เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เต่าเต่าเล่าหนังสือHimmel Brown
: แก่นพุทธศาสน์ :
  • พุทธทาสภิกขุ
    ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม ศูนย์หนังสือพระพุทธศาสนา
    -----------------------------------



    / / / /
    " สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย
    สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น "
    / / / /


    ฉันเลือกหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน เพื่อสนองความใคร่รู้แก่นธรรมในเบื้องต้น ด้วยหวังพ้นจากโคลนตมที่จมอยู่ตามประสาชาวพุทธผู้ท่องบทสวดภาษาบาลีได้อย่างไม่รู้ความหมาย และจำได้ว่าวันสำคัญทางศาสนาจะงดจำหน่ายสุรา

    “แก่นพุทธศาสน์” ดูตอบโจทย์ฉันตั้งแต่ชื่อเรื่อง แถมพวงความน่าสนใจด้วยรางวัลชนะเลิศ หนังสือดีประจำปี 2508 จาก UNESCO เนื้อในแบ่งเป็น 3 บทตามบันทึกการปาฐกถา 3 ครั้งของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่โรงพยาบาลศิริราช ได้แก่

    - ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา: หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
    - ความว่าง: ธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ฆารวาสคือเรื่องสุญญตา
    - วิธีปฏิบัติเพื่อความว่าง: การปฏิบัติเพื่อความว่างมี 3 โอกาส คือ ปรกติ, กระทบ, จะดับจิต

    ชื่อทั้ง 3 บท เป็นเหมือนสรุปใจความสำคัญที่ฉันขอไม่ลงลึกในรายละเอียด เพราะหากให้เจียรไนกระเทาะเนื้อหาแต่ละบท เกรงว่าบันทึกถึงหนังสือเล่มนี้ของฉันจะยาวเยียดเกินมาตรฐานความตั้งใจ

    แต่หากเล่าโดยย่อในมุมของฉัน บอกได้เพียงว่าหนังสือเล่มนี้อ่านไม่ง่ายเลยสำหรับน้องใหม่แห่งวงการหนังสือธรรมะ(แบบฉัน) เพราะท่านพุทธทาสบรรยายอย่างผู้รู้ที่สังเคราะห์หลักธรรมเท่าใบไม้กำมือเดียวจากทั้งป่ามาอัดแน่นอยู่ในหนังสือเล่มนี้

    เนื้อหาว่าแน่นและยากแล้ว วิธีการอธิบายยิ่งชวนงงงวย เหมือนกล่าวซ้ำวนไป ว่า หัวใจของพุทธศาสนาคือสิ่งนี้ ‘สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น’ โดยการละ ‘ตัวกูของกู’ เพื่อเข้าถึงความว่างแบบ ‘ปรมานุตตรสุญญตา’ หรือคุ้นหูกว่าคือ ‘นิพพาน’ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งการพ้นทุกข์ สลับกับการอรรถอธิบายรายละเอียดของ ‘ตัวกูของกู’ และความว่าง ทำให้กว่าจะจับประเด็นได้ฉันต้องก่ายหน้าผากแล้วก่ายหน้าผากอีก

    ที่ยากยิ่งกว่า คือการจับหลักธรรมเหล่านั้นมาปฏิบัติ แม้ในบทสุดท้ายท่านพุทธทาสกล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อความว่างใน 3 โอกาส แต่สำหรับผู้ที่เต็มไปด้วยโลภะอย่างฉันรู้สึกว่ายังไม่พอ อยากได้คำอธิบายที่เป็นกระบวนการเพื่อน้อมนำไปปฏิบัติต่อมากกว่านี้ เหมือนตอนนี้ได้หลักคิดความเข้าใจ แต่ยังไม่ได้หนทาง “รู้” ความว่างที่แท้จริง

    สำหรับฉัน แก่นพุทธศาสน์ที่น่าจะตอบโจทย์จึงกลับเพิ่มโจทย์ความใคร่รู้ให้ตัวเอง อ่านแล้วเหมือนเข้าใจแต่ยังเต็มไปด้วยข้อสงสัย จนอยากศึกษาหลักธรรมให้ลงลึกมากกว่าใจความเบื้องต้น หรือศึกษาแนวทางอื่นเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจรอบด้าน

    หากท่านใดมีจิตเมตตาอยากช่วยขับไล่อวิชชาจากตัวฉัน โปรดแนะนำหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเถอะนะคะ ฉัน, เต่าน้อยตัวนี้ ขอก้มหัวน้อมรับคำแนะนำแต่โดยดีค่ะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in