รอบตัวเราเต็มไปด้วยประเทศญี่ปุ่น
ยี่ห้อของโทรทัศน์ที่เปิดดูเมื่อตอนเช้า รถยนต์ที่ขับมาทำงาน การ์ตูนที่อ่านระหว่างอู้งาน ร้านอาหารที่กินเมื่อเย็น น้ำชาเขียวที่ดื่ม กระทั่งถ่านไฟฉายที่เพิ่งซื้อมาเปลี่ยน ฯลฯ
ยังไม่นับรวมประเพณีมากมายและวัฒนธรรมนับไม่ถ้วนที่เราเรียนรู้ผ่านการ์ตูน รายการทีวี เทศกาลนู่นนี่จากประเทศญี่ปุ่นที่จัดอยู่ในห้างสรรพสินค้า งานส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จัดขึ้นสำหรับคนที่อยากไปประเทศนี้เท่านั้น รวมถึงร้านที่ขายของนำเข้าจากญี่ปุ่นที่ทุกอย่างราคาหกสิบบาทที่เดินผ่านกี่ทีก็ต้องแวะ(เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น เรามักจะให้เครดิตว่าเป็นสินค้าที่ดี มั่นใจว่าเงินทุกบาทจะได้ความคุ้มค่ากลับมาทุกสตางค์)
ญี่ปุ่นสถิตอยู่แทบทุกที่ในประเทศไทย ในช่วงชีวิตของวัยรุ่นเจนวายปลายเอ็กซ์ ญี่ปุ่นเป็นป๊อปคัลเจอร์ที่เราต่างสนใจใคร่รู้ เป็นประเทศที่ไม่ว่าถามใครก็มักจะได้คำตอบว่าอยากจะไปสัมผัสสักหน
ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล เป็นหนึ่งในบุคคลที่เราอิจฉา เขาเป็นชาวไทยที่ไปใช้ชีวิตช่วงมหาวิทยาลัยอยู่ในญี่ปุ่น มีประสบการณ์สารพัดสารเพในเจแปนมากมาย เขาเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่น ทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการศึกษาในเมืองปลาดิบ เป็นล่ามบ้างในบางหน และบินไปกลับกรุงเทพฯ-กรุงโตเกียวเป็นว่าเล่น กระทั่งทุกวันนี้เขาเกี่ยวดองกับญี่ปุ่นขั้นลึกซึ้งในฐานะลูกเขย! (อันนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัว เราขอวิชาจากเขาเท่าไรก็ไม่ยอมตอบสักที)
ตั้งแต่หนังสือ เอ๊ะ! เจแปน Exclusive Scoop on Japanese ที่ว่าด้วยเรื่องของประชาชนคนญี่ปุ่นประเภทต่างๆ ซึ่งเขาเล่าเรื่องราวประสบการณ์ตรงเชิงลึกและเชิงลับได้อย่างสนุก ทำให้เราได้รู้จักชาวแดนอาทิตย์อุทัยมากกว่าเดิมประหนึ่งเขาย้ายมาอยู่บ้านฝั่งตรงข้าม ได้เรียนรู้วิถีชีวิตโดยไม่ต้องตีตั๋วข้ามทะเลไปถึงญี่ปุ่น
ใน Japan Did เล่มนี้ก็เช่นกัน ณัฐพงศ์นำเราไปรู้จักกับภูมิปัญญาของชาวญี่ปุ่นจากสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาประดับประดาโลก ซึ่งบางอย่างบินข้ามประเทศมาวางขายกันสลอนในประเทศไทยเรียบร้อย หลายสิ่งที่อาจเรียกไม่ได้ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ (เราไม่แน่ใจว่าบ่อออนเซ็น หรือวัฒนธรรมโมเอ้—คาแรคเตอร์การ์ตูนสาวตาหวานน่ารักน่ากอด จะเรียกเป็นสิ่งประดิษฐ์ได้ไหม) แต่คือวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือกระแสนิยมที่ถูกคิด และออกแบบมาแล้วอย่างชาญฉลาด หลายสิ่งเกิดมาจากจุดเล็กๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่ามันจะขยายแตกหน่อต่อยอดจนมาเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตได้ ขนาดนี้ (ขนาดไหน? ก็ขนาดเป็นอุตสาหกรรมส่งออก เป็นแลนด์มาร์ก กระทั่งเป็น GDP ของคนในประเทศ!)
และ อีกหลายสิ่งที่แฝงไปด้วยปรัชญาญี่ปุ่นซึ่งคมคายลึกซึ้งสมกับความเชื่อว่า เป็นชาติที่อาจจะพูดได้ว่ามีความคิดสร้างสรรค์ที่สุดในโลกใบนี้
รวมถึงอีกหลายๆ สิ่งที่เราอ่านจบเป็นต้องคิดถึงชาติตัวเองตงิดๆ
สำนักพิมพ์แซลมอน
หลัง จากเขียน เอ๊ะ! เจแปน Exclusive Scoop on Japaneseเสร็จได้เดือนกว่า ผมก็มานั่งคุยกับกอง บ.ก. เรื่องไอเดียหนังสือเล่มใหม่ และก็คิดได้ว่านับจากวันที่ 30 ธันวาคม 2001 ซึ่งเป็นวันแรกที่เท้าผมได้เหยียบแผ่นดินญี่ปุ่น เวลาก็ผ่านมาได้ 11 ปีแล้ว ถ้าเป็นความสัมพันธ์ชายหญิง ผมกับญี่ปุ่นก็คงรู้จักกันนานพอที่จะแต่งงานกันได้สบายๆ แถมมีลูกสองคนแล้ว
เวลาไปเที่ยว ไปเรียนภาษาที่ Nagoya Gakuin University ตามด้วยปริญญาโทที่ Nagoya University of Foreign Studies ทุกครั้งที่จะกลับมาเมืองไทย ผมก็ได้แต่คิดว่าจะมีโอกาสกลับมาญี่ปุ่นอีกกี่ครั้งกัน
ตอนนั้นเริ่มเข้าใจความรู้สึกแฟนคลับวงแรพเตอร์ที่ทุกคนร่ำไห้ร้องซาโยนาระกันยกใหญ่ในคอนเสิร์ตสั่งลาก่อนแยกวง และก็เช่นเดียวกับแฟนแรพเตอร์อีกครั้งที่พอผ่านไปไม่นานก็ได้โอกาสกลับไปญี่ปุ่นเพื่อทำงาน และหลังจากนั้นก็กลับไปอีก ไปแล้วไปอีก ไปแล้วไปอีก ไปแล้วไปอีก ไปแล้วไป... (พอ!) กลายเป็นว่าตั้งแต่กลับมาอยู่ไทยก็มีภารกิจให้ได้วนเวียนไปญี่ปุ่นอยู่ เรื่อยๆ พอๆ กับที่แรพเตอร์รวมตัวกันเล่นคอนเสิร์ตอยู่บ่อยๆ ไม่ได้ห่างหายอะไรกันเล้ย แถมยังมีโอกาสแวะเวียนไปโตเกียวบ่อยกว่าสมัยเรียนเสียด้วยซ้ำ
และด้วยความที่อยู่กับสังคมญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน รับข่าวสารจากสังคมญี่ปุ่นตลอด ทำให้ผมเริ่มชินกับสังคมและชินกับพฤติกรรมของพวกเขา ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างหนึ่ง เพราะประเทศที่มีความเป็นปัจเจกสูงอย่างญี่ปุ่น แม้จะเป็นอยู่ในเอเชีย แต่ก็ต่างกับเอเชียอื่นๆ และก็ไม่ได้เจริญล้ำหน้าขนาดชาติทางตะวันตก ญี่ปุ่นยังมีวัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ด้วย แต่ผมก็เห็นพวกมันจนเริ่มชาชินไปแล้วและถ้าทำได้ก็อยากจะลบความจำส่วนของความรู้เกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นและสังคมญี่ปุ่นที่มีทั้งหมดออกจากหัว เพื่อจะได้รู้สึกเหมือนตอนไปเที่ยวเองครั้งแรกแบบมั่วๆ เห็นอะไรก็ตื่นตาตื่นใจ
รู้สึกโอ้! เย้! อะไรกันเนี่ย! อยู่เสมอ
พอนึกแบบนี้ ก็เลยคิดได้ว่าถ้าเอาสิ่งต่างๆ ในญี่ปุ่นที่คนไทยคงจะมองว่าแปลกหรือไม่ค่อยรู้จักมานำเสนอล่ะจะเป็นอย่างไร ผมลองไล่หัวข้อที่คิดว่าน่าสนใจ พยายามเลี่ยงหัวข้อ ‘คน’ ที่เคยนำเสนอไปแล้ว มาสู่หัวข้อ ‘วัตถุสิ่งของ’ ที่เคยเห็น (กะว่าเล่มหน้าจะเขียนเรื่องสัตว์ จะได้เป็นซีรีส์คน สัตว์ สิ่งของ) ค่อยๆ ลิสต์ ค่อยๆ เขียน โดยพยายามมองผ่านสายตาคนที่ไม่รู้จักสังคมญี่ปุ่น จนสำเร็จออกมาเป็น Japan Did หนังสือที่รวมเรื่องราวของสิ่งต่างๆ ในญี่ปุ่นที่ไม่ธรรมดาและแหวกแตกต่างสมกับวลี Only in Japan ที่เมื่อลงมือเขียน ผมกลับรู้สึกสนุกที่ได้ย้อนไปดูสิ่งต่างๆ ที่พอมาคุ้ยดูจริงๆ แล้วก็พบว่ามันอะเมซิ่งมากเลยนี่หว่า (แต่เป็นความอะเมซิ่งที่แลกมากับการนั่งเก้าอี้ค้นข้อมูลและเขียนจนปวดหลัง)
และ จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้มีกำหนดจะออกวางขายตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากพิจารณากันแล้วว่าเนื้อหายังไม่พีค บางจุดยังไม่ลงตัว ทุกคนเลยตัดสินใจกลับมาทบทวนสเต็ป ดูทรงมวยตัวเองกันก่อน เพื่อที่จะได้งานดีๆ สู่สายตาผู้อ่าน ถ้าอ่านแล้วรู้สึกสนุกหรือคิดว่า เฮ้ย มีแบบนี้ด้วย โอ้ว มันเป็นอย่างนี้เอง ผมเองก็คงดีใจที่ได้สร้างความสนุกให้กับทุกท่าน
ถัด จากหน้านี้ไป ขอเชิญทุกท่านไปทำความเข้าใจประเทศญี่ปุ่นผ่านสิ่งของต่างๆ ผ่านทางทางรถไฟสายยาว ผ่านซูชิป้ายวาซาบิ ผ่านราเมนชามโต ผ่านเลิฟโฮเตล ไปจนถึงส้วม
ขอให้เดินทางให้สนุกครับ
ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in