เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ทดลองเป็นครูของเด็กจิ๋วwhalno777
เริ่มต้นสำรวจ
  • 23 - 27 พฤษภาคม 2565

    เริ่มต้นวันแรกด้วยการตื่น 6.30 แต่งตัวในลุคที่คุณครูในเอกบรีฟมาอย่างดี ‘ขอเรียบร้อยน่ารักที่สุดนะลูก’ เรากับเพื่อนสนิท(กมล)แต่งตัวเสื้อขาวกางเกงขายาวรองเท้าผ้าใบ(เต็มที่) แต่เมื่อไปถึงโรงเรียนก็ได้รู้ว่า โอเค แบบนี้ไม่เหมาะ เพราะที่โรงเรียนสนุกสนานบันเทิงมาก ดังนั้นชุดวันต่อ ๆ ไปจะมาในชุด ‘พร้อมเลอะ’ ทุกวัน


    มาถึงโรงเรียนก็เจอคุณครูแตงโมหรือครูใหญ่ของโรงเรียนพอดีพอดี และน้องฝึกงานอีกคนที่อยู่วัยมัธยม จากนั้นก็ช่วยกันจัดการโรงเรียนที่โดนน้ำท่วมไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ช่วยกันไปได้สักพัก คุณครูอีกสองคนก็ทยอยกันมา แล้วก็ตามมาด้วยเด็ก ๆ ทั้งหมด


    โรงเรียนมีลักษณะเหมือนบ้านไม้ มีลานดินที่มีต้นไม้ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงไก่ด้วย สิ่งของในโรงเรียนมักมีลักษณะเป็นไม้การจัดวางสิ่งต่าง ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน


    ครูแตงโมบอกว่าวันนี้จะเป็นวันที่เด็ก ๆ มากันเยอะที่สุด รวมกับเราและกมลที่มาเพิ่มอีก ทำให้วันนี้โรงเรียนมีคนมากถึง 15 คน อาจเป็นจำนวนที่ไม่เยอะ แต่ด้วยพื้นที่โรงเรียนขนาดพอดีพอดี ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ครึกครื้นและเต็มไปด้วยผู้คน


    วันนี้ในชั้นเรียนมีเด็กทั้งหมด 9 คน อายุคละกันไป ตั้งแต่ 5-15 ปี โดยจำนวนของเด็ก ๆ จะเปลี่ยนไปในแต่ละวัน เพราะมีบางคนมาทุกวันจันทร์ บางคนมาสองวันต่ออาทิตย์ก็มี ดังนั้นการจำได้ว่าเด็กแต่ละคนจะมาวันไหนบ้างจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวในการรับมือกับเด็กแต่ละคนได้


    ก่อนเริ่มเรียนครูแตงโมให้เรากับกมลแบ่งกันก่อนว่าจะคอยดูแลเด็กวัยไหน ไม่นานเราก็ตกลงกับกมลได้ว่า เราจะดูแลเด็กเล็ก ส่วนกมลจะดูแลเด็กโต เพราะเราทั้งคู่ต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่าใครสนใจเด็กวัยไหนมากกว่ากันจึงแบ่งหน้าที่กันได้ง่าย 


    การแบ่งเด็กเล็กกับเด็กโต ครูแตงโมไม่ได้ใช้เกณฑ์อายุในการแบ่งเท่าไรนัก แต่จะเป็นที่การสื่อสารมากกว่า ว่าเด็กคนไหนพูดแล้วเชื่อฟัง เข้าใจ และค่อนข้างดูแลตัวเองได้ ก็จะถือว่าเป็นเด็กโต ส่วนเด็กที่ครูต้องคอยแนะนำและให้ความช่วยเหลือก็จะเป็นเด็กเล็ก ในแต่ละวิชาก็จะมีการจัดกลุ่มเด็กแตกต่างกันออกไป ซึ่งโรงเรียนมีทั้งเด็กปกติ เด็กพิเศษ รวมทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติด้วย


    ที่โรงเรียนพอดีพอดีมีกิจวัตรประจำวันคือช่วงเช้าก่อนเริ่มเรียน ครูแตงโมจะนำร้องเพลงสวัสดีและส่งเทียนขอพรต่อกันจนครบวง เมื่อถึงเวลากินข้าวก็ต่อแถวล้างมือและให้ทุกคนนั่งรอที่โต๊ะอาหาร ก่อนจะกินข้าวก็จะขอบคุณอาหาร โดยให้ทุกคนคิดเองว่าจะขอบคุณอะไร เช่น ขอบคุณชาวนา ขอบคุณครูที่ทำกับข้าว ถึงจะเริ่มกินข้าวพร้อมกัน หลังจากกินเสร็จก็จะนำจานไปล้างกันเอง ถ้าใครกินเหลือหรือมีเศษอาหารก็จะนำไปใส่ปุ๋ยหมัก แต่ที่นี่เด็ก ๆ มักจะกินข้าวหมด


    เริ่มฝึกงานวันแรก เรายังไม่กล้าทำอะไรมาก นอกจากคุยกับเด็ก ๆ เมื่อเขาพูดด้วยหรือสงสัย ใช้เหตุผลในการพูดคุยกับเด็ก คอยสังเกตนิสัยและพฤติกรรม เพื่อทำความเข้าใจเขาให้ได้มากที่สุด และยังไม่รู้ว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้บ้างเพราะเรามีความคิดว่า เราเป็นเด็กฝึกงาน ยังไม่มีความเชี่ยวชาญหรือความรู้ใด ๆ จนเวลาผ่านไป เราก็ได้เรียนรู้วิธีการรับมือกับเด็ก ๆ มากขึ้น


    ช่วงหลังเลิกเรียน หลังจากเด็ก ๆ กลับไปหมดแล้ว ครูแตงโมมักจะให้พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เจอในแต่ละวันเสมอ บางครั้งสังเกตอะไรได้ก็จะถามและหาวิธีแก้ไขกัน หรือไม่ก็ให้พูดความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมที่เด็ก ๆ ทำ ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะในวันต่อ ๆ ไปเราจะสามารถรับมือกับเด็ก ๆ หรือแก้ไขปัญหานั้น ๆ ได้เลย


    หลังจากเราได้ทำงานที่นี่ประมาณ 3 วัน เราก็เริ่มปรับตัว และตัดสินใจด้วยตัวเองมากขึ้น ไม่ได้คอยถามครูแตงโมหรือครูอีกสองคนแล้ว หลังจากที่ครูแตงโมอธิบายการดูแลเด็กว่าให้เราทำเหมือนเป็นแม่ของเด็ก ๆ เราก็เริ่มเข้าใจหน้าที่ของเรามากขึ้น แต่ยังมีช่วงเวลาที่ยากอยู่นั่นก็คือการทำให้เด็กเรียนหนังสือ


    เวลาผ่านไปจนถึงวันศุกร์ เป็นวันที่ครูแตงโมจะพาเด็ก ๆ ออกไปเล่นด้านนอก ทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือออกกำลังกาย โดยปล่อยให้เล่นค่อนข้างอิสระ แต่ก็ยังอยู่ในสายตาของคุณครู ซึ่งสถานที่ที่เรามาวันนี้ก็คือ ‘อ่างแก้ว’ ปกติการมาอ่างแก้วของเราคือการมานั่งพัก ดูหมาวิ่งเล่น เพราะปกติเราไม่ใช่คนที่ชอบวิ่งเล่นมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว แต่การมาอ่างแก้วครั้งนี้กลับเป็นวันที่เราวิ่งเล่นแทบจะเยอะที่สุดในชีวิต อีกทั้งยังพาเด็ก ๆ ไปเล่นสไลด์เดอร์ตรงเนินด้วย กมลสนุกกับเด็ก ๆ มาก จนเสื้อเลอะดินไปหมด ส่วนเราก็ได้รู้จักกับ เม็ดนุ่น ครั้งแรก เพราะเด็ก ๆ พาไปดู


    เมื่อครบอาทิตย์ หลังจากเรียนรู้การฝึกงานและเริ่มตัดสินใจอะไรด้วยตนเองแล้วก็พบว่า เราก็มีสิ่งที่ทำผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ก็เป็นวิธีการแก้ไขเฉพาะหน้า และมีอีกหลาย ๆ อย่างที่เราต้องปรับตัวคือลดการใกล้ชิดกับเด็ก เพื่อให้เด็กเข้าใจการอยู่ด้วยตนเองและพึ่งพาตัวเองเป็น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากสำหรับเรา เพราะตอนนี้เราใกล้ชิดกับเด็กมาก ๆ ถ้าต้องปรับตัวก็อาจจะต้องใช้เวลาสักพัก


    สื่อภาษาอังกฤษ ธีมฝน
    สื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ธีมฝน

    วิ่งเล่นที่อ่างแก้ววันศุกร์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in