เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-เราควรโกรธอย่างไร? ทางสายกลางแบบอริสโตเติ้ล-
  • golden mean ของอริสโตเติ้ลต่ออารมณ์โกรธอยู่ที่ว่า เราต้องรู้สึกโกรธในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม โกรธด้วยเหตุผลที่ถูกต้องและด้วยวิธีที่ถูกต้อง

    พูดแบบบ้านๆ ได้ว่าเวลาที่เราโกรธ เราต้องรู้ว่าควรโกรธใคร โกรธแค่ไหน โกรธอย่างไร และทำไมเราจึงควรโกรธ



    ชื่อหนังสือเหมือนจะเป็นแนว how to ไม่ใช่ มันคือการย่อยความคิดของยักษ์ปรัชญานามอริสโตเติ้ลให้อ่านและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น


    ภาษาอังกฤษของผมเปราะบางเกินกว่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างลื่นไหล เวลาจำนวนหนึ่งหมดไปกับการหาความหมายของคำศัพท์ ถึงกระะนั้นก็น่าจะคุ้มค่ากับความพยายาม


    ผมอ่านไปได้เพียง 20 หน้า สิ่งที่อยากเล่าคือทำไมผมจึงสนใจหนังสือเล่มนี้


    คนที่สนใจปรัชญาจริยศาสตร์ต้องเคยได้ยินการสร้างมาตรวัดทางศีลธรรมของเหล่านักปรัชญา ที่คุ้นเคยกันมากหน่อยคือแนวอรรถประโยชน์นิยมที่เชื่อว่าความสุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แนวคิดนี้มุ่งที่ผลลัพธ์เป็นหลัก อีกแนวคิดหนึ่งคือหน้าที่นิยมของค้านท์ที่เชื่อว่าศีลธรรมมีเกณฑ์ที่แน่นอน มนุษย์มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตาม  การกระทำทางศีลธรรมเราต้องคิดเสมอว่าสิ่งนั้นจะเป็นกฎทั่วไปได้หรือไม่และเราควรปฏิบัติต่อมนุษย์โดยไม่มองว่าเป็นเป้าหมายเพื่อให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการเท่านั้น แนวคิดแบบค้านท์จึงสนใจทั้งวิธีการและผลลัพธ์ ...เป็นความรู้ที่ผมจะมีบ้างเล็กน้อย


    แต่จริยศาสตร์แบบอริสโตเติ้ลต่างออกไป เขาให้ความสำคัญกับ virtue ถ้าแปลเป็นไทยคือคุณธรรม ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันตรงกับนัยความหมายของคำอังกฤษแค่ไหน จากความเข้าใจที่เคยรับรู้และสนทนากับนักวิชาการด้านปรัชญามาบ้าง แกนความคิดหลักของอริสโตเติ้ลคือทางสายกลาง หรือ golden mean คุณธรรมคือสิ่งที่อยู่ระหว่างความสุดขั้วของ 2 ด้าน เช่น ความมุทะลุบ้าบิ่นตรงข้ามกับความขลาดกลัว golden mean จึงเป็นความกล้าหาญ การประจบสอพลอตรงข้ามกับความเย่อหยิ่งจองหอง golden mean ก็คือการเคารพตนเอง


    นั่นหมายความว่าจริยศาสตร์ในความคิดของอริสโตเติ้ลไม่ได้มีมาตรวัดที่ตายตัว ทว่า เปิดที่ทางให้เราใคร่ครวญว่าในสถานการณ์หนึ่งๆ เราจะเลือกกระทำสิ่งใดและด้วยเหตุผลใดที่จะไม่ล้นเกินหรือขาดพร่อง


    จุดเริ่มต้นความสนใจจริยศาสตร์ของอริสโตเติ้ลมาจากวงเสวนาครั้งหนึ่งที่ผมไปร่วม วิทยากรพูดถึงอารมณ์โกรธ อริสโตเติ้ลไม่ได้มีมุมมองต่อความโกรธว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่มันจะชั่วร้ายถ้าความโกรธนั้นมากเกินไปหรือน้อยเกินไป


    golden mean ของอริสโตเติ้ลต่ออารมณ์โกรธอยู่ที่ว่า เราต้องรู้สึกโกรธในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม โกรธด้วยเหตุผลที่ถูกต้องและด้วยวิธีที่ถูกต้อง พูดแบบบ้านๆ ได้ว่าเวลาที่เราโกรธ เราต้องรู้ว่าควรโกรธใคร โกรธแค่ไหน โกรธอย่างไร และทำไมเราจึงควรโกรธ


    ครั้งแรกที่ผมได้ยินแนวคิดนี้ ผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจมากเพราะไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน ทำไม? เพราะวัฒนธรรมที่ผมเติบโตมาปกคลุมด้วยแนวคิดของพุทธศาสนาที่มีมุมมองด้านลบต่อความโกรธ (คงเคยได้ยินให้ละโลภ โกรธ หลง) เราไม่ควรโกรธ ความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี เป็นพิษต่ออารมณ์และตัวเราเอง ผมก็คิดว่า เฮ้ย ผมไม่ควรโกรธกับโครงสร้างสังคมที่โคตรเหลื่อมล้ำ กับความอยุติธรรม กับการเลือกปฏิบัติ กับกดขี่ผู้ที่อ่อนแอกว่าที่เกิดขึ้นมากมายในประเทศนี้หรือ? แน่นอน ผมคิดว่าควรโกรธ ต้องโกรธ และผมก็โกรธ


    มองแบบอริสโตเติ้ล ความโกรธจึงไม่ใช่ความเลวร้าย แต่เป็นพลังงานที่ผลักดันให้มนุษย์ลงมือทำบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องโกรธอย่างมีเหตุผล โกรธแค่ไหน และโกรธอย่างไร


    สิ่งที่ตามมา ผมตั้งคำถามกับทางสายกลางในปรัชญาพุทธ (ไม่ใช่ศาสนาพุทธ) ว่ามันคืออะไรกันแน่ ทำไมเราต้องละทิ้งความโกรธหรือรับรู้ว่ามันเกิดขึ้น ดับไป และปล่อยวาง ซึ่งเมื่อเทียบกับอริสโตเติ้ล ผมรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ทางสายกลาง ปรัชญาพุทธมีทางสายกลางระหว่างความโกรธกับการวางเฉยไม่รู้ร้อนรู้หนาวหรือเก็บกลั้นความโกรธหรือเปล่า?


    ทางสายกลางของพุทธกับทางสายกลางของอริสโตเติ้ลจึงน่าจะมีความหมายที่ต่างกันอย่างมาก


    สำหรับผมแล้ว ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนขึ้นทุกวี่วัน ทางสายกลางแบบอริสโตเติ้ลจึงมีแง่มุมที่ดึงดูดกว่า น่าค้นหากว่า และชวนครุ่นคิดมากกว่า


    ทั้งหมดนี้ผมพูดจากความรู้อันจำกัดจำเขี่ย น่าจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ไม่น้อย เชื่อว่ามีผู้รู้ทางปรัชญาอีกมากที่สามารถอธิบายจริยศาสตร์และทางสายกลางของอริสโตเติ้ล ความโกรธและทางสายกลางในปรัชญาพุทธได้คมชัดกว่านี้ ซึ่งถ้าจะช่วยอธิบายให้ผมได้เข้าใจมากขึ้น ผมจะดีใจมาก


    หวังว่าผมจะมีความพยายามและเรี่ยวแรงอ่านจนจบ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in