เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Cinematic Nillionaireview0326
19.09.04 Angel Has Fallen (2019)
  • **Spoiler Alert**


    "It's our moments of struggle that define us.

    How we handle them is what matters."






    จากที่ไม่ว่างอยู่พักใหญ่ ในที่สุดก็หาเวลาไปดู Angel Has Fallen จนได้ ตั้งใจจะไปดูเจอร์ราด บัทเลอร์ในบทบอดี้การ์ดสุดเท่ แต่ก็อึ้งไปเล็กน้อยเมื่อเห็นสภาพของไมค์ แบนนิ่งที่ดูอิดโรยไปมากในภาคนี้ พอดูไปสักพักก็เข้าใจได้ว่าในต้องการสื่อให้ผู้ชมเห็นถึงความเหนื่อยล้าทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของตัวละครตัวนี้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดตกต่ำของตัวละครตามบทพูดของประธานาธิบดีอลัน ทรัมบูลที่ยกมาข้างต้น และเป็นข้อความที่ผู้เขียนรู้สึกชื่นชอบในภาพยนตร์เรื่องนี้

    ข้อความนี้อยู่ในบนสนทนา (dialogue) ช่วงท้ายเรื่องตอนที่ไมค์ไปขอลาออกกับประธานาธิบดี แต่ท่านให้เขาทบทวนดูใหม่ ความหมายของบทพูดนี้ก็คือ "คนเราจะแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาเมื่ออยู่ในสถานการณ์คับขัน วิธีที่เขาแก้ปัญหาจะบ่งบอกว่าเขาเป็นคนยังไง" เราจะเห็นว่าสถานการณ์คับขัน (moments of struggle) ของตัวละในภาคนี้จะมีมากมายรอบด้าน ทั้งเรื่องปัญหาสุขภาพกาย เนื่องจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทซึ่งเป็นผลกระทบจากการทำงาน และปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากความสะสมทำให้มีอาการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่โดนเพื่อนหักหลังและใส่ร้าย ถือว่าเขาได้ตกอยู่ในสถานการณ์คับขันอย่างแท้จริง

    เมื่อเกิดปัญหาไมค์เลือกที่จะเดินหน้าเข้าไปคุยกับประธานาธิบดีซึ่งเป็นหัวหน้าโดยตรงในสายบังคับบัญชาของเขา ผู้เขียนเห็นว่า เขาเลือกทำแบบนี้ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ ได้แก่
    1. ประธานาธิบดีเป็นตัวเลือกที่น่าเชื่อถือที่สุดในการยืนยันความบริสุทธิ์ของเขา ทั้งยังมีอำนาจสั่งการมากที่สุดอีกด้วย หากเขาทำให้หัวหน้าโดยตรงเชื่อมั่นได้ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะพิสูจน์ความจริงในข้ออื่น ๆ ตามมา
    2. เขาไม่ยอมละทิ้งหน้าที่ของตน เมื่อไมค์รู้แล้วว่าไม่ว่าอย่างไรคนร้ายก็จะลอบสังหารประธานาธิบดีให้สำเร็จให้ได้ เขายังคงทำหน้าที่อารักขาความปลอดภัยของประธานาธิบดี แม้ในภาวะที่ตัวเองก็เดือดร้อนจนแทบจะเอาตัวไม่รอด
    จากเหตุผลที่กล่าวมานั้น จะเห็นว่าวิธีรับมือกับสถานการณ์คับขันของตัวละครคือประเมินสถานการณ์เพื่อเลือกวิธีที่จะจบปัญหาให้ได้มากที่สุดโดยยังคงรับผิดชอบหน้าที่ของตน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิบดีจนฝ่าฟันปัญหาทุกอย่างไปได้

    นอกจากวิธีการรับมือสถานการณ์คับขันของตัวละครหลักแล้ว ส่วนของตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องก็มีประเด็นที่ทำให้ผู้เขียนสนใจด้วย เช่น ผลกระทบหลังสงครามของพ่อพระเอก และนโยบายของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและวิธีการแก้ปัญหาของตัวละครแต่ละตัว

    เคลย์ แบนนิ่ง ผู้เป็นพ่อของไมค์เคยทำหน้าที่รับใช้ชาติเช่นเดียวกันกับลูกชาย เขาเป็นทหารหน่วยจู่โจมใต้ดินในสงครามเวียดนาม เคลย์เป็นวีรบุรุษสงครามที่ยอดเยี่ยมและมีทักษะเชี่ยวชาญในงานของตนไม่แพ้ไมค์ แต่สงครามส่งผลกระทบด้านลบกับเขา (Post-tramatic Stress Disorder, PTSD) เคลย์เชื่อว่าสงครามทำให้เขาไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไปและลูกเมียจะรับตัวตนใหม่ของเขาไม่ได้ เขาจึงตัดสินใจทิ้งลูกเมียไปใช้ชีวิตตามลำพังและเผยแพร่แนวคิดของเขาที่เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ แทรกแซงชีวิตพลเมืองในประเทศมากเกินไป จะเห็นว่าตัวละครนี้หลีกเลี่ยงปัญหา เพราะเชื่อว่าตัวเองจะทำตัวไม่ดีกับคนที่เขารัก จึงเลือกที่จะออกห่างจากลูกเมียเพื่อป้องกันปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา แต่ภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วปัญหาไม่ได้หายไปไหนเลย ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นไม่สามารถแก้ได้ด้วยคนเพียงคนเดียว หากแต่ต้องใช้ความรัก ความเข้าใจกัน และความร่วมมือของทุกคนในครอบครัวจึงจะสามารถแก้ไขวิกฤตในครอบครัวได้ ดังจะเห็นได้ตอนที่ไมค์กล่าวกับประธานาธิบดีว่า

    "You know someone said to me once,
    'It's better to know when to quit instead of lying to yourself,
    or anyone you're caring about the most.'
    I'm not going to let that happen again.
    I'm here to offer my resignation, sir."

    "มีคนเคยบอกผมไว้ว่า 'แทนที่จะหลอกตัวเองและคนที่เรารักว่ายังทำได้ไปเรื่อย ๆ เราควรจะรู้ตัวเองว่าควรจะหยุดเมื่อไหร่มากกว่า' ผมจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกซ้ำสอง เพราะฉะนั้นผมขออนุญาตลาออกนะครับท่าน" ซึ่งเป็นคำพูดที่เคลย์เคยพูดเอาไว้และเขาได้บทเรียนที่จะไม่ทำให้ลูกของเขาต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกับเขา เขาตระหนักได้ว่าไม่ควรที่จะหลอกตัวเองหรือคนที่เขาห่วงใยว่ายังทำงานไหวอยู่ และควรจะรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะหยุดได้เสียที เขาจึงไปลาออกกับประธานาธิบดี แม้ว่าในตอนท้ายเขาจะไม่ได้ลาออกอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่กลับไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการ โดยเขาได้ให้คำมั่นสัญญากับประธานาธิบดีว่าจะไม่มีความลับต่อกันอีก นี่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างลูกน้องและหัวหน้า ซึ่งเปิดโอกาสให้บอกกล่าวกันว่าเรื่องไหนที่เกินกำลัง หรือติดปัญหาใดบ้างในเนื้องาน แทนที่จะโกหกหรือฝืนบอกว่าจะสามารถทำงานให้ผ่านไปได้ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ สถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของไมค์จึงผ่อนคลายมากขึ้นทั้งด้านครอบครัวและการงาน เนื่องจากทุกคนช่วยกันแบ่งเบาปัญหาที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์

    ส่วนประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวกับนโยบายการทูตแบบสันติในเรื่องนั้นก็เป็นอีกปมที่ทำให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ในภาพยนตร์ ประเทศมหาอำนาจต่างก็มีวิธีมากมายเพื่อรักษาอำนาจและสถานะในเวทีโลกของตนเองไว้ ตัวอย่างที่เห็นชัดในเรื่องก็ได้แก่
    1. พัฒนาอาวุธและเทคโนโลยีทางการทหาร
      ฉากที่ประธานาธิบดีโดนโจมตีโดยโดรนติดตามตัวทำให้เราเห็นถึงวิวัฒนาการที่ก้าวไกลของอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ว่าเทคโนโลยีนี้หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ได้เห็นในเรื่องจะมีอยู่จริงหรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่าสำหรับประเทศมหาอำนาจแล้วไม่ใช่เรื่องที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะพัฒนาขึ้นมา เทคโนโลยีทางการทหารที่ก้าวหน้านำประเทศอื่น ๆ นั้นถือได้ว่าเป็นการคุกคามประเทศคู่แข่งได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีความขัดแย้งที่ตึงเครียด
    2. ดำเนินนโยบายการทูตอย่างสันติ
      ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเรื่องนี้มีความตั้งมั่นอย่างมากที่จะดำเนินนโยบายแบบนี้กับประเทศคู่แข่งเพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงคราม แน่นอนว่าประเทศที่ยิ่งใหญ่สองประเทศ หากสู้รบกันแล้ว ผลกระทบที่ตามมาย่อมใหญ่หลวงตามไปด้วย และประชาชนเองก็จะเป็นผู้ที่สูญเสียมากที่สุดเมื่อเกิดสงคราม
    ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าในเนื้อเรื่องในภาพยนตร์สื่อออกมาในแนวเสียดสีนโยบาย Make America Great Again อยู่บ้างหรือไม่ แต่การเป็นใหญ่ในเวทีโลกนั้น หากทุกประเทศมีท่าทีคุกคามกันอยู่ตลอดก็อาจจะสามารถแสดงในเห็นถึงอำนาจและศักยภาพของแต่ละประเทศได้ แต่ในขณะเดียวกันสถานการณ์ของสังคมโลกก็จะตึงเครียดขึ้นในทุกมิติ ในภาพยนตร์ประธานาธิบดีแก้ปัญหาโดยประกาศจุดยืนของประเทศนี้ว่าต้องการดำเนินนโยบายแบบสันติและจะไม่คุกคามประเทศใด ๆ เพื่อลดความกดดันต่อความสัมพันธ์ต่อนานาประเทศ วิธีนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่ประเทศมหาอำนาจเอามาใช้เดินเกมการเมือง แต่สำหรับผู้เขียนถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่ผู้มีอำนาจจะผ่อนอำนาจลงบ้าง เมื่อความตึงเครียดลดลงแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้สถานการณ์การเมืองโดยเฉพาะในประเทศเล็ก ๆ ผ่อนคลายลง อาจจะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมอื่น ๆ ตามมา เช่น เกิดร่วมมือหรือข้อตกลงระหว่างประเทศในการกระตุ้นสังคมในมิติอื่น ซึ่งเป็นบรรยากาศของความร่วมมือแทนที่ประเทศต่าง ๆ จะคอยมาระแวดระวัง สังเกตการณ์กระแสการเมือง เพื่อวางแผนและเลือกจุดยืนในเวทีโลก

    โดยรวมภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวหลาย ๆ แง่มุมในชีวิต ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ การทำงาน และการตัดสินใจ ทั้งยังนำเสนอเรื่องที่มีภาพใหญ่มาอย่างเช่น การทูต การทหาร และการเมืองโลก ผู้เขียนขอขอบคุณผู้อ่านทุกคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ หากมีภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ดูแล้วน่าสนใจ ก็อาจจะมีโอกาสมาเขียนเล่าตรงนี้อีก
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in