    “One good thing about music, when it hits you, you feel no pain.”

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in