เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SighseeingWhizPalm
Bangkok, เดินเล่นจาก 0 (2/2) + Bangkok City Library
  • สองอาทิตย์ผ่านไป หลังจากเขียน Entry ตอนแรก วันนี้ได้ฤกษ์เลยมาเขียนที่ดองเอาไว้ค่ะ
    (ย้อนอ่านของเดิมได้ที่ Bangkok, เดินเล่นจาก 0 (1/2) + #130ththailandjapan

    คำเตือน Entry นี้ภาพดุนะคะ ไม่มีเนื้อหาเยอะ เน้นขายภาพค่ะ

           ย้อนความเล็กน้อย เดินเล่นจาก 0 "ศูนย์"ในที่นี้หมายถึง เดินจากหลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศไทยค่ะ โดยสถานที่ที่เป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ก็คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งตอนก่อน เราเลือกเดินจากจุดนี้ไปทางแยกผ่านฟ้าลีลาศ วันนี้จะมาเขียนตอนต่อสั้นๆ เน้นหนักไปทางแหล่งเรียนรู้ จากอีกฝั่งที่จะมุ่งหน้าไปทางสนามหลวงนะคะ

    หลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศไทย

           จากบริเวณนี้ มุ่งหน้าไปทางสนามหลวงมีสถานที่น่าสนใจอยู่พอสมควรค่ะ ใกล้สุดเลย เริ่มจากที่นี่ ศึกษาภัณฑ์พานิชย์ แหล่งขายอุปกรณ์การเรียน ที่มีทั้งเครื่องเขียน หนังสือเรียน เสื้อผ้าและรองเท้านักเรียน เรียกได้ว่าสารพัดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเรียนมีหมดค่ะ ราคาเองก็ไม่แพงเลย อยากให้มาลองเดินดูกัน ใครชอบเครื่องเขียนน่าจะเดินได้นานเอาการเลย

    ศึกษาภัณฑ์พานิชย์ (สาขาราชดำเนิน) 

           ถัดมา รอบๆนี้ก็ยังคงเป็นสถาปัตยกรรมแบบเดิมอยู่(Colonial Style, Colony Architecture) เรียกได้ว่าสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ตลอดสองฝั่งถนน

           วันนั้นแดดไม่แรงค่ะ ฟ้าครึ้มเหมือนฝนจะตกเลยเดินได้ซิลๆหนึ่งแยก โดยแยกที่เจอถัดจากตรงนี้ไม่ใช่แยกใหญ่อะไร แต่เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นๆกันถ้าบอกว่าเป็นบริเวณ กองสลากเก่า ความน่าสนใจของบริเวณนี้ นอกจากตึกเก่าสวยๆที่ได้เห็นแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวดังอย่าง ถนนข้าวสาร ด้วย ดังนั้นสิ่งที่พบได้ ควบคู่กับความคลาสสิคก็คงจะเป็นความอาร์ตที่ซ่อนตัวอยู่กับสังกะสีหน้าซอยดำเนินกลางเหนือ

    น่าเสียดายที่หลังจากเราถ่ายภาพกราฟฟิตี้บนสังกะสีชุดนี้แล้ว คล้อยหลังไปราวๆ 2-3 ชั่วโมง ขากลับก็พบว่าลายทั้งหมดนี่
    ถูกปิดทับด้วยสังกะสีใหม่ไปแล้วค่ะ

           อีกด้านไม่ห่างกัน หากข้ามซอยเมื่อครู่ไปเราจะเจอไฮไลท์ของ Entry นี้ นั่นคือ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Library) 



           อย่างที่ระบุไป หลักๆของ Entry นี่จะพูดถึงด้านในหอสมุดแห่งนี้คร่าวๆ โดยด้านในจะไม่อนุญาตให้ใช้กล้องถ่ายรูปค่ะ อนุโลมให้แค่กล้องจากโทรศัทพ์มือถือ ดังนั้นจากนี้เลยจะใช้รูปจากโทรศัพท์มือถือแทน และจะพยายามรวมให้รูปไม่เยอะจนน่าเบื่อเกินไปนะคะ

           ที่นี่เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์

    • อังคาร - เสาร์ เปิดเวลา 08.00 - 21.00 น.
    • วันอาทิตย์ เปิดเวลา 09.00 - 20.00 น.

           ด้านในมีล็อคเกอร์ให้ฝากของ มีบริการยืมหนังสือ รวมถึงบริการรหัส Wi-Fiด้วย (จำกัดการใช้งานต่อรหัส 2 หรือ 3 ชั่วโมง นี่ล่ะค่ะจำไม่ได้)  สำหรับการยืมหนังสือ และบริการWi-Fi จำเป็นต้องสมัครสมาชิกก่อนนะคะ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็แค่ ปีละ 10 บาท เท่านั้นเอง สำหรับชาวไทย แต่หากไม่เป็นสมาชิกก็ใช้บริการได้ค่ะ เพียงแค่มีบัตรประชาชน (หรือพาสปอร์ต ในกรณีเป็นชาวต่างชาติ) แต่จะไม่ได้สิทธิยืม และสิทธิ์เข้าถึงWi-Fi เท่านั้นเอง

           ด้านในมีให้เข้าชมทั้งหมด 4 ชั้น ได้แก่ ชั้น 1, M, 2 และชั้น 3 โดยทุกชั้นสามารถขึ้นลิฟต์ไปได้ แต่หากเป็นบันไดด้านหน้า(บริเวณขวามือหลังเข้าไปด้านใน) จะเป็นบันไดที่ขึ้นได้เพียงชั้น 1, 2 และ 3 ส่วนชั้น M จะต้องใช้บันไดอีกส่วนที่อยู่ด้านหลังบริเวณชั้น 1 เพื่อขึ้นไปค่ะ หากใครสงสัยหรืองงๆไปบ้าง ก็ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะที่นี่มีเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ให้สอบถามได้ทุกชั้น

           หนังสือในชั้น 1 ประกอบด้วย

    • หนังสือเสียง
    • หนังสือเบรลล์
    • หนังสืออาหาร สุขภาพ และการท่องเที่ยว
    • นิตยสาร วารสาร
    • หนังสือใหม่
    • หนังสือพิมพ์

           นอกจากส่วนโถงด้านหน้าที่มีจุดฝากของ เคาน์เตอร์หลักสำหรับสมัครสมาชิก กับหนังสือดังกล่าวแล้ว ยังมีบริเวณหนึ่งถูกจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการย่อยๆด้วย


    บอร์ดตรงนี้น่าจะเป็นส่วนที่บอกเล่าความเป็นมาของหอสมุดแห่งนี้ได้ชัดเจนที่สุดค่ะ
    ห้องฉายภาพยนต์ก็มี แน่นอนว่าต้องมาเดินเรื่องขอก่อนใช้งาน เหมือนกับห้องประชุมชั้นบนค่ะ ที่จะมีเงื่อนไขว่าต้องมากันกี่คนเป็นอย่างน้อย
    บริเวณนี้เป็นบันไดด้านใน ที่จะขึ้นไปบริเวณชั้น M ค่ะ

           สำหรับชั้น M จะประกอบด้วย

    • หนังสือทั่วไป
    • หนังสือเด็ก
    • วรรณกรรมเยาวชน

    มีมุมกิจกรรมของน้องๆ และห้องสำหรับเด็กเล็กด้วย

    จากตรงนี้จะเห็นโถงหน้าประตูทางเข้าได้ค่ะ มีเครื่องกั้นตามภาพ ที่จำเป็นจะต้องใช้บัตรประชาชน(แบบสมาร์ทการ์ด) เสียบเพื่อผ่านประตู

           ต่อกันที่ชั้น 2

    • นวนิยาย และเรื่องสั้น
    • หนังสือภาษาไทย ที่แบ่งตามระบบทศนิยมดิวอี้ (000-900)
    • หนังสือภาษาอังกฤษ ที่แบ่งตามระบบทศนิยมดิวอี้ (000-900)
    • หนังสือวรรณกรรมโลก (รางวัลซีไรต์ต่างๆ)
    • หนังสืออาเซี่ยน

    ชั้นนี้หนังสือเยอะที่สุดเลยก็ว่าได้ คนก็เยอะค่ะ เลยเก็บรูปมาฝากได้น้อยนิดนึง เกรงใจผู้ใช้ท่านอื่น


          ชั้นบนสุด ชั้นที่ 3
    • หนังสือพระราชจักรีวงศ์
    • หนังสือหายาก
    • หนังสืออ้างอิง
    • หนังสือพระราชนิพนธ์
    • หนังสือของกทม.
    • หนังสือเกี่ยวกับกทม.



    มีมุมที่จัดเป็นนิทรรศการอีกแล้วค่ะ

    มุมนี้เป็นบันไดด้านหน้า ที่จะขึ้นลงได้แค่ชั้น 1, 2 และ 3 ค่ะ จะเห็นได้ว่ามีหนังสือมากมายรอทยอยขึ้นชั้น
    นั่นแปลว่าใครที่รู้สึกว่าที่นี่มีหนังสือน้อยก็ใจเย็นๆรอกันนิดนะคะ

           นอกจากชั้นต่างๆที่กล่าวมา สิ่งที่ลืมพูดถึงไม่ได้คงเป็นพื้นที่ที่จัดสรรค์ได้ลงตัวค่ะ เหมาะสำหรับการอ่าน การนั่งทำงาน รวมถึงคนที่ต้องการหาความสุนทรีด้วย เพราะภายในตกแต่งได้สวยงามมากจริงๆ จะสังเกตได้จากองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆของงานสถาปัตยกรรมต่างๆ


           สรุปสั้นๆ ก่อนจบ Entry แล้วกันค่ะ ว่าที่นี่น่าประทับใจมาก มีโอกาสก็อยากให้มาชมกันเอง เราพยายามลงภาพให้น้อยที่สุดเพื่อลดการสปอยสถานที่แล้วค่ะ(จริงๆนะ)  

           สุดท้าย เราหวังว่าถึงเราจะดัน Part 2 ของการเดินทางตลอดเส้นราชดำเนินกลางออกมาเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว ก็จะยังมีคนรออ่านเรื่องเที่ยวๆ Entry ต่อไปของเราอยู่ และที่หวังเป็นอย่างยิ่งเลย ก็คือ เราเองจะยังมีแรงพอที่จะเอารูปมาแชร์แบบไม่ดองนานจนเกินไปนะคะ (ฮา~) ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงตรงนี้  ไว้พบกันใหม่ค่ะ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in