เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
AFTER The TALKthefirstofmine
AFTER The TALK: Wo=Men Summit 2019


  • ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/dragonfly360.co/

    November 2, 2019
    Wo=Men Summit 2019
    ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
    โดย Dragonfly 360




    งานนี้เป็นการประชุมสุดยอดเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศเพื่อรณรงค์เรื่องของความเสมอภาคระหว่างเพศ "หญิง" และเพศ "ชาย" และส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในสังคม ซึ่งงานนี้มีเหล่านักเคลื่อนไหวหรือที่เรียกว่า Activists (จริงๆ) และมีเหล่าเซเลบริตี้เดินทางเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง 

    ภายในงานก็จะมีทั้งสปีกเกอร์และพิธีกรคอยดำเนินรายการกันหลายท่าน รวมไปถึงตารางกิจกรรมที่แน่นขนัดตลอดทั้งวัน ต้องบอกว่าแต่ละกิจกรรมก็มีความน่าสนใจแตกต่างกัน (ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน) สำหรับเรานั้น ก็จะมีนักเคลื่อนไหวที่ขึ้นพูดแล้วเราประทับใจอยู่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น Sunitha Krishnan นักเคลื่อนไหวชาวอินเดีย, Jameela Jamil นักแสดงและนักเคลื่อนไหว (วันนี้มาไม่ได้ น่าเสียดาย แต่เธอก็ยังสไกป์มาร่วมพูดคุยกัน), Sirinthorn Chandraprasert ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ของ Dragonfly 360 (คราวนี้มาในฐานะของพิธีกรบนเวที), Bryony Cole ผู้เชี่ยวชาญด้าน SexTech, Maggie Q นักแสดงและนักเคลื่อนไหว, เซคชันของ Kiss with a Fist ทั้งหมด และ Madison Mehta นักเรียนและนักเคลื่อนไหว เดินทางเข้าร่วมงาน

    เราก็เลยอยากจะหยิบเนื้อหาที่เราประทับใจในงานมาฝากทุกคนกัน




    From Victim to Protector

    Speaker: Sunitha Krishnan

    Sunitha Krishnan เป็นนักเคลื่อนไหวชาวอินเดียที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบอกเล่าเรื่องราวของความเป็นเพศหญิงที่โดนสังคมอินเดียกดขี่และผู้หญิงบางคนถูกข่มขืน (แม้กระทั่งเด็ก เธอเคยพบเด็กที่เล็กที่สุดที่ถูกข่มขืนคือเด็กผู้หญิงที่อายุเพียง 1.5 ปีเท่านั้น) เธอมาพร้อมกับสไลด์ที่ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นถึงสิ่งต่างๆ ที่เธอเล่าให้ฟังไปจนถึงสิ่งที่เธอทำขึ้นมาจริงๆ Sunitha Krishnan เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ออกมาเพื่อเรียกร้องและปกป้องสิทธิ์ของผู้หญิงในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นในละแวกบ้าน ชุมชน เมือง ประเทศ หรือแม้แต่ระดับโลกก็ตาม เธอเดินหน้าส่งมอบความรู้ให้กับเด็กในโรงเรียน สร้างความตระหนักรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ และที่อิมแพคกับเรามากๆ เลยก็คือการที่เขาได้เดินทางเข้าไปช่วยเหล่าผู้หญิงที่ถูกทำร้าย ทารุณ และข่มขืน ให้ออกมาจากสังคมและพื้นที่นั้นๆ เธอบอกว่าปลายทางไม่สำคัญ แต่ระหว่างทางนี่แหละที่สำคัญ

    สามารถเข้าไปฟังได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ (ค่อนข้างทริกเกอร์)




    Live VDO Fireside Chat

    Speaker: Jameela Jamil

    จามีลา จามิล นักแสดงและนักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษจากซีรีส์ The Good Place (NBC) เธอมีแพลนว่าจะเข้าร่วมงานซัมมิทนี้ด้วย แต่ติดปัญหาเรื่องกรีนการ์ด ทำให้เธอไม่สามารถมาเยือนประเทศไทยและเข้าร่วมงานนี้ได้ด้วยตัวเอง แต่เธอก็เข้าร่วมพูดคุยกันผ่านสไกป์กัน

    จามีลาเล่าให้ฟังว่า เมื่อสองปีก่อน (2017) เธอสมัครใช้ Instagram แล้วดันโชคร้าย ไปกดโดน ? แล้วเธอก็เห็นรูปหลายๆ รูปจากหลายๆ ผู้คน เธอเห็นรูปของ the Kardashians ที่มาพร้อมกับมีมเรื่องน้ำหนัก แต่เธอไม่เคยเจอรูปของผู้ชายที่มาพร้อมกับมีมในทำนองเดียวกันเลย นั่นมันทำให้เธอคิดได้ว่า เมื่อ 20 ปีก่อนเป็นยังไง 20 ปีต่อมาก็ยังเป็นเหมือนเดิมอย่างนั้นเหรอ เราให้คุณค่ากับผู้หญิงยังไงบ้าง ไม่ว่าเขาจะน้ำหนักเท่าไหร่ เก็บซ่อนมันเท่าไหร่ หรือตัดสินด้วยพื้นที่เล็กๆ ที่ผู้หญิงเขาสามารถยืนหยัดบนโลกใบนี้ได้ เธอก็เลยตัดสินใจที่จะโพสต์รูปตัวเองพร้อมกับลงน้ำหนักเอาไว้ และเธอเองก็ใช้คอนเนคชันของเธอในการพูดเรื่องนี้ว่าเรามีคุณค่าในตัวเองนะ ไม่ว่าจะมีน้ำหนักเท่าไหร่ เธอไม่ได้คาดหวังเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายมันกลายเป็นไวรัล หลังจากที่เธอโพสต์ไปวันแรกนั้น มีผู้หญิงกว่า 3,000 คน ส่งเรื่องราวที่เคยเจอแบบเดียวกันกลับมาหาเธอ เธอจึงเริ่ม I WEIGH (Twitter / Instagram / Facebook / YouTube) ขึ้นมา ปัจจุบันนี้มีผู้ติดตามทางอินสตาแกรมเกือบล้านฟอลโลเวอร์ และกลายเป็น Global Movement เธอบอกว่าเป็นการที่ผู้หญิงหลายๆ คนร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้กลายเป็นนโยบายระดับโลกและทำให้กลายเป็นกฎเกณฑ์ขึ้นมาจริงๆ I WEIGH เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นอับอาย สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโซเชียลมีเดียที่โคตรจะเป็นพิษ และนอกจากจะเป็นมูฟเมนต์เพื่อความมั่นใจในรูปร่างของตัวเองและร่างกายของคนอื่นๆ แล้วนั้น I WEIGH ยังเป็นมูฟเมนต์สำหรับสุขภาพจิตที่ดีที่เกี่ยวกับ Body Liberation Movement อีกด้วย นอกจากนี้แล้ว เธอยังได้ 250,000 ลายเซ็นใน 3 วัน เพื่อยื่นให้ทาง Instagram และ Facebook ออกกฎสำหรับ Non FDA-Regulated Diet Product (อาหารไดเอทที่ไม่ได้ผ่านการควบคุมโดยองค์การอาหารและยา) ที่ผู้ใช้สามารถซื้อได้จากเหล่าเซเลปหรืออินฟลูเอนเซอร์เป็นผู้ขาย ซึ่งเธอสามารถทำให้มันเกิดผลขึ้นมาได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งทาง Instagram และ Facebook ก็ควบคุมทั้งทั้งผลิตภัณฑ์สำหรับการไดเอท ดีท็อกซ์ ไปจนถึงขั้นตอนการทำศัลยกรรมความงามต่างๆ และเธอเองก็จะเดินทางเพื่อไปร่วมขบวนกับทางฮาร์วาร์ดเพื่อเรียกร้องให้กลายเป็นกฎหมายบังคับใช้ทั่วอเมริกาอีกด้วย

    จามีลาบอกว่า เธอรู้ว่าหลายๆ คนไม่ค่อยฟังหรือไม่ค่อยเชื่อพวกนักเคลื่อนไหวเท่าไหร่ แต่เรามักฟังคนที่มีสิทธิพิเศษ (privileged) มากกว่า นั่นมันทำให้เธอออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสร้างและป้องกันไม่ให้คนอื่นต้องมารู้สึกแย่ๆ เช่นเดียวกับเธอ

    และส่งท้าย เธอบอกว่า ตอนนี้เราต้องมีการแสดงออกถึงชาวเอเชียที่มากกว่านี้ในอุตสาหกรรมมีเดียต่างๆ ถ้าคุณไม่สามารถเห็นได้ ไม่สามารถสัมผัสถึงมันได้ ไม่สามารถรับรู้ได้ถึงการแสดงออกของชาวเอเชีย และบางคนไม่ได้แม้กระทั่งลองทำ เธอบอกว่าเธออยากเราก้าวต่อไปข้างหน้า เธอบอกว่าเธอเคยโดนบอกไม่ให้ไปอเมริกาตอนอายุ 29 เพราะว่าเธอแก่เกินไป แต่ว่าเธอก็ไม่ฟังคำเหล่านั้น เธอมุ่งหน้าไปอเมริกาด้วยตั๋วเที่ยวเดียว เพราะเธอกล้าที่จะเสี่ยง เธอก็อยากให้เราลองทำดู บางทีเราอาจจะเป็น First Thai Superstar ในเมนสตรีมก็ได้ มันเป็นการเปิดโอกาสที่ดีให้กับคนอื่นๆ อีกด้วย ช่วยเหลือกันและกันให้โดดเด่น สู้เพื่อการ representation และเมนสตรีม เพราะว่าโลกต้องการคุณ มันเป็นวัฒนธรรมที่ดี 
    คุณสามารถออกมาป่าวประกาศและสามารถเคลื่อนไหวได้ แม้จะเล็กน้อย แต่นั่นก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณไม่มีภาระที่จะต้องทำสิ่งถูกใจคนอื่น แต่คุณสามารถทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ ในความเห็นที่ดี แม้บางครั้งมันจะไปทำให้คนอื่นไม่พอใจก็ตาม เพราะเขาไม่ใช่ผู้หญิงที่ออกมาพูดหรือเรียกร้อง และบางครั้งอาจจะมีผู้ชายหรือผู้หญิงที่ privileges กว่าคุณต่อต้านคุณอยู่ เพราะเขาคิดว่าคุณแย่งพื้นที่ของเขา คุณไม่จำเป็นที่จะต้องไปเอาเรื่องราวจำพวกนั้นมาขวางคุณเอาไว้จากการป่าวประกาศของคุณ ทำให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง และผลักดันความเห็นของคุณให้ไปข้างหน้าต่อไป เพราะอย่างที่เราเห็นจากกระแส #MeToo และ Time's Up เมื่อผู้หญิงมารวมตัวกันและยืนขึ้นเพื่อพูดขึ้นมา และเราพูดดังขึ้นด้วยกัน และนั่นมันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและรวดเร็ว

    นอกจากนี้ สำหรับการทำให้ตัวเองมองโลกในแง่ดีทั้งที่โลกโซเชียลมีเดียนั้นมีแต่เรื่องที่ toxic จามีลาบอกว่า คุณสามารถอันฟอลโล่ว์คนที่ทำให้คุณดูแย่ ดูแก่ ดูน่าเกลียดไปซะ คุณไม่จำเป็นที่จะต้องไปสนใจเรื่องพรรค์นั้น แล้วก็ฟอลโล่ว์คนที่ถนอมจิตใจคุณ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำให้คุณคิดได้ คนที่ทำให้คุณหัวเพราะ คนที่คุณรัก และสำหรับครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ตัวของคุณ ก็อยากให้บอกตัวเองได้แล้วว่าถึงเวลาแล้วว่าคุณควรที่จะได้รับการเคารพ

    จามีลายังพูดถึงพวกนิตยสารที่มักทำให้ผู้หญิงที่ขึ้นปกหรือในนิตยสารนั้นดูสวย ลบรอยตีนกาต่างๆ ทำให้ดูสะพรั่งเหมือนสาววัยใส แต่กับพวกผู้ชาย กลับทำให้เห็นริ้วรอยต่างๆ อย่างชัดเจน ผมสีดอกเลา ทำให้ดูแซบ เผ็ด ร้อน เซ็กซี่ นั่นก็กลายเป็นสิ่งที่ยังเห็นได้อยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ และพิธีกรก็ถามว่าใครเป็นคนสั่งให้รีทัชสาวๆ แบบนั้น ผู้หญิงเองหรือว่าผู้ชาย จามีลาก็บอกว่า ต่อให้บรรณาธิการเป็นผู้หญิง เจ้าของก็เป็นผู้ชาย เจ้าของค่ายหนังก็ผู้ชาย เจ้าของค่ายเพลงก็ผู้ชาย เจ้าของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ผู้ชาย ทุกอย่างเต็มไปด้วยการที่มีผู้ชายเป็นเจ้าของ ทุกสิ่งทั้งเครื่องสำอางสำหรับผู้หญิง โฆษณาสำหรับผู้หญิง ก็ทำด้วยผู้ชายทั้งนั้น มันเริ่มด้วยผู้ชายตลอด

    จามีลาพูดถึงเรื่องของงานหนังและผลงานการแสดงว่าทุกวันนี้ ผู้ชายต่างเขียนหนังแฟรนไชส์ หนังเอเลี่ยน หนังไดโนเสาร์ หนังสัตว์ประหลาดออกมาอย่างดีหลายต่อหลายเรื่อง แต่มันน่าสงสัยนะว่าทำไมถึงเขียนบทบาทที่สำคัญของตัวละครหญิงออกมาไม่ได้ เขียนพวกเรื่องนอกโลกสำหรับหนังแฟรนไชส์ได้ดีกว่าบทบาทที่สำคัญของตัวละครหญิงซะอีก มันยากตรงไหนกัน แต่ทุกวันนี้เราก็ได้เห็นนักเขียนหญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่าง Phoebe Waller-Bridge ที่ประสบความสำเร็จ และจามีลาเองก็คิดว่ามันจะต้องดีกว่าพวกผู้ชายอย่างแน่นอน 

    สามารถเข้าไปฟังได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้




    Mal(e)Function

    Speakers: Abhisit Vejjajiva, Robert Candelino, Pascal Gerken, Renaud Meyer
    Moderated by: Sirinthorn Chandraprasert

    สำหรับพาร์ทนี้ เป็นพาร์ทที่เรา (อิหยังวะ) มากๆ ในมุมมองความคิดของผู้ชาย เพราะเรารู้สึกว่าหลายๆ คนที่ขึ้นพูดนั้น มีความคิดแบบปิตาธิปไตย มีความเป็น Toxic Masculinity อยู่อย่างมาก ไม่มีใครเข้าใจความคิดชายเป็นใหญ่ที่เป็นพิษเลยที่คิดว่าตัวเองอยู่เหนือผู้หญิง เหนือคนอื่น ฟังๆ แล้วก็ได้แต่สงสัยว่าสำหรับบางคน ถ้าไม่มีลูกสาวก็จะคิดไม่ได้ใช่หรือไม่ว่าจะต้องทำดีต่อผู้หญิง เราค่อนข้างชอบพิธีกรนะ เขาถามจี้ ตรงจุด ตรงประเด็นมากๆ จี้ถามจนเราแอบตกใจเลย แต่ประทับใจมาก

    ลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Toxic Masculinity ได้ที่
    alcoholrhythm / waymagazine / thecurious


    Workshop A: The Future of Sex

    Speaker: Bryony Cole

    พาร์ทนี้เป็นหนึ่งในพาร์ทที่เราค่อนข้างชอบ เพราะเขาพูดถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเซ็กซ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเรื่องของพวกหุ่นยนต์ ของเล่น แอปพลิเคชันต่างๆ ไปจนถึงเครื่องมือที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระยะไกล (Long Distance Relationship) กลายเป็นเรื่องง่าย แต่ก็มีหลายๆ อย่างที่ทำให้เรานึกถึง Samantha จากหนังเรื่อง Her, JOY ในหนัง Blade Runner 2049 ด้วย เอาจริง แม้พาร์ทนี้จะอยู่หลังพักเที่ยงก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้เราง่วงเลยแม้แต่น้อย น่าสนใจเสียด้วยซ้ำ สำหรับเรื่องของ Sextech เธอบอกว่าทุกวันนี้ เทคโนโลยีเริ่มที่จะเหมือนมนุษย์มากยิ่งขึ้น แต่มนุษย์กลับทำตัวเหมือนเป็นเทคโนโลยีมากยิ่งกว่าเก่า


    Let's Kick Some Ass

    Speaker: Maggie Q
    Moderated by: Sean Lee-Davies

    แม้สาวจามีลาจะมาไม่ได้ แต่แม็กกี้ คิว มาได้! คราวนี้เธอขึ้นเวทีพร้อมกับเพื่อนของเธอที่มาในฐานะของ Moderator แล้วหลังจากขึ้นพูดจบ เธอก็ต้องรีบขึ้นเครื่องกลับอเมริกาเลยล่ะ

    แม็กกี้บอกว่า ผู้หญิงเอเชียส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการสอนให้ยืนหยัดเพื่อสิทธิของตัวเอง และการที่เธอเป็นผู้หญิง แถมยังเป็นผู้หญิงเอเชียที่ทำงานในวงการฮอลลีวูด เธอเองก็ใช้เวลานานกว่าจะได้รับการยอมรับ และทุกวันนี้เธอเองก็ยังคงได้ค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายอีกด้วย เธอยังคงพยายามที่จะเรียกร้องให้ผู้หญิงในวงการได้รับค่าจ้างอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ชาย เพราะพวกเธอเองก็ทำงานรวมถึงทุ่มเทเรื่องการแสดงอย่างหนักไม่แพ้ผู้ชาย พวกเธอก็สมควรที่จะได้รับค่าจ้างเท่าผู้ชายอีกด้วย เธอยังบอกอีกว่า เราควรซัพพอร์ตกันและกัน นั่นเป็นสิ่งที่พวกเราควรจะทำและเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ


    Don't Take Your Foot off the Peddle

    Speaker: Marina Mahathir (นักเคลื่อนไหวทางสังคมและนักเขียนชาวมาเลเซีย)

    ต้องบอกก่อนว่า Marina Mahathir มาพร้อมกับสไลด์สุดวิชาการที่ทำให้น่าติดตามได้อย่างไม่ยาก เธอบอกว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ผู้หญิงในสังคมมาเลเซีย (และอาจจะรวมถึงสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มักไม่มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ทั้งการเป็นเจ้าของที่ดิน บ้าน อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์ต่างๆ และยังต้องทำงานไปด้วยและคอยดูแลบ้านให้ดี ดูแลสามีและครอบครัวอีกด้วย แถมยังไม่สามารถออกมาพูดถึงเรื่องราวต่างๆ ไม่มีโอกาสที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ เลย เธอพูดถึงเปอร์เซ็นของกลุ่มผู้หญิงในมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ถึงการแสดงออกและความเท่าเทียมกัน รวมไปถึงจำนวนผู้หญิงที่เข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชนในรัฐสภา ซึ่งตัวเลขนั้นยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ได้กำหนดเอาไว้อีกด้วย และเธอยังบอกอีกว่าให้เราต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ตื่นตัวอย่างต่อเนื่อง และให้เคารพทั้งตัวเองและผู้อื่นอีกด้วย


    Kiss with a Fist

    Speakers: Watcharapon (Sia) Kukaewkasem, Emma Thomas, Cindy Bishop
    Moderated by: Melissa Alvarado

    พาร์ทนี้เป็นพาร์ทที่มีคนไทยและเราชอบมากๆ พาร์ทหนึ่ง (จากทั้งหมดที่ผ่านมาหลายๆ พาร์ท เราค่อนข้างประทับใจพาร์ทของสปีกเกอร์ชาวต่างชาติมากกว่า เพราะมีเนื้อหาสาระที่เจาะเนื้อหาได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็นสุดๆ) แม้พาร์ทนี้จะค่อนข้างทริกเกอร์ก็ตาม แต่มันทำให้เราเห็นอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับสังคมไทยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย สำหรับเรื่องของ Sexual Harassment ในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างในประเทศไทย ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในสังคมไทยมาช้านาน และดูจะไม่มีท่าทีว่าจะหายไปไหน เพราะอะไร? เพราะว่าสังคมไทยยังคงพร่ำสอนให้ผู้หญิงแต่งตัวให้เรียบร้อย สงวนท่าที โดยไม่มีการสั่งสอนให้ผู้ชายรู้จักยับยั้งชั่งใจบ้างเลยแม้แต่น้อย จากที่เห็นในข่าวต่างๆ ก็มักจะโทษที่ผู้หญิงแต่งตัวไม่ดี เดินที่เปลี่ยวบ้าง หรือแม้แต่งานเทศกาลบ้างที่สุดท้ายแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น ก็จะโทษที่ผู้หญิงเป็นหลัก แต่เราแทบไม่เห็นเลยว่าจะมีการโทษและประนามผู้ชายก่อนบ้างเลย เหล่าสปีกเกอร์ที่ขึ้นพูดในพาแนลนี้ต่างเผชิญเหตุการณ์ Sexual Harassment และ Domestic Violence ซึ่งแต่ละคนก็ออกมาบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้ฟังกัน เราต้องบอกก่อนว่าการที่เหยื่อต้องคอยพูดถึงเรื่องราวเดิมๆ ที่เคยถูกกระทำ มันเป็นเหมือนการไปกรีดแผลเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก มันเจ็บปวดและทรมานมากนะที่ต้องคอยพูดเรื่องเดิมๆ ที่อยากจะลืมมันไป เราต้องขอชื่นชมมากๆ เลย เพราะถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากที่จะพูดแน่นอน

    เรารู้สึกว่าเรื่องของ Sexual Harassment ในประเทศไทย ทุกคนควรที่จะตื่นตัวกันได้แล้ว ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไป แต่ภาครัฐและสื่อควรที่จะเล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ได้แล้ว แม้จะมีการรณรงค์เรื่องนี้ จัดนิทรรศการขึ้นมากมาย แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ยังรู้สึกว่าเรื่อง Sexual Harassment ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แถมยังมีเหยื่อความโหดร้ายนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่กล้าประกาศออกมาและต้องคอยเก็บซ่อนเอาไว้ เพราะหลายๆ คนไม่เชื่อ ตำรวจบางนายที่หัวเราะให้กับเรื่องนี้พร้อมกล่าวโทษว่าเป็นเพราะผู้หญิงแต่งตัวไม่เรียบร้อยนั่นเอง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนไม่กล้าที่จะลุกขึ้นพูด อันที่จริง ทำไมเราถึงไม่ปลูกฝังให้เด็กและผู้ใหญ่รู้จักให้เกียรติกันและกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รู้จักที่จะยับยั้งชั่งใจ รู้จักเรื่อง Consent หรือความยินยอมระหว่างกัน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันควรที่จะได้รับการสอนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เพราะเราไม่มีสิทธิ์ในชีวิตและร่างกายของคนอื่น เราไม่มีสิทธิ์ที่จะมองคนอื่นเป็นทรัพย์สินของเราและเราสามารถทำอะไรก็ได้ ต่อให้เขาเป็นเพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง คนรู้จัก หรือคนไม่รู้จักก็ตาม เขามีสิทธิ์ในร่างกายของเขาที่เราต้องให้ความเคารพและให้เกียรติเขาในทุกๆ ด้าน

    เรื่อง Domestic Violence ความรุนแรงในครอบครัว ที่สังคมไทยนั้นก็มีกันอยู่ให้เห็นในทุกๆ วันนี้ หลายๆ คนมักบอกว่าเป็นเรื่องในครอบครัว และไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร แต่รู้หรือไม่ว่านั่นเป็นแผลใจของเด็กที่ทำให้เด็กทรมานซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนที่โดนทำร้ายมักเป็นคนที่เป็นแม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายด้วยวาจาก็ตาม และสุดท้ายแล้ว คนรอบข้างก็มักจะบอกว่าให้กลับไปหาคนที่ทำร้ายด้วยคำกล่าวอ้างที่บอกว่า "ลูกๆ ต้องการพ่อนะ" แต่กลับไม่เคยถามความรู้สึกของผู้ที่ถูกทำร้ายเลยว่าเขาต้องการที่จะกลับไปจริงๆ เพื่อโดนทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือกลับไปเพราะสังคมขีดกรอบให้ผู้หญิงที่มีครอบครัวต้องอยู่กับสามีเสมอ แม้เขาจะทำร้ายตลอดเวลาก็ตาม 

    จากการฟังในครั้งนี้ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมไทยยังมองเรื่องที่ลูกฟ้องพ่อแม่เป็นคดีอุทลุมและต้องโดนยกฟ้อง บางครั้งการที่เราโดนทำร้ายทั้งร่างกายและทั้งจิตใจนั้น เราต้องหาคนกลางในการยื่นฟ้อง และหลายๆ ครั้งก็มักจะโดนคนกลางบอกว่าให้ไกล่เกลี่ยกัน เพราะนั่นคือพ่อแม่ เขามีบุญคุณกับเรา แต่ลองคิดอีกแง่ว่าถ้าเขามีบุญคุณกับเราจริง ทำไมเขาต้องทำร้ายร่างกายและจิตใจเราด้วย แม้ว่าเขาอาจจะคิดว่านั่นมันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สำหรับเด็กที่ต้องเผชิญเรื่องราวเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันคงเป็นแผลที่ลึกและใหญ่อย่างแน่นอน การที่คนในครอบครัวโดนทำร้ายและต้องทนอยู่ต่อไป มันคงเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อตัวบุคคลอย่างแน่นอน ต่อให้หนีออกมาแล้วก็ตาม นั่นก็ยังคงเป็นแผลใจที่ต้องทำการรักษาต่อไป ยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาดีดังเดิม รวมไปถึงเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นหนึ่งในแผลใหญ่ของผู้ที่ถูกกระทำ บางคนอับอายและเหนื่อยล้าจนต้องฆ่าตัวตาย บางคนกลายเป็นพวกหวาดระแวง เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราควรที่จะกำจัดมันให้หมดไป เราควรมีการปลูกฝังและสอนได้แล้วว่าเราควรที่จะเคารพและให้เกียรติผู้อื่น ต้องมีตื่นตัวถึงเรื่องนี้ได้แล้ว ไม่เช่นนั้น สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมไทยต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดสิ้นสุด


    Youthquake

    Speaker: Madison Mehta

    เมดิสัน เป็นสปีกเกอร์ที่อายุน้อยที่สุดบนเวทีนี้ และเป็นสปีกเกอร์คนสุดท้ายที่ขึ้นพูด เธอขึ้นมาพูดคนเดียว ไม่มีสไลด์ แต่พูดด้วยความมั่นใจ เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ เธอพูดในสิ่งที่เราคิดนะว่าถ้าเราอายุเท่านั้น เราก็ยังนึกไม่ออก เธอพูดเรื่องของ Gender stereotypes เธอบอกว่าเรื่องของการเหมารวมทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน แต่มันเริ่มต้นขึ้นในโรงเรียนและในครอบครัว ซึ่งความเท่าเทียมกันทางเพศนั้นควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แล้ว และเธอบอกว่า เราไม่มีเวลาที่จะคิดอีกต่อไปแล้ว เราต้องเริ่มลงมือทำเดี๋ยวนี้



    ในความรู้สึกของเราที่เห็นเกี่ยวกับการจัดงานและกิจกรรม เรารู้สึกในคราวแรกว่ามันน่าสนใจ เป็นเรื่องราวที่โลกทุกวันนี้เริ่มให้ความสำคัญกันมากขึ้นกว่าก่อน แต่เมื่อเห็นราคาบัตรแล้ว มันกลับทำให้เรารู้สึกว่า ความรู้ที่จะช่วยในการปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติเพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงนั้นมีสิทธิ์มีเสียงและเพื่อความเท่าเทียมกันของผู้หญิงนั้นต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงถึงขนาดนี้จริงๆ เหรอ (แต่มุมนี้ก็เข้าใจผู้จัดนะว่าด้วยอะไรหลายๆ อย่างก็ต้องแลกมากับราคาของสถานที่ การเชิญสปีกเกอร์มาขึ้นพูด และสปอนเซอร์) 

    สำหรับตัวสปีกเกอร์ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสงสัยมากๆ เลยก็คือการที่สปีกเกอร์ชาวต่างชาตินั้นมีทั้งขึ้นพูดคนเดียวและมีพิธีกร บางคนมาพร้อมกับสไลด์ บางคนไม่มีสไลด์ แต่ทุกอย่างที่เขาพูดนั้นดูทัช สามารถจับต้องได้ ได้ความรู้กลับไปเยอะมาก ได้เห็นมุมมองที่น่าสนใจและเปิดโลกให้กับเรามากๆ แต่ในขณะที่สปีกเกอร์ชาวไทยมีขึ้นพูดคุยร่วมกับคนอื่นๆ และพิธีกร ซึ่งบางเซคชัน (ยกเว้นเซคชัน Kiss with a Fist) ทำให้เรารู้สึกว่า ทำไมมันถึงไม่ตรงกับประเด็นและหัวข้อของงาน และบางประเด็นก็ทำให้เรารู้สึกถึงความพรีวิลเลจของคนกลุ่มหนึ่งอีกด้วย 

    เราเข้าฟังตั้งแต่เปิดงานจนจบงาน ก็ยิ่งทำให้เราคิดนะว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่ค่อยมีนักเคลื่อนไหวทั้งเรื่องของสิทธิสตรีและสิทธิของ LGBTQ+ ที่เคลื่อนไหวและจับต้องได้อย่างของต่างประเทศ หรือมีแล้วแต่ว่าเรายังไม่รู้ หรือเพราะพื้นที่สื่อไม่ได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้อย่างจริงจัง เพราะเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆ และทุกวันนี้คนก็ไม่ได้เข้าใจว่า Feminist คือ การเรียกร้อง​สิทธิความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ไม่ใช่ว่าเรียกร้องเพื่อผู้หญิงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ชายและเหล่า LGBTQ+ อีกด้วย มันเป็นการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างสองเพศ ซึ่งไม่จำเป็นว่าผู้หญิงเท่านั้นที่จะต้องเป็น Feminist แต่ผู้ชายก็เป็นได้เช่นกัน (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Iconic Women Alliance / เฟมินิสต์วันละหน่อย / หรือถ้าอยากดูหนังเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิสตรีในสหรัฐอเมริกา ก็อยากจะแนะนำให้ไปดู On the Basis of Sex)


    สุดท้ายนี้ เราก็รู้สึกว่าไทยยังเป็นประเทศที่มองเห็นเรื่องนี้อย่างผิวเผินเท่านั้น (ในวงกว้าง) แม้ว่าจะมีคนกลุ่มเล็กๆ หลายๆ กลุ่มที่รวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงานและสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับคนอื่นๆ แล้วก็ตาม แต่ในเมื่อพวกเขาไม่มี Privileged ขนาดที่จะสร้างอิมแพ็กที่เห็นได้อย่างชัดเจนในวงกว้าง ก็ต้องอาศัยสื่อต่างๆ ในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ เรารู้สึกว่าการจัดประชุมหรือเสวนาในทำนองนี้นั้น ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะเปิดกว้างให้คนในกลุ่มต่างๆ สามารถเข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักเรียน นิสิต/นักศึกษา ครูอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ไปจนถึงบุคคลทั่วไปในสังคม และเมื่อเราเริ่มที่จะปลูกฝังกลุ่มคนเหล่านี้แล้ว เขาก็สามารถที่จะนำเรื่องราวเหล่านี้ไปพูดต่อ และกระจายความรู้ต่อไปได้ เพื่อสังคมที่ดีและเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในทุกๆ เพศในสังคมไทย
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in