เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-เตรียมตัวตายกันเถอะ-
  • ทำไมต้องคุยเรื่องความตาย? เพราะความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การสนทนาเรื่องนี้ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงชีวิต และมันจะช่วยให้เราใคร่ครวญถึงชีวิตที่เป็นอยู่

    ความตายเป็นปริศนาชั่วนิรันดร์ของมนุษย์ เราพยายามหาคำตอบว่ามีอะไรรอเราอยู่หลังความตาย ตามที่ผมเข้าใจมี 2 หนทางที่มนุษย์ใช้แสวงหาคำตอบ-ศาสนาและวิทยาศาสตร์

    เนื่องจากไม่ได้ติดตามเรื่องราวความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่วิทยาศาสตร์น่าจะไขความลับสภาวะใกล้ตายและจุดที่เรียกว่าตายกันทะลุปรุโปร่งพอสมควรแล้ว แล้วหลังความตายล่ะ? ผมเดาว่าวิทยาศาสตร์ยังคงหาคำตอบไม่ได้

    ศาสนาจึงเข้ามารับบทบาทหลักในการหาและให้คำตอบแก่เหล่าผู้ศรัทธา ซึ่งแตกต่างกันไปตามแนวทางความเชื่อ

    ส่วนสายวัตถุนิยมหรือผู้ที่ไม่มีศาสนาอาจมองว่า ตายแล้วคือจบ ไม่มีอะไรหลังจากนั้น

    เอาล่ะ ไม่ว่าใครจะมีคำตอบหลังความตายอย่างไร ทว่า สิ่งที่น่าจะเหมือนๆ กันสำหรับมนุษย์ส่วนใหญ่คือเรากลัวตาย

    ทำไมต้องกลัว? มันก็ย้อนกลับไปคำถามข้างต้นนั่นแหละ เพราะเราไม่รู้ว่ามีสิ่งใดรออยู่หลังจากเราจากโลกใบนี้ไปแล้ว เมื่อไม่รู้ เราก็กลัว ยังไม่นับเรื่องความเจ็บปวดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และด้วยสัญชาตญาณที่ธรรมชาติมอบให้สิ่งมีชีวิต การเอาตัวรอดย่อมเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด

    แต่มนุษย์ได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าสัตว์นิดหน่อยตรงที่มีความคิด อารมณ์ ความรู้สึก การตายจึงเป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่หลายสังคมยังหลงเหลือธรรมเนียมว่าจะไม่คุยเรื่องไม่เป็นมงคลแบบนี้ แม้ว่าเราจะไม่มีวันเลี่ยงมันได้ก็ตาม

    หรือจริงๆ เราไม่ได้กลัว ‘ความตาย’ โดยตัวมันเอง เรากลัวความไม่รู้ กลัวการพลัดพรากจากสิ่งของหรือผู้คนที่เรารัก กลัวตัวตนของเราจะสูญสลายไป กลัวจะไม่ได้ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ กลัวว่าชาติหน้าจะเกิดมาลำบาก (ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนาใช้กล่อมเกลามนุษย์ให้ปฏิบัติตามคำสอน) กลัวคนที่อยู่หลังจะเสียใจ กลัวไม่ได้ชำระแค้นที่เราเก็บไว้ในใจ กลัว กลัว กลัว และกลัว

    ส่วนตัวผม ไม่เชื่อว่าเราจะมีทางขจัดความกลัวตายออกจากจิตใจได้อย่างหมดจด ที่ทำได้แค่ทุเลาความกลัวและตระเตรียมสิ่งต่างๆ ให้พร้อมก่อนต้องออกเดินทางไกลตามลำพัง (ถ้าความตายจะเป็นแบบนั้น?)

    หนังสือ ‘9 วิธีพูดเรื่องความตายกับแมว’ เอกภพ สิทธิวรรณธนะ เป็นผู้เขียน ภาพประกอบโดยโลลุทายี โครงการความตาย พูดได้ เครือข่ายพุทธิกา เป็นผู้จัดทำ หนังสือเล่มเล็กๆ ราคา 30 บาท ภาพประกอบสีน้ำสดใส และใช้แมวเป็นอุปลักษณ์ พูดง่ายๆ ก็คือมันเป็นหนังสือที่ชวนให้เราเตรียมตัวตาย

    ทำไมต้องเตรียมตัวตาย? นี่ไม่เท่ากับแช่งตัวเองเหรอ? คืองี้ครับ ในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระบุว่าเราสามารถปฏิเสธการรักษาหากมันเป็นไปเพียงเพื่อยื้อชีวิต ลองนึกถึงคนที่เป็นผัก สมองตายแล้ว แต่ร่างกายยังทำงานด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ ผมไม่รู้คนอื่นคิดยังไง แต่ผมไม่อยากอยู่ในสภาพแบบนั้น ไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว กฎหมายจึงให้สิทธิกับเราในการแสดงเจตจำนงไว้ก่อน ถึงคราวที่เราสื่อสารไม่ได้ ญาติจะได้ทำสิ่งที่เราบอกไว

    ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าเราไม่ยอมคุยเรื่องความตาย เราก็จะไม่มีวันรู้ว่าเมื่อความตายใกล้คนที่รักเรามากขึ้น เราก็ไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร มันมีกรณีกตัญญูเฉียบพลันเกิดขึ้นบ่อยนะครับ ประมาณว่าแม่อยู่เข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว ลูกคนที่ดูแลแม่มาตลอดอยากให้ยุติการรักษา แต่ลูกที่อยู่ห่างไกลกลับขอยื้อชีวิตแม่ไว้เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ได้ทำอะไรให้กับแม่มากพอ

    ผมถามพ่อแม่แล้ว ว่าถ้าจะตาย อยากตายที่บ้านหรือโรงพยาบาล ทั้งสองตอบตรงกันว่าที่บ้าน

    การคุยเรื่องความตาย บางครอบครัวก็ง่าย บางครอบครัวก็ยาก หนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยให้เกิดการสนทนา ขอสรุปทั้ง 9 ข้อ ดังนี้ 1-อย่าเพิ่งกลัวที่จะคุยเรื่องนี้จนเกินไป 2-ใช้สถานการณ์หรือบรรยากาศแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ เช่น งานศพ งานเชงเม้ง เป็นจุดเริ่มต้นสนทนา 3-เมื่อเห็นจังหวะที่ดีในการพูดคุยให้ใช้คำถามเปิดประเด็นสนทนา 4-ฟังอย่างตั้งใจ 5-แสดงความเข้าใจ ไม่ด่วนตัดสิน ไม่เร่งรัด ยอมรับประสบการณ์ของผู้ที่เราคุยด้วย เป็นต้น 6-ลองนัดหมายหรือส่งสัญญาณว่าเราต้องการคุยเรื่องสำคัญของชีวิต 7-เล่นเกม ‘เดาใจฉันหน่อยซิ’ (ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดนะครับ) 8-ชวนเขียน living will หรือพินัยกรรมชีวิต (คนละอย่างกับพินัยกรรมแบ่งสมบัตินะ) และ 9-ใช้เครื่องมืออื่นๆ ช่วยพูดคุยเรื่องความตาย เช่น แอพพลิเคชั่น เกม สมุดเบาใจ เป็นต้น

    ทำไมต้องคุยเรื่องความตาย? เพราะความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การสนทนาเรื่องนี้ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงชีวิต และมันจะช่วยให้เราใคร่ครวญถึงชีวิตที่เป็นอยู่

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in