เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-เรื่องการเงินที่ทุกคนควรรู้ ความเหลื่อมล้ำ สมองและหัวใจ-
  • MONEY 101 เริ่มจากให้เราใคร่ครวญก่อนว่าความร่ำรวยที่เราแสวงหาคืออะไร เพราะความรวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การมีเงิน 10 ล้านกับ 100 ล้านไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับเป้าหมายที่คุณต้องการ 


    “ในวัยหนุ่มสาว ถ้าคุณไม่เป็นซ้าย แสดงว่าคุณไม่มีหัวใจ
    “ในวัยชรา ถ้าคุณไม่เป็นขวา แสดงว่าคุณไม่มีสมอง”

    ผมไม่รู้ว่าใครพูดประโยคนี้เป็นคนแรก ถ้าให้นึกถึงตัวเองในอดีตกับปัจจุบันก็น่าจะคล้ายๆ กับประโยคนี้แหละ

    ตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยจนถึงช่วงทำงานไปประมาณ 10 ปี ผมมองทุนนิยมด้วยสายตาไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย ก็อย่างว่ามันเป็นความเท่แบบหนึ่งของคนวัยหนุ่ม พอๆ กับที่เป็นความโง่เขลา กระทั่งวันหนึ่งงานนำพาผมให้ไปสัมภาษณ์กลุ่มคนที่ทำเว็บเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลและการลงทุน เมื่อรู้ว่ามันมีหนทางที่ผมจะร่ำรวยได้เท่านั้นแหละ ผมก็เริ่มศึกษา อ่านหนังสือ และลงมือทำ

    ‘MONEY 101 เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข’ ของจักรพงษ์ เมษพันธุ์ ชื่อบอกอยู่แล้วว่าพูดถึงพื้นฐานการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) ซึ่งไม่มีสอนในโรงเรียน

    ก่อนไปต่อ ผมเห็นด้วยกับคุณจักรพงษ์ว่าเรื่องนี้สำคัญมาก น่าแปลกใจที่กระทรวงศึกษาธิการไม่บรรจุวิชาการเงินส่วนบุคคลลงในวิชาเรียน ทั้งที่เป็นทักษะชีวิตพื้นฐานที่เราต้องนำไปใช้ต่ออย่างเลี่ยงไม่ได้ มันอาจสำคัญกว่าการเรียนวิชาพุทธศาสนาแบบชาตินิยมหรือเรียนแคลคูลัสทื่อๆ โดยไม่บอกความเป็นมาและประโยชน์ของมัน ทำให้ผมและอีกนับไม่ถ้วนขาดทักษะเรื่องการจัดการการเงินของตนเอง

    ผมบ่นกับคนรอบข้างบ่อยๆ ว่า ผมรู้เรื่องนี้ช้าไปมาก ถ้ารู้เร็วกว่านี้ ผมอาจเข้าใกล้อิสรภาพทางการเงินไปแล้ว

    ผมติดตามผลงานของคุณจักรพงษ์พอสมควรเพราะถูกจริต จริตที่ว่าคือค่อนข้างวางบนฐานความเป็นจริง ไม่เว่อร์วัง และแนะให้เราครุ่นคิดกับคำว่า ‘รวย’ เสียก่อน (แต่บางเล่มผมก็ไม่อ่าน) ขณะที่หนังสือแนวนี้จำนวนมากเหนือจริงตั้งแต่ชื่อหนังสือ ประเภทรวยเร็ว รวยไว รวยใน 1 ปี รวยได้แม้จะขี้เกียจ หรือรวยได้โดยไม่ต้องเหนื่อยมาก มาแบบนี้ผมแค่เปิดดูแล้ววางกลับที่เดิม

    MONEY 101 เริ่มจากให้เราใคร่ครวญก่อนว่าความร่ำรวยที่เราแสวงหาคืออะไร เพราะความรวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การมีเงิน 10 ล้านกับ 100 ล้านไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับเป้าหมายที่คุณต้องการ คุณจะมี 100 ล้านไปทำไมหากสิ่งที่ต้องการในชีวิตจริงๆ ก็แค่การกลับไปอยู่บ้าน ได้ทำในสิ่งที่ตนเองรัก ได้ทำงานอาสาสมัคร มันคือสิ่งที่เรียกว่า ‘อิสระภาพทางการเงิน’ หรือ ‘Financial Freedom’

    คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าการมีอิสรภาพทางการเงินคือการไม่ต้องทำอะไรอีกเลย นั่งกิน นอนกิน ผิด! สิ่งที่อิสรภาพทางการเงินมอบให้เราคือการที่เราสามารถใช้ชีวิต ทำสิ่งที่เรารัก หรือทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยไม่ต้องถูกกดดันจากรายได้

    MONEY 101 จึงเริ่มจากการให้เรามองหาเป้าหมายชีวิตที่เราต้องการจริงๆ แล้วจึงวางแผนการเก็บออม การลงทุน เพื่อไปถึงเป้าหมาย ไม่ใช่เอะอะก็บอกว่า “ฉันอยากรวย 100 ล้าน” การทำงบการเงินของตนเองเป็นพื้นฐานที่จะช่วยใหรู้ว่าเงินของเราเดินทางไปไหนบ้าง มีทรัพย์สิน-หนี้สินเท่าไหร่ เข้าใจคำ 2 คำที่เป็นเสาหลักของการเงินส่วนบุคคล-สภาพคล่องและความมั่งคั่ง

    การสร้างเบาะกันกระแทกจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต การแยกหนี้รวยกับหนี้จนและการจัดการกับมัน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาษี การวางแผนเกษียณ การสร้างรายแบบ Passive Income ไปจนถึงการลงทุนเพื่อต่อยอด

    เอาเข้าจริง ทุกสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้มีให้ศึกษามากมายบนอินเตอร์เน็ต การเรียนรู้ไม่ยากเย็น แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือ ‘วินัย’ ที่จะทำตามแผนทางการเงินที่เราวางไว้ นี่น่าจะเป็นปัญหาคลาสสิก การเก็บมักยากกว่าการจ่าย ยิ่งเมื่อมีสิ่งของมากมายที่ยั่วยวนให้เราอยากได้ แถมยังมีบัตรเครดิตที่สามารถดึงเงินจากอนาคตมาใช้อีก ...เป็นเรื่องของแต่ละคนที่ต้องจัดการกันเองครับ ไม่มีหนังสือเล่มไหนช่วยได้

    ในบทนำ คุณจักรพงษ์เขียนว่าความรู้ทางการเงินส่วนบุคคล “น่าจะเป็นทางออกที่ใช่ สำหรับการแก้...ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ได้ผลและทรงประสิทธิภาพ”

    จุดนี้ผมไม่เห็นด้วยครับ ผมทำงานมานานจนพอรับรู้ว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยสูงแค่ไหน ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน มันยังมีเรื่องการศึกษา สาธารณสุข ความเป็นธรรม กระบวนการยุติธรรม เป็นต้น ความเหลื่อมล้ำไม่ได้สลายไปเพียงเพราะทุกคนมีความรู้ทางการเงิน การลงทุน หรือมีวินัย ไม่ใช่เลย มันมีปัจจัยแวดล้อมมากมายตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา อคติ ชนชั้น ฯลฯ ที่ทำให้คนคนหนึ่งกระเสือกกระสนแทบสิ้นแรงก็ยังจมปลักในหลุมความจนและอีกคนร่ำรวยขึ้นทุกวินาทีโดยแทบไม่ต้องทำอะไรเลย

    ความเหลื่อมล้ำถูกค้ำจุนด้วยโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรมในสังคม ยกตัวอย่าง คิดเหรอว่าโรงเรียนบนดอยของอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ จะมีคุณภาพการเรียนการสอนเท่ากับโรงเรียนชื่อดังในบางกอกที่ต้องใช้ทั้งมันสมอง เส้นสาย และเงินตราเพื่อให้ได้เข้าเรียน ก่อนจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค คนจำนวนมากเผชิญภาวะยากจนเฉียบพลันจากการรักษาพยาบาล บางคนยอมไม่รักษาเพราะไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว

    ผมเชื่ออย่างไม่คลอนแคลนว่า ความเหลื่อมล้ำแก้ไม่ได้ด้วยการเก็บออม การลงทุนของปัจเจกเพียงฝ่ายเดียว ถ้าไม่จัดการกับโครงสร้าง กติกา ที่เอื้อให้มันคงอยู่

    อย่างไรก็ตาม เราโทษหนังสือ MONEY 101 ไม่ได้ ตรงกันข้ามมันเป็นหนังสือที่ว่าด้วยพื้นฐานการเงินส่วนบุคคลที่ดีเล่มหนึ่ง อีกอย่างมันก็ไม่ใช่หน้าที่ของหนังสือแนวนี้ที่จะต้องพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ

    (ผมจะเขียนเรื่องหนังสือ How To กับประเด็นนี้อีกครั้ง)

    ใช่ครับ, ในวัยหนุ่ม ผมมีหัวใจ แต่ไร้สมอง พอเข้าวัยกลางคนตอนนี้ล่ะ ผมมีสมอง แต่มิได้แปลว่าหัวใจผมหายไป คำพูดข้างบนนั่นไม่จริงเสมอไปหรอก

    เพราะทุกอย่างอยู่ที่การเลือก เราเลือกได้ที่จะมีทั้งสมองเพื่อตัวเองและมีหัวใจเพื่อคนอื่น

    https://www.facebook.com/NokPanejorn/posts/145218536910266

    https://wandering-bird.blogspot.com/2020/01/blog-post.html

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in