เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
จดหมายจากลาดัคห์ปลายฝัน พันดาว
Day 4: ฝันสลายที่แปงกอง Shattered dream@Pangong
  •            22 กรกฎาคม พ.ศ.2559

    ปลายฝันที่รัก

    วันนี้ถูกปลุกตั้งแต่ตี 4 คุณโดเรมอนนัดไปทานข้าวตี5 เพื่อที่จะเคลื่อนขบวนได้ตอน 6โมงตามหมายกำหนดการ แต่ในความเป็นจริงปรากฎว่าอาหารเช้าเตรียมไม่ทัน

    ได้เวลา6 โมงแล้ว อาหารที่ออกมาวางให้รับประทานมีแค่ขนมปังปิ้งและข้าวต้ม ฉันและน้องนุ่มนิ่มเลือกทานขนมปังปิ้งคนละ 2 แผ่น ด้วยความกลัวจะหาห้องน้ำลำบาก ที่สุดพวกเราเริ่มออกเดินทางได้ตอนหกโมงครึ่ง ช้ากว่ากำหนดไปครึ่งชั่วโมง อากาศแถวโรงแรมแค่พอเย็นๆ พวกเรานั่งรถไปเรื่อยๆ จนถึงด่านตรวจพาสปอร์ต (เนื่องจากเมื่อวานที่วัดธิคเซย์ พวกเราได้มีโอกาสคุยกับน้องคนไทยกลุ่มจึงถามไถ่กันเรื่องห้องน้ำสำหรับสาวๆ เธอแนะนำว่าให้เข้าห้องน้ำแถวอินเดียนอาร์มี่ที่ตรวจพาสปอร์ตสะอาดใช้ได้ที่เดียว) ฉันกับน้องนุ่มนิ่มจึงพยายามดำเนินการตามแผน แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ ได้รับการแจ้งว่าห้องน้ำกำลังปรับปรุงอยู่ หนุ่มริ๊กซินเข้าใจว่าปวดท้องหนักมากจึงให้โซนัมคนขับรถพาพวกเรามุ่งหน้าไปก่อนอย่างด่วนไม่ต้องรอพาสปอร์ตที่อยู่ระหว่างตรวจสอบ

    ช่วงแรกยังเป็นทางราบ เห็นถนนตัดตรงมุ่งสู่ภูเขาตัดท้องฟ้าสีฟ้าใส มีก้อนเมฆล่องลอยเป็นหย่อมๆ สวยงามจับตา

     โซนัมพาไปที่คาเฟ่แห่งหนึ่ง ผิดแผนแต่ก็ได้เข้าห้องน้ำเป็นพวกแรกของเช้านี้จึงยังไม่สกปรกมากนัก. ไม่นานนักริ๊กซินพาคณะที่เหลือตามมาทัน

    เสร็จภารกิจดังประสงค์ คาราวานรถของเราออกเดินทางต่อ ระหว่างทางอากาศหนาวขึ้นเรื่อยๆ ฉันเพิ่มความอบอุ่นด้วยเสื้อหนาววูลทับด้วยแจ็กเก็ตในที่สุด เส้นทางเริ่มคดเคี้ยวลัดเลาะไปตามไหล่เขา จะอย่างไรก็ตามภาพเนินเขาอลังการข้างทางตัดท้องฟ้าใสสีเข้ม งามราวกับดูภาพยนตร์ที่เคลื่อนไปเรื่อยจากหน้าต่างรถ 
    อาจมีฉากหวาดเสียวเล็กน้อย หลายครั้งอยู่เมื่อรถของเรากำลังจะเลี้ยวโค้งตรงมุมเขา ซึ่งเรามองไม่เห็นฝั่งหนึ่ง รถที่มาอีกข้างหนึ่งก็เช่นเดียวกัน วิธีแก้ของที่นี่คือตั้งป้ายบอกให้กดแตร ซึ่งต่างคนต่างกดพร้อมกัน บางครั้งความเร็วและแรงเหวี่ยงของรถก็มาป๊ะกันพอดี คนขับต้องมีฝีมือมากมาย วันหนึ่งระหว่างทางสังเกตุเห็นป้ายสอนขับรถบนภูเขาด้วย คงต้องใช้การฝึกฝนและเป็นอาชีพที่ทำเงินค่อนข้างดีในหน้าท่องเที่ยว

    ใช้เวลา 2 ชมกว่าก็ถึงจุดสูงสุดของ Changla pass ซึ่งถือเป็นเส้นทางรถยนต์ที่สูงอันดับสามของโลก สูงถึง 5,360 เมตรจากระดับน้ำทะเล 
    รถทุกคันจอดลงไปถ่ายรูป คำแนะนำทางการแพทย์ระบุให้ใช้เวลาไม่เกิน 25 นาทีไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการป่วยได้ พวกเราได้รับการแนะนำให้เดินช้า หายใจยาวๆ ที่นี่ไม่มีห้องน้ำสะอาดให้ใช้ หนุ่มๆก็เข้าทุ่งเอา
    ขณะกำลังถ่ายรูปให้หนุ่มเลี้ยงอยู่ตรงอนุสาวรีย์ Changla. ดงบังจากไหนก็ไม่รู้เข้ามาแทรก พวกเราทำหน้าเซ็ง ยืนรอว่าเมื่อไหร่จะเสร็จกัน สักพักหนุ่มบังคนหนึ่ง หันมาเห็น ตรงรี่มาคว้ามือเลี้ยงแล้วบอกว่าเพื่อนมาถ่ายรูปด้วยกันเถอะ เออ แก้ปัญหาแบบอินเดียง่ายดีเนอะ มิตรภาพเกิดขึ้นง่ายๆ ณ ดินแดนเร้นลับแห่งนี้

    จากนั้นขับต่อไปอีกชมเพื่อมุ่งหน้าสู่ทะเลสาปแปงกองซึ่งเป็นไฮไลต์แห่งหนึ่งของลาดัคห์. เส้นทางที่ผ่านเพิ่มดีกรีความโหดขึ้นเรื่อยทั้งสำหรับคนขับและคนนั่ง เต็มไปด้วยโค้งหักศอกเลียบริมผาแทบจะไม่มีทางตรงเลย ระหว่างทางพวกเราพบตัวคยัคอยู่ข้างทาง โซนัมผู้น่ารักชะลอรถให้ถ่ายรูป เบรคจากความฉวัดเฮวียนได้พักหนึ่ง
     เส้นทางตอนนี้เริ่มลงมาอยู่พื้นราบคล้ายหุบเขา ถนนราดยางดีขึ้น เห็นฝูงแกะแพะ พวกเราได้ใจขอหยุดรถ ถ่ายรูปอีกแล้ว 
    และสุดท้ายพวกเราหันมาเห็นสัตว์หน้าตาคล้ายหนูยืนคล้ายเมียร์แคชเรียกว่าตัวมาร์โมส (Marmots) เป็นสัตว์ประจำถิ่นของที่นี่ สามารถพบเห็นได้ในเขต Rupshuและในเขตทุ่งหญ้าก่อนถึงทะเลสาปแปงกอง พวกเราจอดรถค่อยๆย่องไปถ่ายรูปก่อน เธอจะวิ่งลงรู


    เนื่องจากจอดถ่ายรูปถี่ซะขนาดนี้ รถของพวกเราจึงตกรั้งท้ายสุดในขบวน ขับไปสักพักเห็นรถจอดเป็นแถว ในใจคิดว่าตายแล้ว เค้าจอดรอเราใช่ไหม เราทำให้คาราวานรถช้าไปใช่ไหม แต่เอ๊ะ…ดูเหมือนไม่ใช่นี่ เพราะมีรถคันอื่นจอดอยู่ด้วยยาวเหยียด อีกเพียง 8 กิโลเมตรพวกเราจะถึงทะเลสาปแปงกองแล้ว คุณโดเรมอนเดินมาแจ้งว่า ดินสไลด์ปิดทางรถทั้งเข้าและออกจากแปงกอง รถจึงจอดรอเป็นแถว หนุ่มริ๊กซินนำทีมขับรถคันหนึ่งไปสำรวจแล้ว


    ระหว่างนั้นพวกเราฆ่าเวลาด้วยการถ่ายรูปกันเล่น ลมแรงมาก พื้นที่แถบนั้นเป็นทะเลทราย พวกเราจึงโดนทรายพัดเข้าหน้าเข้าตา พวกเราโพสต์ท่าโยคะถ่ายรูปอย่างสนุกสนาน สักพักริ๊กซินและทีมกลับมาถึง เล่าให้ฟังว่ารถทหารมาถึงแล้วกำลังตักดินเพื่อเปิดทางอยู่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ คุณโดเรมอนตัดสินใจที่จะให้รออีก 2 ชม

    ข้าวกล่องที่บรรทุกมาหลังรถถูกนำมาแจกจ่าย เปลี่ยนเป็นการปิคนิคแถบนั้นแทนแผนเดิมที่จะทานกันแถวริมทะเลสาป พอเปิดดูอาหารกล่องรายการเดิมเหมือนเมื่อวานเป๊ะเลย คนที่นี่กินเพื่ออยู่จริงๆ กลุ่มเราคิดกันมาล่วงหน้ามาตั้งแต่เช้าแล้วจึงเตรียมมาม่ากระป๋องมา 4 กระป๋อง พร้อมน้ำร้อนใส่กระติกมาคนละใบ จึงมีทางเลือกเป็นบะหมี่ต้มยำรสคุ้นเคย

    เมื่อท้องอิ่มแล้ว เหลือภาระอันถัดไป ห้องน้ำก็ไม่มีให้เข้า ทำอย่างไรดี…. สุดท้ายฉันกับน้องนุ่มนิ่มต้องแสร้งทำเป็นเดินถ่ายรูปไปจนหลังก้อนหินใหญ่แล้วปฏิบัติภารกิจส่วนตัวจากนั้นเดินไม่รู้ไม่ขี้กลับมา ระหว่างที่เดินกลับรถ คุณป้าและคุณลุงที่ร่วมทางมากับพวกเราในรถอีกคันหนึ่ง เดินมาหาก้อนหินบ้าง สุดท้ายเลือกคนละก้อนกับพวกเรา

    นุ่มนิ่มและอ๊ะเลือกพักผ่อนนอนหลับเอาแรงในรถ ในขณะที่ฉันทนร้อนอุดอู้ไม่ไหวจึงมานั่งท้ายรถ ที่เปิดกะบะหลังไว้กับ
    เลี้ยง เลี้ยงนั่งได้ไม่นานก็เอนหลังลงหลับไปภายในไม่กี่วินาที ฉันรู้สึกเบื่อจึงเดินตระเวณถ่ายรูปแถบนั้น หมดทั้งต้นไม้ใบหญ้าและก้อนหิน ในขณะที่ทีมคนขับรถนอนลงบนพื้นถนนหลังรถเรานั่นแหละ เมื่อมีรถสักคันขับผ่านมาจากด้านแปงกองก็เป็นต้องหยุดจอด บอกต่อความคืบหน้าเสียทุกคันไป สุดท้ายคุณโดเรมอนและริ๊กซินขับออกไปสำรวจอีกครั้ง ทั้ง 2 คนหายไปพักใหญ่มากเลย ที่สุดคุณโดเรมอนเดินเหงื่อตกกลับมาเล่าว่า รถทหารยังเปิดทางไม่สำเร็จ รถที่นำไปสำรวจติดอยู่ในวงล้อมของรถที่เข้าไปใหม่ออกมาไม่ได้ ระหว่างที่กำลังตกลงกันว่าจะลำเลียงผู้สูงวัยกลับไปก่อน แล้วให้คนที่พออยู่ไหว(อย่างเช่นพวกเรา) รอรถของริ๊กซิน หรือให้รถที่มีอยู่ของใครของมันทะยอยกลับไป ริ๊กซินนำรถกลับมาพอดี

    ตอนถอยทัพขากลับนี่ ขับรถกันเร็วมาก เข้าใจว่าเลยเวลามามากแล้ว ที่นี่ดูเหมือนใช้ระบบอินเดียกระซิบ ระหว่างทางโซนัมซึ่งดูเหมือนเป็นคนเพื่อนเยอะ จะถูกเรียกให้จอดระหว่างทางเพื่อสอบถามข่าวคราวเส้นทางสู่แปงกอง พอมาถึงครึ่งทางระหว่างแปงกองและ Changla ขบวนรถจอดพักเข้าห้องน้ำอีกรอบหนึ่ง พวกเราจึงคุยกับคุณโดเรมอนจะขอเปลี่ยนโปรแกรมวันสุดท้ายเป็นกลับมาแปงกองอีกครั้งแทนที่โปรแกรมวัดที่จัดไว้เดิม ขณะนั้นกองสนับสนุนเพียบ อันได้แก่รถของพวกเราและอีกคันหนึ่งซึ่งนับได้ว่ายังเยาว์เหมือนกัน ซึ่งคุณโดเรมอนรับปากจะคุยกับริ๊กซินเพื่อให้ตกลงกับบริษัทของเขาแล้วมาให้คำตอบในวันรุ่งขึ้น

    พอมาถึงจุดพักที่ Changla ฉันรู้สึกเริ่มเวียนศีรษะจนแทบไม่อยากลงจากรถ คราวนี้จอดพักไม่นานแค่พอให้หนุ่มๆได้วิ่งเข้าห้องน้ำเท่านั้น ตลอดทางจาก Changla กลับมาเลห์ดิฉันรู้สึกปวดศีรษะมากขึ้นหนักไปถึงท้ายทอย คลื่นไส้อยากจะอาเจียน อยากจะนอนให้หลับก็หลับไม่ลง หมดแรงไม่อยากทำอะไร ลมในตัวพยายามดันออกมาทุกช่องทาง ไม่อยากแม้แต่ยกมือขึ้นถ่ายรูป

    เมื่อถึงจุดพักระหว่างทางจาก Changla กลับมาเลห์อีกครั้ง เป็นจุดเดียวกับที่โซนัมพาเราด่วนมาเข้าห้องน้ำเมื่อเช้า นุ่มนิ่มชวนฉันไปเข้าห้องน้ำ ฉันพยายามพยุงตัวลงไป ระหว่างที่รอห้องน้ำอยู่ ฉันก็เกิดอาเจียนออกมาข้างๆนั่นเอง ตลอดทางที่เหลือซึ่งดูเหมือนไม่ไกลนักเมื่อเช้านี้ กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและทรมานสำหรับฉัน

    เมื่อลงมาถึงพื้นราบที่เลห์ ขบวนรถหยุดพักชมสถานที่ที่จัดไว้สำหรับต้อนรับดาไลลามะซึ่งมีกำหนดการจะมาในไม่กี่วันข้างหน้า ทุกคนลงไปดูกันหมดเหลือแต่ฉันที่ยังไม่รู้สึกดีขึ้นได้แต่นั่งอยู่เกยคางผ่านช่องหน้าต่างรถ ตอนนี้ต่อให้หนุ่มริ๊กซินส่งตาหวานมาชวนไปเที่ยวไหนก็ไม่สนแล้ว

    สุดท้ายฉันก็ทนกลับมาถึงที่พักจนได้ นุ่มนิ่มก็มีอาการคล้ายคลึงกันแต่เบากว่า ในขณะที่หนุ่มอ๊ะและหนุ่มเลี้ยงมีอาการน้อยกว่าพวกเรามาก ฉันต้องนั่งพักอยู่เป็นนานกว่าจะสามารถลุกเดินได้ เคยได้ยินว่าดื่มน้ำขิงร้อนๆช่วยบรรเทาอาการ AMSได้ จึงชวนนุ่มนิ่มไปขอน้ำร้อนจากห้องอาหารกันสองคน แล้วจึงค่อยๆไต่บันไดไปห้องพัก พอถึงห้องนอนนั่งลง เทขิงผงสำเร็จ เขย่าแล้วยกขึ้นจิบ สักพักดีขึ้นจริงด้วย หลังหมดน้ำขิงไปสองกระติก ดีขึ้นมากแต่ยังไม่หายสนิท

    ตอนเย็นลงมาทานข้าวตามปกติ แค่เห็นอาหารเย็นก็รู้สึกทานไม่ลงแล้ว ทั้งที่ไม่ค่อยได้ทานอะไรมาทั้งวัน จึงต่อด้วยน้ำขิงอีกตามเคยแล้วตามด้วยขนมหวานซึ่งเป็นกล้วยทอดธรรมดาๆช่วยชีวิตฉันไว้ได้ คุณโดเรมอนเดินถืออุปกรณ์วัดออกซิเจนมาเสียบนิ้ววัดออกซิเจนของทุกคน ของฉันยังอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 80 ซึ่งถือว่าเป็นออกซิเจนระดับปกติ คุณโดเรมอนวิเคราะห์ว่าพวกเรานั่งรอเปิดทางไปแปงกองซึ่งอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 4,000 เมตร เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ทำให้เกิดอาการ AMS อย่างอ่อนๆได้ สำหรับตัวฉันผสมกับอาการขาดน้ำด้วย เนื่องจากไม่ยอมดื่มน้ำ กลัวหาห้องน้ำเข้าไม่ได้ ทานอาหารน้อยอีกต่างหาก พอได้น้ำขิงทั้งร้อนและผสมน้ำตาลจึงรู้สึกดีขึ้น คืนนั้นเป็นคืนแรกที่ฉันหลับทันทีที่หัวถึงหมอนลึกและยาว ตื่นอีกทีตอนเที่ยงคืน อาการปวดหัวหายเป็นปลิดทิ้ง ฉันหลับต่อได้ยาวถึงเช้าทีเดียว

    จาก ฉัน คนหลับสบายในลาดัคห์ได้เป็นคืนแรก



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in