เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เล่ากฎหมายให้เป็นภาษาคนidealtype_
#1 “ประมาทร่วม” คำที่ไม่มีจริง แต่ถูกใช้จริงๆ
  • เวลาเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะตามท้องถนน หรือสถานที่ไหนๆ แน่นอนว่าอุบัติเหตุคงเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่มีใครตั้งใจจะให้เกิดหรือไม่อยากจะได้รับผลจากมันอยู่แล้ว ไม่ว่าผลจากอุบัติเหตุจะเบาหรือหนักแค่ไหน พอจัดการเคลียร์สถานที่อะไรเสร็จแล้ว หลายครั้งไม่ว่าจะหน่วยเคลื่อนที่เร็วของบริษัทประกันภัย ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาจัดการเรื่องทางคดีหรือการเคลมค่าเสียหาย มักจะมีคำๆ หนี่งที่ชอบพูดกันคือ “เคสนี้เป็นประมาทร่วมนะ” และทำให้เราอาจไม่ได้รับค่าเสียหาย หรือได้รับน้อยลงจากที่ควรได้รับ ทั้งที่เราเองรู้อยู่ว่าเหตุการณ์เป็นแบบไหน

    คำถามคือ ประมาทร่วมคืออะไร มันมีจริงไหม คำตอบที่ให้เบื้องต้นตรงนี้ คือ “ประมาทร่วมไม่มีอยู่จริง”แล้วทำไมมันถึงไม่มีอยู่จริง เราอาจต้องมารู้จักศัพท์กฎหมายที่คุ้นหูกันดีก่อน นั่นคือคำว่า “ประมาท”

    ประมาทคืออะไร

    ประมาท (ในกฎหมายอาญา) หรือประมาทเลินเล่อ (ในกฎหมายแพ่ง) สองคำนี้ไม่มีความแตกต่างกันในความหมาย ทั้งสองคำต่างหมายถึง การที่บุคคลไม่ได้ทำสิ่งนั้นโดยเจตนาหรือโดยจงใจ แต่กลับกระทำโดยขาดความระมัดระวังในเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ที่คนคนนั้นเขาควรจะใช้ความระมัดระวัง แต่เขากลับไม่ได้ใช้มัน แล้วส่งผลให้เกิดผลจากการไม่ใช้ความระมัดระวัง การขาดความระมัดระวังจึงเป็นหัวใจหลักของเรื่องนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ขัดกับความเข้าใจตามภาษาปกติที่เข้าใจว่าประมาทคือการขาดความระมัดระวัง แต่เมื่อเป็นถ้อยคำทางกฎหมายก็มักตามมาด้วยกรอบในการทำความเข้าใจและหลักเกณฑ์ที่จะใช้เพื่อชี้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยประมาท/ประมาทเลินเล่อหรือไม่

    ในเบื่้องต้นนั้น ความระมัดระวังอันนี้จะขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดตรงหน้าซึ่งบุคคลนั้นได้กระทำหรือกำลังกระทำ ภาษากฎหมายเรียกว่า “ภาวะ” เช่น ภาวะของการขับรถ ภาวะของการผ่าตัด ภาวะของการใช้ปืน เป็นต้น ในภาวะแต่ละกรณีนั้นก็มีความระมัดระวังที่แตกต่างกันออกไป ในทางกฎหมายจะใช้การ “สมมติ” ตัวเองเข้าไปในเหตุการณ์นั้นประกอบกับการคำนึงถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับภาวะแวดล้อมและสภาพภายในของบุคคลคนนั้น เพื่อหาระดับของความระมัดระวังแล้วนำมาเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดจริง โดยหลักในการค้นหาระดับของการใช้ความระมัดระวัง สามารถดูได้จาก 2 หลักเกณฑ์

    ข้อแรก ให้ดูปัจจัยภายในตัวของบุคคลในเหตุการณ์หรือภาวะนั้น หรือที่เรียกว่า “วิสัย”  โดยวิสัยให้ความสำคัญไปที่การพิจารณาจากสถานะที่บุคคลนั้นเป็นอยู่ในเหตุการณ์นั้น เช่น เป็นผู้ขับขี่รถ ก็จะต้องมีความระมัดระวังในการขับรถ หรือเป็นแพทย์ก็ต้องมีความระมัดระวังในการรักษาผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้สถานะดังกล่าวของคนคนนั้นจะกำหนดระดับความระมัดระวังของเขาด้วย เช่น แพทย์จะมีระดับของความระมัดระวังที่สูงมากกว่าบุคคลทั่วไปในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ หรือพนักงานขับรถประจำทางก็จะต้องระมัดระวังในการขับรถประจำทางมากกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนตัวเพราะมีผู้โดยสารจำนวนมากและเป็นรถสำหรับขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

    ข้อที่สอง ให้ดูปัจจัยภายนอกในเหตุการณ์นั้น ภาษากฎหมายเรียกว่า “พฤติการณ์” ซึ่งหมายถึง สภาพแวดล้อมในเหตุการณ์นั้นที่อยู่นอกตัวของบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่บุคคลนั้นควบคุมได้เพราะสัมพันธ์กับพื้นที่และเวลา เช่น สภาพอากาศ (ฝนตกหนัก-หมอกลงจัด) ลักษณะพื้นที่ (เขตเมือง-ทางหลวง/ในป่าทึบ-ในทุ่งกว้าง/ไฟสว่าง-ไฟมืด) ช่วงเวลา (กลางวัน-กลางคืน/วันธรรมดา-วันหยุด) เป็นต้น ความแตกต่างของพฤติการณ์เองก็นำมาสู่ความระมัดระวังที่ไม่เท่ากัน เช่น การขับรถในถนนทางหลวงกับถนนในเขตเทศบาล ย่อมมีระดับของความระมัดระวังไม่เท่ากัน เป็นต้น 

    การกำหนดให้กระทำโดยประมาท/ประมาทเลินเล่อเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา หรือเป็นเหตุแห่งการต้องชดใช้ค่าเสียหายตามกฎหมายแพ่ง ให้ความสำคัญไปที่ 2 มุมมอง อย่างแรกคือการเน้นให้สมาชิกในสังคมใช้ความระมัดระวังที่จะไม่สร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน และอย่างที่สองนั้นคือการต้องให้ผู้ที่สร้างความเสียหายได้รับการชดใช้/ชดเชยจากผลของการกระทำของเขานั้น 

    อย่างไรก็ดี ประมาทในทางกฎหมายจัดเป็น “องค์ประกอบในทางจิตใจ” ของตัวบุคคลที่แสดงการกระทำอย่างหนึ่งที่มีระดับเบากว่าการกระทำโดยเจตนา/จงใจที่เกิดจากความตั้งใจที่จะก่อความเสียหายหรือสร้างความไม่เป็นปกติสุขในสังคม บางกรณีกฎหมายจึงไม่กำหนดให้การกระทำโดยประมาทเป็นความผิดที่จะต้องรับโทษทางอาญา แต่ไม่ได้แปลว่าการไม่มีความผิดอาญาจะทำให้คนที่ก่อความเสียหายโดยประมาทนั้นไม่มีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแก่ผู้เสียหาย
  • ทำไมถึงไม่มี “ประมาทร่วม”

    การกระทำโดยประมาท หรือโดยประมาทเลินเล่อมีลักษณะเป็นการกระทำโดยขาดความระมัดระวังซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เพราะหากลองมองถึงสภาพของบุคคลแต่ละคนย่อมมีวิสัยและพฤติการณ์ที่ต่างกันออกไป เช่นเดียวกันกับการแสดงออกที่แตกต่างกันไป่นกัน เมื่อการพิจารณาความระมัดระวังต้องผูกกับตัวบุคคลแต่ละคนแล้ว การที่บุคคลจะร่วมกันประมาทนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้น พูดง่ายๆ คือ เมื่อความประมาทเป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ละคนมีความระมัดระวังที่ต่างกันออกไป แม้เรื่องที่เกิดนั้นจะเกิดจากความประมาทเหมือนกัน ก็ไม่มีทางที่เขาจะประมาทร่วมกันได้

    นอกจากนี้ การกระทำโดยประมาทหรือประมาทเลินเล่อต้องไม่ใช่การกระทำโดยจงใจหรือเจตนา กล่าวคือ แต่ละคนต้องไม่ได้ตั้งใจจะทำเรื่องนั้นหรือสิ่งนั้น ไม่ได้ยอมรับเอาผลของการกระทำมาเป็นของตนเอง และไม่ได้รู้ในขณะที่ทำว่าสิ่งที่ทำผิดกฎหมายเพราะเขาแค่ขาดความระมัดระวังไม่ได้ตระหนักรู้ว่าสิ่งที่ทำมันผิดแล้วฝืนทำ ทำให้การกระทำโดยประมาทไม่สามารถรับเอาผลของการกระทำของคนอื่นมาเป็นการกระทำของตัวเองได้เพราะแต่ละคนที่ประมาทก็ไม่ได้ตกลงปลงใจจะเอาความเสียหายนั้นเป็นเป้าหมายหรือผลของการกระทำที่เขายอมรับ พวกเขาทั้งหมดต่างประสบผลที่ไม่คาดคิดทั้งสิ้น ประเด็นนี้จึงเน้นหนักว่าประมาทร่วมไม่มีจริง

    ทั้งนี้ หากบุคคลในเหตุการณ์กระทำไปโดยประมาทเหมือนกัน เราเรียกว่า “ต่างคนต่างประมาท” และแต่ละคนจะมีหน้าที่หรือความรับผิดในทางกฎหมายแตกต่างกันไป โดยเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งกฎหมายกำหนดหลักไว้ว่า การกระทำที่เกิดโดยต่างคนต่างประมาท แต่ละฝ่ายจะไม่ได้ค่าเสียหายเต็มตามที่เสียหาย แต่ต้องถูกหักค่าเสียหายที่ควรจะได้รับลงไปตามระดับของความระมัดระวังของแต่ละคน ฝ่ายที่ประมาทมากกว่าก็จะถูกหักส่วนลงไปมากกว่าและอาจต้องเป็นฝ่ายที่ชดใช้มากกว่าอีกฝ่ายด้วยนั่นเอง ซึ่งระดับความระมัดก็จะต้องพิจารณาตามหลักการที่นำเสนอไปก่อนหน้านั้น
  • แล้วคำว่า “ประมาทร่วม” มาจากไหน ?

    คำว่าประมาทร่วมเป็นคำที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่ตรงตามหลักการทางวิชาการนิติศาสตร์ และขัดกับความเป็นจริงด้วย แต่คำนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากความเข้าใจที่คาดเคลื่อนของนักกฎหมายเองที่เอาการกระทำโดยประมาทไปรวมกับ “การร่วมกันกระทำความผิด” ซึ่งใช้เฉพาะกับการกระทำโดยเจตนาหรือจงใจของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเท่านั้น เมื่อเห็นการกระทำที่เกิดจากความประมาทของทุกคนทุกฝ่าย คำว่า “ร่วม” จึงมาต่อท้ายโดยอัตโนมัติ ซึ่งย่อมสร้างความสับสนให้กับประชาชนอยู่ไม่มากก็น้อยในเวลาที่ตนได้รับความเสียหาย แต่พวกเขาอาจไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังเข้าใจไปอย่างไม่ตรงกับหลักวิชา

    ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งในระบบกฎหมายไทยที่มาช่วยขยายเรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนข้างต้นนั้น คงเป็นสภาวะการถูกกดทับ ไม่ว่าโดยระบบงานผ่านจำนวนคดีที่ไหลเข้าจำนวนมหาศาลและการประเมินผลงานตามจำนวนคดีในชั้นตำรวจ หรือแม้แต่ความต้องการรักษาผลประโยชน์ในทางตัวเงินเป็นใหญ่ของนายทุนผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยที่สร้างแนวนโยบายต่างๆ ที่กดทับผู้ปฏิบัติงานในการหาทางให้เงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์จ่ายได้ยากขึ้น ถ้อยคำนี้จึงไม่แปลกที่จะออกมาจากปากของ “ตัวแทนประกันภัย” หรือแม้แต่ “ตำรวจ” ที่ถูกคาดหวังว่าพวกเขาควรเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากที่สุด แต่กลับผลิตคำที่ชวนสับสนเหล่านี้ออกมาได้ เราเห็นว่าระบบงานที่พวกเขาดำเนินนั้นมีความเข้มแข็งและอาศัยการรักษาวินัยในระเบียบงานสูงมาก ทั้งยังมีผลชี้ความเป็นไปของชีวิตทางเศรษฐกิจของพวกเขา การป้องกันตัวเองให้ผิดพลาดน้อยที่สุด หรือการลดภาระงานให้ได้นั่นจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

    ในแง่นี้ ความเข้าใจผิดที่กล่าวถึงไปส่วนหนึ่งจึงอาจไม่ได้เกิดอย่างไม่มีสาเหตุ แต่สาเหตุก็อาจใหญ่กว่าที่เราเข้าใจ เพราะบรรยากาศในพื้นที่งานที่อาศัยการความรู้ทางกฎหมาย/นโยบายที่ร่ำเรียนหรืออบรมมาไปใช้ก็มีส่วนต่อการสร้างความเข้าใจผิดได้เช่นกัน

    ด้วยเหตุนี้เอง การตั้งคำถามหรือสอบทานความรู้ของคนที่ทำงานทางกฎหมาย หรือเกี่ยวข้องกับสิทธิ-หน้าที่ทางกฎหมายเป็นเรื่องประชาชนสามารถทำได้ ความรู้ไม่จำกัดแค่คนที่เรียนหรือทำงานแต่เพียงฝ่ายเดียว บางทีคำๆ หนึ่งที่มันรู้สึกขัดกับความเข้าใจของพวกเรา อาจไม่ใช่เพราะมันเป็นเหตุผลทางเทคนิค แต่อาจเกิดจากความเข้าใจที่คาดเคลื่อนของผู้ที่ทำงานที่เกิดจากสภาพแวดล้อมบางอย่างด้วย เรื่องของ “ประมาทร่วม” ก็ชี้ให้เห็นปัญหาที่ชวนสังเกตต่อระบบกฎหมายไทยได้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in