เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อาทิตย์ก่อนViv’vien;ne_Moo
29.7~4.8 .2019: เจาะเวลาหาอดีต
  • หลังจากอยู่ในสภาพทำงานให้ทันกำหนดส่งมาอย่างต่อเนื่องน่าจะหลายเดือน อาทิตย์ที่ผ่านมาพอเริ่มว่างจึงตัดสินใจพักเกือบทั้งอาทิตย์ เพื่อฟื้นสภาพตัวเองสักหน่อย ระหว่างนั้นได้เสพสารจำนวนหนึ่งที่มองตอนนี้แล้วบังเอิญประกอบกันเป็นหัวข้อได้พอดีว่า เจาะเวลาหาอดีต จึงอยากจะนำบางส่วนที่คิดว่าน่าสนใจเป็นพิเศษมาเล่าสู่กันฟังสักหน่อย

    Challenger Disaster: The Final Mission — สารคดีเรื่องอุบัติเหตุกระสวยอวกาศแชเลนเจอร์เมื่อปี 1986 โดยเฉพาะเรื่องราวของคริสตา แมคออลิฟ คุณครูผู้ได้รับคัดเลือกจากบรรดาผู้สมัครกว่าหมื่นคนให้เป็นครูคนแรกในโครงการครูอวกาศ เรื่องนี้ถ่ายทอดบรรยากาศความตื่นเต้น ตามด้วยเสียใจในสังคมตั้งแต่ก่อนไปจนถึงหลังเกิดโศกนาฏกรรม ทำให้ได้เห็นว่าเหตุการณ์นี้มีผลต่อสังคมอเมริกาอย่างไร

    ส่วนตัวรู้จักเหตุการณ์นี้จากหนังสือเรียนตอนเด็กๆ แต่เพิ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นบรรยากาศจริงร่วมสมัยกับเหตุการณ์ ถือเป็นการเติมด้านที่เป็นมนุษย์ให้กับประโยคหนึ่งของหนังสือ สปช. ดี

    (รับชมได้ที่ช่อง National Geographic Channel)

    ที่มา — http://natgeotv.com/int/apollo-8-the-mission-that-changed-the-world/galleries/historical-mission/2
    Apollo 8: The Mission that Changed the World — สารคดีที่นำเสนอประเด็นว่า ภารกิจอพอลโล 8 โดยเฉพาะภาพถ่ายภาพหนึ่งระหว่างภารกิจนั้น ส่งผลอย่างไรกับโลกที่กำลังวุ่นวายในขณะนั้น และจุดประกายให้ความเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทศวรรษ '70 เริ่มออกตัวจริงจังอย่างไร

    จุดที่ถูกใจตัวเองเป็นพิเศษคือ หลายฉากวิลเลียม แอนเดอร์ส นักบินคนหนึ่งของยานอพอลโล 8 เล่าประสบการณ์ส่วนตัวระหว่างภารกิจให้ฟังแบบติดตลก อย่างเช่นตอนที่จรวดจุดระเบิดขึั้นจากพื้นโลก เขาก็เล่าว่า ความเร่งผลักดันรุนแรงมาก จนในใจเขาคิดว่า "ที่ผ่านมาพวกนั้นให้เราฝึกอะไรเนี่ย! ไม่ได้เหมือนของจริงเลยนี่หว่า!" เป็นต้น

    อนึ่ง ถ่ายภาพที่เป็นหัวข้อของสารคดีเรื่องนี้ (ที่นิยมเรียกว่าภาพ Earthrise) ก็เป็นเขาที่ลั่นชัตเตอร์เอง

    (รับชมได้ที่ช่อง National Geographic Channel)

    ที่มา — https://www.youtube.com/watch?v=0rNy_NWykKU
    Tokyo Phoenix: The Rise of Modern Japan — สารคดีที่นำภาพยนตร์บันทึกกรุงโตเกียวในยุคต่างๆมาร้อยเรียงเป็นหนึ่งเรื่องเล่า แสดงพัฒนาการของโตเกียวตั้งแต่กว่าร้อยปีก่อนจนมาเป็นมหานครในปัจจุบัน ในเรื่องเสนอภาพช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อต่างๆของกรุงโตเกียว เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ปี 1923 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือช่วงเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดในทศวรรษ '60 ถึง '70 เป็นต้น

    ดูแล้วก็ทึ่งกับพัฒนาการของบ้านเมืองหนึ่งๆดี แล้วก็พลอยทำให้มีความหวังเล็กๆด้วยว่า บางทีถ้าเราพยายามถูกวิธี จากนี้บ้านเมืองเราเองก็อาจพัฒนาไปได้อีกไกลเช่นกัน

    (รับชมได้ที่ช่อง Discovery Asia)

    聖船のラー (Seisen no Rā) — เปลี่ยนบรรยากาศจากสารคดีจริงจังมาเป็นเรื่องขบขันบ้าง ด้วยหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับสุริยเทพราแห่งอียิปต์ กับเหล่านักบวชประจำวิหาร ที่มาเรียกเสียงฮาด้วยพฤติกรรมบ้าๆบวมๆต่างๆ

    เรื่องนี้เป็นแนวตลกหน้าตาย ทุกคนแค่ใช้ชีวิตไปธรรมดา ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นมุก แต่ปรากฏผลกลับออกมาขำขัน อีกด้าน เพราะเรื่องนี้เป็นแนวชีวิตประจำวัน อ่านแล้วจึงได้รู้เรื่องเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับอียิปต์โบราณดี ต่อให้ไม่รู้อะไรแบบจับต้องได้เลยเรื่องอียิปต์ก็อ่านรู้เรื่อง (ยืนยันจากประสบการณ์ส่วนตัว)

    (หาได้ที่ amazon.co.jp)

    หมายเหตุ — ภาพนี้ไม่ได้จะสื่อว่าเฮียไรกลิฟทางซ้ายพัฒนามาเป็นตัว ก.ไก่ ทางขวาแต่อย่างใด
    จากเฮียโรกลิฟ สู่อักษรไทย — ท้ายสุด ส่งท้ายด้วยการเดินทางกลับจากอียิปต์โบราณแสนไกล มายังเมืองไทยในปัจจุบัน ด้วยข้อสังเกตน่าสนใจ(และมีโอกาสเป็นจริงพอควร)ว่า อักษรไทยสามารถสืบเชื้อสายขึ้นไปได้ถึงอักษรเฮียโรกลิฟของอียิปต์โบราณได้

    อธิบายโดยสังเขปคือ มีลำดับพัฒนาการเป็นขั้นๆเริ่มจากอียิปต์มายังไทยดังนี้


    เป็นสายสัมพันธ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน ที่ใกล้ตัวแต่ก็มหัศจรรย์กว่าที่คิด

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in